THE EVOLUTION OF MUSIC
เสียงดนตรีและบทเพลงเป็นความบันเทิงใจอันดับต้น ๆ ของมนุษย์ สุนทรียศาสตร์ซึ่งกลายมาเป็นธุรกิจบันเทิงที่มีเม็ดเงินมหาศาลหมุนเวียนวิวัฒนาการของวงการดนตรีในเมืองไทย ตั้งแต่ยุคเริ่มต้น จนเข้ายุคทองของธุรกิจเพลง การเข้ามาของเทคโนโลยีทำให้แถบบันทึกเสียงต่าง ๆเริ่มหมดความนิยม การเดินทางจากอนาล็อกเข้าสู่ดิจิตอล จนกระทั่งถึงปัจจุบัน ที่เป็นขาลงของธุรกิจเพลง แต่ไม่ต้องห่วงครับ บทเพลงยังไม่หายไปไหน เพลงไม่มีวันตาย ยังคงรับใช้ความรู้สึก รับใช้ห้วงอารมณ์ของผู้คน เพียงแต่รายได้ของศิลปินนั้นเปลี่ยนไป จากยอดขายผลงานกลายเป็นการโชว์ เดินสายเล่นคอนเสิร์ตแทนเทปคาสเซ็ท ซีดี ยอดดาวน์โหลด ยูทูบ ไปจนถึงการฟังเพลงสตรีมมิ่งออนไลน์ การกลับมาของแผ่นเสียงทุกเรื่องราวเหล่านี้รอคุณอยู่ในสกู๊ปนี้แล้วครับ
ENTER THE MELODY
ในแต่ละชนชาติมีการร้อง เล่น เต้นรำ ฮัมเพลง โดยมีเครื่องดนตรีประจำท้องถิ่นของตัวเองมาแต่ตั้งแต่สมัยโบราณ ดนตรีสากลเริ่มเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกประมาณสมัยรัชกาลที่ 4โดยเข้ามาในรูปแบบของการฝึกหัดทหารตามแบบยุโรป มีการใช้ดนตรีบรรเลงประกอบการฝึกทหารประเภทแตรวง ต่อมาในปี พ.ศ. 2420 วงแตรวงทหารมีการเรียกชื่อใหม่ว่า วงโยธวาทิตแต่ก็ยังเป็นเพียงเครื่องเป่าและตีเป็นส่วนใหญ่
จากนั้นในสมัยรัชกาลที่ 6 เริ่มเข้าสู่สมัยดนตรีตะวันตกมากขึ้น เครื่องดนตรีและเพลงเริ่มแพร่หลายสู่ประชาชนอย่างกว้างขวาง สันนิษฐานว่าดนตรีสากลเริ่มเข้ามาทางสายละครและสายทางภาพยนตร์ ราวปี พ.ศ. 2470-2472 เป็นยุคเริ่มต้นเพลงไทยสากล แต่ยังเอามาผสมกับเพลงไทยเดิม เรียกว่า “เพลงไทยเดิมสากล” ซึ่งมีเครื่องดนตรีฝรั่งเข้ามาเล่นประกอบแล้ว บางส่วนมีการนำทำนองเพลง “วอลซ์ปลื้มจิต” มาใส่เนื้อร้อง ออกอากาศทางสถานีวิทยุ 7 พี.เจ. ที่ศาลาแดง มีการบันทึกแผ่นเสียง โดยห้างนาย ต.เง็กชวน ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก
ประชาชนเริ่มมีวิทยุทรานซิสเตอร์เพื่อฟังข่าวสารและเพลงมากขึ้น เพราะเริ่มมีสถานีออกอากาศ อีกด้านหนึ่งแผ่นเสียงก็เริ่มได้รับความนิยมจากคนอยากเก็บเพลงไปฟังที่บ้านแต่ทั้งหมดนี้ยังคงจำกัดอยู่ในวงแคบ เฉพาะผู้ที่มีฐานะทางการเงินดีเท่านั้น
หลังจากปี พ.ศ. 2500 มาแล้ว วงการเพลงไทยเริ่มเป็นรูปเป็นร่างและแพร่กระจายสู่คนหมู่มากมีแนวเพลงเกิดขึ้นเป็นสองฝั่งใหญ่ ๆ คือเพลงลูกกรุง เช่น เพลงของ สุนทราภรณ์, สุเทพ วงศ์กำแหง ฯลฯ กับเพลงลูกทุ่ง เช่น เพลงของ คำรณ สัมบุญณานนท์, สุรพล สมบัติเจริญฯลฯ ขณะที่อีกซีกหนึ่งของโลกก็เริ่มมีแนวเพลงร็อคแอนด์โรล มีศิลปินชื่อดังอย่าง เอลวิส เพลสลี่ย์, เดอะ บีทเทิลส์ ฯลฯ
แน่นอนว่าประเทศไทยย่อมได้รับอิทธิพลต่างชาติมาไม่แพ้กัน เริ่มมีวงสตริงหลายวงเกิดขึ้นจำนวนมาก ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 มีการต่อสู้ทางอุดมการณ์เพื่อประชาธิปไตย หลายคนแสดงออกทางความคิดและอารมณ์ก็กลายเป็นแนวเพลงเพื่อชีวิตขึ้นมาอีกแนวหนึ่ง
FROM ANALOG TO DIGITAL
