บทเรียน 2

บทเรียน 2

หลังจากสองนัดแรกของฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก 12 ทีมสุดท้ายผ่านไปเมื่อเดือนที่แล้ว แม้ว่าขุนพลช้างศึก “ทีมชาติไทย” จะแพ้รวด 2 นัด ต่อ “ทีมชาติซาอุดิอาระเบีย” 0-1 และ “ทีมชาติญี่ปุ่น” 0-2 แต่เราก็ได้เห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นมาในระดับหนึ่ง ภายใต้การคุมทีมของ “ซิโก้” เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง

ในเกมกับญี่ปุ่น ผมมองว่าทีมชาติไทยทำได้ดีในระดับที่สู้ได้ถึงจะพ่ายแพ้ในเรื่องของผลลัพท์ 0-2 ก็ตาม แต่ดูในรูปเกม เกมรับถือว่าเหนียวแน่นอนขึ้นกว่าหลาย ๆ ชุดก่อนหน้านี้ มีความเข้าใจในการเล่นดีขึ้น เหลือเพียงแค่เติมในเรื่องของระบบฟุตบอล
ให้มีความเข้าใจมากกว่านี้ เรื่องของจินตนาการในการเล่นเข้าไป

สิ่งที่เราแพ้ญี่ปุ่นคือความเป็นมืออาชีพที่ระดับของนักฟุตบอลเลือดซามูไรเดี๋ยวนี้ไปค้าแข้งเป็นอาชีพนักฟุตบอลจริง ๆ ในยุโรปได้สบาย ๆ ไม่ใช่เอามาโปรโมทเหมือนสมัย 20-30 ปีที่แล้ว ซึ่งผมมองว่าสิ่งที่เราต้องแก้ไขคือ ความเร็ว การครองบอลให้มีความเหนียวแน่น แน่นอน

ขณะที่เกมกับซาอุดิอาระเบีย ผมมองว่าเราแพ้แบบไม่น่าแพ้จากจุดโทษซึ่งภาพการแข่งขันตลอด 90 นาที ขุนพลเศรษฐีน้ำมันดูแล้วยังไม่น่ากลัวเท่าที่ควร ลงเล่นก็จะได้เปรียบแค่เกมที่ลงเล่นในบ้านของตัวเองเท่านั้น ใช้ความว่องไวเพียงอย่างเดียวกับชัยชนะ 2 นัดกับทุกประตูที่มาจากจุดโทษ (ชนะเรา แล้วยังชนะอิรัก) ทำให้หลายคนคิดว่าเกิดอะไรขึ้นกับผู้ตัดสินที่ทำหน้าที่ในเกมที่ซาอุฯ ลงสนาม

แน่นอนว่าเกมกับซาอุต้องให้เครดิตกับทุกฝ่าย ตั้งแต่ ซิโก้ น้อง ๆ นักฟุตบอล และการเตรียมตัวของสมาคมกีฬาฟุตบอลที่อำนวยความสะดวกให้กับทีมงานคณะนักฟุตบอลเป็นอย่างดี ทั้งระยะเวลาในการเก็บตัวฝึกซ้อม การเดินทางที่ใช้สายการบินระดับ 5 ดาวบินตรงให้มากที่สุดไม่ต้องไปรอเปลี่ยนเครื่อง 3-4 เหมือนยุคก่อน หรือวิทยาศาสตร์การกีฬา เรื่องรายละเอียดอย่างอาหารการกิน

