ว่าด้วยเรื่อง
ช่วงนี้กระแสวงการฟุตบอลไทยกำลังมาแรง ไม่ว่านัดที่ทีมชาติไทยลงทำการแข่งขัน บัตรเข้าชมการแข่งขันขายหมดเกลี้ยงภายในเวลาไม่กี่นาที เรื่องของเสื้อฟุตบอลก็เช่นกัน ล่าสุดปีหน้า บริษัทวาริกซ์ สปอร์ต จํากัด จะกลายเป็นแบรนด์กีฬาเจ้าใหม่ที่ได้รับสิทธิในการเป็นผู้ผลิตเสื้อแข่งทีมชาติไทย ขณะที่บริษัทแกรนด์สปอร์ต กรุ๊ป จํากัด ได้รับสิทธิเป็นผู้ผลิตและจําหน่ายฟุตบอลสําหรับการแข่งขันฟุตบอลทุกรายการที่รับรองโดยสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย
พอพูดถึงเรื่องเสื้อฟุตบอลแล้ว มีแฟนบอลตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับชื่อที่สกรีนบนเสื้อของนักฟุตบอลว่าทำไมนักเตะบางคนชื่อสกรีนบนเสื้อยาวมาก แต่บางคนก็ชื่อสั้น ไป ๆ มา ๆ ก็ดูคล้ายว่าจะเป็นชื่อเล่น จริง ๆ แล้วขึ้นอยู่กับอิทธิพลของภาษาในแต่ล่ะประเทศที่มีการสกรีนชื่อนักเตะลงไปบนหลังเสื้อฟุตบอล
อย่างไทยเราจะใช้นามสกุลย่อนำหน้าตามด้วย ชื่อจริงเช่น S.CHANATHIP เสื้อของซุปตาร์ขวัญใจแฟนบอล เมสซี่ เจ หรืออย่าง กวินทร์ ธรรมสัจจานันท์ ผู้รักษาประตูมาดเท่ของทีมชาติไทย สกรีนชื่อหลังเสื้อว่า T.KAWIN ซึ่งลักษณะการปักชื่อลงเสื้อฟุตบอลในชาติอื่น ๆ จะแตกต่างกันไป อย่างที่อังกฤษหรือยุโรปส่วนใหญ่ ยกตัวอย่างทีมฟุตบอลในอังกฤษ นิยมใช้นามสกุลอย่าง เวนย์ รูนีย์ เวลาเขียนชื่อด้านหลังเสื้อ จะเป็น รูนีย์ Rooney หรือ อดัม ลัลลาน่า ใช้แค่ Lallana
แต่ถ้าไปสังเกตดูนักเตะบราซิล หรือฝั่งโปรตุเกสจะใช้ชื่อเล่น หรือไม่ก็เป็นฉายาที่สั้น ๆ อย่าง กาก้า, เนย์มาร์, นานี่, เปเป้, ฮัลค์ ความจริงแล้วนักเตะบราซิลชื่อเต็มยาวมาก สกรีนเสื้อไม่พอกันเลยทีเดียว อย่าง เนย์มาร์ซุปตาร์คนดังที่นอกจากเตะบอลแล้วล่าสุดยังมีผลงานเพลงออกมาให้แฟนคลับได้ติดตามและซื้อซิงเกิ้ลกัน
ชื่อเต็มของเนย์มาร์ ก็คือ “เนย์มาร์” ดา ซิลวา ซานโต๊ส จูเนียร์ Neymar da Silva Santos Júnior ชื่อสกุลยาวขนาดนี้ พื้นที่ไม่พอแน่นอนในการสกรีนชื่อของนักเตะบราซิล เลยขอใช้แค่ Neymar Jr. ส่วนอีกคนที่ใช้ฉายาสกรีนลงเสื้อนั่นก็คือ ฮัลค์ Hulk ชื่อเต็มของเขาคือ Givanildo Vieira de Souza ฮัลค์คือชื่อเล่น จริง ๆ เรื่อง Hulk จากค่าย Marvel เป็นคอมมิคเรื่องที่เขาชอบดูมาตั้งแต่ตอนเด็ก แถมเจ้าตัวยังบอกว่าหน้าตาเขาเองก็คล้ายกับยักษ์เขียว Hulk ที่มีความแข็งแกร่ง และพลังมหาศาล เลยเอาฉายามาใช้ในสนามซะเลย
อีกหนึ่งธรรมเนียมปฏิบัติที่แฟนบอลต่างคุ้นเคยนั่นก็คือการแลกเสื้อฟุตบอลหลังจบการแข่งขัน การแลกเสื้อของทีมคู่แข่งซึ่งหากแลกหลังจบเกม ผู้ตัดสินก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะเป็นการแสดงถึงแฟร์เพลย์ ความมีน้ำใจนักกีฬา เริ่มมาตั้งแต่เมื่อ 85 ปีที่แล้ว มีประวัติที่น่าสนใจคือเหตุการณ์เกิดขึ้นตอนทีมชาติฝรั่งเศสพบกับทีมชาติอังกฤษ สมัยก่อนทีมชาติฝรั่งเศสเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ตลอด ต่อเนื่อง 6 ครั้งที่เจอกัน แต่ว่าแมตช์ประวัติศาสตร์เกิดขึ้นเมื่อตอน 14 พ.ค. 1931 เกิดการพลิกล็อกเมื่อทีมฝรั่งเศส ชนะอังกฤษได้ 5-2 ทีมฝรั่งเศสที่แพ้มาตลอดอยากเก็บความประทับใจไว้จึงขอถอดเสื้อแลกกับนักเตะอังกฤษเพื่อเก็บเป็นที่ระลึก หลังจากนั้นก็กลายเป็นธรรมเนียม แต่โดยปกติแล้วทีมสโมสรในเมืองเดียวกันพอจบเกมมักไม่ค่อยแลกเสื้อกัน
ล่าสุดก็มีบางสโมสรออกกฎเกี่ยวกับการแลกเสื้อเช่นผีแดงแมนเชสเตอร์ยูไนแต็ดประกาศห้ามนักเตะแลกเสื้อกับทีมอื่น เพราะเสื้อของนักเตะแมนยูนั้นต่างเป็นที่หมายปองของบรรดาทีมอื่น ๆ หากนักเตะฝ่าฝืนเผลอไปแลกเสื้ออาจจะต้องจ่ายตังค์ให้กับสโมสรเพิ่มเติม
ส่วนใหญ่เกมที่แลกเสื้อมักจะเป็นฟุตบอลทีมชาติ หรือฟุตบอลถ้วยที่มาจากลีกต่าง ๆ และการแลกเสื้อก็เป็นธรรมเนียมของทั้งนักฟุตบอลชาติและฟุตบอลหญิงอีกด้วย ซึ่งฟีฟ่าไม่ขัดข้องหากถอดเสื้อแลกกันตอนเกมจบแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นหลังเกมการแข่งขันเต็มไปด้วยมิตรภาพระหว่างทีมสองทีม ภาพการให้กำลังใจและการโอบกอดกัน เป็นภาพที่น่าประทับใจถึงแม้ว่าในเกมจะดุเดือด แต่พอจบเกมส์ทุกคนคือเพื่อนกัน
การแลกเสื้อจึงกลายมาเป็นวัฒนธรรมที่อยู่คู่กับวงการฟุตบอล...มีเรื่องราวมากมายซ่อนอยู่มากกว่าแค่เสื้อฟุตบอล