BECOME  A ZONTIAN

BECOME A ZONTIAN

BECOME  A ZONTIAN

ซอนเชี่ยน คุณหญิงจินดา จรุงเจริญเวชช์
สมาชิกก่อตั้งซอนต้าสากลในประเทศไทยและสโมสรซอนต้ากรุงเทพฯ 1

“ดิฉันทำงานที่ธนาคารกรุงเทพ และเริ่มต้นทำงานให้สโมสรซอนต้ามาตั้งแต่ตอนแรกเริ่ม พ.ศ.2512 ตอนนั้นมิสโดโรธี ทอมม์สัน ได้มีจดหมายมาถึงธนาคารกรุงเทพ เรื่องจะขอปรึกษาการจัดตั้งสมาคมสงเคราะห์ในประเทศไทย ในช่วงนั้นธนาคารกรุงเทพจะมีงานช่วยเหลือสังคมบ่อย เขาเลยมาขอคำปรึกษา ทางธนาคารกรุงเทพจึงส่งดิฉันให้เป็นที่ปรึกษาทางสโมสรซอนต้า ดิฉันเลยต้องหาผู้ที่จะมาเป็นผู้บริหารจัดการจัดตั้งสโมสรซอนต้าในเมืองไทย โดยคุณสมบัติจะต้องเป็นเจ้าหน้าที่บริหาร สมัยนั้นท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านเป็นผู้ก่อตั้งคณะครุศาสตร์  จึงได้ไปเชิญท่านมาเป็นผู้นำของพวกเรา 

“นายกสโมสร จะอยู่ในวาระได้สองครั้ง ถ้าได้รับการเลือกตั้ง วาระละ 2 ปี ในสมัยนั้นตำแหน่งของดิฉันคือกรรมการก่อตั้งสโมสรซอนต้า สิ่งที่มุ่งทำเพื่อสังคมในสมัยนั้นคือ 1.เรื่องการศึกษา 2.การสาธารณสุข 3.การพัฒนาชุมชน จำได้ว่าภารกิจแรก ๆ คือหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เราได้รับบริจาครถยนต์เป็นรถตู้มาหนึ่งคัน ซึ่งนำมาให้บริการแพทย์เคลื่อนที่ตามชุมชนแออัดทั่วกรุงเทพ ไปจนถึงจังหวัดราชบุรี และหน่วยแพทย์เราได้รับความร่วมมือจากสมาคมแพทย์สตรีแห่งประเทศไทย ส่วนเรื่องของการศึกษาก็เน้นให้ทุนการศึกษากับเด็กผู้ยากไร้ที่เรียนดี 

“การพัฒนาชุมชนก็มีโครงการหมู่บ้านซอนต้าพัฒนา ในอำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ซึ่งแรกเริ่มเราได้เข้าไปช่วยคุณครูซึ่งก็คือแม่ชีที่ท่านเคยสอนดิฉันตอนอยู่ที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย ซึ่งท่านได้ไปพัฒนาชุมชนยากจนที่นั่น โดยจัดตั้งฟาร์มโคนมเพื่อนำมาจำหน่ายให้โรงเรียนคาทอลิกในกรุงเทพฯ ซึ่งก็ทำจนถึงปัจจุบัน  ชาวบ้านในหมู่บ้านนี้สามารถช่วยเหลือตนเองได้ พัฒนารายได้ให้ชุมชน และเป็นชุมชนที่แข็งแรงชุมชนหนึ่งซึ่งไม่ต้องขอความช่วยเหลืออีกแล้ว นี่คือความภูมิใจอย่างหนึ่งค่ะ“
 

BECOME  A ZONTIAN

ซอนเชี่ยน มนวิภา ประชัญคดี
ผู้อำนวยการซอนต้าสากลเขต 6 ภูมิภาค 17 (2016-2018)

“เขต 6 ก็คือพื้นที่ประเทศไทย ประกอบด้วย 16 สโมสร ซึ่งในกรุงเทพฯ มี 10 สโมสร ต่างจังหวัด 6 สโมสร และล่าสุดเพิ่งเพิ่มคลับสำหรับวัยรุ่น หน้าที่หลักของดิฉันคือดูแลให้ทุกสโมสรดำเนินการตามนโยบายไปในทิศทางเดียวกัน บอกนโยบายของซอนต้าสากลกับสโมสรทั้งหมด และจะอยู่ในความดูแลของผู้ว่าการภาค ภูมิภาค 17 อีกต่อหนึ่ง ปัจจุบันผู้ว่าการภาคเป็นชาวฟิลิปปินส์ โดยนโยบายล่าสุดคือการรณรงค์และประชาสัมพันธ์ โดยการยกสถานภาพด้านต่าง ๆ ของสตรี อาทิ สุขภาพอนามัย, การศึกษา, อาชีพและการทำงาน นอกจากนี้เรายังเน้นในเรื่องสิทธิความเท่าเทียมกันของเพศหญิงและเพศชาย

