สหกรณ์ของคนรักดนตรี

สหกรณ์ของคนรักดนตรี

วงการเพลงในบ้านเรานั้นเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ศิลปินเองเริ่มมีการปรับตัว ทางเลือกของศิลปินที่อยากจะมีผลงานในปัจจุบันก็มีอยู่สองทาง ทางแรกเป็นการเข้าสังกัดค่าย มีเงินทุนสนับสนุน มีทีมงานช่วยเหลือทุกด้าน แต่ก็อาจจะขาดอิสรภาพในความคิดไปบ้าง อีกทางหนึ่งคือทำเอง มีอิสรภาพในการสร้างสรรค์ผลงานเต็มที่ แต่ก็มีข้อจำกัดคือไม่มีทีมงานและเงินทุนสนับสนุน 

สหกรณ์ดนตรีคืออีกหนึ่งทางเลือกที่ดีของคนทำเพลงในยุคนี้ MALAMA เป็นโปรเจ็กต์ที่ ปิยะพงษ์ หมื่นประเสริฐดี และ กันดิศ ป้านทอง ระดมสมองและจัดตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นทางเลือกใหม่ของศิลปิน เกิดเป็นการจัดตั้งกองทุนเพื่อให้วงดนตรีและศิลปินที่คุณชื่นชอบได้มีเงินทุนในการทำงานกันเอง ภายใต้โครงการของ MALAMA COLLECTIVE

“มะละมา ไม่ใช่ค่ายเพลง แต่เป็นชุมชนที่รวมตัวกันเพื่อทำธุรกิจ วิธีการทำงานของเราก็คือ เป็นกลุ่มศิลปินที่มีพวกเราช่วยดูแล ไม่ว่าจะช่วยหางานให้ หรือไม่ก็ช่วยในเรื่องของเงินทุน เรามองว่าปัจจุบันนี้ศิลปินสามารถที่จะทำเพลงได้อย่างอิสระ ลงทุนเอง ถ่ายเอ็มวี ทำทุกอย่างได้เอง แต่ว่าเราเห็นปัญหาในวงการเพลงว่ามีอยู่สองทางที่ศิลปินจะทำเพลงได้ ก็คืออยู่ในค่ายเพลงโดยมีทีมงานซัพพอร์ท มีเงินทุนให้ แต่อิสรภาพอาจจะจำกัด ขึ้นอยู่กับแนวทางของค่าย ถ้าทำเพลงอิสระ มันก็มีอิสระในการทำเพลงอย่างที่ต้องการ แต่ก็อาจจะไม่มีทีมงานและเงินทุน เราก็เลยเอาข้อดีของทั้งสองอย่างมารวมกัน 

“สร้างระบบสหกรณ์ โดยมีเงินทุนให้ศิลปินได้หยิบยืมไปเพื่อสร้างผลงานเพลง และถ้าเขามีรายได้เมื่อไหร่ก็ค่อยมาใช้คืน โดยการใช้คืนก็ไม่ได้มีระยะเวลากำหนด ไม่ได้มีดอกเบี้ย แต่ว่าเราก็มีทีมงานไว้คอยช่วยเหลือ ทั้งด้านพีอาร์การตลาด ก็จะเก็บค่าบริการจากที่เขาทำได้ เรามีความตั้งใจที่จะสร้างระบบเพื่ออำนวยให้ศิลปินมีศักยภาพในการทำงานอย่างที่ตัวเองต้องการได้

“คอนเซ็ปต์ของเราจะให้ศิลปินให้ช่วยกันทำงานด้วย ซึ่งอาจจะยังไม่ได้เห็นผลชัดนักแต่เรามองว่าศิลปินอิสระมีงานทำกันอยู่ หรืออาจจะเรียนจบในหลากหลายสาขาวิชา เราอยากจะให้เขาแสดงความสามารถของเขาในกลุ่มชุมชนนี้ เช่น คนที่เป็นนักการตลาด ประชาสัมพันธ์ หรือซาวด์เอ็นจิเนียร์ ก็สามารถที่จะทำงานให้กับวงอื่น ๆ ได้ สมมติว่ามีงานออกไปเล่นดนตรีก็จะมีสมาชิกจากวงอื่นไปซัพพอร์ท” พาย ปิยะพงษ์ หมื่นประเสริฐดี Community Manager & Co-founder บริษัท ฟังใจ และ Director Malama Collective