หลังจากนั้นราวปี พ.ศ. 2520 ก็มาถึงยุคทองของเทปคลาสเซ็ท รวมถึงธุรกิจค่ายเพลงที่กำลังสร้างชื่อเสียงด้วยเช่นกัน ซึ่งต้นแบบล้วนมาจากต่างประเทศเป็นหลัก เป็นข้อสังเกตได้ว่าประเทศไทยถ้าเป็นเรื่องบันเทิงบ้านเราจะตามหลังประเทศตะวันตก วงการเพลงไทยเริ่มกลายเป็นธุรกิจแบบเป็นลํ่าเป็นสัน เกิดเป็นอุตสาหกรรมเพลง มีค่ายเพลง เกิดขึ้นมากมาย อาทิ เสียงทอง, อาโซน่า, อามีโก้, นิธิทัศน์ ฯลฯ จากการเอานักร้องนักดนตรีเข้ามาอยู่ในสังกัดและจัดการทุกอย่างเกี่ยวกับธุรกิจเสียงเพลงให้กับศิลปินทุกขั้นตอน
แต่สิ่งที่เปลี่ยนโฉมหน้าใหม่ของวงการเพลงไทยคือการเกิดขึ้นของบริษัทแกรมมี่ ที่ก่อตั้งโดย เต๋อ เรวัต พุทธินันทน์ และ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรมเป็นบริษัทที่มีการทำเพลงอย่างเป็นระบบ มีขั้นตอน มีฝ่ายต่าง ๆ ตามมาตรฐานสากล ผู้คนมีกำลังซื้อมากขึ้น ศิลปินหลายคนที่มีผลงานที่ได้รับความนิยมจึงขายเทปได้เป็นล้านตลับอยู่หลายราย ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ที่เกิดขึ้นในยุคนั้น 3 ค่าย ได้แก่ แกรมมี่, อาร์เอส โปรโมชั่น และคีตา เอ็นเตอร์เทนเม้นต์
จนก้าวเข้าสู่ยุค 90s (พ.ศ. 2532-2541) เริ่มต้นศักราชด้วยการที่วงดนตรีร็อคหลายวงสามารถขายเทปได้เป็นกอบเป็นกำ อย่าง ดิโอฬาร โปรเจ็กต์ ทำให้คนเปิดใจรับเพลงร็อคหนัก ๆ มากขึ้น ต่อมาพอแยกตัวเป็นวง หินเหล็กไฟ ก็ทำให้เพลงร็อคขายได้หลักล้านตลับเช่นกัน(อ่านเพิ่มเติมเรื่องของคุณโป่ง หินเหล็กไฟ ได้ที่หน้า 36-37) เรียกว่าสร้างรายได้ให้กับค่ายเพลงมากมาย บางค่ายสามารถนำธุรกิจเพลงเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์จนมีชื่อเสียงใหญ่โตเช่นกัน
จนมาถึงยุคเฟื่องฟูที่สุดของวงการเทป และเป็นยุคที่ซีดีเริ่มเป็นที่นิยม เพราะคุณภาพเสียงที่ชัดคมและใสกว่า แต่ราคาก็แพงกว่าเทปมาก หลายคนเรียกว่ายุคอัลเทอร์เนทีฟครองเมือง เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2537 ค่ายเบเกอรี่ มิวสิค ค่ายเพลงเกิดใหม่แต่บังเกิดเป็นมาตรฐานใหม่ของวงการเพลง ทำเพลงหลายแนวและมีสีสันใหม่ ๆ ออกมาสู่คนฟัง เหตุเพราะต้องการทำอัลบั้มแรกของวงโมเดิร์นด็อก ให้ออกมาโดยไม่บิดเบือนตัวเพลง เป็นตัวตนศิลปินอย่างแท้จริง ปรากฏว่าวงดนตรีอัลเทอร์เนทีฟ หมาทันสมัยวงนี้ทำรายได้ให้ค่ายและจำหน่ายได้มากกว่าล้านตลับ ทำให้ธุรกิจเพลงเฟื่องฟู เพราะจุดประกายให้เกิดค่ายเพลงอินดี้มากมาย และมีศิลปินแนวอัลเทอร์เนทีฟเกิดขึ้นเป็นพัน ๆ วง ที่โด่งดังในยุคนั้น อาทิ ป้าง นครินทร์, พราว, เดอะมัส, ซีเปีย, พาราด็อก, สติวเด้นท์อักลี่ ฯลฯ ที่ออกมาแล้วเงียบหายไปก็มีเยอะเช่นกัน
และแล้วเทคโนโลยีใหม่เริ่มเข้ามาแทนที่และเป็นหายนะก้าวแรกของวงการเพลง เพราะตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 นอกจากค่ายเพลงต้องต่อสู้กับปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์เทปผีซีดีเถื่อนแล้ว ก็เกิดแผ่นผี MP3 ที่สามารถยัดเพลงเถื่อนเข้าไปได้เป็นร้อยเพลงในแผ่นเดียว จากเสือนอนกินตอนนี้ค่ายเพลงใหญ่เริ่มกลายเป็นเสือนอนหิว แม้ภายหลังจะมีการพยายามให้ศิลปินในค่ายออกมารณรงค์เรื่องซีดีเถื่อนแล้วก็ตาม มีการแก้เกมโดยการนำเพลงของตัวเองรวมฮิตออกขายเองซะเลย แต่ก็ไม่ได้ผลซักเท่าไหร่เพราะผู้คนส่วนใหญ่ชอบของฟรี ถ้าไม่รักกันจริงใครจะยอมเสียเงินซื้อมาเก็บไว้ในบ้านกันล่ะ
