Men’s  Attitude

Men’s Attitude

ซิโก้ เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง 
อดีตผู้ฝึกสอนนักฟุตบอลทีมชาติไทย

“การใช้ความรุนแรงกับผู้หญิง เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม เพราะว่าสถาบันครอบครัวนั้นต้องการความสมัครสมานสามัคคี มีความรักซึ่งกันและกัน แต่ว่าในปัจจุบันนี้ข่าวการทำร้ายร่างกายมีออกมาค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ความรุนแรงทางการใช้ภาษากาย อย่างการตบตี หรือแม้กระทั่งการทำร้ายจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นการพูดดูถูกเหยียดหยาม ทั้งหมดนี้ถือเป็นการใช้ความรุนแรงเช่นกัน 

“ในครอบครัวของผมเองนั้นจะให้เกียรติซึ่งกันและกัน แน่นอนว่าการใช้ชีวิตคู่ต้องมีการกระทบกระทั่งกันบ้าง วิธีแก้ปัญหาในครอบครัวเราก็จะเป็นการพูดคุยกันก่อน เพราะกว่าจะเริ่มต้นจนมาถึงการแต่งงานใช้ชีวิตคู่เราต่างผ่านอะไรมาไม่เหมือนกัน พอมาถึงจุดที่ร่วมชีวิตกันหลาย ๆ อย่างเราต้องแชร์ ต้องพูดคุยและหาทางปรับเข้าหากัน 

“สำหรับบางครอบครัวที่มีปัญหาการใช้ความรุนแรง บางทีเขาก็อาจลืมคิดไปว่ากว่าจะมาถึงวันนี้ต้องผ่านอะไรมาบ้าง อีกอย่างก็คือเรื่องของปัจจัยเสริมอื่น เช่น สุรา ยาเสพติด ที่ส่งผลให้ควบคุมตัวเองไม่ได้ บางครั้งอาจจะเกิดเป็นอารมณ์ชั่ววูบที่ทำร้ายกันได้ แต่จริง ๆ แล้วก่อนลงมือกระทำสิ่งใดลงไปนั้น ทุกอย่างล้วนเกิดกระบวนการคิดมาก่อน 

“คำว่าอารมณ์ชั่ววูบอาจเป็นข้ออ้างในการกระทำความรุนแรงก็ได้ อย่างที่บอกไปถ้าเราขาดซึ่งการควบคุมตัวเอง ความรุนแรงต่าง ๆ ก็สามารถเกิดขึ้นได้ คุณธรรม จริยธรรม อาจจะเป็นสิ่งที่สังคมบกพร่องก็เป็นได้ เราจึงต้องปลูกฝังกันตั้งแต่สถาบันครอบครัว ด้วยว่าความรุนแรงที่เกิดในครอบครัวอาจจะส่งผลกระทบให้เยาวชนที่เคยได้รับรู้ถึงความรุนแรงต่าง ๆ นั้นติดตัวไปในอนาคต 

“ไม่ว่าจะเพศไหนก็ตามถ้าเรามีการยอมรับซึ่งกันและกัน ความรุนแรงในสังคมก็จะลดน้อยลงได้อย่างแน่นอนครับ”

อาจารย์อธิชาติ โรจนะหัสดิน 
อาจารย์สาขาวิชาจิตวิทยา ภาควิชาจิตวิทยา คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“มุมมองเกี่ยวกับความก้าวร้าวในทางจิตวิทยานั้นสามารถเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติจากทั้งสองเพศ เป็นความก้าวร้าวเพื่อที่จะทำให้เผ่าพันธุ์อยู่รอด ทั้งสองเพศถือว่ามีความพร้อมในด้านความก้าวร้าวและสามารถแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ เหล่านั้นออกมาได้โดยธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นความก้าวร้าวที่มนุษย์มีอยู่นั้นเป็นเพียงแค่ความพร้อม ส่วนของการแสดงออกถึงพฤติกรรมความก้าวร้าวนั้นจะต้องมีสาเหตุหรือตัวกระตุ้น อันเป็นสิ่งแวดล้อมภายนอกต่าง ๆ มากระทบร่วมกับสิ่งกระตุ้นทางด้านอารมณ์ จากนั้นจึงส่งต่อมายังพฤติกรรม 

