ปัญหาความรุนแรงในเด็กและสตรี "ZONTA NO"
มนุษย์เราเกิดมาแม้จะอาศัยอยู่ในโลกใบเดียวกัน แต่โลกของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกันก็ได้ เพราะคนเราเจอเรื่องดีร้ายไม่เท่ากันโดยเฉพาะกลุ่มของเด็กและสตรีที่มีปัญหาความรุนแรงเกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน เป็นเรื่องที่เหมือนกับไม่มีวันหมดไปจากสังคมแม้จะมีการช่วยเหลือมากเท่าไรก็ตาม
จากสถิติหนึ่งปีในสื่อต่าง ๆ เฉลี่ยแล้วในหนึ่งวันต้องเจอเรื่องราวการถูกละเมิดด้านต่าง ๆ ของเด็กและสตรีออกมาให้เห็นมากกว่าสิบราย ตรงนี้แสดงว่ามีเหยื่อเกิดขึ้นแทบจะทุกนาทีบนโลกและทุกวันในประเทศไทย โดยปัญหาหลักที่เกิดคือปัญหาครอบครัว แม้จะมีการพูดเสมอว่าสถาบันครอบครัวเป็นสถาบันที่สำคัญ แต่บางครั้งก็ไม่ได้สวยงามขนาดนั้น เพราะเด็กและสตรีต้องเผชิญกับความรุนแรงเช่น มีการทำร้ายร่างกาย ปัญหาการละเมิดทางเพศต่อเด็กและคนในครอบครัวตลอดเวลา ยังไม่รวมถึงปัญหาการหย่าร้างที่ทำให้เด็กเผชิญกับครอบครัวที่ไร้ความสุข บางครั้งสิ่งที่ตามมาคือการที่เด็กเดินทางผิดกลายเป็นวัยรุ่นมีปัญหาไปพึ่งพายาเสพติด หรือเด็กผู้หญิงมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรอาจมีลูกด้วยความไม่พร้อม
นอกจากนี้ปัญหาที่ยังคงไม่มีวันจบสิ้นในสังคมคือเรื่องของการข่มขืน เรื่องนี้นอกจากองค์กรทางสังคมที่ตื่นตัวกันบ้างแล้ว แต่ทางภาครัฐยังไม่มีการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานมากนักทั้งการป้องกันและลงโทษผู้กระทำผิดให้มากพอ ผู้ที่เป็นเหยื่อจึงยังได้รับความบอบช้ำในการเยียวยาที่ต่ำเหมือนเดิม
ในสังคมไทยเราได้ลอกเลียนหลายอย่างมาจากต่างประเทศ บางสิ่งสามารถนำมาปรับใช้ได้อย่างสมดุลแต่บางอย่างไม่สามารถเข้ามาอยู่ในระบบได้เลย ตั้งแต่ระบบการคิด วัฒนธรรม ศาสนาความเชื่อ จิตสำนึก ค่านิยม ตัวบทกฎหมาย การศึกษา และคุณภาพชีวิตที่ต่างกับประเทศพัฒนาแล้วโดยสิ้นเชิง ซึ่งไม่ได้หมายความว่าในประเทศที่พัฒนาแล้วจะไม่มีปัญหาเหล่านี้ เพียงแต่บ้านเขามีการจัดการอย่างเป็นระบบ และทำได้ดีกว่าประเทศไทยในหลายด้านจึงไม่แปลกใจเลยว่าทุกวันนี้ยังมีปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อสุภาพสตรีมาอย่างต่อเนื่อง
คำถามคือแล้วเราจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร ในการแก้ปัญหาระยะสั้นสังคมไทยยังพอมีกลุ่มองค์กรทั้งของรัฐและเอกชนที่พอให้ความหวังแก่เหยื่อได้บ้าง ซึ่งตรงนี้ถือว่าทำกันได้อย่างเต็มความสามารถแล้ว ส่วนในระยะยาวตามทฤษฎีต้องมีการปรับโครงสร้างทางสังคมขนานใหญ่ ตั้งแต่เรื่องค่านิยมความรุ่นแรงในครอบครัวซึ่งเมื่อเกิดปัญหาต้องไม่ใช่เรื่องส่วนตัวอีกต่อไปสามารถให้กระบวนการทางกฎหมายเข้าไปดูแลได้
การปรับเปลี่ยนระบบการเมืองและกฎหมายที่ล้าหลัง เพราะบางครั้งเองเจ้าหน้าที่รัฐบาลยังเพิกเฉยเพราะเห็นความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว ซึ่งปัจจุบันยังมีตัวบทกฎหมายบางตัวที่รอการแก้ไขให้เหมาะสมกับสังคม ตั้งแต่การขอการช่วยเหลือจากเหยื่อ กระบวนการสอบสวน การดำเนินคดีตามกฎหมาย รวมไปถึงการดูแลฟื้นฟูให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อกลับมาใช้ชีวิตใหม่ได้อีกครั้ง
การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี วิธีนี้จะช่วยลดจำนวนคนก่ออาชญากรรมความรุนแรงในระยะยาวได้ แม้จะทำไม่ได้ทั้งหมดก็ตาม เพราะเมื่อคนมีการศึกษาที่สูงขึ้น มีความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพที่สุจริตมีครอบครัวและสังคมที่สมบูรณ์พร้อม จะมีความเสี่ยงที่จะทำผิดกฎหมายลดลงตามไปด้วย
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเด็กและสตรีนั้นทุกวันนี้จึงไม่ใช่ปัญหาระดับประเทศอีกต่อไป แต่เป็นปัญหาระดับโลกที่เราต้องช่วยกันแก้ไข ไม่ว่าจะในประเทศพัฒนาแล้วหรือกำพัฒนาเราจึงต้องรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนที่คอยสอดส่องดูแลความรุนแรงให้กับเด็กและสตรี ให้ได้รับความถูกต้องและความยุติธรรมในชีวิตต่อไป