“สิบปี”

“สิบปี”

ในการประกวดภาพยนตร์ยอดเยี่ยมครั้งที่ 35 ของฮ่องกง (第 35 屆香港電影金像獎 ) ในปี 2016 ภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมคือภาพยนตร์เรื่อง “สิบปี” 十年 นอกจากจะได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแล้ว “สิบปี” ยังได้รับรางวัลภาพยนตร์แนะนำให้ชมจากสมาคมวิจารณ์ภาพยนตร์ฮ่องกง ครั้งที่ 22 (第 22 屆香港電影評論學會大獎), และได้รับรางวัลจากสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ครั้งที่ 10 (第 10 屆香港電影導演會年度大獎) ในปีเดียวกันด้วย

หนังเรื่อง “สิบปี” (十年 / Ten Years) เป็นหนังสั้น 5 เรื่องจากผู้กำกับรุ่นใหม่ 5 คน คือ กวอเจิน 郭臻, ฮว๋างเฟยเผิง 黃飛鵬, โอวเหวินเจี๋ย 歐文傑, โจวกวานเวย 周冠威, และ อู่เจียเหลียง 伍嘉良 แต่ละคนมองความเป็นฮ่องกงหลังการคืนสู่อ้อมอกแผ่นดินใหญ่ในปี 1997 แล้วสะท้อนออกมาเป็นผลงานสร้างสรรค์ในรูปหนังสั้น ความยาวรวมทั้งหมด 104 นาที ใช้ต้นทุนการผลิตหนังทั้งเรื่องเพียง 5 แสนเหรียญฮ่องกง (ราว 2,500,000 บาทไทย) ถือเป็นหนังทุนน้อย และเป็นหนังนอกกระแส 

ได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ที่ฮ่องกงตั้งแต่ 17 ธันวาคม 2015 และถูกพูดถึงแบบปากต่อปากจนกลายเป็นกระแสสังคมและสามารถทำรายได้ 6,000,000 เหรียญฮ่องกง ได้ฉายในโรงภาพยนตร์ที่ไต้หวันเมื่อ 5 สิงหาคม 2016 และเป็นที่พูดถึงมากในไต้หวันเช่นกัน 

โอกาสที่หนังเรื่อง “สิบปี” จะได้ฉายในจีนแผ่นดินใหญ่คงไม่มี เนื่องจากมุมมองที่หนังสะท้อนออกมาเป็นปัญหาสังคมที่ฮ่องกงภายหลังการเปลี่ยนธงของฮ่องกงในปี 1997 และมองเห็นด้านลบของจีนมากมาย 

ตามหลักการที่รัฐบาลปักกิ่งเคยประกาศไว้ก่อนการเปลี่ยนธงที่ฮ่องกงในปี 1997 คือจะคงนโยบาย 1 ประเทศ 2 ระบบในฮ่องกงต่อไป 50 ปี แต่ปรากฏการณ์ความเป็นจริงที่สะท้อนผ่านสายตาและความรู้สึกของคนฮ่องกงโดยตรงคือ คำสัญญานั้นไม่เป็นจริง 
ทุกอย่างกำลังเปลี่ยนไป และเปลี่ยนแปลงในเชิงไม่น่าพอใจมากขึ้นตามวันเวลา 

“การปฏิวัติร่ม” 雨傘革命 Umbrella revolution คือ การเคลื่อนไหวเรียกร้องเสรีภาพของขบวนการนักศึกษาประชาชนในเดือนตุลาคม 2014 เป็นปรากฏการณ์ชัดแจ้งยืนยันถึงความอึดอัดไม่พอใจต่อเสรีภาพที่ลดลงของฮ่องกง 

สังคมฮ่องกงเปลี่ยนไปมากหลังไป 1997 ปัญหาเดิมที่เคยมีอยู่แล้วไม่ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น ซ้ำร้ายกลับแย่ยิ่งกว่าเดิมมาก ปัญหาด้านที่อยู่อาศัยเป็นปัญหาใหญ่ของฮ่องกงซึ่งเป็นเกาะเล็ก ๆ ที่มีพื้นที่จำกัดตลอดมา การสร้างตึกสูงเพื่อเป็นที่พักอาศัยโดยทางการเป็นไปอย่างไม่ทันต่อความต้องการของประชาชนผู้มีรายได้น้อย และห้องชุดที่สร้างโดยการลงทุนของเอกชนมีราคาแพงมากจนเกินกำลังทางการเงินที่คนทั่วไปจะสามารถเป็นเจ้าของได้ 

เมื่อปี 1992 มีภาพยนตร์ฮ่องกงเรื่องหนึ่งซึ่งสะท้อนปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยของคนฮ่องกงเป็นที่เกรียวกราวไปทั่วโลก คือภาพยนตร์เรื่อง “มนุษย์กรง” 籠民 Cageman กำกับโดยจางจือเลี่ยง 張之亮 เราจะเห็นขนาดจริงของบ้านของมนุษย์กรงว่าเป็นเหมือนตู้ตะแกรงเหล็กแนวนอน มีขนาดเพียงสามารถนั่งหรือทอดกายนอนได้เพียงคนเดียว บ้านกรงแบบนั้นพอมาถึงปี 2000 ขนาดเล็กลงไปอีก ซ้ำค่าเช่าก็แพงยิ่งขึ้น คนฮ่องกงเรียกบ้านแบบนั้นว่า “บ้านโลงศพ” 棺材房 มันมีขนาดพอ ๆ กับโลงศพ กว้างราว  50 ซม. ยาวราว 200 ซม. สูงไม่เกิน 60-70 ซม. 

