คฑาวุธ ทองไทย

คฑาวุธ ทองไทย

หลาย ๆ คนรู้จักชายคนนี้ในชื่อ อ.ไข่ มาลีฮวนน่า นักร้องนำกระบอกเสียงของวงดนตรีตำนานเพื่อชีวิตจากปลายด้ามขวานไทยเขาเป็นตัวแทนคนในยุครอยต่อของวัฒนธรรมเก่าและใหม่ ที่นำพาวงมาลีฮวนน่าข้ามผ่านยุคสมัยมากว่าสองทศวรรษ อีกบทบาทหนึ่งเขาเป็นครูศิลปะและศิลปินผู้รังสรรค์แนวทางให้แก่ลูกศิษย์ลูกหามากมาย ฝีมือจากปลายพู่กันคมกริบไม่แพ้น้ำเสียงที่สูงอันเป็นเอกลักษณ์เช่นกัน


อ.ไข่ มาลีฮวนน่า

“ผมมีช่วงรอยต่อของชีวิตอยู่เป็นช่วง ๆ ผมเกิดในรอยต่อของไทยพุทธมุสลิม บ้านผมอยู่ปลายสุดของจังหวัดสงขลา อำเภอเทพา แต่ติดแขวงการทางของจังหวัดปัตตานี คุณพ่อเป็นเภสัชกรแผนโบราณ คุณแม่เป็นแม่ค้าขายขนม ทำงานหนักมาก คุณแม่ท่านมีหัวก้าวหน้า คิดว่าสมบัติอย่างเดียวที่แม่มีให้คือการศึกษา และพี่สาวท่านอยู่ที่หาดใหญ่ ทำให้ผมต้องออกจากโรงเรียนเดิมตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ 5 เพื่อมาเตรียมตัวเรียนในโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย นั่นคือก้าวแรก ซึ่งระบบการศึกษายุคนั้น เมื่อเราโตต่อมาในภายหลังทำให้เห็นว่าระบบการแนะแนวสำคัญ หนังสือและความรู้สำคัญ ได้มารู้จักหนังสือดี ๆ มากมาย อาทิ บ้านเล็กในป่าใหญ่, สี่แผ่นดิน, เพชรพระอุมา 


อ.ไข่ มาลีฮวนน่า

“ตอนนั้นคุณอาและคุณลุงเป็นสถาปนิกที่หาดใหญ่ สิ่งรอบข้างมีอิทธิพลต่อเด็กวัยนั้นมาก ทำให้ผมอยากเรียนเป็นสถาปนิกเหมือนกับท่านทั้งสอง ทีนี้จุดเปลี่ยนก็คือตอน ม.3 ถ้าเราจะเข้าเรียนสถาปนิกเราต้องต่อสายสามัญ วิทย์-คณิต แต่มันก็มีจุดพลิกผันในวิถีชีวิต ผมต้องขอขอบคุณครูแนะแนวยุคนั้น ท่านอธิบายว่าเราสามารถไปศึกษาต่อที่วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมได้ ท่านบอกว่าถ้าเกิดจบที่นั่นสามารถต่อปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอกได้ที่ไหนบ้าง 


อ.ไข่ มาลีฮวนน่า

“นั่นเป็นที่มาทำให้ผมเดินทางจากหาดใหญ่ไปนครศรีธรรมราชกับเพื่อนอีกสองคน แล้วยุคนั้นสถาบันสอนศิลปะมีที่เดียวในภาคใต้ คือวิทยาลัยศิลปหัตถกรรม เพราะรัฐบาลยังไม่มีนโยบายกระจายวิชาศิลปะตามอาชีวะต่าง ๆ ก็คือโรงเรียนศิลปะใกล้บ้านยังไม่มี เพราะฉะนั้นคนใน 14 จังหวัดภาคใต้ก็จะมารวมกันที่นั่นเยอะมาก 


