Craft home  decoration

Craft home decoration

การที่เราหลงรักอะไรบางอย่างแล้วทุ่มเทลงมือทำอย่างตั้งใจจริง ผลลัพธ์ที่ได้มักจะสะท้อนออกมาให้เห็นผ่านผลงาน เช่นเดียวกับสองหนุ่มเพื่อนซี้ ‘ตุ้ย-ภาคภูมิ นรังศิยา’ และ ‘มี่-วาสิทธิ์ จินดาพร’ จับมือกันสร้างแบรนด์ Wunderkammer ด้วยใจรักในงานเซรามิก ทำให้ผลงานแต่ละชิ้นโดดเด่นด้วยคาแรคเตอร์อันมีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร ที่สำคัญบางแบบมีเพียงชิ้นเดียวเท่านั้น

แม้ว่าเริ่มแรกจะใช้ชื่อแบรนด์ว่า “Pinocchio wood&clay” มาก่อนในช่วงเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งเกิดจากการทำของขายเล่น ๆ สนุก ๆ กันในงานที่คณะ ด้วยความที่ชอบปลูกต้นไม้ทั้งคู่เลยลองทำกระถางต้นไม้ โดยเริ่มจากสิ่งใกล้ตัวที่พวกเขาถนัดกันอยู่แล้วอย่างงานเซรามิก บวกกับความโชคดีตรงที่ขายอยู่ดันมีรุ่นพี่เข้ามาเห็น เลยชวนกันไปออกบูธที่งานบ้านและสวน จนกระแสตอบรับเป็นที่น่าพอใจ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นสร้างแบรนด์กันอย่างจริงจัง

“พอเรียนจบมหาวิทยาลัย เราเริ่มทำเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น เลยคิดว่าชื่อ Pinocchio จะติดลิขสิทธิ์หรือเปล่า กลัวมีปัญหาเลยคิดชื่อใหม่ พอดีช่วงนั้นอ่านหนังสือแล้วเจอคำว่า Wunderkammer แปลว่าห้องสะสมของแปลก อารมณ์เหมือนเป็นตู้ไม้เอาไว้สะสมของที่เราชอบก็เลยเอาชื่อนี้มาใช้ ส่วนใหญ่ลูกค้าเขาจะติดที่ตัวผลงาน กับงานที่เราไปออกบูทขายมากกว่า ไม่ได้ติดที่ชื่อแบรนด์ ตอนนี้ก็ไม่มีอะไรแตกต่างจากเดิมมากเท่าไหร่ แค่ชื่อเรียกยากขึ้น (หัวเราะ) 

“เรื่องการออกแบบและคอนเซ็ปต์ อย่างกระถางต้นไม้ก็จะเห็นทรงปกติน่ารัก ๆ ที่เขาทำกัน แต่ว่าเราเอามาคิดใหม่ จับหลักว่าชอบอะไร ก็เอาจุดนั้นมาทำ ผมเรียนเซรามิก ส่วนมี่เรียนประยุกต์ศิลป์ เลยเอาวัสดุอย่างพวกเหล็กหรืองานไม้เข้ามาผสมผสาน มีลูกเล่นมากกว่ากระถางต้นไม้อื่น ๆ มันไม่ใช่เป็นแค่กระถางต้นไม้ แต่มันคือของตกแต่งบ้านด้วย ต่อให้เป็นกระถางเอ้าท์ดอร์เราก็พยายามจะใส่ฟอร์มที่มันดูเป็นของแต่งบ้าน เราคิดถึงเรื่องฟังก์ชั่นและมุมมองของการตกแต่งบ้านมากกว่า คือจบในที่เดียว”

ตอนนี้ผลิตภัณฑ์หลัก ๆ ของ Wunderkammer คือกระถางต้นไม้ และโคมไฟ เป็นงานฝีมือที่พวกเขาลงมือทำเองทุกกระบวนการ งานตอนนี้จึงมีอยู่ 2 ลักษณะ ถ้าเป็นกระถางต้นไม้จะเป็นแบบไม่มีหน้าตา เน้นเรื่องฟังก์ชั่นและวัสดุต่าง ๆ ส่วนอีกแบบเน้นเล่นคาแรกเตอร์อย่างชัดเจน

“ทำงานแต่ละชิ้นก็ต้องใช้เวลาเหมือนกันนะ เมื่อก่อนผมทำงานปั้นมือหมด เพราะคิดว่าจบเซรามิกก็ต้องปั้นมือสิ งานจะได้มีชิ้นเดียว แต่หลัง ๆ ทำไม่ทัน ก็เลยต้องเปลี่ยนเป็นวิธีการหล่อแทน ซึ่งตอนแรกผมไม่ได้อยากทำวิธีการหล่อ เพราะมันดูเหมือนงานอุตสาหกรรมไปหรือเปล่า แต่พอเอาเข้าจริงคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอันไหนปั้น อันไหนหล่อ เขามองแค่ว่าจบมันสวยหรือเปล่า แต่งานของเราทำไปถึงจุดหนึ่งจะเปลี่ยนแบบ คิดใหม่เรื่อย ๆ  ยังไงทุกชิ้นเราก็ไม่ทิ้งความเป็นการทำมือ เพราะยังไงเราก็ต้องมานั่งเพ้นท์มืออยู่ดี งานแต่ละชิ้นก็จะไม่เหมือนกันเลย ตอนนี้งานปกติ เรามีสองเรต งานหล่อกับงานปั้นมือ แต่เสน่ห์ของมันก็ยังคงอยู่

