สุรางค์ ดุริยพันธุ์

สุรางค์ ดุริยพันธุ์

TEACHERS GIVE ON EDUCATION, MUSIC IS TO GIVE IT LIFE - ต้นแบบขับขานตำนานเพลงไทย
ครูสุรางค์ ดุริยพันธุ์ คือผู้บรมครูผู้แตกฉานในด้านคีตศิลป์ท่านหนึ่งของเมืองไทย ท่านมีความรู้ความสามารถและพรสวรรค์ในการขับร้องเพลงไทย ด้วยสำเนียงเนื้อเสียงอันไพเราะขับขานเข้าถึงอารมณ์เพลงอย่างลึกซึ้ง อีกทั้งยังเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการถ่ายทอดความรู้ให้กับลูกศิษย์ลูกหามากมาย สร้างคุณูปการด้านคีตศิลป์ต่อเนื่องยาวนานหลายสิบปี มีผลงานเป็นที่ประจักษ์จนทำให้ศิลปินถิ่นบางลำพูท่านนี้ได้รับเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ 2560 อย่างสมเกียรติ

“ครูดีใจมากที่ได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติในครั้งนี้ เพราะมันสื่อถึงการแสดงความกตัญญูกตเวทิตาคุณต่อบิดามารดา คือการได้เป็นศิลปินแห่งชาติเสมือนว่าตระกูลดุริยพันธุ์ที่มีทั้งคุณพ่อคุณแม่ได้รับไปด้วย เพราะตัวครูเองสืบสายโลหิตมาจากตระกูลนักร้องนักดนตรีไทย ก็เท่าว่าครูกตัญญูต่อคุณพ่อคุณแม่แล้ว การได้เป็นศิลปินแห่งชาติจึงเป็นสิ่งที่ครูภาคภูมิใจสูงสุดในชีวิตที่ว่าครูได้ตอบแทนพระคุณพ่อคุณแม่ ทำชื่อเสียงให้กับนามสกุลดุริยพันธุ์ให้จารึกไว้ในหนังสือแผ่นดินประเทศไทยในฐานะศิลปินแห่งชาติ”

ครูสุรางค์ ดุริยพันธุ์เกิดในครอบครัวในสำนักปี่พาทย์ดุริยประณีต ย่านบางลำพู คุณพ่อชื่อ เหนี่ยว ดุริยพันธุ์ ส่วนคุณแม่ชื่อ แช่มช้อย ดุริยพันธุ์ (ดุริยประณีต) ทั้งสองท่านรับราชการเป็นคีตศิลปินประจำกองการสังคีตกรมศิลปากร นอกจากนี้ยังเป็นครูสอนขับร้องโรงเรียนนาฏศิลป์และข้าราชการกรมศิลปากร

เมื่อมีงานแสดงต่าง ๆ ของทั้งคุณพ่อคุณแม่ ครูสุรางค์ในวัยเด็กจึงมักติดตามไปชมด้วยเสมอ ทำให้ได้ซึมซับเอาเรื่องของศิลปะการแสดงของไทยมาตั้งแต่สมัยนั้น นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้เรื่องของศิลปะการแสดงจากสมาชิกในครอบครัวและครูเพลงท่านอื่น ๆ อีกด้วย แต่เมื่อเริ่มโตขึ้นคุณพ่อของคุณครูสุรางค์แม้จะให้การสนับสนุนในเรื่องศิลปะการแสดงอย่างเต็มที่ แต่ไม่ให้ยึดเป็นอาชีพหลัก เหตุเพราะท่านรู้ดีว่าการมีอาชีพนักร้องนักดนตรีมีความเหนื่อยยากและไม่มีความแน่นอนในชีวิต จึงไม่ได้มีการส่งเสริมให้ครูสุรางค์เข้าเรียนในวิทยาลัยนาฏศิลปเหมือนเด็กคนอื่น

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มสิ้นสุดลง ครูสุรางค์ได้เข้าเรียนในชั้นประถมที่โรงเรียนวรวุฒิวิทยาลัยในชั้นประถม 1-4 เรียนมัธยมปีที่ 1 ที่โรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์ แต่ภายหลังได้ย้ายมาเรียนที่โรงเรียนเบญจมราชาลัย ซึ่งที่นี่เองครูสุรางค์ได้ประกวดร้องเพลงตั้งแต่ ม.2-ม.7 ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศมาโดยตลอด โดยเฉพาะรางวัลชนะเลิศการประกวดขับร้องเพลงไทยระดับมัธยมศึกษาของสพฐ. (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) ในสมัยนั้น