“นอกจากการรณรงค์และประชาสัมพันธ์ Advocacy อีกส่วนที่สำคัญไม่แพ้กันเลยคือให้การบริการ Service เข้าไปดำเนินการช่วยเหลือในชุมชนหรือพื้นที่ต่าง ๆ อาทิ โรงเรียน ชุมชน หมู่บ้าน ฯลฯ ว่าในแต่ละแห่ง เขาต้องการความช่วยเหลือในด้านไหน ยกตัวอย่างในโรงเรียน เราจะเน้นการประชาสัมพันธ์เรื่องปัญหาการมีบุตรในวัยเรียน ท้องก่อนวัยอันควร ให้ความรู้ความเข้าใจกับวัยรุ่น สอนศิลปะการป้องกันตัว รณรงค์ยุติความรุนแรง เป็นต้น ซึ่งในแต่ละสโมสรก็จะมีการช่วยเหลือและการให้การบริการที่แตกต่างกันไป 

“อย่างเรื่องสุขภาพอนามัย เราก็มีคุณหมอที่อยู่ในเครือข่ายซึ่งพร้อมให้ความช่วยเหลือในด้านสุขภาพต่อสตรี บางสโมสรเราจะมีทนายความเป็นสมาชิก ก็จะให้บริการในการปรึกษากฎหมาย เรียกร้องความเป็นธรรมให้สตรีที่โดนกระทำในด้านต่าง ๆ บางสโมสรจะเน้นในเรื่องการศึกษา มีการอบรมหรือการเรียนการสอนให้เด็ก ให้ทุนการศึกษาแก่เด็กที่ไม่มีทุนทรัพย์แต่เรียนดี บางสโมสรจะเน้นในเรื่องการฝึกอาชีพให้แก่สตรี อาทิ กลุ่มสตรีในเรือนจำ เราจะมีไปสอนวิธีการทำผม เผื่อเป็นวิชาชีพตอนเขาพ้นโทษ หรือตามชุมชน จะไปสอนเรื่องการทำอาหาร เป็นต้น เพื่อให้พวกเขามีอาชีพและดูแลตัวเองได้ค่ะ”

ซอนเชี่ยน ดร.ณ ฤดี เคียงศิริ
Centurions,district 17 Zonta internationAL (2016-2018)

“ผู้ว่าการภาคจะมีหน้าที่ดูแลประสานงานกับ 5 ประเทศ ในภูมิภาค 17 ซึ่งจะมีฟิลิปปินส์ ฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย และล่าสุดคือ มาเก๊า ตอนนี้ดิฉันได้รับเลือกให้เป็นกรรมการสรรหาของเอเชีย เรื่องที่เน้นในช่วงที่ผ่านมาก็มีการพัฒนาชุมชน อย่างชุมชนในอำเภอจอมบึง ที่ได้พัฒนาเรื่องฟาร์มโคนมของซอนต้ากรุงเทพ 1 ซึ่งก็ได้มีการส่งเขาไปดูงานที่ต่างประเทศเพื่อพัฒนาคุณภาพจนตอนนี้นอกจากส่งในโรงเรียนต่าง ๆ แล้วก็มีจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตด้วย 

“เรื่องการศึกษา ทางซอนต้ากรุงเทพ 2 ก็มีให้ทุนการศึกษาอย่างต่อเนี่องให้นักเรียนที่ขาดทุนทรัพย์แต่เรียนดี ตั้งแต่ประถมจนจบมหาวิทยาลัย ซอนต้ากรุงเทพ 3 จะทำในการสอนหนังสือให้นักเรียนผ่านดาวเทียม ซอนต้ากรุงเทพ 4 จะช่วยผู้ป่วยเกี่ยวกับโรคไต ซอนต้ากรุงเทพ 5 ส่งเสริมในเรื่องอาชีพ เป็นต้น คือในแต่ละสโมสรก็จะช่วยเหลือสังคมในด้านต่าง ๆ กันไปค่ะ 