อ.ไข่ มาลีฮวนน่า

“ล้อที่หมุนจากท่ารถสงขลามานครฯ พาเด็กชายเข้าสู่เมืองที่น่าตกตะลึงมากในวัย 15 ปี และตกตะลึงอีกว่าสถานที่ใหม่ที่เขาต้องมาใช้ชีวิตอยู่นอกจากมีวัดเยอะ ตรอกที่เข้าไปเรียน เสาที่โอนเอนมีรั้วลวดหนามล้อม ไม่มีรั้วกำแพงที่ใหญ่โตตามจินตนาการ แต่สิ่งที่เห็นคือมีป่าผักบุ้ง ในใจคิดแล้วว่าไม่อดตายแน่ นั่นคือปฐมนิเทศในช่วงชีวิตครั้งที่สอง ซอยนั้นเขาเรียกว่าซอยหอไตร เป็นที่ตั้งของวิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช ซึ่งมีสาขาวิชาเรียน 3 แผนก ก็คือ แผนกโลหะภัณฑ์, แผนกวิจิตรศิลป์และแผนกศิลปะประยุกต์ ผมเลือกเรียนแผนกวิจิตรศิลป์ แล้วยุคที่ผมเรียนเป็นช่วงรอยต่อซึ่งมีอาจารย์ที่จบจากมหาวิทยาลัยศิลปากรมาปฏิรูป ชื่ออาจารย์สมพงษ์ นพรัตน์ โดยใช้ระบบการเรียน Academy แบบศิลปากร  


อ.ไข่ มาลีฮวนน่า

“ตอนนั้นในจังหวัดนครศรีธรรมราช แฟชั่นเฮฟวี่มาแรง กางเกงขาบานและเสื้อตัวเล็ก ๆ วัยรุ่นเดินกันเป็นกลุ่มไปกันทีละ 50 คน และสิ่งที่ติดตัวเด็กยุคนั้นตลอดก็คือการวิพากษ์วิจารณ์สิ่งรอบข้าง อ่านทุกอย่าง ยุคนั้นยังมีโครงการแจกสีแจกกระดาษอยู่ แล้วเด็กที่เรียนศิลปะโดยส่วนใหญ่จนทั้งนั้น แต่วัสดุอุปกรณ์แพงมาก มุมมองในการวิพากษ์สิ่งต่าง ๆ คิดว่าได้มาจากการซึมซับ อย่างบ้านที่โตมาก็มีร้านน้ำชากาแฟ ผู้ใหญ่จะมานั่งกันเต็ม ก็นั่งฟังเค้าพูดเรื่องความเป็นไปทั้งหมดในนั้น หรือมันอาจจะซึมในดีเอ็นเอก็ได้

“ผมได้รับการคาดหมายว่าน่าจะติดอยู่ในกลุ่มต้น ๆ ที่น่าจะสอบเข้าคณะจิตรกรรมหรือเพาะช่างได้ เพราะครูที่สอนหลอมรวมครูที่สอนศิลปากรและเพาะช่าง เตรียมตัวทุกอย่างตามวัยนั้น ทุกคนก็สร้างฝันตัวเอง แต่เหมือนฟ้าฟาดผ่าเด็กคนนั้นด้วยคำตอบจากทางบ้านว่า แม่ไม่มีเงินส่งให้เรียน คืนนั้นผมไปอยู่บ้านเช่าเป็นคนสุดท้าย เพื่อนทุกคนเตรียมตัวและขึ้นรถไฟไปกรุงเทพ เหลือผมคนเดียวที่ไม่ได้ขึ้นเพราะเรายากจน และเป็นค่ำคืนที่ต้องเดินอยู่คนเดียวรุ่งเช้าก็จับรถจากนครฯมาลงสงขลา ลังผลงานและข้าวของทั้งหมดที่เตรียมว่าจะนำกลับบ้านดันติดไปกับรถกระบะขณะที่เรากำลังขนของ ต้องเรียนรู้ว่าไม่สมหวังเป็นยังไงครั้งแล้วครั้งเล่า จนกระทั่งพ่อให้ไปสอบตำรวจก็ไปสอบตามใจพ่อ ในใจมีคำถามอย่างเดียว ระหว่างพู่กันกับปืนจะเอาอะไร  ก็เลยไม่เอาจึงไปสอบได้วิทยาลัยครูที่ยะลาแทนแต่สุดท้ายก็กลับมาสอบที่ศิลปากรจนได้”

