Woman as Victim of Violence
สุกัญญา มิเกล
นักร้อง นักแสดง และอดีตนางแบบ
“ความรุนแรงที่เกิดจากใครก็แล้วแต่ แต่ในที่นี้เราหมายถึงผู้ชาย วิเคราะห์ได้ง่าย ๆ คือผู้ชายคนนั้นถูกเลี้ยงดูมาให้ไร้อำนาจแล้วต้องการมีอำนาจ และมันเป็นไปตามหลักธรรมชาติของสัตว์เพศผู้ ที่ต้องการแสดงอำนาจและความแข็งแรง สัตว์เพศผู้เกือบทุกชนิดมักจะแสดงอำนาจด้วยการครอบครอง นั่นคือสาเหตุที่ผู้ชาย ใช้ความแข็งแรงเพื่อเพิ่มพูนอำนาจให้กับตนเอง และสิ่งที่แสดงอำนาจได้ดีที่สุดก็คือคนที่ อ่อนแอกว่า
“การถูกล่วงละเมิดที่เคยประสบเหตุมา มันไม่ได้เจ็บปวดทางด้านร่างกายแต่เราเจ็บปวดทางด้านวิญญาณ เคยโดนหลอกล่อเพื่อจะข่มขืนหลายครั้ง แต่เรารอดมาได้สเต็ปแรกที่คิดคือร่างกายก็แค่ร่างกาย อย่าให้เขาโกรธจนถึงขนาดฆ่าเรา สเต็ปที่ 2 ใจเย็น ๆ แล้วคิด หาวิธีการที่จะทำให้เขาเย็นลงวิธีของพี่ก็คือทำตัวเสมือนว่าจะสมยอม ในขณะที่เขากำลังจู่โจม มันก็เป็นโอกาสที่เราจะใช้กำลังของเราเพื่อขัดขืนหรือหนีได้
“วิธีการในการเยียวยาตัวเองก็คือ อันดับแรกอย่าเก็บมันไว้ ทยอยให้มันออกมาอย่าให้มันค้างอยู่กับตัวเรา ถ้าคุณไม่เอามันออกมามันก็เหมือนระเบิดเวลา อันดับสองคือปกป้องตัวเองให้แข็งแรงขึ้น เพื่อที่จะไม่กลายเป็นคนที่ถูกรังแกจากคนอื่น และคิดบวกกับตัวเอง เพราะว่าเราไม่ใช่ต้นเหตุของปัญหา ในโลกนี้มีมุมลบไว้เพื่อให้เราศึกษา ทั้งชายและหญิงก็มีมุมทั้งดีและไม่ดีอยู่ในตัว
“พอได้แล้วสำหรับการอยากมีอำนาจจากการใช้กำลังข่มขู่คนอื่น ข่มเหงคนอื่น ทำร้ายคนอื่น เพียงเพราะความต้องการส่วนตัว ทุกอย่างในโลกนี้ไม่ใช่ของคุณ คุณก็แค่คนหนึ่งในโลกใบนี้ เพราะฉะนั้น พอได้แล้วเรื่องความรุนแรง”
ณัฏฐ์ชญาภา อุดมโชควัฒนกิจ
ช่างภาพ
“ถ้าพูดถึงความรุนแรงในครอบครัวระหว่างสามีกับภรรยา มองว่าที่ภรรยายอมก็เพราะว่าผู้หญิงรักนะคะ จนยอมให้ถูกตบตีทำร้าย มันยังมีให้เห็นในสังคมทุกวันนี้ เพราะผู้ชายยังยึดติดกับค่านิยมเก่า ที่สังคมยอมรับให้ผู้ชายเป็นผู้นำ ผู้หญิงเป็นผู้ตาม ทั้งที่ผู้หญิงก็สามารถเป็นผู้นำที่ดีได้เหมือนกัน ฉะนั้นจึงไม่จำเป็นเลยที่จะต้องใช้ความรุนแรงต่อกัน