“ทั้งนี้การแสดงความก้าวร้าวนั้นหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการฝึกฝน การอบรมสั่งสอน หรือเป็นทักษะการจัดการกับอารมณ์ก้าวร้าวเหล่านั้น การแสดงออกถึงความก้าวร้าวต่าง ๆ นั้นทางจิตวิทยาเราจะเรียกว่า สังคมการหล่อหลอม ซึ่งเป็นการปลูกฝังมาตั้งแต่วัยเยาว์ สถาบันที่สำคัญที่สุดก็คือครอบครัว รองลงมาก็คือโรงเรียน การหล่อหลอมจากสถาบันเหล่านั้นจะถูกเซ็ตเป็นค่าระดับความก้าวร้าวของแต่ละตัวบุคคล  

“ส่วนเรื่องของการตกเป็นเหยื่อ เรามักจะพบว่าผู้ที่ถูกกระทำจะเป็นผู้ที่ไม่สามารถปกป้องตนเองได้ และผู้กระทำที่มักจะเป็นเพศชาย เพราะในร่างกายเพศชายจะมีฮอร์โมนที่ส่งผลถึงพฤติกรรมก้าวร้าวได้มากกว่า สิ่งที่คนธรรมดาสามารถช่วยเหลือให้กับบรรดาเหยื่อเหล่านั้น 

“เราต้องปรับเปลี่ยนมุมมองของสังคม ให้มองเห็นคุณค่าที่แท้จริงของตัวบุคคล มากกว่าที่จะคอยซ้ำเติมเหยื่อที่ถูกกระทำ รวมถึงตัวเหยื่อเองจะต้องมีความเข้มแข็งด้วย อาจจะไม่ใช่เพื่อเรียกร้องให้สำเร็จโทษ แต่เป็นการเรียกร้องให้สังคมหันมาใส่ใจ และป้องกันไม่ให้มีเหยื่อเพิ่มขึ้นอีก”

พิสุทธิ์ ทรัพย์วิจิต
กรรมการโครงการเสียงปฏิรูปประเทศ (สปท.) กรรมาธิการวิสามัญ (สปช.) และอนุกรรมาธิการ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

“เรื่องของความรุนแรงของเด็กและสตรีในมุมมองของผมน่าจะเกิดจากหลายสาเหตุ หนึ่งในนั้นคือเกิดจากสื่อไม่ว่าจะเป็นสื่อออนไลน์ที่มีคลิปตบตีกันบ่อยครั้ง หรือสื่อ ละคร ภาพยนตร์ ก็มีฉากผู้ชายทำร้ายผู้หญิงตลอด บางทีผมว่าต้องมีการคัดกรอง หรือปิดช่องทางในการนำเสนอบ้าง พอเด็กเขาเห็นแล้วโตมากับสิ่งเหล่านี้คืออาจขาดความยับยั้งชั่งใจ ภาพมันจะฝังในความคิดว่าการทำร้ายร้ายผู้หญิงเป็นเรื่องธรรมดา

“เกี่ยวกับเรื่องนี้ผมจึงแต่งเพลง เธอ ออกมา เป็นเพลงที่เกิดจากคณะอนุกรรมาธิการกิจการสตรีของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้เล็งเห็นว่าอยากจะมีเพลงให้กำลังใจผู้หญิง เวลาที่รู้สึกท้อแท้หมดความหวังถูกกระทำโดยความรุนแรงต่าง ๆ ฟังเพลงนี้แล้วอย่างน้อยจะได้มีกำลังใจ 

“ในความคิดผมวิธีการหยุดยั้งเรื่องเหล่านี้อย่างน้อยที่สุดต้องเริ่มจากตัวเองก่อน คืออยากจะให้เด็ก ๆ หรือผู้หญิงควรเรียนรู้ศิลปะในการป้องกันตัวเองอย่างมวยไทย อย่างแรกสุขภาพแข็งแรง สองได้เรียนรู้ศิลปะไทย สามเมื่อเราเรียนรู้ก็มีวิชาป้องกันตัวซึ่งอาจเอาตัวเองออกมาจากสถานการณ์นั้นได้อย่างปลอดภัยและอาจช่วยชีวิตคุณได้