ศิษย์มีครู        

“ผมมุ่งมั่นอยากเป็นศิลปินเขียนรูป ตอนนั้นต้องขอบคุณครูบาอาจารย์ มีทั้ง อ.ยงยุทธ ดำศรี วงด้ามขวาน,อ.จตุรัตน์ กีรติมูทิพงษ์, อ.อมรรัตน์ สีหิน ตอนนั้นท่านเพิ่งจบจากศิลปากร ให้ไฟ ให้วิธีการใหม่ ๆ ทำให้รู้จัก วินเซนต์แวนโก๊ะ หรือปิกัสโซ่ ซึ่งเบื้องหลังคนพวกนี้ไม่เคยขายรูปได้เลยแม้แต่นิดเดียว ผมเป็นคนชอบทั้งหมด ครูพักลักจำทุกอย่าง ชอบเส้นของ อ.ถวัลย์ ดัชนี ในบางจุด ชื่นชอบ อ.อิทธิพล ตั้งโฉลก ท่านเป็นครูทั้งชีวิตซึ่งทำงานตลอดเวลา และ อ.ชลูด นิ่มเสมอ ชอบหลายคน ศิลปินเมืองนอกก็ชอบ เป็นยุคที่กำลังค้นหา กลืนกินทุกอย่างรอบข้าง ไม่ได้เรียนแค่ศิลปินอย่างนั้นอย่างเดียว ชื่นชอบไปถึงขั้นคนนี้เสกตะกรุดของขลังด้วย ตอนนั้นเพื่อนฝูงเขาก็มีประกวดวงดนตรีกันเราก็ไปยืนฟัง นึกในใจว่าเพื่อนคนนั้นร้องเสียงสูง เพลงกัญชาของคาราบาว ในใจก็คิดว่าเราร้องสูงกว่าเขาอีก ในวงเหล้ามันมีกับแกล้มให้เรากิน เราตักกับแกล้มเพื่อให้อิ่มท้องแล้วก็กลับ ไม่ได้มีวี่แววของการตั้งวงดนตรีใด ๆ ทั้งสิ้น  

“ช่องทางที่ผมรู้เรื่องศิลปะยุคนั้นคือหนังสือบ้านและสวนจะมีคอลัมน์ศิลปะอยู่ ก็จะมีรูปผลงานศิลปะของท่านเหล่านั้นที่บอก ทั้ง อ.ถาวร โกอุดมวิทย์, อ.ปรีชา เถาทอง, อ.อิทธิพล ตั้งโฉลก, อ.ชลูด นิ่มเสมอ, อ.สมศักดิ์ เชาวน์ธาดาพงศ์ ซึ่งในสายคนศิลปะ ท่านเหล่านั้นก็เป็นเหมือนไอดอล ดูจากงานในนี้เป็นตัวอย่าง นอกนั้นก็เป็นผลงานที่อาจารย์เขาเปิดหนังสือแล้วก็สไลด์ ไม่เคยเห็นงานจริงแม้แต่น้อยมาเห็นอีกทีตอนเข้าเรียนคณะจิตรกรรม ศิลปากร 

“อ.อิทธิพล ตั้งโฉลก ให้ความคิด ให้แรงบันดาลใจโดยภาคปฏิบัติของท่านเอง ทำงานตลอด ไม่เคยออกนอกลู่นอกทาง ท่านสอนในชั้นเรียนแล้วก็สอนนอกห้องเรียนโดยการปฏิบัติ ทางด้าน อ.ชลูด นิ่มเสมอ ก็เหมือนกัน ผมนี่กลัวท่านมาก ๆ ไอดอลเหล่านี้ปฏิบัติงานโดยตรงให้เราเห็น ทั้งชีวิตทั้งวิญญาณทั้งลมหายใจของผมมีเรื่องศิลปะอยู่ในหัวเสมอ ผมเป็นน้ำไม่เต็มแก้วและผมไม่เคยคว่ำแก้วตัวเอง ผมกลืนกินหมดทุกอย่าง ผมไม่เกี่ยงเรื่องอายุผมดูผลงานคนอย่างเดียว

