ตะลุย
การถาโถมของ Football Marketing ในระดับสั่นสะเทือน (ไม่ใช่กระเพื่อม) ที่ส่งต่อ ๆ กันไปทั่วโลกนั้น ทำให้ผมได้เดินทางไปอังกฤษถึง 5 ครั้งในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ซึ่งคงไม่มีใครคาดคิดว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของอุตสาหกรรม “พรีเมียร์ลีก” เป็นของคนต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นทุนนิยมตะวันออกกลาง, อเมริกา, สิงคโปร์, รัสเซีย หรือแม้แต่ไทยเรา ก็มีถึง 3 ทีม ในดิวิชั่นต่าง ๆ
อานิสงส์อย่างหนึ่งก็คือ เวลาดูบอลเสร็จ ก็ใช้เวลาว่างไปตะลอนโรงหนังต่าง ๆ ในลอนดอน ที่มีทั้ง Cinema House (โรงหนังขนาดเล็กมากแบบตึกแถวบ้านเรา), โรงหนังในย่านชุมชนเก่าแบบเป็นตลาด เช่นในย่าน Portobello หรือที่คนไทยเรียกว่าแถว ๆ Notting Hill Theatre นั่นเอง
ตอนเดินเล่นอยู่ที่อังกฤษ ผมได้ข่าวเรื่องกระแสคนต่อต้านถ้าหากจะมีการทุบทิ้ง “สกาล่า” และ “ลิโด้” นึกแล้วถ้าจะมีการทำลายก็น่าอดสูและน่าเสียดาย เพราะขณะที่โรงหนัง โรงละคร กลายเป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยว คนดูหนัง และชาวบ้านช่วยกันอนุรักษ์เอาไว้ (เช่นโรงละครในหนัง The Godfather ภาค 3 ในปาแลร์โมที่จะมีอายุครบ 120 ปีในปีหน้า)
โรงหนังในบ้านเรากลับมีแนวคิดแบบแคบและแบนราบ คือคิดเอาจากการทำผลประโยชน์ทางรายได้เป็นหลัก โดยใช้ชุดความคิดที่ว่า คนเดินห้างมีความสุขกว่าคนที่ไปดูหนังนอกกระแส...??
ไปอังกฤษครั้งล่าสุดนี้ (ฉลองเลสเตอร์เป็นแชมป์) ได้เห็น “เทรนด์” แปลก ๆ ที่เกิดขึ้นในการปรับตัวของโรงภาพยนตร์ที่นั่น เช่น Empire Theatre ในย่านเลสเตอร์สแควร์ สลัดภาพของการเอาแต่จัดเทศกาลหนังตามวาระ (เช่น London Film Fest) หรือหนังยุโรปลุกขึ้นมาปรับตัวเอง จัดอีเว้นต์ถี่ยิบในระยะหลัง ๆ เช่นจัดเทศกาลหนัง Star Wars ทุกภาคทุกตอน, จัดเทศกาลหนังผิวสี (ที่ในลอนดอนมีคนผิวสีอยู่มาก), จัดเทศกาลหนังผู้อพยพ ฯลฯ
การจัด Film Fest ขนาดเล็กแบบหนึ่งสัปดาห์ หรือระยะเวลาสั้น ๆ ของโรง Empire ทำให้ตัวสถานที่ฉายหนังที่ว่านี้ไม่ตายไปตามกาลเวลาเหมือนบางแห่ง หรือโรงหนังที่ Notting Hill ก็ใช้วิธีผสมผสานระหว่างการฉายหนังยุคใหม่กับหนังเก่ายุคคลาสสิก โดยแบ่งโรงซึ่งน่าจะซอยออกเป็น 2 โรงเล็ก ขณะที่โรงหนังแบบ House ย่านพาเลซ ก็จัดให้มีการเสวนาหลังการฉายหนัง
“เทรนด์” ของโรงหนังในอังกฤษ ค่อนข้างมีการปรับตัวแตกต่างกับโรงหนังในไทยและเกาหลี ซึ่งมีการอิงซบ Alternative Content สูง กล่าวคือ ไม่พึ่งพาสินค้าหลักคือหนังอีกต่อไป แต่ผลักดันโรงให้เป็นที่ใช้เปิดตัวสินค้า จัดอีเว้นต์ เล่นคอนเสิร์ต แบบที่ House RCA และเมเจอร์สาขาพารากอนเคยทำ
การพึ่งพา Alternative Content ของโรงหนังยุคใหม่ คือนำเอาโรงไปจัดกิจกรรมที่พ้นไปจากหนัง ทำให้เกิดรายได้มาประคับประคอง ที่หวังจะได้จากภาพยนตร์อย่างเดียว (เราคงไม่ฟลุ๊คจากหลวงพี่แจ๊ส 4G, X men และเรื่องอื่น ๆ แบบปีนี้)
ขณะที่สกาล่าและลิโด้ ไม่ได้ถูกดูแลโดยองค์กร หน่วยงานของรัฐ เพราะเอกชนเช่าไปก็ดูแลตัวเองนั้น ในย่าน Portobello มีการจัดตั้งกองทุน สมาชิก เพื่อโหวตและประชุมถึงทิศทางของโรงหนังเก่า ๆ เท่าที่ทราบชาวบ้าน และคนในพื้นที่ก็ทำกันเอง
เรื่องหนึ่งที่น่าชื่นชมของโรงหนังขนาดเล็กที่นั่นก็คือ พวกเขาเปิดโอกาสให้เอกชนหรือคนนอก เข้ามาใช้บริการ โดยคิดเนื้องานมาเสนอ เช่น เด็กไฮสคูลมาเช่าโรงหนังในราคาพิเศษของวันหยุด เพื่อเอาละครเวทีของเด็ก ๆ มาแสดงในตอนเช้าวันหยุด ทางหนึ่งคือส่งเสริมศิลปะอีกด้าน โดยบ้านของศิลปะภาพยนตร์
สิ่งที่น่ายินดีมากก็คือ แม้ว่าหนังบางเรื่องไม่ใช่สินค้าหลักในกระแส หรือมีแววว่าจะทำเงิน ก็ยังมีการคิดรูปแบบสนุก ๆ ให้กับการฉายหนัง เช่นการฉายหนังเรื่อง Bobby Moore ที่สนามฟุตบอลเวมบลีย์ (แถมเก็บค่าตั๋วไม่ถูกคือ 15 ปอนด์) แต่ก็มีแฟน ๆ แห่กันไปดูในสนาม ซึ่งสถานีเวมบลีย์นั้น ไกล ออกไปนอกเมือง
หนังที่อังกฤษ...จึงไม่ได้จำเป็นต้องขังตัวเองอยู่แค่โรงหนัง
สามารถไปจัดฉายตามผับ, สนามบอล, โรงเรียนหรือโรงละครเก่า ตามความเหมาะสม ที่สำคัญคือ แม้หนังหรือภาพยนตร์ จะมี “รัง” มากขึ้นในการไปแสดงตัวตน แต่บ้านของมันคือโรงหนัง ก็ไม่ได้ถูกทำลายลงหรือถูกเสนอทุบทิ้ง
ที่มีเชิงมากกว่านั้นก็คือ อะไรที่ยิ่งเก่าและรักษา ยิ่งวัดระดับของสมอง วิธีคิด และทัศนคติในการเข้าใจศิลปะ
แต่มันจะแปลกอะไร เพราะใครจะสามารถพึ่งพา คาดหวัง “ประเทศที่มีห้างเยอะ”
ซึ่งหลายคนคิดถึง การใช้จ่าย ก่อนการเรียนรู้...