“เมื่อก่อนเราทำงานแต่ละชิ้นออกมาได้น้อย แต่เดี๋ยวนี้ต่อหนึ่งแบบเราทำเยอะขึ้น เพราะมันขายได้เยอะ ค่อย ๆ เริ่มพัฒนา วันหนึ่งอาจจะมีเพื่อนเพิ่มเข้ามาอีกคน เพื่อที่จะมาบริหารตรงนี้ก็ได้ แต่ตอนนี้ยังไม่พร้อมจะให้เงินเดือน เลยยังไม่ได้หา ถ้าเอาเข้ามามันไม่ใช่งานที่มาปั๊ปทำได้เลย มันต้องมาสอนงานกันเป็นเดือนกว่าจะเป็น ถ้าจูนเขาเป็นแล้วเราเลี้ยงเขาต่อไม่ได้ มันก็จะเสียงานและเวลาเปล่า ๆ อีกอย่างหายากมากคนที่เข้าใจอะไรตรงกัน ต้องเป็นคนที่ละเอียดนิดหนึ่ง 

“กลุ่มเป้าหมายตอนแรกเราอยากเจาะกลุ่มวัยรุ่นที่เพิ่งเริ่มทำงาน ไม่ใช่คนมีอายุ แต่ปรากฏว่าพอขายจริง ๆ กลับเป็นทุกเพศทุกวัยที่มาอุดหนุนของเรา อย่างอาม่าก็มีมาซื้อเหมือนกัน เดี๋ยวนี้เห็นพวกงานปั้นที่เป็นจาน ชาม แก้ว ในตลาดเยอะมาก ผมก็เลยไม่รู้ว่าจะทำไปทำไม ที่บ้านก็มีเยอะอยู่แล้ว ไม่รู้ว่าที่เราทำไปลูกค้าจะชอบแค่ไหน เท่าที่ผมสังเกตมาส่วนใหญ่คนที่ซื้อเซรามิกจะเป็นผู้หญิง ชอบอะไรน่ารัก ๆ เราก็เลยทำอะไรที่มันโหด ๆ เท่ ๆ หน่อย เป็นคาแรกเตอร์ที่ไม่ฝืนตัวเรา เป็นงานที่ดูดิบ ๆ ผู้หญิงก็ใช้ได้ ผู้ชายก็ใช้ดี

หากถามถึงหัวใจของนักออกแบบ พวกเขามองว่าอยู่ที่ความชอบ จากนั้นก็คิดให้รอบคอบว่าจะทำอย่างไรให้ออกมาสมบูรณ์แบบ ไม่ใช่ว่าคิดออกแล้วก็ทำ และยังมองอีกว่าการออกแบบคือการก็อปปี้ หมายถึงว่าไม่มีอะไรที่คิดเองได้ใหม่หมด ต้องเห็นนู่นนี่นั่นมาจนเกิดแรงบันดาลใจ อันนี้สำคัญมากต้องดูงานเยอะ ๆ จะได้รู้ว่าสิ่งที่เราทำมันอยู่ตรงไหน แล้วการออกแบบมันเหมือนต้องใส่ความเป็นตัวเราเอง ไม่ใช่ก็อปงานคนอื่นมาทั้งหมด ทุกอย่างของการเล่าเรื่องมันต้องมีสำเนียงหรือมีคาแรกเตอร์ของตัวเอง
ทุกครั้ง 

“อนาคตผมก็อยากให้แบรนด์เป็นแบบตอนนี้แหละ แต่อยากขยายเรื่องการตลาดให้กว้างกว่านี้  เรื่องวอลุ่มที่ทำต่อเดือนและมีลูกทีมที่เข้ามาช่วยเราได้ ส่วนเรื่องรูปแบบไม่ค่อยกังวล เพราะว่าเราหนีได้ สมมติว่าแบบนี้ขายไม่ดี ไม่เป็นไร เราก็คิดแบบใหม่เรื่อย ๆ ไม่ค่อยซีเรียสเรื่องแบบ โชคดีว่าเรายังขายของที่เราชอบได้ จริง ๆ คาแรคเตอร์ของแบรนด์นี้เริ่มมาจากที่ผมปั้นเล่น ๆ ปรากฏว่าดูน่ารัก คนชอบกันเลยดึงเข้ามา ซึ่งเราไม่ได้เริ่มด้วยการไปหาว่าจะทำอะไรดี บางวันผมไม่อยากทำงาน ผมแค่อยากปั้นอะไรเล่น ๆ แล้วเดี๋ยวก็คิดออกว่าต่อยอดทำอะไรขายต่อดี คือยังมีโปรเจ็กต์อีกหลายอย่างที่อยากทำ แต่ยังไม่มีเวลา ถ้าทำทันจะทำเฟอร์นิเจอร์เล็ก ๆ เป็นชั้นวาง มีต้นไม้ โคมไฟ ซื้อทีเดียวจบ”

ตอนนี้ผลิตภัณฑ์มีวางขายอยู่บนสยามดิสคัฟเวอรี่ แล้วเร็ว ๆ นี้พวกเขาจะออกบูธที่งานบ้านและสวนกับงาน NAP ที่เชียงใหม่ปลายปีนี้ ทั้งยังวางแผนเตรียมหาสถานที่วางขายมากขึ้นและมีแผนที่จะส่งออกไปขายต่างประเทศ เห็นได้ว่านอกจากการที่เราได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรักแล้ว สิ่งนั้นสามารถหล่อเลี้ยงชีวิตให้ดำเนินไปได้ แถมยังส่งต่อความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปให้คนอื่นอีกด้วย 

Wunderkammer ตกแต่งบ้านด้วยงานคราฟฝีมือดี