“คนที่วิจารณ์และคนที่วิพากษ์จะเป็นคนระหว่างหัวขบวนและท้ายขบวน คนที่สำเร็จและคนที่ไม่สำเร็จ ตัวคนที่ทำงานต่างหากรู้ว่าตัวเองจะทำอะไร อยู่ตรงจุดไหน ทฤษฏีมาทีหลังทั้งสิ้น ลงมือทำคือคำตอบ ร้อยสำเร็จไม่เท่ากับหนึ่งล้มเหลว ต้องกลืนกินรอบด้าน งานดีไม่ดีไม่รู้ ตัวคนทำรู้ผมกลับไปใช้คำครูอีกคำหนึ่ง หลักการใหญ่ ๆ ผมใช้ตรงนี้ครองชีวิตมาตลอด หนึ่งต้องมีทักษะ จินตนาการ แล้วก็ความคิดเพราะฉะนั้นศิลปะจะได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติเบื้องต้นก่อน เสร็จแล้วก็มาเป็นผลงาน จากผลงานก็ออกมาแสดง พอแสดงก็มีการวิจารณ์ แล้วก็กลับมาแสดงผลงานต่อ ๆ ไป เป็นวัฏจักรเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นงานแขนงไหนก็ตาม ผมยึดหลักเช่นนี้ไว้ในชีวิต”

มาลีฮวนน่า บุปผาแห่งเสียงเพลง

“มาลีฮวนน่าเกิดจากเด็กยากจนที่เข้ามาเรียนในเมืองกรุงเทพฯ ก็ต้องมาช่วยเหลือกัน แล้วเพลงที่ออกไปมันก็เกิดจากการที่วิพากษ์คนอื่นมาอย่างมากมาย แล้วเพลงเหล่านั้นก็ไม่ได้คาดคิดที่จะมาทำเป็นอัลบั้มเพลงขายอย่างนี้ เพียงแค่ร้องเพื่อระบายบาดแผลในใจเท่านั้น ไม่เคยคาดคิดที่จะมาทำวงดนตรีเป็นอาชีพ ปีนั้นเป็นปีที่พลเอกชาติชาย ติณสูลานนท์เป็นนายก ก่อนหน้านั้นเราตามเพลงทั้งหมด เขียนเพลงขึ้นมาเรื่อย กระทั่งเพื่อนชวนทำเพลง ก็ไปหา อ.ยงยุทธ์ ดำศรี 
วงด้ามขวาน แกก็พาไปหาพี่ฮิเดกิ โมริ ซึ่งมีห้องอัดเล็ก ๆมีห้องอัดเป็นระบบ Analog 

“ตอนนั้นผมเพิ่งจบปีห้าและได้สมัครเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศิลปากรเลย เพราะผมอยากเรียนต่อปริญญาโทและอยากรับราชการให้แม่สบายใจ หลังจากนั้นก็รวมเพื่อนไปอยู่บ้านพักครูในทับแก้ว เพลงหลายเพลงก็ไปเกิดที่นั่นมันมีมาเรื่อย ๆ ที่ได้เรียนรู้ว่าการทำเพลงต้องมีหน้า A หน้า B แล้วมันไม่เท่ากันเหลือช่วงเทปออก เป็นที่มาของมุกในเทป คิดแค่ว่าหนึ่งได้ทำอะไรร่วมกับเพลง สองทำเพลงเสร็จเพื่อนก็คงได้มีเงินค่าตัวในการเป็นนักดนตรีแล้วก็สามได้รับรู้ว่าเพลงกว่าจะเสร็จน่าตื่นเต้นมาก จริง ๆต้องการเป็นปกสีเงินก็เลยได้เป็นปกสีเงินเทาซึ่งก็มาทำหนังสือ 20 ปีต่อมา เป็นหนังสือ ‘เสียงหัวใจดอกไม้ดนตรี’ในเวลาต่อมา 