“ความรุนแรงทางด้านร่างกายที่ตูนได้เจอมากับตัวคือเรื่องข่มขืน ล่วงละเมิดทางเพศ ช่วงนั้นเหมือนเจอมรสุมหลายลูกมาก ทั้งจากสังคมทำงาน สังคมที่เรารู้จัก อาจเป็นเพราะคนใกล้ตัวด้วยซ้ำเป็นคนที่ทำให้เราโดนแบบนี้ ส่วนใหญ่แล้วผู้หญิงที่ถูกข่มขืนเราจะเห็นได้ว่า เสื้อผ้าของเขาไม่ได้โป๊เลย มันเป็นความคิดของผู้ชายซึ่งเป็นความคิดตื้นมากความคิดที่ว่าจะทำแบบนี้กับผู้หญิงยังไงก็ได้ แต่ความเป็นจริงแล้วอย่าลืมว่าบ้านเมืองของเรามีกฎหมายนะ
“ช่วงนั้นแม้ว่าเรายังอยู่ในมรสุม ถ้าเราลุกขึ้นสู้มันก็เหมือนกับเรามีร่มกันฝน ทำให้เราสามารถเดินต่อไปได้ แต่ละคนมีร่มไม่เหมือนกัน ตูนเองคือมีลูก ลูกเป็นเหมือนเกราะป้องกันของเรา เป็นเหมือนร่มของเรา และต้องคอยบอกเราว่าพรุ่งนี้ฉันจะต้องหายใจ แล้วก็ต้องตื่นขึ้นมา เสียใจไปแล้วผ่านไปแล้วอย่างน้อยเราก็ต้องเดินไปข้างหน้า ไปพร้อมกับลูกของเรา
“อีกอย่างหนึ่งเราก็ต้องเปลี่ยนตัวเราด้วยไม่ใช่ให้เขามาทำร้ายเราตลอดเวลา การเปลี่ยนตัวเองง่ายสุด และก็ดีที่สุดด้วยค่ะ
“ขอเป็นหนึ่งเสียงที่ขอยุติ ความรุนแรงกับผู้หญิง ขอให้ผู้หญิงทุกคนลุกขึ้นมาต่อสู้ ต้องเดินหน้าต่อไป ยังมีคนคอยให้กำลังใจค่ะ”
สุทธิดา (อาอีซะห์) เกษมสันต์ ณ อยุธยา
นักร้อง นักแสดง
“การใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงเป็นจุดเริ่มต้นของความเลวร้ายที่จะตามมา จริง ๆ แค่การทำให้รู้สึกตกใจ สูญเสียความมั่นใจในตัวเอง หวาดระแวง การขู่ตะคอกให้สูญเสียความสามารถในการแสดงออกบางอย่าง ทำให้รู้สึกหวาดกลัวก็ถือเป็นความรุนแรงแล้วค่ะ
“โดยส่วนตัวนุ๊กเคยโดนทำร้าย แต่เราเป็นคนค่อนข้างมีสติ สังเกตสิ่งรอบข้างเวลาที่เกิดอะไรฉุกละหุกจะเห็นเหตุการณ์ทุกอย่างช้าลงกว่าปกติค่ะ เวลาเกิดเหตุการณ์ทำร้ายร่างกาย ก็จะเห็นทุกอย่างช้าลง ตอนนั้นก็คิดแค่ว่าเราจะทำอย่างไรเป็นสเต็ป จริง ๆ ผู้หญิงควรศึกษานะ ถ้าเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินหรือคับขัน จะทำอย่างไรไม่ให้มันไม่เลวร้ายไปกว่านี้ มันจะมีสเต็ปของมัน หรือทำอย่างไรให้เราไม่ถึงแก่ชีวิต ก็ต้องศึกษาค่ะ ใช้สติให้มากอย่าตกใจ
“ถ้าตกอยู่ในเหตุการณ์ความรุนแรงแนะนำให้หนีอย่างมีสติ ถ้าคิดว่ายังหนีไม่ได้ก็ให้หาทางป้องกัน ให้ตัวเองบาดเจ็บน้อยที่สุดนะคะ ถ้าทะเลาะกันแล้วถูกลากไป พยายามอย่าให้ตัวเองถูกเปลี่ยนจากจุดที่ 1 ไปยังจุดที่ 2 เพราะจุด ๆ นั้นอาจจะไม่รอดแล้ว
