คชภัค ผลธนโชติ
หากคุณเป็นแฟนเพลงวงร็อกของไทย ก็จะต้องคุ้นหน้าคุ้นตาชายหนุ่มหน้าตี๋ท่านนี้ เพราะเขาคืออดีตมือกีต้าร์วงแคลช (Clash) นามว่า พล คชภัค ผลธนโชติ ซึ่งภายหลังมีการประกาศเลิกทำวงดนตรี สมาชิกวงแคลชต่างแยกย้ายไปทำงานของตัวเอง แต่ด้วยความผูกพันกับเสียงเพลงทำให้คุณพลยังคงทำงานในด้านนี้ต่อไป เพียงแต่เปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้บริหารค่ายเพลง Boxx Music ที่มีศิลปินในสังกัดอย่าง อิ๊งค์ วรันธร, The Kastle, Portrait ฯลฯ ซึ่งกำลังได้รับความนิยมจากผู้ฟังเฉพาะกลุ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
เรื่องราวชีวิตของนักดนตรีส่วนใหญ่ล้วนมาจากความรักในเสียงเพลง ซึ่งไม่ต่างจากคุณพลสักท่าไหร่นัก เขามีพื้นเพเป็นคนกรุงเทพฯโดยกำเนิดในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน ด้วยความที่ชอบดนตรีมาตั้งแต่เด็กจึงพาตัวเองเข้าไปอยู่ในวงดุริยางค์ของโรงเรียนตั้งแต่ชั้นประถมจนถึงมัธยม เมื่อเริ่มโตขึ้นก็ตัดสินใจเข้าเรียนวิทยาลัยการดนตรีมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เนื่องจากก่อนหน้านี้เคยชมการประกวดวงดนตรีแล้วประทับใจการเล่นดนตรีของวงหนึ่งซึ่งมาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยานั่นเอง
แม้จะเข้ามาเรียนสิ่งที่ตัวเองชอบ แต่เส้นทางสายดนตรีของเขาไม่สวยงามอย่างที่ฝันไว้ แม้ในช่วง ม.ปลาย คุณพลกับเพื่อนจะเคยประกวดรายการดนตรี ฮอตเวฟ มิวสิก อวอร์ดส์ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่งและมีการเซ็นสัญญากับค่ายเพลงในเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่แต่ผ่านไปหลายปีก็ยังไม่มีวี่แววที่จะเป็นศิลปิน
วันหนึ่งมีรุ่นพี่มาพูดสะกิดใจเรื่องอนาคตทำให้คุณพลอยากเรียนจบในสายงานที่มั่นคงกว่าดนตรี จึงตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เพื่อไปเรียนด้านบริหารธุรกิจ คอมพิวเตอร์ ที่มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ โดยมุ่งมั่นอย่างเต็มที่จนผลการเรียนดีอย่างน่าพอใจ แต่ระหว่างที่กำลังศึกษาชั้นปีที่ 2เหมือนโชคชะตาให้กลับมาทางสายดนตรี เมื่อเพื่อนติดต่อกลับมาว่าเพลงที่เคยทำร่วมกันผ่านการประเมินจากทางค่ายเพลงแล้ว และอยากให้เขากลับมาร่วมวงอีกครั้ง แม้จะเป็นการตัดสินใจที่ลำบากเพราะเกรงใจเพื่อน แต่ทว่าสุดท้ายเขาก็เลือกกลับไปทำเพลงกับเพื่อนและลาออกจากมหาวิทยาลัยทันที
ชีวิตนักดนตรีวงแคลชจึงเกิดขึ้นนับตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา ผ่านการทำงานเพลงมาหลายอัลบั้ม มีงานทัวร์แสดงคอนเสิร์ตนับไม่ถ้วน จนกระทั่งถึงจุดอิ่มตัวจึงแยกย้ายกันไปทำในสิ่งที่ตัวเองรัก แต่คุณพลเลือกจะมาทำงานให้กับสหภาพดนตรีก่อนจะกลายมาเป็น มิวสิค มูฟ เอนเตอร์เทนเมนต์ และแตกไลน์ออกมาเป็นค่ายเพลง Boxx Music ซึ่งเขารับหน้าที่บริหารงานอย่างเต็มตัวอย่างในปัจจุบันนี้