“พวกเราชื่นชอบพี่ซัน มาโนช พุฒตาลมาก วันหนึ่งรุ่นน้องก็เอาเทปไปให้พี่ซันฟัง ช่วงนั้นพี่ซันคิดจะทำเพลงให้เป็นสองแนวที่แตกต่างกันพอดี วงหนึ่งคือโกรวอิ้งเพน ที่เป็นวงร็อคหนัก ๆ อีกวงเป็นโฟล์คซึ่งก็คือวงเรา คาดว่าแกไม่ได้คาดหวังยอดขายของมาลีฮวนน่าหรอก ก็เข้าไปพูดกันวันเดียวจบ แล้วก็เปลี่ยนปกจากตอนทำเทปใต้ดินในชื่อชุดบุปผาแห่งเสียงเพลง มาเป็นบุปผาชน สมาชิกมาลีฮวนน่าในยุคเริ่มต้นที่ก่อตั้งกันมา ทำงานร่วมกัน 4 ชุด หลังจากนั้นก็แยกย้ายกันไป แล้วก็มีการเติมเข้ามาก็ได้นักดนตรีที่มีฝีมือก็เข้ามาร่วมทำเพลง จากเบื้องหลังก็มายืนเบื้องหน้า มีการเข้าออกตลอดเวลา กว่าจะมานิ่งใช้เวลาถึง 2 ทศวรรษ ผมว่ามันเป็นปกติของโลก มันเป็นกฎของโลก บางทีก็ยั่งยืน บางทีก็ไม่ยั่งยืนสมาชิกดั้งเดิมเรายังเป็นเพื่อนกันอยู่”

“ผมไม่ได้ฝึกร้องเพลงมาก่อน ไม่เคยคิดเป็นนักร้อง ผมโตมากับเสียงแรกในชีวิตคือเสียงละหมาด เสียงสวดมนต์จากวัด เสียงหนังตะลุง และเสียงกาหลอ คือเสียงดนตรีที่เล่นประกอบงานศพ แล้วต่อมาก็เป็นเสียงเพลงลูกทุ่งจากคลื่นวิทยุ AM ฟังแล้วมีความสุข ไปนอนหน้าโรงหนังตะลุง ไปดูตั้งแต่เขาปลูกโรงหนังตะลุง ยุคนั้นเป็นยุคสุดท้ายที่ใช้ตะเกียงเจ้าพายุส่องจากหลังม่าน แล้วก็ได้ยินเพลงตามยุคสมัยเท่าที่วงการธุรกิจยุคนั้นมี ผมได้มาฟังเพลงจริง ๆ จัง ๆตอนเรียนที่นครศรีธรรมราช ยุคนั้นวงดนตรีดัง ๆ ได้แก่ฟรีเบิร์ด, บรั่นดี และที่วัยรุ่นยุคนั้นคลั่งไคล้มากที่สุดคือ คาราบาวกับชุดวณิพก ที่มาพร้อมกับแฟชั่นการแต่งตัวที่เราชอบ จริง ๆผมฟังเพลงหมดทุกแนวนะ ตั้งแต่ลูกทุ่งยันสากล”