“ทุกครั้งที่มีปัญหานุ๊กก็ต้องกลับไปที่ครอบครัว นุ๊กโชคดีที่มีครอบครัวที่รักนุ๊ก เป็นครอบครัวที่อบอุ่นมาก ฉะนั้นมันเลยไม่รู้สึกว่าเป็นแผลใจที่ยิ่งใหญ่อะไร เพราะว่าเรามีคนพร้อมสมาน จนเราแทบจะไม่เห็นว่าเราเคยเป็นแผลซะด้วยซ้ำ เป็นเรื่องของครอบครัวค่ะ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นขอให้ดูแลกันดี ๆ
“เรื่องของความรุนแรงก็เป็นเรื่องที่ อันตรายมาก ๆ เพราะไม่ได้เกิดเฉพาะร่างกายอย่างเดียว แต่มันเกิดขึ้นเป็นแผลในใจ ซึ่งแผลในใจตรงนี้มันอาจจะอยู่กับผู้หญิงไปตลอดชีวิต เพราะฉะนั้นขอร้องเถอะค่ะหยุดใช้ความรุนแรงกับผู้หญิง”
ปวาณี พรรณนานิคม
เจ้าหน้าที่การตลาด
“จริง ๆ แล้วการทำร้ายร่างกาย ไม่ได้เกิดจากความรุนแรงอย่างเดียว อาจเกิดจากคำพูดเหยียดหยามดูถูก ร่างกายเขาไม่ได้เจ็บปวดแต่จิตใจภายในของเขานั้นเจ็บปวด ผู้ชายที่ทำร้ายร่างกายผู้หญิงไม่ใช่เพราะผู้หญิงอ่อนแอกว่า เพียงเพราะผู้ชายนั่นแหละเป็นฝ่ายที่อ่อนแอ ถ้าผู้ชายที่เข้มแข็งเขาจะไม่ทำร้ายผู้หญิง
“เราควรที่จะรณรงค์ให้ผู้หญิงอย่ายอมที่จะให้เขาทำร้าย จะเห็นว่ามีการรณรงค์มาตลอดแต่ว่าตัวผู้หญิงเองนี่แหละยอมให้เขาทำร้าย เดี๋ยวนี้เรามีกฎหมายมารองรับเรื่องสามีภรรยาแล้ว แต่เอาเข้าจริง ๆ ภรรยานี่แหละปกป้องสามี เนื่องด้วยรักสามี กลัวสามีเดือดร้อนหรืออับอาย ก็อยากให้ผู้หญิงออกมาปกป้องตัวเองมากกว่า และให้คิดว่าถ้าเขาทำร้ายร่างกายและจิตใจเราแสดงว่าเขาไม่ได้รักเรา เขารักตัวเอง
“เราเคยประสบเหตุการณ์ทั้งทำร้ายร่างกายและจิตใจ เมื่อ 6-7 ปีที่แล้วเคยโดนทำร้ายร่างกาย ตอนนั้นอยู่กับแฟนที่ต่างประเทศ อยู่มาวันหนึ่งเขาก็เปลี่ยนไป ด่าเราดูถูกเราจนถึงครอบครัวเรา เราก็นั่งร้องไห้อยู่ในมุมของเราทุกวัน จนมารู้ตัวอีกทีเราก็เป็นโรคซึมเศร้าระดับกลางซึ่งมันก็เริ่มรุนแรงแล้ว ด้านทำร้ายร่างกายจนถึงตอนนี้หูของเราที่เคยโดนทำร้ายยังต้องรักษาอยู่ต่อเนื่อง ก่อนที่จะทำใจกลับมาไทยได้ก็ลำบากใจเพราะว่าไม่มีใครอยากเป็นครอบครัวที่แตกแยก จนได้อ่านหนังสือธรรมะและนั่งสวดมนต์ ไม่น่าเชื่อเลยว่ามันจะทำให้เราหลุดพ้นจากตรงนั้น รู้สึกปล่อยวาง เราอยู่ได้ ไม่เห็นต้องแคร์เลย ไม่เคยคิดเลยว่าการสวดมนต์และศึกษาธรรมะ ในขณะที่เราจิตใจอ่อนแอสุด ๆ เหมือนอยู่ในหลุมดำ มันจะสามารถหลุดพ้นแล้วก้าวออกมาได้
“หยุดยอมให้ผู้ชายทำร้าย เราต้องออกมาปกป้องศักดิ์ศรีของตัวเราเอง”