“เรามองว่ายุคนี้ผลงานเพลง ไม่ได้บูมเหมือนสมัยก่อน เหมือนศิลปินที่เคยอยู่ค่ายใหญ่ ปล่อยเพลงวันเดียวเป็นล้านวิวเลย สำหรับศิลปินในชุมชนมะละมาเอง มันยังไม่ได้รับการตอบรับขนาดนั้น แต่ในแง่ของผลงานเพลงมันสามารถทำให้เขาได้สร้างในสิ่งที่เขาอยากทำมัน ทำให้กระแสตอบรับหรืออะไรหลาย ๆ อย่างดีขึ้นกว่าแต่ก่อนครับ ถามว่าตอบรับดีไหม ก็อยู่ใน
ระดับที่ดีครับ

“Music Streaming เข้ามามีบทบาทกับเรามาก ด้วยความที่เราเป็นเพลงนอกกระแส เราต้องมองให้ MusicStreaming เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ แล้วก็เป็นเครื่องมือในการตลาดของศิลปิน มากกว่าที่จะเป็นเครื่องมือในการหาเงิน เมื่อก่อนอาจจะขายแผ่นเสียงได้ แต่พอมีให้ดาวน์โหลดตามเว็บไซต์ต่าง ๆ มูลค่าเพลงมันก็ถูกลดต่ำลงเหลือศูนย์ แต่ Music Streaming มันเกิดขึ้นมาเพื่อที่จะสร้างมูลค่า อาจจะไม่มากนักในตอนนี้ ต้องใช้เวลาในการศึกษาและการปรับพฤติกรรมผู้บริโภค แต่วันนี้ Music Streaming ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ให้คนได้รู้จักเพลง ให้คนได้ค้นพบเพลงของเรา เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคก่อนที่เขาจะซื้อมันมีหลายขั้นตอนกว่าจะตัดสินใจที่สำคัญคือต้องค้นพบเพลงก่อน ได้ฟัง รู้สึกชอบ และท้ายสุด
ถึงจะตัดสินใจซื้อ

“บางคนอาจจะสงสัยว่าเพลงไทยจะไปดังต่างประเทศได้อย่างไร แต่ด้วยโซเชียลมีเดียมันทำให้เพลงของเราไปได้ทั่วโลก ศิลปินอินดี้ในประเทศเพื่อนบ้านก็สนใจเราพอสมควร เรามีวงดนตรีที่ออกไปทัวร์ต่างประเทศบ้างแล้วผมมองว่าอนาคตอันใกล้นี้ คิดว่าน่าจะมีการแลกเปลี่ยนวงดนตรีมากขึ้นกับต่างประเทศ ที่ผ่านมาก็มีศิลปินในมะละมาอย่าง S.O.L.E กับ Monomania ไปเล่นงาน Rocking The Region ที่สิงคโปร์ Mattnimare ไปเล่นที่งาน Zandari Festa ที่เกาหลีใต้

“มองอนาคตไว้ว่าอยากจะค่อย ๆ เติบโตครับ อาจจะมีวงเพิ่มขึ้น อาจจะมีความสามารถในการขายงาน นำเสนองานดีขึ้น เพราะว่าหนทางรายได้ก็มีหลายช่องทาง เช่น ศิลปินอาจจะไปเป็นพรีเซ็นเตอร์โฆษณา หรือเราอาจจะมีสปอนเซอร์มาสนับสนุน ในการถ่ายเอ็มวีหรือทำอัลบั้ม ที่เห็นชัดที่สุดอย่างหนึ่งก็คือจากการแสดงสด การขายซีดี เสื้อยืด ถุงผ้า อะไรแบบนี้ครับ ในวงการเพลงถึงแม้ว่าคนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยซื้อซีดีแล้ว แต่ในวงการอินดี้แฟนเพลงก็ยังคงอยากซื้อแผ่นซีดีอยู่” กันดิศ ป้านทอง Manager Malama Collective 

More information 
Malama “มา-ละ-มา” เป็นภาษาฮาวาย มีความหมายว่า ปกปักรักษา ดูแล ช่วยเหลือ เป็นโครงการต่อยอดของ Side Project โครงการหนึ่งของฟังใจ (Fungjai.com) ปัจจุบันมีศิลปินในชุมชนมะละมาหลายแนวเพลงทั้ง Hip hop /Pop / Rock/ R&B และมีศิลปินที่อยู่ในชุมชนนี้ ประกอบด้วย 23’O, S.O.L.E, Lukpeach, Temp., Monomania, Mattnimare และ River Rhyme
สามารถติดตามได้ที่ www.mala.ma หรือ facebook.com/malamacollective

สหกรณ์ของคนรักดนตรี

ศิลปินที่อยากจะมีผลงานในปัจจุบันก็มีอยู่สองทาง ทางแรกเป็นการเข้าสังกัดค่ายอีกทางหนึ่งคือทำเอง