เทคโนโลยีเติบโตกันอย่างรวดเร็วเหมือนโลกนี้มีกรรมติดจรวดสำหรับผู้ที่ปั๊มซีดีเถื่อน หรือแผ่นผี MP3 ขาย เพราะโลกออนไลน์มาไวเกินกว่าจะต้านทาน ผู้คนเริ่มไม่นิยมแผ่นซีดีในการฟังเพลงอีกต่อไปแล้ว พวกเขาฟังมันจากอากาศแทน คือก้าวเข้าสู่โลกออนไลน์อย่างเต็มตัว ธุรกิจเถื่อนเหล่านี้ก็ทยอยตายตามกันไปพอ ๆ กับค่ายเพลงที่กำลังป่วย แม้มีคอนเท้นต์อยู่ในมือแต่ทว่าไม่สามารถปรับตัวได้ ทางรอดที่มีอยู่เพียงน้อยนิด คือต้องตามเก็บลิขสิทธิ์จากผลงานเก่าหรือเปิดการแสดงของศิลปินที่ต้องมาตัดแบ่งเงินกับค่ายเพลงอีกที หรืออีกทางคือการนำเพลงไปลงสื่อออนไลน์เพื่อขอแบ่งเปอร์เซ็นต์อันเล็กน้อยเท่านั้น
อ้อ...ทุกสิ่งในโลกล้วนไม่แน่นอน สองสามปีมานี้แผ่นเสียงกลับมาเป็นที่นิยมในกลุ่มนักฟังเพลงอีกครั้ง มีหลายค่ายนำอัลบั้มของศิลปินที่เคยนิยมมารีมาสเตอร์ใหม่ เช่น GMM Grammy, BEC-TERO music, Warner Music Thailand และ VLV เป็นต้น
บางค่ายเพลงก็ออกผลงานของศิลปินใหม่ ๆ เป็นแผ่นเสียงด้วยเช่นกัน อาทิ Classy Records, ใบชา Song, Panda Recordsและ สองสมิต เป็นต้น
THE MUSIC INDUSTRY
THEN AND NOW
เราอาจพูดได้ว่าการมาของเทคโนโลยีเหมือนเป็นดาบสองคม เพราะด้านหนึ่งทำให้ผู้คนจำนวนมากเข้าถึงเพลงได้เร็วขึ้น ใคร ๆก็สามารถทำเพลงเอง โปรโมทเพลงได้โดยตรงทั้งในยูทูบและเฟซบุ๊กแต่อีกด้านหนึ่งก็ทำให้อุตสาหกรรมธุรกิจเพลงซบเซา จึงจำเป็นต้องหาทางแก้ไขเป็นการด่วน คนที่ปรับตัวได้ก็ยังลุ่ม ๆ ดอน ๆ ถึงขนาดที่ว่าค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ย่านลาดพร้าวต้องเบนเข็มตัวเองออกมาในธุรกิจสุขภาพและความงามแทน ในขณะที่ค่ายเพลงย่านอโศกเข้าโหมดธุรกิจ “ทีวีดิจิตอล” แต่ราคาหุ้นดูเหมือนจะเป็นกราฟขาลงมาโดยตลอด
ปัจจุบันสิ่งเหล่านี้ในเรื่องของธุรกิจเพลงก็คล้ายกับธุรกิจอื่นที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา ไม่มีอะไรอยู่ยืนยาวถาวรได้ตลอด การปรับตัวเองให้เข้ากับยุคสมัยที่เราอาจไม่ได้เห็นค่ายเพลงใหญ่มาปั้นศิลปินเหมือนแต่ก่อน ที่เป็นอยู่ตอนนี้จึงไม่มีใครเป็นเจ้าของสื่อหลักได้ทั้งหมด คนที่มีความสามารถก็มีพื้นที่แสดงออกในเวทีสื่อของตัวเอง ผู้คนสามารถติดตามศิลปินที่ตัวเองชอบได้ใกล้ชิดขึ้น และยังบริโภคงานเพลงได้ตลอดเวลา ทั้งหมดนี้กลายเป็นเรื่องของการกระจายรายได้ในกลุ่มธุรกิจ แต่ใช่ว่าจะอยู่แบบนี้ต่อไป ไม่แน่อีกไม่กี่ปีธุรกิจเพลงอาจเปลี่ยนไปอีกโดยเราไม่อาจคาดเดาได้เหมือนกัน
MUSIC STREAMING
Music Streaming คือการฟังเพลงในรูปแบบออนไลน์ โดยใช้อินเตอร์เน็ตเป็นสื่อกลาง ลักษณะเหมือนการเช่าเพลงฟัง ซึ่งเป็นที่นิยมในยุคนี้ การถือกำเนิดมาของ Music Streaming นั้น ช่วยลดปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ในระดับหนึ่ง เพราะมิวสิคสตรีมมิ่งบางเจ้าเปิดบริการให้ฟังฟรี ถึงแม้จะดาวน์โหลดเก็บไว้ฟังได้ แต่ก็ไม่อนุญาตให้แจกจ่ายไฟล์เหมือนกับการส่งต่อ mp3 แบบเมื่อก่อน นับว่าเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนศิลปินได้เช่นกัน มีบริการชื่อดังอย่าง Apple Music และ Joox เป็นโต้โผ และน้องใหม่ที่เปิดตลาดในไทยล่าสุด อย่าง Spotify คอยสนับสนุน