ศิลปะในมุมมองศิลปิน

“ศิลปะไม่มีนิยาม...ความงดงามที่ลงตัว เราจะบอกว่าเพลงของคนนี้เพราะกว่าคนนั้นไม่ได้ ทุกอย่างมันให้อารมณ์สั่นสะเทือน ให้แรงบันดาลใจ  เรื่องหนักบางเรื่องของบางคนแต่อาจจะเบาสำหรับบางคนก็ได้ ผมว่ายุคนี้เป็นยุคศิลปะไม่มีนิยาม แต่เป็นความงดงามที่ลงตัว ผมเคยคิดว่าเมื่อก่อนตอนจบปีห้า ผมคงทำงานศิลปะไม่ได้แล้ว ทำไมองค์ประกอบต้องมีจุดเด่น จุดรองด้วย แต่แล้วใช้เวลาต่อมาอีกเยอะเหลือเกิน ถึงจะคิดว่ามันก็หนีสาระน้ำหนักไม่พ้น ขาว เทา ดำ ถึงมาเข้าใจตอนหลังว่าเพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้ถึงเกิดผมยึดหลักมนุษย์เราเท่ากัน มีน้ำตาเหมือนกัน มีรอยยิ้มเหมือนกัน เราอยู่เพื่ออะไร การทำงานศิลปะแท้จริงอยู่ตรงไหนอยู่ที่การทำงานหนักหรืออยู่ที่การทำความเข้าใจชีวิตแล้วเอาความเข้าใจนั้นมาเป็นงาน 

“ผมมองเพลงทุกเพลงบนโลกใบนี้ ผมมองงานศิลปะหรืองานทั้งหมด ผมว่ามุมด้านลบของมนุษย์ให้ความสะเทือนใจมากกว่าด้านบวก ความสุขไม่มีจริง ความสุขเป็นแค่เรื่องจอมปลอมชั่วคราว ไม่ยั่งยืน ผมเชื่อเช่นนั้นแล้วผมเชื่อว่าทุกข์ต่อทุกข์มาชนกันมันจะเกิดความหวังเพลงมาลีฮวนน่าไม่ได้บอกถึงบุคคลที่สาม บอกจากตัวเราเองจากข้างใน เขียนออกมาเหมือนไดอารี่ชีวิต เรายังคงต้องหายใจตลอดเวลาถ้าสิ้นศรัทธาในตัวเองเมื่อไหร่ ผมว่าน่ากลัว

“ผมเริ่มทำเพลงหลังรับราชการได้ 3 ปี ผมสอนหนังสือมา 20 กว่าปี ผมทำหลักสูตรการสอนเอง ผมลองผิดลองถูกจนเห็นแล้วว่าต้องทำยังไงต่อ ตอนนี้ผมมาเรียนปริญญาเอกด้านวิจัยที่ มอ.สงขลานครินทร์ ปัตตานี หวังใจว่าเอาวิธีการเขียนวิจัยที่เป็นระบบ ถ้าผมเอาวิจัยกับสร้างสรรค์มารวมกันบวกกับประสบการณ์ที่ทำหลักสูตรมา วันหนึ่งผมอาจจะตั้งคณะหรือมหาวิทยาลัยตัวเอง อาจจะทำ Complex Artตั้งแต่อนุบาลถึงปริญญาเอกก็ได้ มนุษย์สุดท้ายก็อยู่กับทักษะ อยู่กับการลงมือปฏิบัติ ทฤษฏีตามหลังทั้งสิ้นผมกำลังตั้งสมาคมศิลป์หอไตรใน 16 จังหวัดภาคใต้ ที่เป็นศิษย์เก่าที่จบจากวิทยาลัยศิลปหัตถกรรม แสดงงานเรื่อย ๆเท่าที่มีเวลา” 

แคมป์ไฟดนตรีที่หุบกะพง 

“ผมทำงานแคมป์ไฟดนตรีมาลีฮวนน่า ร่วมกับคุณเครือมาศประทุมมาศ เกิดแนวความคิดว่าน่าจะทำอะไรสักอย่างผมเลยคิดว่าเราน่าจะทำโครงการสานสัมพันธ์ครอบครัวโดยใช้ดนตรีเป็นตัวนำ เป็นเทศกาลดนตรี กวี ศิลปะ และวัฒนธรรม ชักชวนแฟนเพลงมากันเป็นครอบครัวพ่อแม่ลูก ชวนคนหนุ่มคนสาวไปกางเต็นท์กัน บังเอิญว่าเรามีพื้นที่เล็ก ๆอยู่ที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เข้าไปทางโครงการหุบกะพง จัดครั้งที่หนึ่งล้มลุกคลุกคลานกันมา เรียนถูกเรียนผิดประการต่อมาคือทีมเป็นสิ่งสำคัญ วิถีของกัลยามิตรสำคัญ ทำมาถึง 7 ครั้ง เนื้อที่จัดงานประมาณ 40 ไร่ มีที่กางเต็นท์ได้ประมาณ 3,000 หลัง สามารถจุคนได้ถึง 20,000 คน 