“ขณะดำรงตำแหน่งได้มีโอกาสไปดูงานสโมสรซอนต้าต่างประเทศอย่างในสิงคโปร์เขาจะเน้นในเรื่องผู้สูงอายุที่ไร้ญาติ มีการทำบ้านพักคนชรา มาเลเซียจะเป็นเรื่องการสอนเด็กให้การศึกษาเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น อย่างฟิลิปปินส์เขาจะมีโครงการ Pink Center ซึ่งเหมือนบ้านพักฉุกเฉินสำหรับผู้ที่ถูกกระทำ คล้าย ๆ ในเมืองไทยเรา ซึ่งเขาจะเปิดตลอด 24 ชั่วโมง มีทั้งช่วยเรื่องคดี มีนักจิตวิทยามาช่วยบำบัด มีทั้งหมอทางกายและหมอทางใจมาดูแล เป็นที่พักฟื้นฟูจิตใจ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อช่วยผู้หญิงให้มีพื้นฐานชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

“เคสที่สะเทือนใจมากที่สุดคือ เด็กหญิงอายุระหว่าง 6-8 ขวบ หลายคนโดนกระทำชำเรา ซึ่งพวกเขายังไม่รู้อิโหน่อิเหน่เลย แต่ผ่านการถูกข่มขืนซ้ำแล้วซ้ำเล่า บ้านพักฟื้น Pink Center ก็คือที่บำบัดจิตใจพวกเขา ไม่รู้ว่าคนที่ทำเรื่องเลวร้ายอย่างนี้ได้เขาคิดอะไร สังคมยังต้องการการแก้ไขฟื้นฟูอยู่ค่ะ”

ซอนเชี่ยน ดร.ลาลีวรรณ กาญจนจารี
district 17 foundation ambassador coordinator (2016-2018)

“ปัจจุบันดิฉันดำรงตำแหน่ง D17 Zonta International Foundation Ambassador เป็นฝ่ายหาทุนให้มูลนิธิซอนต้าสากล และ Z1-UN Committee Member for ESCAP ในวาระปี 59-61 ด้าน ZIF นโยบายของสโมสรซอนต้าสากลในวาระ 2 ปีนี้ มุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือไปที่เด็กผู้หญิงที่ด้อยโอกาสในประเทศไนจีเรีย และช่วยเหลือผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในเนปาล ผู้หญิงที่มีการติดเชื้อจากการคลอดลูกไม่ถูกสุขอนามัยในไลบีเรีย และเพื่อเป็นทุนการศึกษาหลายกองทุน สโมสรซอนต้าได้จัดสรรงบประมาณไว้ 5.3 ล้านดอลลาร์ เพื่อการช่วยเหลือในทุกด้าน ดิฉันจะมีหน้าที่ระดมทุนจากสมาชิกสโมสรซอนต้าที่อยู่ในภูมิภาค 17 ทั้งหมด ตามเป้าที่วางไว้ในปีนี้ คือ 181,500 ดอลลาร์ และด้วยความร่วมมือของสมาชิก ยอดที่เราได้รับบริจาคทั้งสิ้น ณ เดือนกันยายน ที่ผ่านมา คือ 189,000 ดอลลาร์ ถือว่าสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้

“สถิติผู้หญิง 3 ใน 10 ของโลก จะโดนกระทำความรุนแรง และมักจะเกิดขึ้นจากคนในครอบครัว หรือคนรู้จัก เพราะฉะนั้นถ้าผู้ชายสามารถมาร่วมรณรงค์การยุติความรุนแรงต่อสตรี ก็จะเป็นสิ่งที่ดีต่อสังคมค่ะ นโยบายของซอนต้าสากล เราเป็นองค์กรผู้หญิง แต่ในปัจจุบันเรามีการเปิดรับสมาชิกผู้ชายด้วยค่ะ อีก 2 ปี สโมสรซอนต้าสากลจะมีอายุครบ 100 ปี ซึ่งจะมีการจัดงานเฉลิมฉลองในวาระครบรอบร้อยปีในปี ค.ศ.2020 ที่เมืองบัฟฟาโล่ มลรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งสโมสรซอนต้าก่อตั้งในวันที่ 8 พ.ย. 1919 โดย Marian de Forest  โดยทางซอนต้าประเทศไทยก็อยากจะขอเชิญชวน บริษัทห้างร้านและบุคคล ได้ร่วมบริจาคในกองทุนเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ซึ่งเป้าหมายจะระดมทุนในกองทุนนี้ 10 ล้านดอลลาร์ โดยเราจะนำแต่ดอกเบี้ยของกองทุนมาใช้พัฒนางานด้านต่าง ๆ สามารถนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตและช่วยเหลือสตรีตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะแอฟริกา หรือเอเชียก็ตาม”

เสียงจากสมาชิกซอนต้า