ทุกวันนี้การฟังเพลงในชีวิตประจำวันของคนทั่วไปถูกเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมโดยไม่รู้ตัว ตามช่วงเวลาที่ผ่านและเทคโนลียีร่วมสมัยความคุ้นเคยกับการฟังเพลงในรูปแบบ Digital ที่สะดวกสบายมากขึ้น สำหรับประเทศไทยเองก็มีผู้ให้บริการ Music Streaming Application มากมายหลากหลายเจ้าให้เลือก เราจึงรวบรวมจุดเด่นของ 5 แอพฯ ยอดฮิตของนักฟังเพลงมาให้ท่านผู้อ่านพิจารณาเลือกใช้กันตามสะดวก
DEEZER MUSIC
แอพฯ ฟังเพลงออนไลน์บนสมาร์ทโฟนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดอีกหนึ่งตัวในบ้านเราเลยก็ว่าได้ เนื่องจากคุณสามารถเลือกฟังเพลงที่ต้องการได้ทุกที่ทุกเวลาและไม่มีข้อจำกัด ซึ่งภายในตัวแอพฯ มีคลังเพลงมากกว่า 35 ล้านเพลง และอัพเดทเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุดทั้งเพลงไทยและต่างประเทศ ไม่เพียงเท่านี้ Deezer Music ยังมาพร้อมคุณภาพเสียงสุดชัดระดับ 320kbps เพื่ออรรถรสในการฟังเพลง และยังมีโหมด Radio Channel สำหรับฟังเพลงฮิต ๆ จากคลื่นวิทยุที่จัดอันดับไว้ให้ โดยแบ่งตามประเภทของเพลงอย่างชัดเจน รวมถึงยังสามารถให้คุณสร้าง Playlist หรือเลือกฟังเพลงสุดโปรดอย่างต่อเนื่องได้อีกด้วย และที่สำคัญยังสามารถฟังเพลงแบบออฟไลน์ได้อีกเช่นกัน
GOOGLE PLAY MUSIC
แอพฯ ฟังเพลงออนไลน์สำหรับสาวกหุ่นเขียว Android เพราะตัวแอพฯ นี้จะถูกติดตั้งมาพร้อมกับสมาร์ทโฟน Android ทุกเครื่อง แต่อันที่จริงแล้วเราสามารถใช้งานได้ทั้ง Android และ iPhone จุดเด่นก็คือการที่สามารถค้นหาเพลง และแชร์เพลงของคุณไปยังโลกออนไลน์ได้ภายในพริบตา ด้วยฟีเจอร์ All Access นอกจากนี้ Google Play Music ยังสามารถสร้าง Playlist ส่วนตัวของคุณได้มากกว่า 50,000 เพลงเลยทีเดียว แถมไม่มีโฆษณาให้กวนใจ และที่สำคัญยังสามารถซื้อเพลงใหม่ ๆ บน Google Play ที่มีคลังเพลงมากกว่า 30 ล้านเพลง เพื่อเอาไว้ฟังภายหลังได้อีกด้วย
SPOTIFY MUSIC
แอพฯ ฟังเพลงออนไลน์ที่ถูกพูดถึงมาเป็นเวลาพอสมควรแล้ว สำหรับ Spotify ซึ่งภายในตัวแอพฯ มีคลังเพลงสากลสุดฮิตมากกว่าล้านเพลง ไม่ว่าจะเป็นเพลงเก่า หรือเพลงใหม่ล่าสุดจากทั่วทุกมุมโลก โดยผู้ใช้สามารถเลือกฟังเฉพาะเพลงของศิลปินโปรด อัลบั้มที่ชื่นชอบได้ตามต้องการ และยังสามารถสร้างอัลบั้มส่วนตัวได้อีกด้วย พร้อมคุณภาพเสียงที่จัดเต็ม เหมาะสำหรับผู้ที่ชอบฟังเพลงสากลเป็นอย่างยิ่ง และที่สำคัญคือเพิ่งมีการเปิดตัว Ofcial ในประเทศไทยไปเมื่อไม่นานมานี้
APPLE MUSIC
แอพฯ ฟังเพลงออนไลน์ แอพฯ สามัญประจำเครื่องสำหรับผู้ใช้ iPhone ซึ่งผู้ใช้ Mac, Windows และ Android ก็สามารถใช้ได้เช่นเดียวกัน ภายในตัวแอพฯ มีเพลงมากมายหลายล้านเพลงจากApple Music สามารถดูเพลย์ลิสต์และคำแนะนำเกี่ยวกับศิลปินหรือเพลงที่คุณสนใจได้โดยตรงจากผู้ครํ่าหวอดในวงการดนตรี พร้อมโหมดค้นหาเพลงอัจฉริยะสำหรับสมาชิกถึงผู้จัดโดยตรง ไม่เพียงเท่านี้ ผู้ใช้ยังสามารถเลือกฟังรายการวิทยุพิเศษทางช่อง Beats 1 โดยทีมดีเจมืออาชีพอีกด้วยหรือแม้กระทั่งจะสร้างสถานีของคุณเองจากศิลปินหรือเพลงต่าง ๆ ก็สามารถทำได้เช่นกัน
JOOX MUSIC