“หน้าที่ตรงนี้ต่างกับตอนเป็นสมาชิกวงแคลชเยอะเลยครับ เพราะการเป็นนักดนตรีอยากทำอะไรจะมีคนวางแผนให้ เราคิดแค่เรื่องเพลง แต่งตัว หรือเรื่องการแสดงคอนเสิร์ตซึ่งไม่ได้มากมายอะไร แต่พอมาทำงานเบื้องหลังอย่างการเป็นโปรดิวเซอร์ ซึ่งการทำเพลงให้คนอื่นมันจะยากตรงที่เราต้องหาตัวตนเขาให้เจอ มองตลาดให้ออก และทำเพลงที่เขาจะร้องไปตลอดชีวิตให้ได้ ผมใช้เวลาศึกษาอยู่พอสมควร ช่วงแรกก็จับทางไม่ถูกเหมือนกัน ผมเคยทำงานที่ออกมาร็อคเพราะผมเอาตัวเองใส่เข้าไปเยอะ ตอนหลังเลยต้องถอยออกมาแล้วดูว่าศิลปินมีจุดเด่นอะไรและสวมวิญญาณเป็นเขาแทน
“วันนี้ผมเป็นผู้บริหารค่ายเพลงผมไม่รู้ว่ามีสูตรสำเร็จอะไรหรือเปล่า เพราะมันมีเรื่องของตัวเลข มีเรื่องวิธีการเพื่อให้ค่ายประสบความสำเร็จ แต่ตรงนี้ผมจะเอาไว้ทีหลัง เพราะการทำธุรกิจเพลงมันเป็นสินค้าที่มีชีวิตมีความรู้สึกเพราะฉะนั้นสิ่งที่เราแคร์ที่สุดคือเรื่องการบริหารคน น้องศิลปินและทีมงานทุกอย่างต้องเกื้อหนุนเข้าใจซึ่งกันและกัน เรื่องธุรกิจว่ายากแล้วแต่เรื่องการดูแลคนยากกว่า ผมพยายามบริหารเรื่องเหล่านี้ให้มันอยู่ร่วมกันได้
“Boxx Music ถูกก่อตั้งมาเพื่อที่เป็นสนามเด็กเล่น เราอยากให้น้อง ๆ วัยรุ่นมาระเบิดจินตนาการ โดยเราจะดูเรื่องของฝั่งธุรกิจให้ แต่น้องต้องเอาของมาแสดงให้เราดูก่อน คนที่อยู่ในค่ายจำเป็นต้องทำชิ้นงานของตัวเองได้ในระดับหนึ่ง สมมุติว่าเขาทำโปรดักชั่นไม่ได้ไม่เป็นไรแต่ต้องมีไอเดียมาขาย ไม่จำเป็นต้องแต่งเพลงเป็นแต่บอกได้ว่าเพลงที่ต้องการเป็นอย่างไร MV ภาพถ่าย เสื้อผ้า อยากให้เป็นแบบนั้นแบบนี้ ซึ่งผมก็จะหยิบตรงนี้มาขยาย เพราะถ้าเราทำให้เขาทั้งหมดเขาจะไม่รู้อะไรเลยแต่ถ้าศิลปินเข้ามามีส่วนร่วมในเขาจะสามารถตอบสื่อและภูมิใจในงานที่ได้ทำร่วมกัน
“คอนเซ็ปต์ของ Boxx Music คือเราเป็นอุตสาหกรรมมือ ไม่ได้มีเครื่องจักรเป็นโรงงานขนาดใหญ่ เรามีพนักงานแต่ละฝ่ายน้อยมากงานเราจึงเหมือนกับทำด้วยสองมือ เพราะฉะนั้นปริมาณงานศิลปินในสังกัดจะไม่เยอะ แต่งานทำมือนี่ต้องเนี๊ยบ เหมือนเราทำกระเป๋าหนังสักใบโดยใช้มือ มันไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์หรอกแต่นี่คืองานศิลป์ งานสักชิ้นทุกคนจะต้องมาประชุมกันทั้งทีม เอาความเห็นของทุกคนมารวมกัน ผมอยากเห็นภาพที่จินตนาการออกมากับเพลงไปในทางเดียวกัน
“ปัจจุบันค่ายเพลงอาจจะไม่จำเป็นเท่าไหร่เพราะว่าหลายคนทำเพลงเองได้ และเป็นเจ้าของสื่อออนไลน์ได้ทันที แต่ความสำคัญของค่ายเพลงอยู่ที่การลงทุนให้ศิลปินอย่างการทำโปรดักชั่นมีการประชาสัมพันธ์อย่างมีระบบ มีคอนเน็กชั่นที่ดี รู้เรื่องการวางคอนเซ็ปต์ให้ศิลปิน ไปจนถึงการแต่งกาย อาจรวมถึงการดูแลลิขสิทธิ์เพลงอีกด้วย ผมว่าตรงนี้อาจเป็นได้เปรียบของค่ายเพลงที่ดีกว่าคนปกติที่ทำเพลงออกมา
“ส่วนรายได้ที่เข้ามาของค่ายเพลงปัจจุบันต่างจากอดีตเยอะมาก อย่างแรกมากจากการแสดงคอนเสิร์ตของศิลปินตรงนี้คือรายได้หลัก อย่างที่สองมาจากดิจิตอลดาวน์โหลดซึ่งเหลืออยู่เพียงไม่กี่เจ้าที่จ่ายเงินมาให้ ส่วนที่สามก็มาจากการเป็นพรีเซ็นเตอร์
“ในยุคของการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีกับเรื่องของเพลงก็ยังคงดำเนินต่อไป วันนี้ค่ายเพลง Boxx Music เป็นค่ายเพลงเล็ก ๆ ที่เหมือนสนามเด็กเล่นของเด็กรุ่นใหม่ที่ไม่ได้จำกัดแนวดนตรี แต่ก็มีจุดเด่นเป็นของตัวเอง ยังไงก็อยากให้ช่วยฝากติดตามและสนับสนุนด้วยครับ”