ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล

ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล

หากพูดถึงห้องสมุด เรามักจะนึกถึงหนังสือ บรรยากาศสงบเงียบ และบรรณารักษ์ แต่มีสถานที่แห่งหนึ่งที่ฉีกกฎของห้องสมุดในความคิดแบบเดิม ๆ เป็นห้องสมุดมีชีวิต ซึ่งห้องสมุดแห่งนี้คือ ‘TK Park’ หรือ ‘อุทยานแห่งการเรียนรู้’ นั่นเอง ‘ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล’ ที่ปรึกษาสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ ได้เล็งเห็นความสำคัญของการกระจายความรู้สู่ท้องถิ่น ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหลากหลายหน่วยงาน จนปัจจุบันได้ก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้ไปแล้วกว่า 33 แห่งทั่วประเทศทุกภูมิภาค โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีปัญหาอย่างพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

“เราไม่ได้ต้องการให้ห้องสมุดมันเป็นพื้นที่เงียบ ๆ เคร่งครึม แต่อยากให้เป็นพื้นที่ที่มีความรู้สึกว่ามีชีวิต เป็นพื้นที่ของการแลกเปลี่ยนความรู้ ทุกคนทุกเพศทุกวัยสามารถเข้าถึงได้อย่างเป็นมิตร เราอยากให้ทุกคนวิ่งเข้ามาหาห้องสมุด เมื่อ 12 ปีที่แล้ว แถวสยามเซ็นเตอร์เรียกได้ว่าเป็นแหล่งมั่วสุมของวัยรุ่นเลยนะ ฉะนั้นเราจึงอยากสร้างแหล่งมั่วสุมที่สร้างสรรค์กันที่นี่ โดยกลุ่มเป้าหมายหลักก็จะเป็นวัยรุ่น นักเรียน นักศึกษา ส่วนกลุ่มเป้าหมายรองจะเป็นกลุ่มเด็กเล็ก คนวัยทำงาน ผู้ปกครอง หรือผู้สูงอายุ เราอยากให้เป็นห้องสมุดประชาชน” 

TK Park เรียกได้ว่าเป็นแหล่งจุดประกายห้องสมุดมีชีวิตแห่งแรก โดยทำหน้าที่ปลูกฝังและส่งเสริมนิสัยรักการอ่านด้วยรูปแบบที่ทันสมัยและสร้างสรรค์ เป็นพื้นที่ของการเรียนรู้อย่างไม่มีขีดจำกัด ฉะนั้น TK Park จึงรวบรวมทั้งหนังสือ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ และมัลติมีเดียต่าง ๆ ไว้ด้วยกันเพื่อช่วยสร้างสรรค์จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง

“การที่จะทำให้ห้องสมุดมีชีวิตคือต้องเน้นเรื่องการทำกิจกรรม ยอมรับว่าคนไทยส่วนมากยังต้องใช้กิจกรรมกระตุ้นให้คนหันมาอ่านหนังสือมากยิ่งขึ้น ซึ่งกิจกรรมที่เราทำก็แบ่งออกเป็น 4 แบบ คือส่งเสริมการอ่านการเรียนรู้ ซึ่งมันคลอบคลุมในทุกช่วงวัย กิจกรรมตรงนี้จะอิงเข้ากับหนังสือและสื่อทั้งหลาย เพราะการเรียนรู้มันไม่มีที่สิ้นสุด อย่างที่สองกิจกรรมส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมทั่วโลก

“ตัวต่อมาเป็นกิจกรรมส่งเสริมทักษะชีวิตก็จะมีตั้งแต่ทักษะเด็กเล็ก การรู้จักตัวเอง การเข้าสังคม พัฒนาสมอง จนถึงวัยรุ่นการใช้ชีวิต การเรียนต่อ มีกิจกรรมแนะแนว มีเวที TK แจ้งเกิด เพื่อที่เด็ก ๆ จะได้เลือกในสิ่งที่ต้องการจะรู้ ส่วนคนวัยทำงานเราก็มีกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับหนังสืออย่าง Book Club สำหรับผู้สูงอายุหรือผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส เราก็มีกิจกรรมตรงนี้ กิจกรรมพวกนี้ทำให้เด็กและผู้ใหญ่ได้คุยกัน ฉะนั้นความมีชีวิตมันเกิดจากการสื่อสารระหว่างกัน เป็นการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน”

พื้นที่ TK Park กรุงเทพฯ จึงเป็นเสมือนพื้นที่ในการทำ Research and Development มีการทดลองใช้เทคโนโลยีอันทันสมัยและกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อยกระดับให้เป็นห้องสมุดระดับสากล แล้วเมื่อเกิดผลสำเร็จระดับหนึ่งจากนั้นจึงกระจายอุทยานการเรียนรู้ไปทั่วประเทศ