ขึ้นแท่นเป็นแอพฯ ฟังเพลงยอดฮิตอันดับ 1 ในประเทศไทยได้อย่างเต็มภาคภูมิ Joox คือ Music Streaming Application ที่สามารถเข้าไปเลือกฟังเพลงที่มีอยู่มากมายในแอพฯ ได้ นอกจากนี้แล้วผู้ใช้บริการ Joox ยังสามารถดาวน์โหลดเพลงมาเพื่อเก็บไว้ฟัง Ofine ตอนไม่มีเน็ตได้อีกด้วย ส่วนประกอบที่สำคัญของ Joox นอกจากเพลงแล้วก็คือ Lyric หรือว่าเนื้อเพลง ที่สามารถฟังเพลงไปพร้อมกับอ่านเนื้อร้องหรือว่าร้องตามได้ทันทีเลยเช่นกัน นอกจากนี้ Joox ยังเป็นแหล่งรวมคอนเท้นต์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับเพลงไว้อีกมากมาย รวมถึงฟีเจอร์ใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวไปไม่นาน Karaoke ที่คุณสามารถร้องเพลงและอัดเสียงไว้ฟังแบบส่วนตัวได้อีกด้วย
CLASSY RECORDS ทวิษย์ชญะ ตั้งสหะรังสี
หลายคนคุ้นเคยกับเขาในชื่อ แจ็ค รัสเซล โปรดิวเซอร์และผู้บริหารค่ายเพลงคุณภาพ Classy Records ค่ายที่นักฟังเพลงต่างยกนิ้วให้ในความพิถีพิถันตลอดระยะเวลากว่า 7 ปี ที่ได้เข้าไปอยู่ในใจ Music Lover แต่กว่าจะมีวันนี้เขาล้มลุกคลุกคลานต่อสู้กับความล้มเหลวมาสารพัด ใช้ Passion เป็นที่ตั้งเพื่อเดินตามความฝัน เรื่องราวของเขาสามารถบรรยายภาพรวมของวงการเพลงไทยในช่วงที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดีด้วยเช่นกัน
“ผมเริ่มต้นเป็นนักแต่งเพลงฝึกหัดที่ Orange Music ช่วงเรียนมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ประมาณปี 2538 ผมได้ทำเพลงประกอบละครเวทีคณะนิเทศศาสตร์ ซึ่งไปบันทึกเสียงที่นั่นได้เจอกับคุณมรุธา รัตนสัมพันธ์ มือเบสวงแมคอินทอชและตาวัน ก็เลยชวนให้มาฝึกเขียนเพลง Orange Music เป็นบริษัทรับจ้างทำเพลงประกอบโฆษณา เพลงองค์กรต่าง ๆ และละคร พอมาปี 2540 ผมได้เขียนเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องอันดากับฟ้าใส หนังได้รางวัลตุ๊กตาทอง สาขาเพลงนำภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในปีนั้น นั่นเป็นจุดเริ่มต้นให้เราอยากทำค่ายเพลง
“พอมีความมั่นใจจากการทำเพลงประกอบภาพยนตร์ ก็เลยเริ่มทำเพลงกับเพื่อน เป็นอัลบั้มวงเราเอง และอยากนำเพลงอันดากับฟ้าใสกลับมาใส่ในอัลบั้มด้วย ปรากฏว่าติดลิขสิทธิ์เพราะขายให้นายทุนไปแล้วตอนนั้นได้เงินมา 6,000 บาท ความขบถก็เลยเกิดขึ้น คือเราคิดว่ามันไม่แฟร์กับคนทำเพลง อย่างเมืองนอกคนแต่งเพลงก็จะเป็นคนถือลิขสิทธิ์เองแต่เมืองไทยไม่ใช่ ผมเลยทำอัลบั้มชื่อ Until Now ออกมาปี 2541 จัดจำหน่ายโดย CVD MUSIC แต่ผลก็คือไม่ประสบความสำเร็จ เป็นค่ายอินดี้ วิทยุไม่เปิดเพลง โปรโมตก็ไม่เป็น คือหมดทุนไปเยอะจนเพื่อน ๆ ก็แยกกันไปในที่สุด
“แต่ผมยังไม่เข็ด ก็ไปเช่าสำนักงานเปิดค่ายเพลงชื่อว่า TAP (Time, Artist, Purity) ขึ้นมาอีก ผลปรากฏเหมือนเดิมครับ นายทุนที่มาร่วมหุ้นก็หมดเงินหมดทองไปด้วย คือเราประสบการณ์น้อย มีแต่ Passion อย่างเดียว สุดท้ายก็ไปไม่รอด แต่ยังไม่เข็ดอีกครับ จุดเปลี่ยนหลังจากปิดค่าย TAP คือเรารู้ว่าอะไรที่ทำแล้วขายไม่ได้ แต่ก็ยังทำ ซึ่งมันผิดหลักพอเริ่มมีประสบการณ์แล้ว ก็สงสารนายทุน เลยมาทำค่ายเองในปี 2547 ชื่อ Until Organizer แต่เพื่อนในวง Until คือคุณโจ้ นรินทร์พันธุ์ ปัณฑรวงศ์ พอรู้ว่าเราทำค่ายเขาก็อยากทำด้วย เลยกลับมาทำอัลบั้มชื่อEvent Of Love 1 แจ๊ส 12 เสียง ปรากฏว่าขายดีมาก กว่า 6,000 ก๊อปปี้คุณโจ้เลยทำอีก Event Of Love 2 ในปี 2549 คราวนี้เจ๊งครับ มีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมายในปีนั้น นอกจากชุดนี้ผมก็ออกอัลบั้มเดี่ยวของตัวเอง อัลบั้มพิเศษ อร่อยหู อัลบั้มในโครงการ Desire Meสรุปเจ๊งไปสามชุด ผลก็คือผมต้องขายรถยนต์และคอนโดเพื่อปั้มแผ่นซีดี
