ครองศักดิ์ จุฬามรกต
ในวงการสถาปนิกของประเทศไทย บริษัท แปลน อาคิเต็ค มีผลงานการออกแบบทางด้านสถาปัตยกรรมมากมายทั้งในและต่างประเทศมานานหลายสิบปี จนเป็นที่ยอมรับว่าเป็นกลุ่มคนที่มีฝีมือทางด้านการออกแบบที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของไทย
วันนี้เรามาคุยกับ ‘อาจารย์ครองศักดิ์ จุฬามรกต’ เขาคือ 1 ใน 7 ผู้บุกเบิกกลุ่มบริษัทแปลน มากฝีมือทั้งทางด้านการออกแบบและงานศิลปะภาพวาดดินสอชนิดที่เรียกว่าไม่ธรรมดา ที่สำคัญเขามีความลึกซึ้งทางจิตวิญญาณของศิลปะและการเผื่อแผ่ให้กับสังคมอยู่ตลอดเวลา
อาจารย์ครองศักดิ์ จุฬามรกต เกิดที่อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ในครอบครัวใหญ่ ฐานะปานกลาง ที่มีลูกถึง 11 คน โดยคุณพ่อมีอาชีพเปิดร้านขายยาแผนโบราณ ตอนเด็ก ๆ เขาเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือมากแม้จะไม่ค่อยชอบเรียนหนังสือนัก แต่ก็สอบได้ที่ 1 เป็นประจำ
ในยุคนั้นนักเรียนจากต่างจังหวัดบางคนพ่อแม่เริ่มส่งเข้ามาเรียนในเมืองหลวง เมื่อเป็นเช่นนั้นเขาจึงอยากมาเรียนบ้าง ก็เลยขออนุญาตทางบ้านเข้ามาเรียนในกรุงเทพโดยเป้าหมายแรกคือการสอบเข้าที่โรงเรียนสวนกุหลาบ
“ผมเดินทางจากอำเภอหลังสวนมาสอบเข้าโรงเรียนสวนกุหลาบ ปรากฏว่าสอบไม่ผ่าน เนื่องจากตื่นเต้นตกใจเสียงจากรถบนถนนวิ่งเสียงดังเวลาสอบก็เสียสมาธิ แต่ถ้าคิดดูอีกทีเวลานั้นตัวผมเองอาจไม่เก่งพอก็ได้ ผมอาจจะเก่งในระดับอำเภอแต่ระดับประเทศอาจไม่ใช่ เมื่อสอบไม่ได้ผมก็ไปเรียนโรงเรียนเล็ก ๆ แถวเขตพระโขนง อยู่ในย่านคลองตัน ชื่อว่าโรงเรียนเกษมพิทยา สมัยก่อนเล็กมากเป็นเพียงเรือนไม้ธรรมดาแต่เป็นโรงเรียนที่จริงจังเรื่องการศึกษามาก
“เมื่อเรียนจนเข้าเกณฑ์ต่อมศ. 4 คราวนี้ผมมาสอบเข้าที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาได้อยู่ห้องคิง หลายคนงงมากว่าผมสอบเข้าได้อย่างไร แต่ห้องคิงมันไม่ถูกกับนิสัยของผมเท่าไหร่ เพราะแข่งขันกันเยอะต้องมุ่งมั่นสอบได้ที่ 1 หรือต้องติดใน 50 คนแรกของประเทศไทยให้ได้ ตอนมศ. 5 ครูจะสอนอย่างเคี่ยวกรำมาก แม้แต่ตอนเที่ยงยังต้องมาเรียนต่อ ผมเลยไม่มีความสุข คือผมไม่ชอบการแข่งขันก็เริ่มมีการตั้งคำถามว่าเรียนหนักไปทำไม