บ้านเช่าลักษณะนี้ผิดกฎหมาย แต่ประชาชนผู้มีรายรับน้อยจำนวนมากก็ไม่มีทางเลือก การยื่นขอสิทธิ์ครอบครองบ้านพักของรัฐต้องเข้าคิวนานหลายปี มีสถิติข้อมูลว่าแม้จะไม่มีผู้ยื่นขอสิทธิ์เพิ่มเติม ถ้ารอตามคิวปัจจุบันต้องใช้เวลาเกิน 50 ปี กว่าคนที่อยู่
ในลำดับท้าย ๆ จะมีสิทธิ์ได้ย้ายเข้าไปพักในตึกซึ่งก็ยังมีขนาดห้องพักเล็กมากถ้าเทียบกับห้องพักทั่วไปในประเทศอื่น แต่สำหรับคนฮ่องกงแล้ว ห้องพักขนาดเล็กเช่นนั้นก็คือสวรรค์ชั้นดีแล้วเมื่อเทียบกับบ้านโลงศพที่พวกเขาพักอาศัยในปัจจุบัน

มองผ่านสายตาของคนที่อื่น ภาพยนตร์เรื่อง “สิบปี” เหมือนจะเป็นการมองโลกในแง่ร้ายอย่างมาก แต่ทัศนะที่คนฮ่องกงส่วนใหญ่สะท้อนออกมา นี่คือหนังฮ่องกงที่สะท้อนการมองโลกตามที่เป็นจริง ผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้ เราจะเห็นความวิตกกังวลต่อประเด็นสิทธิมนุษยชน, ปัญหาความเป็นประชาธิปไตย, ปัญหาเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน 

ตั้งแต่ปี 2014 ปัญหาความไม่พอใจต่อปัญหาด้านต่าง ๆ ของชาวฮ่องกงก็แสดงออกอย่างชัดแจ้งมากขึ้นเรื่อย ๆ จนประทุออกมาเป็นปรากฏการ “การปฏิวัติร่ม” ในเดือนตุลาคม 2014 การเคลื่อนไหวครั้งนั้นได้รับการสนับสนุนจากประชาชนฮ่องกงในวงกว้าง 

ปัญหาระหว่างคนฮ่องกงและคนจีนแผ่นดินใหญ่ปรากฏรุนแรงและจะแจ้งขึ้นเรื่อย ๆ ตามวันเวลา ไม่เพียงจะเกิดจากนักท่องเที่ยวจีนที่มาแย่งซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นของชาวฮ่องกงไปจนเกิดความขาดแคลน ยังมีเรื่องอื่น ๆ ทั้งการที่ครอบครัวจีนแผ่นดินใหญ่เอาลูกมาแย่งที่เรียนซึ่งปกติก็เป็นปัญหาใหญ่ในฮ่องกงอยู่แล้ว ปัญหาที่อยู่อาศัย ปัญหาเรื่องเสรีภาพ และปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนปรากฏชัดแจ้งยิ่งขึ้นทุกที 

ฮ่องกงเป็นสังคมพิเศษที่แตกต่างจากจีนแผ่นดินใหญ่อย่างสิ้นเชิง ฮ่องกงคือฮ่องกงที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ฮ่องกงเป็นเมืองเปิดที่ค่อย ๆ เติบโตมาเป็นเมืองการค้าสมัยใหม่ ระยะเวลาร่วม 100 ปีที่ผ่านมาได้หล่อหลอมให้คนฮ่องกงเป็นคนทัศนะเปิด พวกเขาเหมือนคนไม่สนใจการเมือง ทว่าจิตสำนึกความเป็นเสรีชนของพวกเขาเข้มข้น พวกเขาแกร่งเหมือนเด็กที่ถูกทิ้งให้ต่อสู้ดิ้นรนเอง และพวกเขาภาคภูมิใจกับตัวตนเช่นนั้น 

ภาพยนตร์เรื่อง “สิบปี” ไม่เพียงจะเป็นหนังที่สร้างกระแสเกรียวกราวเรื่องหนึ่ง ทว่ามันคือการส่งเสียงร้องออกมาดัง ๆ ของคนฮ่องกง เป็นคำประท้วงที่ครั้งนี้พวกเขาพูดผ่านจอหนัง เป็นทั้งเสียงตะโกนก้องเสียงเสียงหัวเราะขื่นที่คนฮ่องกงส่งเสียงออกมา 

 

(十年 / Ten Years)