“เราทดลองขยายผลตัวอุทยานการเรียนรู้จังหวัดยะลาเป็นที่แรก คือเราอยากขยายไป 4 ภูมิภาค เลยดูว่าทางภาคใต้ควรจะเป็นจังหวัดไหน ก็มีหลายจังหวัดแสดงความจำนงมาเหมือนกันแต่ตอนนั้นที่เรามองว่ามันมีหลายปัจจัย ตั้งแต่ความพร้อมของประชาชน หรือผู้บริหาร เมื่อวิสัยทัศน์ของเราและจังหวัดตรงกันก็เลยเริ่มต้นที่ยะลา ซึ่งตรงนี้ต้องปรับให้เข้ากับบริบทท้องถิ่นด้วย ไม่ใช่ว่าเราจะโขกโมเดลของกรุงเทพเข้ามาใส่เลยมันไม่ได้

“รูปแบบห้องสมุดมีชีวิตหรืออุทยานการเรียนรู้ก็จะคล้ายคลึงกัน แต่ตัวเนื้อหาและกิจกรรมจะถูกปรับให้เข้ากับบริบทท้องถิ่น อย่างอีสานก็จะไม่เหมือนกับทางเหนือ ทางเหนือก็จะไม่เหมือนกับทางใต้ มันจะเป็นกิจกรรมร่วม ต้องดูความพร้อมของแต่ละท้องถิ่นด้วย แล้วเราก็จะเน้นไปในส่วนที่จะทำให้ห้องสมุดมีความเป็นสากล อย่างตัวห้องสมุดอัตโนมัติเราจะดูแลเรื่องสื่อการเรียนรู้ ซึ่งต้องเป็นสื่อปัจจุบันและเหมาะกับบริบทของท้องถิ่นนั้น ๆ ส่วนแนวทางการจัดกิจกรรมก็ต้องคุยร่วมกันตลอดเวลาว่าแนวทางจะออกมาเป็นแบบไหน”

ปัจจุบันอุทยานการเรียนรู้จังหวัดยะลา เปิดมาแล้ว 10 ปี ซึ่งเป็นจังหวัดแม่ข่าย กำลังมุ่งหน้าทำอีก 4 มุมเมือง เพื่อกระจายอุทยานการเรียนรู้ไปสู่แหล่งชุมชน นโยบายของห้องสมุดมีชีวิตคือไม่ได้เป็นคนสร้าง แต่เรียกว่าเป็นต้นแบบ จับมือร่วมพัฒนากับองค์กรหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น เทศบาลในทุกระดับ, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงศึกษาธิการ, องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร หรือแม้แต่ภาคเอกชนก็ตาม  

“ภารกิจที่สำคัญที่สุดของเรา คือการสร้างคน เราต้องสร้างคนที่มีคุณภาพ ปลูกฝัง ส่งเสริมนิสัยรักการอ่านตั้งแต่ยังเล็ก หรือส่งเสริมทักษะสังคม เราอาจไม่ใช่องค์กรที่สามารถจะทำได้ครอบคลุมทั้งประเทศ แต่ในฐานะที่เราเป็น Missing Link เป็นข้อต่อ เราก็พยายามที่ทำให้มันเกิดเป็นรูปธรรมขึ้น สามารถกระจายองค์ความรู้ ให้ที่อื่นนำไปใช้ได้ยิ่งเยอะเท่าไหร่ยิ่งดี เพราะเราอยากให้มีแหล่งเรียนรู้แบบนี้ไปทั่ว ตอนนี้ยอมรับว่ารูปแบบของการอ่านหนังสือเปลี่ยนไปบ้าง อาจจะอ่านผ่านอุปกรณ์ทั้งหลาย แต่มันก็คือการอ่าน จะบอกว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่รักการอ่านเลยมันก็ไม่ใช่ แต่วิธีการอ่านของเขาก็อาจจะเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง

“อนาคตอยากให้มีแหล่งเรียนรู้ในรูปแบบห้องสมุดมีชีวิตกระจายตัวไปทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นตัวที่เรามีส่วนร่วมทางตรงหรือทางอ้อม ซึ่งอยากให้พื้นที่ตรงนี้ทุกคนสามารถเข้ามาหาความรู้ได้อย่างที่ไม่ต้องเกร็ง เหมือนเป็นอีกพื้นที่หนึ่งในชุมชนนอกเหนือจากบ้านและโรงเรียน เขาก็สามารถที่จะมาอยู่ตรงนี้ได้ ”

เร็ว ๆ นี้อุทยานการเรียนรู้จะเปิดอีก 3 จังหวัด คือ ปัตตานี นราธิวาส และนครราชสีมา แถมยังเปิดเป็นอีกรูปแบบหนึ่งในค่ายทหารอีกด้วย สถานที่แห่งนี้-ห้องสมุดมีชีวิต เรียกได้ว่าเป็นแหล่งจุดประกายส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนมีนิสัยรักการอ่าน และแสวงหาความรู้อย่างสร้างสรรค์ตลอดชีวิต 

Living library ห้องสมุดมีชีวิต