“เวลานั้นในสมุดผมจะมีแต่รูปวาด มีศิลปินในดวงใจอย่างไมเคิล แองเจโล และแฟรงก์ ลอยด์ ไรต์ ซึ่งเป็นสถาปนิกซึ่งมีชื่อเสียงคนหนึ่งของโลก มีรูปสเก็ตสวยเยอะมากช่วงนั้นผมไม่ชอบเข้าเรียนแต่จะอยู่ในห้องสมุด ตรงนี้เองเป็นเหตุให้รู้จักเรื่องของสถาปัตยกรรม
“ด้วยความชอบในด้านการวาดภาพหลังจากเรียนจบที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ผมก็มาสอบเข้าได้ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอนแรกที่เข้าไปเรียนมันก็ดีนะ ตื่นเต้นตามประสานิสิตใหม่ แล้วมันเป็นวิชาที่ชอบมาตั้งแต่แรก แต่พอเรียนไปนาน ๆ ก็เริ่มเบื่อ เพราะมีปัญหาหลายเรื่อง อย่างระบบการเรียนการสอน ผมคิดว่าอาจารย์มีส่วนสำคัญมากที่จะกระตุ้นให้ลูกศิษย์คนใดคนหนึ่งอยากเรียนหรือไม่
“แต่มีอาจารย์เก่งอยู่คนหนึ่งชื่ออาจารย์แสงอรุณ เป็นอาจารย์นอกกรอบคือนอกจากจะสอนวิชาตามหลักสูตรแล้วท่านมีวิธีการสอนมีการใช้ปรัชญาชีวิต สอนให้เรารักธรรมชาติ รักในงานศิลปะ ซึ่งแตกต่างจากอาจารย์โดยทั่วไป ผมคิดว่าการเรียนการสอนที่จุฬาฯ ในสมัยนั้นมีความเป็นศิลปะน้อยเกินไปถ้าเทียบกับมหาวิทยาลัยศิลปากร
“ถ้าพูดกันตามตรงการเรียนสถาปัตย์เมื่อจบออกมาคือการรับใช้คนรวย ภายหลังผมเริ่มเบื่อกับกิจกรรมในคณะเพราะคณะสถาปัตย์จะเน้นเรื่องของความสนุกสนานความตลกอะไรแบบนี้ แต่ผมไม่ชอบเพราะไม่ถูกใจในเชิงอารมณ์ศิลปะของตัวเอง แต่ก็เรียนไปอย่างนั้นทั้งที่ตอนสอบเข้ามาเรียนผมสอบได้ที่ 1 ของคณะ หลายคนก็คาดหวังว่าน่าจะได้เกียรตินิยม แต่ไป ๆ มามีเหตุการณ์พลิกผันในชีวิตอีกเลยทำให้เรียนไม่จบ เพราะปัจจัยหลายอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิต
“อาจเพราะหลัง 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ผมมาสนใจเรื่องของสังคม วิถีชาวบ้าน การเมือง ความไม่เป็นธรรมต่าง ๆ ทำให้เริ่มเบื่อหน่ายในสิ่งที่เรียน แล้วมีเรื่องที่ต้องทำงานให้สังคมอีกเยอะ ผมจึงออกไปทำงานเป็นฝ่ายศิลป์ให้กับโรงพิมพ์ เพราะมีฝีมือทางด้านการออกแบบกราฟฟิกดีไซน์มีรายได้จากการทำงานแนวนี้ ก็ทำให้รู้จักนักคิดนักเขียนในฝ่ายต่าง ๆ ของยุคนั้น เพราะเขาจะไปรวมตัวกันที่โรงพิมพ์
“ในส่วนของกลุ่มแปลน ความจริงจุดเริ่มต้นมาจากตอนที่ผมเรียนอยู่ในคณะ ปีสุดท้ายก็ทำกิจกรรมสังคมเยอะจึงหาทางที่จะให้เพื่อน ๆ มีความคิดทางสังคมมากขึ้น ที่จริงแล้วเด็กคณะสถาปัตย์ต้องมีจิตสำนึกทางสังคมมากกว่าปกติ ผมเลยจัดตั้งกลุ่มการศึกษาร่วมทำกิจกรรมกันเรื่อยมา