“ชีวิตตอนนั้นบู๊มาก แต่ก็ทำต่อมาจนถึงปี 2550 ได้ออกอัลบั้มชื่อ Jazz After Hour ดนตรีโดยคุณโจ้ ผมแต่งเนื้อเพลง ได้เข้าชิงรางวัลสีสันอวอร์ด ถึงสองรางวัล แต่ก็พลาดให้กับ Groove Rider และ Bodyslam ทำให้รู้ว่าเพลงแจ๊สของเราแข็งแรง ทั้งที่ไม่ได้เรียนจบทางด้านดนตรีมาหลังจากชุดนี้คุณโจ้ก็กลับไปเป็นสจ๊วต แต่ผมก็ยังทำอัลบั้มต่ออีกสามชุดจนมาถึงปี 2553 ซีดีเพลงเริ่มขายยากขึ้น บริษัทจัดจำหน่ายทยอยปิดตัวผมก็เลยคิดใหม่ทำใหม่ ทำค่ายเพลงใหม่ และทำเพลงเป็นออดิโอไฟล์พร้อมทั้งจัดจำหน่ายเอง ก็ประกาศกับทุกคนเลยว่าถ้าชุดนี้เจ๊งก็จะพอแล้ว ยอมแพ้ เลิก! คือทำผลงานมาก็ไม่ประสบความสำเร็จสักที
“ไหน ๆ ก็จะทำครั้งสุดท้ายแล้ว เลยคิดว่าเราอยากทำเพลงให้ใครร้องก็เชิญคนนั้นมาร้องเลยดีกว่า จึงเกิดเป็นค่ายเพลง Classy Records ออกผลงานชุดแรกคือ ความรัก ปากกา กีตาร์โปร่ง ดึงพี่ชีพชนก ศรียามาตย์กลับมาทำเพลง คือพี่นกเป็นรุ่นพี่ที่ผมรักอยู่แล้ว
“ปล่อยเพลงแรกไปก็ยังเงียบ ๆ แต่พอปล่อยเพลงที่สอง ถามสักคำร้องโดย นิว ปทิตตา เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 53 ปรากฏว่าเวลาสามสัปดาห์คนเข้ามาฟังกว่าล้านวิว สักพักสื่อไต้หวันบินมาสัมภาษณ์ ต่อด้วยสื่อจากฮ่องกง จีน ญี่ปุ่น เพราะเพลง ถามสักคำ ผมก็เลยเปิดให้จองอัลบั้มและถือโอกาสเปิดค่ายในวันนั้น วันพ่อ 5 ธ.ค. 53 โดยตั้งปณิธานว่าทุกอัลบั้มที่ออกกับ Classy Records จะต้องมีหนึ่งเพลงที่แต่งให้กับพ่อ
“ผมคิดทำอัลบั้มเป็น Limited Edition ทำให้ยอดจองวันสองวันแรกกว่า 400 ก๊อปปี้ ส่งฝากขายตามร้านขายซีดีครั้งละ 200-300 แผ่นสักพักก็สั่งเพิ่มอีก เป็นครั้งแรกที่ผมได้จับเงินล้านจากการขายซีดี ก่อนหน้านี้ตอนทำค่ายก่อน ๆ ผมเคยส่งเพลงไปให้คลื่นวิทยุ เขาไม่เปิดบอกแต่ว่ายังไม่มีกระแส พอตอนทำ Classy Records ผมก็เลยไม่อนุญาตให้คลื่นวิทยุเปิดเพลงของค่าย ถ้าอยากนำไปเปิดต้องมาขออนุญาตก่อน คือไม่ง้อดีเจแล้วครับ ผลปรากฏว่าชุดนั้นขายดีมาก ออกซีดีปกติมาก็ขายดีออกแผ่นเสียงมาอีก 500 แผ่นก็หมดเกลี้ยง
“อัลบั้มต่อมาผมก็ดึงคุณนิว ปทิตตา มาทำอัลบั้มเต็ม ก็ขายดีอีก เฉพาะไต้หวันก็ขายไป 800 กว่าแผ่น รู้แล้วว่าเราไม่ได้ฟลุ๊ค คุณโจ้ก็กลับมาทำเพลงแจ๊สอีกครั้งในชุด Classicnova ตัวแทนจากญี่ปุ่นก็ซื้อไปอีก 1,000 แผ่น ค่ายเรามีฐานแฟนคลับที่ไต้หวันและญี่ปุ่นก็ยิ่งตอกยํ้าความสำเร็จทำให้เราออกผลงานมาเรื่อย ๆ ถึงปัจจุบันนี้ครับ แต่ตอนนี้ยอดขายซีดีจากร้านขายซีดีหายไปเกือบ 60%
“ช่วงที่ผ่านมาเป็นขาลงของธุรกิจเพลงจริง ๆ ครับ แต่โชคดีที่กลุ่มแฟนคลับของเราเหนียวแน่น ทำให้ยอดขายยอดจองนั้นยังมากพอที่ทำให้เราอยู่ได้ คือไม่ว่าจะผลงานเพลงหรือของที่ระลึกต่าง ๆ เขาก็พร้อมอุดหนุน ตอนนี้เรามีร้านกาแฟ Classy Coffee ซึ่งเป็นที่ไว้พบปะสังสรรค์คือไม่ว่าเงินจะมาจากทางไหนก็ตาม แต่มันสามารถต่อลมหายใจให้กับเสียงเพลงได้
