New Mazda BT - 50PRO

New Mazda BT - 50PRO

MiX Magazine ในฉบับนี้ยังคงเป็นเรื่องราวการเดินทางอันแสนน่าประทับใจ จากอูลานบาตอร์ เมืองหลวงของประเทศมองโกเลีย สู่ชายแดนประเทศจีน ด้วยเส้นทางในแบบทุรกันดาร มีเพียงเนินดิน ทุ่งหญ้า และท้องฟ้า ระบบนำทางหรือ GPS ก็ไร้ความหมาย อาศัยเพียงเข็มทิศและความชำนาญของไกด์ท้องถิ่นเพียงเท่านั้น


New Mazda BT - 50PRO

การเดินทางทั้งหมด เรายังใช้รถ New Mazda BT-50PRO ซึ่งได้รับการแต่งหน้าทาปากกันใหม่ แต่ก็ใช่ว่าจะด้อยกว่าคู่แข่งที่ออกโมเดลใหม่กันให้คึกคักเพราะจุดเด่นของแต่ละค่ายนั้นต่างกัน และนิสัยของรถยนต์แต่ละค่ายก็ต่างกันด้วยข้อนี้ผู้ซื้อเองนั่นแหละจะต้องเป็นคนตัดสิน


New Mazda BT - 50PRO

เส้นทางในอีกสองวันที่เหลือนั้น เป็นเส้นทางที่จะลงใต้ไปสิ้นสุดที่ชายแดนมองโกเลีย ซึ่งแน่นอนว่า ยิ่งไกลเมือง ก็ยิ่งกันดารลงเรื่อย ๆ โดยเส้นทางดังกล่าวนั้นจะเป็นเส้นทางในแบบธรรมชาติเกือบทั้งหมด คือเป็นทางฝุ่นทั้งหมดหมายความว่าหลังจากนี้เราจะไม่ได้พบกับถนนเรียบ ๆ อีกกว่าพันกิโลเมตร


New Mazda BT - 50PRO

เราทั้งสามคนยังใช้รถ New Mazda BT-50PRO รุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อยกสูง4 ประตูอย่างรุ่น “ไฮ-เรซเซอร์ ดับเบิ้ลแค็บ” นั่นหมายความว่า จะต้องมีหนึ่งคนที่ต้องนั่งด้านหลัง และจะต้องมีกระเป๋าเดินทางอยู่ภายในห้องโดยสารด้วยเนื่องจากว่าระหว่างทางนั้นต้องเจอทั้งฝนและฝุ่นตลอดทาง หากเอากระเป๋าไว้ด้านท้ายในส่วนที่เป็นกระบะ กระเป๋าของพวกเราคงจะดูไม่จืดแน่ครับ


New Mazda BT - 50PRO

นั่นจึงเป็นโจทย์แรกที่เราต้องแก้ปัญหา เนื่องจากไม่มีสายรัดกระเป๋ากันมามองซ้ายมองขวาก็เลยใช้เข็มขัดนิรภัยของผู้โดยสารตอนหลังนี่แหละ แล้วก็ไม่น่าเชื่อ เข็มขัดนิรภัยเส้นเดียวสามารถตรึงกระเป๋าเดินทางขนาดประมาณ 25-30 นิ้ว 2 ใบซ้อนกันได้อย่างสบาย ๆ ถึงแม้หัวเข็มขัดจะไม่ได้ล็อกอยู่ด้วยก็ตาม


New Mazda BT - 50PRO

โจทย์ที่สองคงไม่พ้นเรื่องการโดยสารครับ  เพราะจะต้องมี 1 คน ที่จะต้องหมุนเวียนไปนั่งตอนหลัง ใน 1 วันเต็ม ๆ ของการเดินทาง ซึ่งลองนึกภาพเล่น ๆดูก็ได้ว่ามันจะลำบากและเมื่อยล้าแค่ไหน ขนาดวิ่งกันบนถนนในเมืองไทยยังจะแย่กันเลย แล้วนี่ต้องวิ่งทางฝุ่นเสียเป็นส่วนใหญ่ด้วย ต่างคนเลยหาวิธีต่าง ๆ นานา ที่จะทำให้ตัวเองนั่งสบายที่สุด


New Mazda BT - 50PRO

แล้ววิธีที่ดีที่สุดที่เราค้นพบกันนั้น ก็คือให้ผู้โดยสารตอนหลังคาดเข็มขัดนิรภัยไว้ตลอดเวลา และให้แผ่นหลังชิดกับพนักผิงให้มากที่สุด เพราะนอกจากจะปลอดภัยแล้ว เข็มขัดนิรภัยยังช่วยรั้งตัวเราไม่ให้กระเด็นกระดอนได้อีกด้วย ส่วนถ้ามีหมอนรองคอรูปตัว C ในแบบเป่าลมด้วยแล้วล่ะก็ ทีนี้ก็หลับได้สบายแล้วครับ แต่อย่าเป่าลมจนแข็งเกินไปนะครับ เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน


New Mazda BT - 50PRO

ตัวช่วยในการเดินทางครั้งนี้ และถือว่าเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ของรถเลยก็ว่าได้นั่นคือช่วงล่างที่ได้รับการเซ็ตค่าใหม่ ให้มีบุคลิกของรถยนต์นั่งมากขึ้น ด้วยช่วงล่างที่ถูกออกแบบและพัฒนาให้มีความนุ่มนวลคล้ายกับรถยนต์นั่ง ด้านหน้าอิสระแบบปีกนกคู่ คอยล์สปริงด้านหลังแบบคานแข็งและชุดแหนบ พร้อมระบบบังคับเลี้ยวแร็กแอนด์พิเนียน ซึ่งมีอัตราทดพวงมาลัยใหม่ น้ำหนักดีให้อารมณ์ความรู้สึกมั่นใจมากยิ่งขึ้น ทำให้ความแม่นยำในการตอบสนองของพวงมาลัยไว้ใจได้เป็นอย่างดี ซึ่งนั่นทำให้โจทย์ที่สามของเราที่เป็นคนขับนั้น ขับขี่ได้ง่ายขึ้น และถึงแม้จะเป็นผู้โดยสารด้านหลังมาทั้งวัน ก็ไม่พบอาการปวดหลัง หรืออ่อนเพลียที่มากกว่าปกติแต่อย่างใด

การเดินทางล่องใต้ และเข้าสู่พื้นที่ของทะเลทรายโกบีมากขึ้นนั้น นอกจากจะได้นอนพักกันต่อในแคมป์ที่มีขนาดเล็กลงมาจากคืนแรกแล้วนั้น  สภาพอากาศก็ดูเหมือนจะเลวร้ายลงเรื่อย ๆ เช่นกันโดยเจอทั้งฝนและลมแรง ทำให้อุณหภูมิลดลงเรื่อย ๆ  จนไปหยุดอยู่ที่ศูนย์องศาในช่วงกลางคืน 

ภายใต้อุณหภูมิขนาดนี้  พวกเราเดินกันหนาวสั่นภายใต้เสื้อกันหนาวที่เตรียมกันมา แต่คนท้องถิ่นกลับเดินไปมากันอย่างสบาย ๆ ภายใต้แจ็กเก็ตที่ดูเหมือนว่าไม่หนาเท่าไหร่นัก และบอกว่า นี่ยังไม่หนาวเท่าไหร่นะ ว่ากันว่าพื้นที่เหล่านี้  
ในหน้าหนาวช่วงเดือน ธ.ค.-ก.พ. อุณหภูมิลดลงไปถึงติดลบ 40 องศาก็มี 

จุดแวะพักสุดท้ายที่น่าสนใจก่อนถึงชายแดนทีมงานได้พาไปแวะรับพลังงานกันที่สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มีชื่อเรียกกันอย่างที่เป็นทางการว่า “Energy Place”  ซึ่งตามตำนานนั้นกล่าวไว้ว่า สถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้มีอายุยาวนานกว่า 150 ปีถูกค้นพบโดยนักบวชรูปหนึ่ง โดยจุดดังกล่าวเชื่อกันว่า สามารถช่วยเพิ่มพละกำลัง  และยังเป็นจุดที่เขาสามารถเชื่อมต่อกับสวรรค์ ด้วยการนอนบนก้อนหินสีแดง ๆ เพื่อรับพลังงานเป็นระยะเวลา15 นาที  ซึ่งของแบบนี้ก็ขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละคนนะครับ 

ออกจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ เรามุ่งหน้ากันไปที่ชายแดนด้วยถนนดำ เพื่อทำพิธีผ่านแดนอันแสนจะยุ่งยากและใช้เวลา จึงจำเป็นต้องส่งคนขึ้นรถทัวร์เดินทางเข้าปักกิ่ง ในขณะที่รถนั้น จำเป็นต้องทิ้งไว้ที่ด่านเพื่อทำเอกสารต่าง ๆ ก่อนที่ทีมงานจะเป็นคนขับรถทุกคันกลับเมืองไทย

ซึ่งถ้ารวมทั้งสองทริปแล้ว ทั้งขาไปและขากลับ ที่เริ่มต้นจากกรุงเทพฯ สู่อูลานบาตอร์ เมืองหลวงของประเทศมองโกเลีย และกลับเข้าประเทศไทยอีกครั้งนั้น ระยะทางที่ใช้ทั้งหมดรวมกว่า 15,000 กิโลเมตร และไม่ใช่แค่วิ่งบนทางลาดยางที่ราบเรียบแต่ยังต้องผ่านเส้นทางอันแสนทุรกันดาร อีกไม่ต่ำกว่า 3,000 กิโลเมตร ในสภาพอากาศที่แตกต่างจากบ้านเราโดยสิ้นเชิง นับเป็นบทพิสูจน์ความแกร่งของทั้งตัวรถ เครื่องยนต์ และช่วงล่างได้เป็นอย่างดี นอกเหนือจากนี้ก็คงเหลือแต่ท่านผู้อ่านเท่านั้นที่เป็นผู้กำหนดแล้วละครับ 

นิยามแกร่ง... คุณเท่านั้นที่กำหนด (ตอนที่ 2)