“หลังจากนั้นก็มีการชักชวนกันตั้งบริษัทแปลน อาร์คิเทค ขึ้นมา โดยมีข้อตกลงว่าผลกำไรที่แต่ละคนถือหุ้นอยู่ในบริษัท จะต้องจัดสรร 60% มาเป็นส่วนกลางเพื่อนำไปทำประโยชน์ทางสังคม ที่เหลืออีก 40% จะนำมาเฉลี่ยเป็นส่วนตัวของแต่ละคน แต่ทุกวันนี้ไม่เป็นอย่างนั้นแล้วครับ มาเปลี่ยนแปลงช่วงฟองสบู่แตกตอนปี 40 ทางกลุ่มมีหนี้สินจำเป็นต้องเอาเงินที่สะสมไว้มาใช้หนี้ก็เลยมีการเปลี่ยนแปลงขึ้น
“การที่กลุ่มแปลนเติบโตได้อาจเพราะมีคนร่วมอุดมการณ์ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก เป็นส่วนผสมที่หลากหลายเพราะมีคนเก่งเยอะ มีคนที่มีคอนเน็คชั่นสูง มุ่งมั่นตั้งใจจริง ส่วนผมจะอยู่ในฝ่ายเสนาธิการหรือฝ่ายบุ๋นไม่ได้ออกไปข้างนอกแบบคนอื่น แต่ก็จะศึกษาหาความรู้ในเรื่องปรัชญาวิธีคิดการบริหารจัดการบริษัทสมัยใหม่ กำหนดปรัชญาและนโยบายขององค์กร
“ตอนแรกเราทำบริษัทสถาปนิกแม้ภายหลังเราขยายกิจการไปเยอะมากในหลากหลายวงการ แต่มันไม่ได้สำเร็จทั้งหมดผมมีคติอย่างหนึ่งว่า เจ๊งไม่เป็นไรแต่ขอให้รู้ว่าเจ๊งเพราะอะไร เราต้องเรียนรู้แล้วสรุปบทเรียนเสมอ เรารู้ว่าเราเป็นคนรุ่นใหม่จะอยู่รอดได้ต้องมีอะไรใหม่ ๆ มานำเสนอ จึงเริ่มมาศึกษาค้นคว้าใหม่เรื่องสถาปัตยกรรมระดับโลก รวมถึงปรัชญาการออกแบบ ผมก็มีหน้าที่กำหนดทิศทางให้สถาปนิกรุ่นใหม่มีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น เปิดโอกาสให้เขามีเวทีทำให้เริ่มมีงานออกมาสู่สาธารณะชนจน
เป็นที่ยอมรับ
“ส่วนตัวผมเองจะก็ออกแบบงานที่เกี่ยวข้องกับอาคารเพื่อสาธารณประโยชน์ เช่นอาคารการศึกษา มูลนิธิ หรือโรงพยาบาล ส่วนอาคารทั่วไปให้คนอื่นทำผมก็แค่เป็นคนดูแลให้มันออกมาเท่านั้นเอง แต่งานที่ผมชอบมากงานหนึ่งคือ การออกแบบสวนโมกข์กรุงเทพฯ (หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ) การทำงานศิลปกรรมที่ดีต้องแทงให้ทะลุเป้าหมายของโครงการ แปลออกมาให้เป็นการใช้งานที่ตรงจุดประสงค์สอดแทรกความหมายให้เห็นความสำคัญของโครงการนั้น