มาถึงตรงนี้ต้องยอมรับว่าฟุตบอลเป็นกีฬาที่เรตติ้งสูงที่สุด ทำให้การวิเคราะห์วิจารณ์บางครั้งเป็นสิ่งที่เปราะบางมาก แต่ต้องยอมรับว่า “มาตรฐานของญี่ปุ่น” นั้นดีกว่าเรา และเหนือกว่าทุกทีมในกลุ่มด้วยซ้ำ มีความสามารถเฉพาะตัวสูง มีความเข้าใจการเล่นเป็นกลุ่ม ไม่ว่าจะการเล่น 1-5 คน จนกระทั่ง 10 คน เป็น 11 คนรวมถึงผู้รักษาประตู นักเตะญี่ปุ่นมีความเข้าใจว่าจะทำอย่างไรในสนาม ซึ่งเป็นสิ่งที่เราควรจะนำมาเป็นบทเรียนเพื่อพัฒนาทีมฟุตบอลไทยของเราต่อไป

อีกจุดหนึ่งที่สังเกตได้จากการแข่งขันกับญี่ปุ่นคือพื้นฐานทักษะเบสิกฟุตบอลดีมาก อย่างการจับบอลและเล่นบอลต่อ ดูนักเตะซามูไรทำอะไรก็ลื่นไหลไปหมด รับบอลจากเพื่อนไม่ว่าจะลูกเลียดหรือลูกโด่ง แล้วเล่นต่อได้เลยทั้งการส่งบอลและรับ ไม่ต้องมาเสียเวลาแต่งบอลเพื่อเล่นต่อ เรื่องนี้ควรจะเป็นสิ่งนำกลับไปสร้างนักฟุตบอลรุ่นต่อไปซึ่งตอนนี้ยังอยู่ในระดับเยาวชนอยู่

ที่สำคัญต้องหาคนมีความรู้ความสามารถเข้ามาบริหารจัดการในเรื่องของการฝึกนักฟุตบอลตั้งแต่ระดับเด็กจริง ๆ ไม่ใช่ทำแบบทุกวันนี้ที่สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยมอบหมาย จัดชุด 12 ปี โค้ชคนนึง, ชุด 14 ปี โค้ชคนนึง, 16 ปี โค้ชคนนึง, 18 ปี โค้ชคนนึง หรือ 21 ปี โค้ชคนนึง ซึ่งเหล่านี้เวลาทำงานก็เต็มความสามารถ เพียงแต่ว่าความรู้ความสามารถการสอนฟุตบอลของแต่ละคนเข้าใจไม่ตรงกัน

การไปถ่ายทอดให้กับเด็ก บางครั้งพอขึ้นจาก 16 ปีโค้ชชุดนี้ ไปอยู่ 18 ปีโค้ชอีกชุดหนึ่ง ทำไมวิธีการเล่นไม่เหมือนกัน ในขณะที่พอขึ้นไปเล่น 21 ปี มันต่างจากที่โค้ชระดับ 16 ปี 18 ปีสอน นี่คือสิ่งที่เป็นปัญหาที่ทำให้นักเตะของทีมชาติไทยไม่มีความต่อเนื่องที่จะเล่นฟุตบอลอย่างถูกวิธี แต่ถ้าเราได้โค้ชต่างประเทศที่มีความรู้ความสามารถมาวางพื้นฐาน และก็ปลูกฝัง และมอบหมายให้โค้ชแต่ละรุ่นไปดูแล

นอกจากมีความพร้อมในทุก ๆ เรื่องแล้ว ผู้จัดการทีมหรือโค้ชที่เอามาปูพื้นฐาน ก็จะต้องสามารถอธิบายแล้วก็ทำให้นักเตะมีความเข้าใจได้ว่า เมื่อไหร่ที่เราเล่นเกมรับนั้นจะทำอย่างไร เวลาเราเปลี่ยนจากเกมรับเป็นเกมรุก เราจะทำอย่างไร ระบบการเข้าโจมตี การเซตบอลเหมือนที่ญี่ปุ่นขึงกลางสนาม ไม่ปล่อยให้ทีมชาติไทยเล่นเป็นอย่างไร

กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ ญี่ปุ่น ใช้เวลานานมาก ถามว่าทีมชาติไทยมีโอกาสไหม ผมเชื่อว่ามีโอกาสครับ 

นัดแรกของทีมชาติไทย