ทศพร แพทอง นักพากย์หนังใหญ่กับมรดกวัฒนธรรม

ทศพร แพทอง นักพากย์หนังใหญ่กับมรดกวัฒนธรรม

หนังใหญ่คือศิลปวัฒนธรรมที่เก่าแก่ของเมืองไทย ว่ากันว่าสืบทอดกันมาตั้งแต่ สมัยสุโขทัย  มีการแสดงในสมัยอยุธยา จนกระทั่งยุครัตนโกสินตอนต้น ในสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) พบการทำหนังใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่ หนังใหญ่วัดสว่างอารมณ์ จ.สิงห์บุรีและ หนังใหญ่วัดขนอน จ.ราชบุรี

 

โดยจุดเริ่มต้นวัดขนอนนั้นมีผู้ริเริ่มในการแกะสลักคือ พระครูศรัทธาสุนทร (หลวงปู่กล่อม) ที่ดำรงตำแหน่งเป็น เจ้าอาวาสวัดขนอนในสมัยนั้นทำหนังใหญ่ขึ้นมารวมหนังใหญ่ ได้ทั้งหมด 313 ตัว ในเวลาต่อมา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์อุปถัมภ์ ทรงเห็นคุณค่าในการแสดงในศิลปะหนังใหญ่ทรงมี พระราชดำริให้ทางวัดช่วยอนุรักษ์หนังใหญ่ทั้ง 313 ตัว และ จัดทำหนังใหญ่ชุดใหม่ขึ้นแสดงแทน โดยมีทางมหาวิทยาลัยศิลปากรรับผิดชอบงานช่างจัดทำหนังใหญ่ทั้งหมด 
 

หนังใหญ่นับได้ว่าเป็นศิลปะชั้นสูง เพราะรวมเอาศิลปะหลากหลายแขนงไว้ด้วยกัน 5 แขนง ได้แก่ หัตถศิลป์ คือการสร้าง ตัวหนัง นาฏศิลป์ การเชิด การเต้น ที่ถือว่าเป็นต้นแบบของ การแสดงโขน ดุริยางคศิลป์ โดยใช้ปี่พาทย์เป็นเครื่องประกอบการแสดง วาทศิลป์การพากย์ การพูดเจรจา และด้านวรรณศิลป์ คือเนื้อเรื่องซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องรามเกียรติ์  
 

ส่วนของนักพากย์สมัยก่อนใช้บทพากย์หนังของครูละออ ทองมีสิทธิ์ ศิลปินพื้นบ้านดีเด่นสาขาหนังใหญ่ (เสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2526) บางบทอาจขาดหายไปบ้างตามกาลเวลา แต่จะใช้บทพระราชนิพนธ์เข้ามาเสริมแทน 
 

โดยนักพากย์หนังใหญ่ในปัจจุบันเป็นคนรุ่นใหม่จากท้องถิ่น คือ คุณทศพร แพทอง ได้เล่าว่าตัวเองเป็นนักเรียนจากโรงเรียนวัดขนอน มีโอกาสตามมาดูเพื่อนที่เป็นนักแสดงหนังใหญ่ หลังจากนั้นทางวัดต้องการนักแสดงรุ่นใหม่จึงมีการเอาหนังใหญ่มาใส่ในวิชาเรียน คุณทศพรจึงได้เรียนอย่างจริงจังก่อนเข้ามา เชิดหนังและเรียนรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับการแสดงทั้งหมด  
 

หลังจากทำการแสดงหนังใหญ่อยู่ 10 ปี ครูซึ่งเป็นคนพากย์หนังใหญ่ที่อยู่วัดขนอนได้ย้ายโรงเรียนไปอยู่ที่อื่น ทำให้ไม่มีคนพากย์หนังเจ้าอาวาสวัดขนอนองค์ปัจจุบัน จึงลองให้ นักแสดงที่อยู่ในคณะมาพากย์กันหลายคน จนมาถึงคิวของ คุณทศพร พอได้ลองพากย์แล้วหลวงพ่อนั่งฟังท่านบอกว่าใช้ได้ จึงเป็นที่มาของการเป็นนักพากย์หนังใหญ่จนถึงทุกวันนี้ 
 

“การจะพากย์หนังใหญ่อันดับแรกต้องรู้เนื้อเรื่องก่อน นอกจากนี้ต้องรู้ถึงอารมณ์ตัวละครด้วย เช่นยักษ์จะจับลิงกิน ต้องใส่อารมณ์ว่ายักษ์จับลิงกิน หรือโมโห แต่ที่ยากสุดคือ บทเสียใจ เหล่านี้ต้องสัมพันธ์กับคนเชิดด้วย ซึ่งคนเชิดจะฟัง คนพากย์แล้วแสดงให้สัมพันธ์กัน ตรงนี้ต้องฝึกอยู่นานมาก ในเรื่องของอารมณ์ตัวละครและคนเชิด 
 

“ความจริงการแสดงหนังใหญ่อาจไม่จำเป็นว่าต้องเล่นเป็นเรื่องรามเกียรติ์อย่างเดียวก็ได้ แต่ต้องมาดูบทพากย์ก่อนทั้งหมด เพื่อวิเคราะห์บทพากย์ในการจะทำเป็นตัวหนัง อย่างที่ผมเคยเล่นเรื่องพระมหาชนกตอนเรือแตกเราก็ต้องดูว่าจะมีหนังกี่ตัว อะไรบ้าง ซึ่งมีหนังอยู่ตัวหนึ่งออกมาเพียงแค่ 5 วินาที ก็ต้องทำหนังตัวนี้ออกมาเพราะมันเป็นตัวที่สื่อว่าเรือกำลังจะแตกแล้ว การแสดงก็ต้องทำเต็มที่จนจบเรื่อง

 

“สุดท้ายนี้ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่รู้จักโขน หรือการแสดง ศิลปะของไทยในรูปแบบอื่น แต่พอพูดถึงหนังใหญ่คนจะไม่ค่อยรู้จัก หนังใหญ่ถือเป็นศิลปะการแสดงที่น่าสนใจ ถ้ามีเวลาผมก็อยากให้ ทุกท่านมาชมการแสดงหนังใหญ่มาเป็นกำลังใจให้นักแสดง แล้วนักแสดงก็จะได้มีกำลังใจที่จะทำงานต่อไปครับ”
 

Did You Know 
วัดขนอน หมู่ 4 ตำบลสร้อยฟ้า อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี 70120 
พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน เปิดบริการให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 น. – 17.00 น.  
ส่วนการแสดงเชิดหนังใหญ่ทุกวันเสาร์เวลา  10.00-11.00 น. เพียงรอบเดียว

ศิลปวัฒนธรรมที่เก่าแก่ของเมืองไทยหนังใหญ่วัดสว่างอารมณ์ จ.สิงห์บุรีและ หนังใหญ่วัดขนอน จ.ราชบุรี