แต่จุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตที่ต้องหันกลับมาจริงจังทางด้านการร้องเพลงอีกครั้ง เนื่องจากคุณพ่อของครูสุรางค์ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต ทำให้คุณแม่ต้องถ่ายทอดวิชาความรู้เรื่องของการร้องเพลงทั้งหมดที่มีให้เพื่อเป็นวิชาติดตัวเพื่อนำไปใช้ในอนาคต

“แม้ครูไม่ได้ศึกษาเรื่องการร้องเพลงจากสถาบันการศึกษาแต่ความรู้ความสามารถก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าที่อื่น เพราะคุณแม่แช่มช้อย ดุริยพันธุ์ ซึ่งเป็นคุณแม่ของครูเองท่านเป็นบรมครูทางด้านคีตศิลป์ ได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้มาจากบรมครูดนตรีไทยจากหลายยุคหลายสมัย เช่น พระยาเสนาะดุริยางค์ คุณแม่ก็เรียนพื้นฐานมาจากท่าน คุณแม่ท่านเป็นคนฉลาดสอนเพลงได้เร็ว จึงถ่ายทอดวิชาความรู้มาให้ครูทั้งหมด”

หลังจากเรียนจบครูสุรางค์ได้รับบรรจุเป็นครูสอนขับร้องเพลงไทยที่โรงเรียนราชินีในปี พ.ศ. 2502 ท่านทำงานอยู่ที่นี่ได้ ราว 3 ปี ก็มีโอกาสได้รู้จักกับคุณจำนง รังสิกุล (นักสื่อสารมวลชนชื่อดัง ผู้ร่วมก่อตั้งสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม) มีการชักชวนให้ครูสุรางค์มาทำงานที่สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม ในตำแหน่งครูสอนขับร้องซึ่งถือว่าเป็นการทำงานที่ตัวเองรักเป็นอย่างมาก

“งานแรกที่ได้ทำคือการสอนขับเพลงให้กับดาราที่อยู่ในช่องอยู่หลายคนทั้งรุ่นใหญ่รุ่นเล็กหรือยังไม่เป็นดารามาฝึก เช่น คุณฉลอง สิมะเสถียร สมัยก่อนการเป็นดารานั้นต้องมีคุณภาพมีความสามารถที่หลากหลาย นอกจากการร้องเพลงแล้วต้องมีการเรียนด้านนาฏศิลป์เป็นพื้นฐาน ดาราเหล่านี้จะไปเรียนกับครูสัมพันธ์ พันธุ์มณี (ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2542)

“คือคนที่จะมาเป็นดาราของช่อง ไม่ใช่มีแค่หน้าตาสวยหล่อแต่ต้องร้องเล่นเต้นรำได้ถึงจะมาเป็นดาราได้ สมัยนั้นมีนักร้องดังของช่อง เช่น คุณนงลักษณ์ โรจนพรรณ สมัยก่อนดังมากหรืออย่างดาราก็มี กนกวรรณ ด่านอุดม ซึ่งเราก็เคยสอนพวกเขามา นอกจากนี้ครูก็ทำหน้าที่ควบคุมประสานงานเกี่ยวกับดนตรีไทยทั้งหมดที่ออกอากาศแล้วครูก็ต้องร้องเพลงไทยออกอากาศด้วย เวลามีงานโยธวาทิต งานทหารเรือ ทหารบก ส่วนมากจะเชิญมาในรายการรายการให้ร้องเพลง

“ครูอยู่กับช่อง 4 บางขุนพรมมาจนถึง พ.ศ. 2505จนกระทั่งสถานีมีการเปลี่ยนแปลงมาเป็น ช่อง 9 อสมท.ครูก็ได้เข้าบรรจุทำงานต่อทันที อยู่ที่นี่นอกจากครูจะได้สอนขับร้องเพลงไทยทางโทรทัศน์แล้วก็ได้สอนทางสถานีวิทยุด้วยจนมีโอกาสได้เป็นนักจัดรายการแล้วก็จัดละครอยู่หลายเรื่องเช่น เรื่องนางสาวทองสร้อย ครูก็เป็นคนทำคนแรกซึ่งโด่งดังมากในสมัยนั้น