“โครงการสวนโมกข์กรุงเทพฯ มันเป็นโครงการในอุดมคติ เป็นสิ่งที่ชอบอยู่แล้ว ผมติดตามอ่านงานของท่านพุทธทาสมาโดยตลอด แล้วเห็นว่าโครงการเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน ต้องออกแบบให้ดีที่สุด ในเวลาเดียวกันมันก็สื่อถึงการเป็นบุคลิกความคิดของท่านพุทธทาสได้ตรงที่สุด ผมต้องกลับไปศึกษาปรัชญาศาสนา ธรรมะ แล้วแปลมาเป็นความคิดชุดหนึ่งเปลี่ยนออกมาให้เป็นแนวทางของสถาปัตยกรรมผสานกับความต้องการของการใช้สอย
“จากการที่ได้ออกแบบอาคารนี้แล้วเปิดใช้งาน ผมทราบมาว่าเป็นที่ชื่นชอบของทั้งเจ้าของอาคารและผู้ที่ได้ใช้ ผมไม่ต้องการออกแบบอาคารที่หรูหราหรือใช้แอร์คอนดิชั่นที่สิ้นเปลืองพลังงานเยอะ แต่อยากให้เป็นอาคารที่มีลักษณะไทย ๆ แล้วใช้งานได้จริง ขณะเดียวกันการกำหนดสเปซ บึงน้ำทะลุอาคารออกไปข้างนอกเป็นสิ่งที่ต้องคิดเพราะมันสื่อความหมายได้หมด
“การทำงานด้านสถาปนิกโดยปกติผมจะสอนน้อง ๆ ว่าจงอย่าพอใจในสิ่งที่ตัวเองทำไปแล้ว ถ้ามีเวลาต้องตรวจสอบอยู่เสมอว่ามีอะไรที่ต้องปรับหรือเปล่า แล้วพยายามสร้างสิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น ตรงนี้คือหลักการที่สำคัญ”
หลังจากที่ทำงานด้านสถาปนิกมาอย่างยาวนานอาจารย์ครองศักดิ์ก็เกษียนตัวเองมาอยู่เบื้องหลัง ผลักดันให้คนรุ่นใหม่มาทำงานแทน ส่วนตัวท่านเองก็ทำงานเพื่อสังคม และกลายมาเป็นศิลปินวาดภาพด้วยดินสอไม้อย่างเต็มที่ ซึ่งมีการจัดนิทรรศการแสดงภาพมาแล้วถึง 2 ครั้ง
“การวาดวาดรูปมันทำให้ผ่อนคลาย ก่อนหน้าที่จะวาดอย่างจริงจังผมเคยทำงานเป็นที่ปรึกษา แล้วบริษัทมักมีการประชุมซึ่งมันไม่ได้มีสาระอะไรมาก บางทีเป็นการประชุมที่ไม่มีประสิทธิภาพผมก็เบื่อหน่าย แอบเสียมารยาทบ้าง คือวาดรูประหว่างประชุมไปด้วยวาดเสร็จก็เอามาแจก พอมาดูแล้วก็เข้าท่าดีก็เลยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะวาดแบบจริง ๆ จัง ๆ ซึ่งผมไม่เคยเรียนวาดรูปมาก่อนเลย แต่เป็นพื้นฐานที่ติดตัวมาจากชอบสังเกต สรุปบทเรียน วิเคราะห์ดีไม่ดีตรงไหน ทำให้การวาดภาพพัฒนาไวขึ้น
“อุปกรณ์ที่ใช้มีเพียงดินสอไม่ได้มีอะไรซับซ้อน คือมันมีความประหยัด ดินสอนอกจากเอาไว้จดบันทึกการประชุมก็เอามาวาดรูป มันเป็นอุปกรณ์ที่ง่ายที่สุดอยู่ตรงไหนก็วาดได้ และรูปที่เขียนด้วยดินสอในแนวธรรมชาตินี้ไม่ค่อยมีคนทำ ส่วนใหญ่วาดแนว Portrait ซึ่งคนเขียนแนวนี้สไตล์นี้อย่างจริงจังทั่วโลกก็มีไม่มากนัก