“ผลงานล่าสุดผมก็ชวนนักร้องคุณภาพหลาย ๆ ท่านมาร้องในอัลบั้ม Classy Gala Collection โดยเราบันทึกเสียงอย่างพิถีพิถันมาก ใช้นักดนตรีที่คิดว่าเหมาะกับเพลงที่สุด ใช้ห้องอัดที่ดีที่สุด บันทึกเสียงเครื่องดนตรีทุกชิ้นพร้อมกัน ซึ่งเป็นการลงทุนที่เยอะแต่เราตั้งใจทำมาก ก็อยากฝากอัลบั้มชุดนี้ด้วยครับ และเรากำลังจะเปิดค่ายใหม่ในเครือชื่อว่าClassy Jazz เป็นค่ายที่ทำเพลงแจ๊สจริงจัง กำลังจะปล่อยอัลบั้ม Jazzociation ออกมา มีนักร้องแจ๊สอย่างพี่ปั่น ไพบูลย์เกียรติ, พี่ป้อม ออโตบาห์น, พี่สุเมธ องอาจ และอีกหลายท่าน รับรองเรื่องคุณภาพครับ ขอบคุณแฟน ๆ นิตยสารมิกซ์ด้วยนะครับ”
CREATE INTELLIGENCE ญาณกร อภิราชกมล
ภาพรวมของวงการเพลงในบ้านเราเปลี่ยนแปลงไป รายได้จากการจำหน่ายซีดีหรือยอดดาวน์โหลดไม่ใช้รายได้หลักของศิลปินอีกต่อไป เพราะคลื่นโซเชียลมีเดียซัดเข้ามาแบบไม่ทันได้ตั้งตัว ส่งผลกระทบมหาศาลต่อหลากหลายวงการไม่เฉพาะวงการเพลง ทางด้านผู้จัดงานหรือโปรโมเตอร์ผู้จัดงานคอนเสิร์ตเองก็ได้รับผลกระทบกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน
ทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ด้วยความต้องการทางด้านแนวเพลงที่หลากหลายเพิ่มขึ้นก็มีส่วนเช่นกัน นี่คืออีกหนึ่งทรรศนะจากโปรโมเตอร์ผู้จัดงานคอนเสิร์ต เรื่องความเปลี่ยนแปลง การปรับตัว และภาพรวมของวงการเพลงในฐานะผู้จัดงานคอนเสิร์ตระดับประเทศหลาย ๆ งาน กับคุณญาณกร อภิราชกล กรรมการบริหาร บริษัท ครีเอท อินเทลลิเจ้นท์ จำกัด ที่บอกว่าธุรกิจเพลงไทยไม่มีวันตาย
“ปัจจุบันธุรกิจ Music Content ตอนนี้มีความหลากหลายเพิ่มขึ้น ถ้าเทียบจาก 5-10 ปีที่ผ่านมา ตัวผู้บริโภคเองก็มีพฤติกรรมที่เปลี่ยน มี Segment ที่ลึกลงไปเรื่อย ๆ จากเมื่อก่อนจะกว้าง และจะเป็นแบบ Mainstream ฉะนั้นถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปี ที่ผ่านมา ก็จะเปลี่ยนจากการจัดงานคอนเสิร์ตธรรมดา ๆ มาเป็น Music Festival ปัจจุบัน 3-4 ปีที่ผ่านมา ก็จะมีแนวเพลง Electronic เข้ามา งบลงทุนในแต่ละงานก็เยอะมหาศาลพอควร
“ตอนนี้ด้วยกำลังซื้อที่มีอย่างจำกัด และผันแปรตามสภาพเงินในกระเป๋าของคนดูที่ถือว่ามีส่วนอยู่เหมือนกัน พอมองย้อนดูธุรกิจเพลงไทยแล้วเราจะเห็นว่า มีเครื่องมือเยอะขึ้น แต่ตัวนักร้องหรือวงดนตรีที่เป็นแม่เหล็กนั้นก็หนีไม่พ้นกลุ่มเดิม ๆ ผมมองว่าแม้จะมีศิลปินออกมาอยู่เรื่อย ๆ แต่ยังไม่ถึงขั้นที่จะเอามาโชว์ได้ เพราะยังไม่มีแรงดึงดูดพอที่จะทำให้คนดูควักเงินซื้อตั๋ว ศิลปินส่วนนี้ก็จะดังอยู่ในโลกออนไลน์แทน
“จุดเริ่มต้นของการจัดงานคอนเสิร์ต ย้อนไป 10 กว่าปีที่แล้ว ช่วงนั้นเราก็เริ่มเห็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งแรกในเมืองไทย นั่นคือ Music Festival ฤดูหนาว ที่เขาใหญ่ ตอนนั้นก็ยังเป็นของใหม่ในเมืองไทย และในปีต่อ ๆ มาก็จัดอยู่แบบนั้น ในตอนนั้นผมก็เป็นหนึ่งในบริษัทออแกไนเซอร์ ก็เลยเกิดคำถามว่าทำไมคนที่จัดงาน Music Festival จะเลือกจัดงานอยู่ที่ 3-4 โลเคชั่น ไม่ว่าจะเป็น เขาใหญ่ ชะอำ หัวหิน พัทยา มีอยู่แค่นั้นจริง ๆ