“ในปี พ.ศ. 2512 มหาวิทยาลัยศิลปากรวิทยาเขตทับแก้วที่นครปฐมเปิดใหม่ ทางสถาบันต้องการบุคคลกรในด้านต่าง ๆไปช่วยสอน ครูก็มีโอกาสได้ไปสอนไปเป็นอาจารย์พิเศษหลังจากนั้นก็เป็นอาจารย์สอนมาตลอดหลายสิบปี ความจริงเพิ่งมารู้ตัวเองว่าเป็นคนชอบการสอนคนอื่นก็เมื่อมาพบกับนักศึกษา แล้วครูก็มีหลักการสอนที่ไม่ค่อยซํ้าแบบใคร รูปแบบการสอนของครูจะพัฒนาไปเรื่อย ๆ ไม่ได้สอนอยู่กับที่ มีการพัฒนาวิธีการสอนตลอดเวลา จนกระทั่งครูมาสร้างตำราเรียกว่าได้สร้างนวัตกรรมใหม่เกี่ยวกับกลวิธีการสอนขับร้องเพลงไทยขึ้นมาจนถึงทุกวันนี้

“คนที่เรียนนาฏศิลป์เขาต้องเรียนพื้นฐานการรำอย่าง เทพนมปฐมพรหมสี่หน้าสอดสร้อยมาลาเฉิดฉิน ฯลฯ เหล่านี้คือทำนองเพลงชมตลาด ซึ่งจะต้องมีท่าทางการพนมการรำในแบบต้นฉบับ ครูเลยมาคิดการใส่เสียงเอื้อนสามเสียงให้ไพเราะโดยการตั้งเป็นศัพท์ขึ้นมาแล้วต้องมีเสียงลูกกระทบยกตัวอย่างเช่น เพลงลาวดวงเดือนท่อนหนึ่งไม่ต้องมีอะไรให้มีแค่ร้องเสียงเอื้อนแล้วปรับแต่งเนื้อร้องให้ชัดเจน พอถึงท่อนสองจะมีเอื้อนสี่วรรค บางเพลงเขาร้องกันแบบธรรมดาแต่ครูจะใส่ลูกกระทบเข้าไปพยางค์ที่หนึ่งกับพยางค์ที่สามให้ตรงกันมันก็จะมีความละเอียดเพิ่มขึ้น สิ่งสำคัญอีกอย่างในเทคนิคการร้องเพลงไทยเดิมคือเรื่องของการเอื้อนเสียงเอื้อนสระเออต้องเดินท่วงทำนองให้สอดคล้องเนื้อเพลง นี่ตัวอย่างง่าย ๆ ครูพัฒนาขึ้นมาด้วยความคิดของตัวเอง คงมาจากเบื้องบนสวรรค์ปรมาจารย์ที่เคารพส่งมาแล้วให้ครูเป็นตัวกลางสื่อสารให้ลูกศิษย์อีกทีครูเชื่อแบบนั้น

“เวลาลูกศิษย์เรียนร้องเพลงครูจะบอกพวกเขาว่า You Build Emotion And Acting คือคุณต้องสร้างอารมณ์ของบทเพลงแต่ละเพลงที่จะร้องก่อน แล้วคุณก็เติมความรู้สึกเข้าไปในบทเพลงนั้น อย่างบทเพลงรักเราก็ให้อารมณ์รัก บทโศกเราก็ร้องให้โศกหน่อย ไม่ใช่บทโศกไปร้องแข็ง บทโกรธก็โกรธต้องมีทุกอารมณ์ของเพลงไทย คือเราต้องเข้าถึงอารมณ์ของเพลงให้ได้ แล้วก็เติมความรู้สึกเข้าไปความรู้สึกของเราที่เกิดจากอารมณ์นั้น ๆ

“สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือเรื่องของการแยกคำร้องให้ถูกต้อง อย่างเช่นตอนสอนลูกศิษย์ครูจะบอกว่าลองแยกคำร้อง บนต้นลำดวนดอกดกไสว ให้ฟังหน่อย ถ้าคุณแยกสองสามสองสาม ‘บนต้น…ลำดวนดอก…ดกไสว’ เค้าฟังไม่รู้เรื่องมันก็จะความหมายไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราก็ต้อง เป็น ‘บนต้น…ลำดวน…ดอกดกไสว’ ฟังแล้วคำนึงถึงความหมาย แต่ถ้าเป็นโคลงฉันท์ กาพย์ คุณต้องรักษาฉันทลักษณ์ไว้ ว่านี่เอาโคลงมาร้องเอากาพย์มาร้อง โคลงสี่ ต้องรักษาฉันทลักษณ์ไว้ให้ผู้ฟังรู้ว่าตอนนี้เอาโคลงเอาอะไรมาร้องค่ะ