“ภาพส่วนใหญ่ของผมมาจากความทรงจำ นึกถึงใบไม้ที่ลอยมาค้างอยู่บนก้อนหิน เวลาเขียนภาพหนึ่ง ผมจะจะใช้เวลาทำงานวันละนิด ใช้เวลารวมประมาณ 30 ชั่วโมงต่อหนึ่งภาพ อย่างสีขาวที่เห็นในภาพเกิดจากการเว้นไว้ แล้วต้องระวังไม่ให้ไปโดนในจุดอื่น เทคนิคเหล่านี้วาดไปจะรู้เองเป็นเรื่องที่คุ้นชิน โดยใช้น้ำหนักความแม่นยำของสายตา อารมณ์ที่เราเคยรับรู้จากสมัยก่อนที่ผมชอบอยู่ในป่า จึงเห็นลายละเอียดของต้นไม้ ก้อนหินรูปร่างต่าง ๆ แสงและเงาจะปรากฏออกมาในภาพที่เราเขียน ผมคิดว่าทำสิ่งสวยงามสุขใจให้คนได้ดู
“คนทั่วไปอาจมองว่าเก่งมากสามารถเขียนเหมือนภาพธรรมชาติจริง ๆ แต่คนที่เขาดูภาพออกจะมองถึงรายละเอียดความรู้สึก บางคนอาจถามว่าทำได้อย่างไร คำนี้มีความหมายว่าสิ่งที่ปรากฏออกไป มนุษย์เราหนอช่างมีความพยายามเอาเสียจริง ตรงนี้คือปรัชญา แล้วสามารถทำสิ่งที่ไม่น่าทำได้ให้มันออกมา คนที่ไม่เคยดูงานศิลปะเลยกับคนที่ดูจะมีความลึกซึ้งในปรัชญาแตกต่างกัน”
เบื้องหลังการทำงานด้านศิลปะโดยใช้เทคนิคดินสอไม้ นอกจากจะสื่อให้เห็นถึงภาพวาดธรรมชาติแล้วยังเกี่ยวโยงถึงเรื่องราวที่เขาได้ทำเพื่อสังคม ในความงดงามจากปรัชญาชีวิตของความเป็นแม่ ซึ่งอาจารย์ครองศักดิ์กำลังดำเนินการสร้างพิพิธภัณฑ์แม่ที่เต็มใจนำเสนอเป็นอย่างมาก
“ความคิดให้สังคมตื่นรู้อยู่ในใจผมตลอด พิพิธภัณฑ์แม่เกิดขึ้นหลังจากที่ผมรีไทร์จากบริษัทไปแล้ว ซึ่งเมื่อก่อนผมเคยเป็นที่ปรึกษาออกแบบพิพิธภัณฑ์ นิทรรศการต่าง ๆ ก็เห็นว่ามันเป็นรูปแบบชิ้นสำคัญที่สามารถให้บุคคลทั่วไปเรียนรู้ตลอดชีวิต อย่างเมืองไทยคิดว่าจบปริญญาก็พอ แล้วก็ไปทำงาน แต่การเรียนรู้ชีวิตเรื่องโลกความเป็นไปต่าง ๆ นานายังมีอีกมาก
“การเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญ ทำให้คนรู้ทันความเป็นไปของสังคมและประเทศก็ต้องอาศัยการเรียนรู้ตลอดชีวิต ประเทศไทยส่งเสริมให้คนเรียนรู้เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์มาก แต่ผมคิดว่าไม่ค่อยเกิดประสิทธิผลที่ทำให้คนเกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริง จึงเริ่มศึกษาเรื่องการจัดการเรียนรู้พิพิธภัณฑ์ขึ้น มาได้ไอเดียว่าจริง ๆ แล้วไม่มีพิพิธภัณฑ์แม่เลยในโลก เรามี พิพิธภัณฑ์ที่แสดงสิ่งของมากมาย แต่ไม่มีใครเรียนรู้จิตวิญญาณของแม่เลย มันเหมือนเป็นเรื่องใกล้ตัว เรารู้ว่าเรารักแม่แต่ไม่ได้มีใครให้ความสำคัญกับแม่ จึงต้องกระตุ้นให้คนเห็นความสำคัญตรงนี้