“ฉะนั้นเราก็วงในแผนที่ดูว่ารัศมีประมาณ 250 กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ มีสถานที่ไหนที่น่าสนใจ ก็เลยเลือกเกาะเสม็ดและสวนผึ้ง เป็นจุดเริ่มต้นการจัดคอนเสิร์ตเฟสติวัล ในปีนั้นทั้งต้นปีและท้ายปีก็จัดงานทั้งสองที่นี้ครับ คือ Samed In Love และ Season of Love Song พอทำไปเรื่อย ๆ แบรนด์มันก็เริ่มชัดขึ้นว่าคนมางาน Music Festival ของเราแล้วเห็นอะไร
“การที่มีสื่อโซเชียลในยุคนี้ มีศิลปินผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ผมมองว่ามันไม่ได้ทำให้มูลค่าของศิลปินลดลงนะ กลับเป็นการเพิ่มมูลค่า ทั้งนี้ทั้งนั้นตัวศิลปินและค่ายเพลงจะอาศัยช่องทางสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ในการสร้างมูลค่าให้กับตัวเองได้มากน้อยขนาดไหน ธุรกิจเพลงตอนนี้เป็นธุรกิจในการขายโชว์ แล้วก็กินส่วนแบ่งจากยอดวิวยูทูบ
“ถ้ามองดูศิลปินกลุ่มที่เกิดจากยูทูบเนี่ย จริง ๆ เขาก็มีงานโชว์อยู่ตลอดนะ เขาสร้างรายได้ให้ตัวเขาเองได้อยู่ตลอดเหมือนกัน แต่ว่าอาจจะไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่เราสัมผัสหรือมองเห็น ฉะนั้นจะเห็นข้อมูลในการติดต่อแสดงโชว์ไว้เลยในยูทูบ วันหนึ่งมี 3-4 โชว์ซึ่งเขาไม่ได้มีต้นทุนในการลงทุนเหมือนค่ายใหญ่ ๆ จะเห็นได้ว่าค่ายเพลงใหญ่เปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนโมเดลในการทำงานหลาย ๆ อย่าง และจะเห็นปรากฏการณ์ที่มีค่ายย่อยออกมาเต็มไปหมด
“จริง ๆ ผมมองว่าธุรกิจเพลงมันไม่ได้ซบเซานะ มีคอนเท้นต์ใหม่ ๆ เยอะขึ้น ธุรกิจเพลงไทยไม่มีวันตาย เพราะว่าสุดท้ายแล้วไม่ว่าจะเปลี่ยนกี่ยุคกี่สมัย จะเจอเหตุการณ์อะไร คอนเสิร์ตก็ยังอยู่ได้ ทุกคนก็ต้องการ Relax ต้องการความบันเทิงอยู่
“การเป็นโปรโมเตอร์ในปัจจุบันนั้นไม่ได้ง่าย! เพราะเดี๋ยวนี้มีหลากหลายเทศกาลดนตรี มีผู้จัดใหม่ ๆ เข้ามาและก็มีผู้จัดเก่า ๆทยอยหายไปบ้าง สุดท้ายมันขึ้นอยู่กับคอนเท้นต์ แน่นอนครับว่ารายได้ที่ได้จากการจัดงานแบบนี้มีอยู่หลัก ๆ สองทาง คือผู้สนับสนุนและจากการจำหน่ายตั๋ว สำหรับเราเป็นผู้จัดที่หลากหลายแนวมากเพราะผู้จัดเจ้าอื่น ๆ เขาก็จะมีแนวเพลงของเขาที่ชัดเจน แต่ที่เรามี Music Festival ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ยังเติบโตต่อเนื่องอยู่และยังสามารถดันขึ้นไปได้อีก อีกอย่างเรากำลังก้าวเข้ามาสู่ Electronic Music ส่วนใหญ่ก็จะเป็นงานที่เราซื้อคอนเท้นต์จากต่างประเทศเข้ามา เพราะเราไม่ได้อยู่ในจุดที่จะไปแข่งขัน เรามีจุดของเราอยู่แล้ว
“ในปีหน้าของเราก็น่าจะมีคอนเท้นต์ที่เพิ่มขึ้นจากในปีนี้อีกบางคอนเท้นต์ก็มีการปรับไซส์ให้ใหญ่ขึ้น มีการปรับแต่งให้บางงานเข้าถึงระดับรากหญ้าเลย จะมีความวาไรตี้มากขึ้นกว่าเดิมอีก ผู้จัดงานก็เหมือนเชฟแหละครับ เราจะปรุงยังไงให้ถูกปากผู้บริโภคแต่ว่าการจะถูกปากคนนั้นไม่ใช่อร่อยอย่างเดียว หน้าที่ของเราคือจัดวางทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นจาน แก้ว ควรจะเป็นวัตถุดิบแบบไหนนั่นคือสิ่งที่เราทำ เราเชื่อว่าเรามีคอนเท้นต์ที่หลากหลายและตอบโจทย์คนดูได้อย่างเพียงพอ
“สุดท้ายของบางอย่างมูลค่ามันจะกลับมาเอง เมื่อใดที่เราไม่มีมัน เราก็จะกลับไปมองหามันเพื่อหามูลค่า เสน่ห์ของการทำธุรกิจคอนเท้นต์มีอยู่อย่างหนึ่ง คือ เป็นความบันเทิงซึ่งคนทำเองก็มีความสุขแล้วยิ่งเห็นคนมางานที่เราจัดแล้วมีความสุข ความสุขก็ยิ่งทวีคูณครับ”