Paper Trophy

Paper Trophy

เมื่อหลายปีก่อนผมได้เดินทางไปเยี่ยมเยือนพ่อแม่บุญธรรมของน้องสาวที่ประเทศ Denmark ซึ่งเป็น Host ที่คอยดูแลเมื่อสมัยครั้งน้องไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนด้วยทุน AFS ซึ่งผมพอทราบอยู่เลา ๆ จากการบอกเล่าของน้องสาวว่า ฝ่ายพ่อบุญธรรมนั้นมีอาชีพเป็นนายพราน ทำงานอยู่ในเขตอนุรักษ์ สิ่งที่ผมงงอยู่มาตลอดว่า “นายพราน” ทำไมถึงเป็นอาชีพได้ และแล้วก็ได้คำเฉลยนี่ล่ะครับ

“นายพราน” หรือ Hunter ในประเทศ Denmark มีหน้าที่ควบคุมจำนวนของสัตว์ในเขตอุทยาน ไม่ให้มีผู้ใดมาล่า และมีหน้าที่ออกล่าสัตว์ในบางฤดู เพื่อควบคุมจำนวนประชากรสัตว์ไม่ให้มีมากเกินไปจนทำลายระบบนิเวศน์ ซึ่งเมื่อไปถึงที่บ้านของเขา ก็ได้เห็นของตกแต่งเป็นหัวสัตว์สตาฟเต็มฝาผนังไปหมด ยังไม่รวมที่กำลังสตาฟอยู่ในโรงถลกหนังอีกด้วย 

ปกติแล้วผมเป็นคนที่ชอบถ่ายรูปเมื่อเจอสิ่งแปลก ๆ แต่ในวันนั้นขอบอกเลยว่ารู้สึกกลัวและหลอนจนไม่กล้าถ่าย รู้สึกสงสารสัตว์เสียมากกว่า ผมเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่าสัตว์จะสวยและสง่างามมากเมื่อมันมีชีวิตอยู่ เอาละครับว่ากันด้วยเรื่องหัวสัตว์สตาฟนี่ผมเองก็ไม่ทราบได้ว่า ความนิยมเริ่มแรกมาจากอะไรและมาจากสมัยใด แต่มันก็ถือว่าเป็นของประดับบ้านอย่างหนึ่งที่คนสมัยก่อนนั้นนิยมนำมาประดับฝาผนัง โดยเฉพาะบ้านไม้ทรงไทยหรือบ้านสไตล์กระท่อม Cottage ซึ่งมันก็ดูเข้ากันดี 

โดยเหตุผลอีกอย่างหนึ่งของการประดับหัวสัตว์สตาฟไว้ที่ผนังนั้น เปรียบเหมือนถ้วยรางวัลหลังจากการออกไปล่าสัตว์ ยิ่งเป็นสัตว์ดุร้ายยิ่งมีราคา และยิ่งเป็นความภูมิใจของผู้ล่า แต่ในปัจจุบันนี้ขอบอกเลยครับว่า สไตล์การตกแต่งบ้านนั้นได้เปลี่ยนไปแล้วหัวสัตว์สตาฟนั้นไม่ได้รับความนิยมอีกต่อไป อาจจะเป็นเพราะด้วยลักษณะการดีไซน์ที่เปลี่ยนแปลงไปในทาง Modern เข้าทุกวัน หากนำเอาหัวสัตว์สตาฟมาติดก็ดูไม่เข้ากันนัก รวมไปถึงการต่อต้านการล่าสัตว์จาก PETA และ WWF ทำให้เครื่องตกแต่งบ้าน
จากสัตว์นั้นได้รับความนิยมน้อยลงไป

แต่ผมได้ไปเห็นงานหนึ่งซึ่งน่าสนใจครับเป็นงานออกแบบของ Holger Hoffmann ซึ่งงานนี้มีชื่อว่า Paper Trophy เขาได้นำแนวคิดเรื่องตกแต่งบ้านหัวสัตว์สตาฟ มาเปลี่ยนรูปแบบใหม่ให้เข้ากับยุคสมัยในปัจจุบัน โดยคราวนี้หัวสัตว์สตาฟไม่ได้มาจากการออกล่าสัตว์แต่อย่างใดครับ แต่มาจากการพับกระดาษแบบญี่ปุ่นที่เรียกว่า Origami มาทำให้เป็นรูปทรงของสัตว์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น สิงโต กวาง ช้าง แรด หรือ ไดโนเสาร์กินเนื้อ ก็สามารถทำได้ สิ่งสำคัญคือเราสามารถนำมาใช้ประดับในห้องได้อย่างไม่เคอะเขิน ในทุกรูปแบบ เสมือนงานโมบายชิ้นหนึ่ง ซึ่งผมเห็นว่ามันเป็นงานที่สร้างสรรค์เป็นอย่างมากหากเราจะหาอะไรในการตกแต่งผนังสักอย่าง เราสามารเลือกสีเลือกขนาดได้อย่างหลากหลาย และไม่ต้องไปรบกวนเบียดเบียนชีวิตสัตว์อีกต่อไป 

และแน่นอนครับเมื่อต้นทุนมาจากกระดาษ ราคาขายก็สามารถขายให้ถูกได้ ซึ่งคุณสามารถ Searh ชื่อของ Holger Hoffmann ดูผลงานและสั่งซื้อสินค้าได้ในทันที และเท่านี้คุณก็สามารถมี Paper Trophy เล็ก ๆ อยู่ภายในพื้นที่ของคุณได้นั่นเอง ผมเชื่อมาตลอดครับว่า จุดเปลี่ยนเพียงเล็ก ๆ สามารถเปลี่ยนสิ่งที่คนลืมเลือนและไม่นิยมมากลายเป็นงานดีไซน์ที่มีคุณค่าและสามารถสร้างรายได้อย่างมหาศาล งานนี้เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่สามารถชี้ให้เห็นถึงการจี้โดนใจของงานดีไซน์ในความนิยมเก่า ๆ และผมก็จะไม่พลาดหยิบงานดี ๆ มาฝากท่านผู้อ่านอีกครั้งในเล่มต่อไปครับ 

 

Origami