“ในอนาคตพิพิธภัณฑ์จะเป็นนามธรรมมากขึ้น อย่างต่างประเทศมีพิพิธภัณฑ์ชื่อการเอาใจเขามาใส่ใจเรา เขามีจุดประสงค์เพื่อให้คนรักกัน พิพิธภัณฑ์ก็เช่นเดียวกันเรามีแม่เหมือนกันทุกคนแต่จะตอกย้ำชีวิตความเป็นแม่ได้อย่างไร เพื่อกระตุ้นให้สังคมฉุกคิดให้เกิดความปิติในใจ
“สำหรับกลุ่มบริษัท แต่ผมรีไทร์ตัวเองออกมาหลังปี พ.ศ.2540 พวกเราอาจประสบความสำเร็จมากขึ้น แต่อุดมการณ์ของเราก็สวนทางกันมากขึ้น จากยุคแรก ๆ ที่เรามานั่งถกกันเรื่องชีวิต ความหมายและเรื่องต่าง ๆ ก็น้อยลง ผมไม่เคยคิดจะร่ำรวยหรือประสบความสำเร็จจากการทำธุรกิจ เพราะการทำธุรกิจมันมีด้านที่ไม่ดีอยู่ในตัวเราจึงต้องระวังเรื่องของความโลภ การเห็นแก่ตัว การใช้อำนาจในทางที่ผิด คนเราพอมันร่ำรวยขึ้นก็มีส่วนให้อุดมการณ์ความคิดเดิม ๆ อ่อนแอลง ผมก็คิดไว้แล้วว่าทุกอย่างคงไม่เหมือนเดิม พยายามชักชวนเพื่อนทำธุรกิจให้น้อยลงแล้วช่วยเหลือสังคมให้มากขึ้น ซึ่งเราก็มาตั้งมูลนิธิสานแสงอรุณขึ้นมา คือจิตสำนึกที่จะทำเพื่อสังคมสำหรับผมนั้นยังอยู่ตลอดเวลา
“ซึ่งมูลนิธิสานแสงอรุณทำเรื่องการศึกษาความรู้จิตสำนึกเรื่องสิ่งแวดล้อม มีแนวทางที่ถูกต้อง มีโอกาสได้เสพความงามของศิลปวัฒนธรรมหลายเรื่องที่เป็นเรื่องเดียวกัน หมายถึงมันสัมพันธ์กันหมด เรียกง่าย ๆ ว่าตื่นรู้ว่าชีวิตมีทางเลือกที่จะสร้างสรรค์สิ่งสำคัญที่มีประโยชน์ต่อตัวเองและผู้อื่น ถ้าเราไม่รู้ เราจะทำลายสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยที่ไม่รู้ตัว
“ในการทำงานผมไม่ได้มีความสามารถเรื่องของตัวเลข ก็ให้คนอื่นเขาทำแทนไปไม่เคยคิดว่าตัวเองทำธุรกิจเลยที่ผ่านมา แม้จะเคยอยู่ในกลุ่มธุรกิจแต่ก็แค่การสร้างสรรค์องค์กร แต่ไม่ได้มีจิตวิญญาณของนักธุรกิจ ผมมีความอ่อนไหวกับเรื่องของศิลปะและสังคมมากกว่า
“ส่วนสังคมที่ผมอยากจะเป็น ตรงนี้ต้องยกแนวคิดของอาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ ขึ้นมา คือคนเราทุกคนควรจะมีชีวิตที่สบายพอสมควร ไม่ต้องอดมื้อกินมื้อ คนที่ได้รับการศึกษาก็ควรกลับมาช่วยเหลือสังคมให้ดีขึ้น สังคมควรจะเป็นธรรมในการให้โอกาส เฉลี่ยทรัพยากรต่าง ๆ ให้สังคมอยู่อย่างสงบรักใคร่ร่วมมือช่วยเหลือแบ่งปันกันไป สังคมก็จะแข็งแรงมีความสงบสุขได้เอง”