“เราเล่นคอนเสิร์ตกันข้ามวันข้ามคืน กลางวันก็มีกิจกรรมมากมาย เช่น เอาศิลปะที่เรามีอยู่แถมหาดูยาก เช่นการปั้นปูนสด เด็ก ๆ ก็จะได้เล่น งานแคมป์ไฟดนตรีมาลีฮวนน่า เราจะจัดกันทุกต้นเดือนธันวาของทุกปี ตรงกับวันเสาร์ เนื่องจากปีนี้เป็นปีสุดท้ายจึงมีกิจกรรมพิเศษ วันที่ 5ธันวาคม จะเป็นกิจกรรมกีฬา มีกีฬาสามประเภท ฟุตซอล แชร์บอล ชักกะเย่อ โดยมาลีฮวนน่าจะเป็นเจ้าภาพร่วมกับชาวบ้านหุบกะพง ทีมเยือนก็คือแฟนคลับที่มาร่วมกิจกรรมตั้งแต่บ่ายสามจนถึงตอนเย็น พอตอนเย็นเราก็จุดเทียนถวายพระพรร่วมกัน จากนั้นจึงมีคอนเสิร์ตต่อในวันรุ่งขึ้น

“ปีนี้เป็นปีสุดท้าย จึงอยากเชิญชวนพี่ ๆ เพื่อน ๆ น้อง ๆมาร่วมสนุกด้วยกันครับ เป็นบรรยากาศที่ผมอิ่มเอมใจมาก มีครอบครัว พ่อแม่ลูก มีเพื่อนมีฝูงไปเจอกัน ปีนี้ยิ่งเป็นปีสุดท้าย เราจะไปซึมซับบรรยากาศด้วยกัน เพราะสิ่งเหล่านี้ผมก็คาดหวังว่ามันจะต่อยอดจุดไอเดียให้กับคนรุ่นใหม่หรือคนที่ชอบงานศิลปะ ดนตรี และเสียงเพลงได้ ปีนี้เราจัดในวันอาทิตย์ที่ 6 ธันวาคมครับ รับรองความพิเศษจากศิลปินมากมาย ทั้งวงมาลีฮวนน่าและศิลปินต่าง ๆ ที่ร่วมให้ความบันเทิง ใครที่เคยมาในปีก่อน ๆ ก็คงไม่ต้องสาธยายกันมาก ส่วนคนที่ยังไม่เคยมาก็อยากให้ลองมากันครับ เราไม่ได้จัดเพื่อเน้นทางธุรกิจ นอกจากคอนเสิร์ต และงานศิลปะต่าง ๆ แล้ว ยังมีชาวบ้านมาออกบูธขายสินค้ามากมายครับ

“ก่อนจากกันในวันนี้ผมขอฝากถึงหนังสือ‘เสียงหัวใจดอกไม้ดนตรี’ ในนามของสำนักพิมพ์ทองไทย ซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อฉลองครบรอบ 20 ปี มาลีฮวนน่า หน้าปกเป็นลายเส้นเขียนโดยท่านชวน หลีกภัย ข้างหลังก็จะมีบันทึกการแสดงสดยรรโฟล์ค ชุดที่สองไปให้ฟังด้วย ข้างในบรรจุเนื้อหาที่มากมาย ผมตั้งใจจัดทำขึ้นมา และจะไม่พิมพ์ซ้ำมีไว้เพื่อจะได้รำลึกกัน ขอบคุณครับ” 

THE WAY OF LIFE บุปผาชน...คนเช็ดเงา