“สำหรับคนที่จะมาทางสายนักร้องจำเป็นต้องมีพรสวรรค์มาด้วย อย่างคนที่เคยมาเรียนกับครูในครั้งแรกต้องทดสอบความสามารถโดยให้เขาร้องเพลง ถ้าไม่ได้จริง ๆ ครูก็บอกเขาว่าไม่ต้องร้อง คือต้องบอกไปตามตรง แต่ถ้าพอมีแววครูก็จะสอนเทคนิคที่เขาขาดให้ นี่คือเรื่องจริงไม่ต้องเสียใจเพราะตัวเด็กเองเขาอาจมีความสามารถทางด้านอื่นที่ดีกว่าไม่ต้องมาเสียเวลาในสิ่งที่ตัวเองทำไม่ได้”

เรื่องของคีตศิลป์จะมีการขับร้องเพลงไทยเดิม การขับเสภา ศีตศิลป์คือศิลปะแห่งการดนตรี มนตรี ตราโมท ท่านนิยามเรื่องของคีตศิลป์ว่าเป็นศิลปะแห่งการใช้เสียงอย่างมีระเบียบแบบแผน ฉะนั้นการขับร้องเพลงไทยจะต้องมี 1.เนื้อร้อง ถ้าคุณไม่มีเนื้อร้องคุณก็ร้องไม่ได้ เนื้อร้องก็คือบทประพันธ์ต่าง ๆ 2.ทำนอง ทำนองจะสำคัญที่สุดคือเสียงเอื้อนทำนองเพลงทั้งหมดที่มีในการขับร้องเพลงไทย อันนี้ครูก็ทำเป็นตำราขึ้นมาแล้วอย่างที่เล่าให้ฟังข้างต้นลูกศิษย์ที่นำไปฝึกก็จะง่ายขึ้นเยอะ 3.ถ้อยคำคือร้องให้ชัดเจน คือต้องแบ่งเนื้อร้องให้ตรงกับความหมายของถ้อยคำที่เราออกไปแล้วสรุปความหมายให้คนฟังเข้าใจ

“ปัจจุบันครูยังมีโอกาสได้ไปสอนพิเศษให้กับคณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มา 30 กว่าปี แต่ถ้ารวมแล้วจากที่เคยไปสอนในสถาบันอื่นทั้งโรงเรียนเทพศิรินทร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรที่ทับแก้วรวม ๆ แล้วก็ 50 กว่าปีที่สอนมาครูยังต้องสอนเด็กให้ไปเป็นครูสอนขับร้องเพื่อไปเป็นครูสอนขับร้องในอนาคตต่อไป

“อีกอย่างหนึ่งซึ่งภูมิใจมากเลยที่เราได้ถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมประจำชาติไทยของเราให้ต่อเนื่องต่อไปตราบนานเท่านาน อันนี้เป็นสิ่งที่ครูภูมิใจที่สุด ครูถึงสอนวิชาขับร้องเพลงไทยเดิมอย่างไม่เคยปิดบังความรู้จะสอนอย่างละเอียดคือมีเท่าไหร่ก็ถ่ายทอดให้เด็กทั้งหมดอยู่ที่ว่าเขาจะรับได้มากแค่ไหนเท่านั้นเอง เพราะพวกเขาก็ต้องไปเป็นครูสอนร้องเพลงที่ดีในอนาคต

“ถ้าพูดถึงวงการศิลปวัฒนธรรมไทยทุกวันนี้ถือว่ามีการพัฒนาขึ้นมาเยอะขึ้นมาก ต้องขอชื่อชมพระบรมสานุวงศ์ทุกพระองค์ที่ให้การสนับสนุนจนศิลปวัฒนธรรมไทยของเรายืนอยู่ได้ ทุกวันนี้มีการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี โท เอก มีการเรียนการสอนทางด้านดนตรีไทยหลากหลายมาขึ้นกว่าสมัยก่อนมาก

“จากการทำงานมาอย่างยาวนานครูไม่เคยเหนื่อยกับการสอนกับการที่จะเอาความรู้ให้กับอนุชนรุ่นหลัง ครูไม่เหนื่อยเลยและดีใจที่ได้มีโอกาสสั่งสมให้เด็ก ๆ ได้ขับร้องเพลงไทย อยากให้มีครูสอนขับร้องเพลงไทยออกมามีคุณภาพต่อเนื่องกันไป ให้เพลงไทยศิลปวัฒนธรรมอยู่คู่ชาติคู่แผ่นดินประเทศไทยสืบไปตราบนานเท่านาน อยากให้อนุรักษ์รักษากันไว้ ขอให้สมบัตินี้อยู่ประจำคู่ชาติคู่พื้นแผ่นดินประเทศไทยต่อไป”

TEXT : Passaponge Prerajirarat
PHOTO : Nutchanun Chotiphan

the artist