“เรื่องความรุนแรงต่อเด็กและสตรีเราต้องเน้นไปที่การแก้กฎหมาย ถ้ากฎหมายรุนแรงผู้ชายที่คิดจะทำร้ายเด็กหรือผู้หญิงก็จะไม่กล้า ผมคิดว่าต้องกลับไปแก้ที่ตรงนี้มากกว่า 

“สุดท้ายนี้ผมอยากจะฝากไว้ว่าผู้หญิงเป็นเพศแม่เราต้องทะนุถนอมและให้เกียตริผมคิดแบบนี้ก็อยากให้สังคมคิดแบบนี้เช่นเดียวกันครับ”

พันตำรวจตรี อชิรเวชชน์ สุพรรณเภสัช 
สารวัตรจราจร สถานีตำรวจนครบาลภาษีเจริญ

“ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับสตรีในสังคมไทยส่วนใหญ่มักจะเป็นรูปแบบของคู่รัก สามีภรรยา สาเหตุหลัก ๆ ก็มาจากเรื่องทรัพย์ เซ็กส์ ศักดิ์ศรี สติแตก ที่ส่งผลให้เกิดเป็นความรุนแรงซึ่งกันและกัน ขอยกตัวอย่างเคสที่ผมเคยได้มีโอกาสเข้าไปช่วยเหลือ สามี-ภรรยาคู่หนึ่งทะเลาะเบาะแว้งกันในเรื่องของทรัพย์สิน ภรรยาไม่พอใจสามีที่ใช้เงินที่ตนหามาอย่างสุรุ่ยสุร่าย สามีไม่พอใจจึงลงมือทำร้ายตบตี 

“จนกระทั่งวันหนึ่งที่ภรรยาไปทำงาน ฝ่ายสามีก็ได้นำอิฐบล็อกไปขวางประตูไว้ไม่ให้ภรรยาเข้าบ้าน โดยให้เหตุผลว่าบ้านเป็นทรัพย์สินที่ตนมีก่อนแต่งงาน จึงคิดว่ามีสิทธิไม่ให้ภรรยาเข้ามาอาศัยอยู่ เรื่องราวก็มาถึงตำรวจต้องไกล่เกลี่ย ทีนี้ปัญหาของสามี-ภรรยาคู่ดังกล่าวมันไม่ได้จบแค่คนสองคน ถึงแม้ในท้ายที่สุดทั้งคู่จะแยกทางกัน แต่ผลกระทบทั้งหลายนั้นตกไปอยู่ที่ลูกซึ่งยังเด็ก ก่อเกิดเป็นปมในใจ บางครั้งคนเราไม่ได้คิดถึงผลกระทบตรงนี้ เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า 

“ลองคิดดูครับว่าเขาต้องเจอกับประสบการณ์เช่นนี้แล้วในอนาคตต่อไปจะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นผมอยากให้โฟกัสไปที่สถาบันครอบครัวเป็นหลัก เราต้องให้ความสำคัญกับเด็กมากยิ่งขึ้น บางครั้งเด็กไม่ได้ตั้งกำแพงกับเรา แต่เป็นผู้ใหญ่เองต่างหากที่ตั้งกำแพงกับเด็ก ถ้าครอบครัวอบอุ่นและสามารถเป็นที่พึ่งให้กับเขาได้ อนาคตเขาจะมีวิธีการแก้ปัญหาโดยปราศจากการใช้ความรุนแรง 

“ผมมองว่าปัญหาความรุนแรงเริ่มมาจากครอบครัว ถ้าหากครอบครัวปลูกฝังเด็กให้ดีไม่สร้างความรุนแรงให้เด็กเห็น ให้คนในครอบครัวเห็น ผมเชื่อว่าความรุนแรงในสังคมจะลดน้อยลง หยุดการใช้กำลังและความรุนแรงกับผู้หญิงเถอะครับ แล้วสังคมจะดีขึ้น
อย่างแน่นอน”
 

มุมมองจากผู้ชาย ยุติการทำร้ายผู้หญิง