ไพโรจน์ พิทยเมธี
อิทธิพลของ “สี” ที่เราคุ้นเคย มักมาพร้อมกับการแสดงความรู้สึกในแง่ความเป็นสีสากลแต่รู้หรือไม่ เมืองไทยเราเองก็มีสีสันที่มาจากภูมิปัญญาของคนไทยเองเหมือนกัน สีที่ว่านั้นเรียกว่า“สีไทยโทน” โดยเป็นผลงานวิจัยของ ‘ไพโรจน์ พิทยเมธี’ อาจารย์พิเศษคณะมัณฑนศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ได้ลงมือศึกษาเรื่องโทนสีไทยซึ่งเป็นสีที่ได้มาจากวัตถุดิบธรรมชาติจนตอนนี้สามารถรวบรวมข้อมูลและเผยแพร่ออกสู่สาธารณะได้แล้วถึง 150 โทนสี
“จุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมสนใจในการวิจัยเรื่องสีไทยก็มาจาก ตอนนั้นสมัยที่เรียนป.โท นิเทศศิลป์คิดว่าจะวิเคราะห์เรื่องการออกแบบว่ามันมีองค์ประกอบอะไรบ้าง จนพบว่าสีก็อยู่ในองค์ประกอบของการออกแบบทุกงานอยู่แล้ว เป็นตัวสำคัญ
ก็เลยไปดูต่อว่าสีไทยมีไหม ทำให้สนใจศึกษาโดยมีอาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย เป็นคนให้คำปรึกษาเรื่องสีไทย ในตอนแรกแกให้กระปุกสีมา 25-26 สี พอได้มาเราก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไรสีโปสเตอร์หรือสีอะคริลิค แกบอกว่านี่คือสีไทย
ที่ทำเอง ทำจากดิน หิน จากวัสดุที่เอามาตำหรือบด จึงทำให้เกิดแนวคิดว่าแทนที่จะไปถามหรือไปหาว่าสีจิตรกรรมเป็นอย่างไร ก็มาวิจัยในส่วนตรงนี้ดีกว่า ก็ไปค้นคว้าหาวิธีผสมสีให้ตรงที่สุด จนค่อย ๆ สะสมจาก 30 สี ก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนปัจจุบันผมค้นพบแล้วกว่า 150 สี รู้สึกจะเยอะที่สุดในประเทศไทย แต่ก็คงต้องวิจัยกันต่อไป
“เริ่มแรกผมไม่ได้คิดว่าสิ่งนี้มันจะดังหรือเป็นส่วนสำคัญ เพราะเราก็รู้สึกว่าเฉดสีมันก็คงจะเหมือน ๆ กัน แต่พอเราทำไปเรื่อย ๆ แล้วก็เอาไปสอนลูกศิษย์ ให้ลูกศิษย์ลองใช้ ปรากฏว่ากลุ่มสีมันเป็นเอกลักษณ์ แถมชื่อเรียกก็เป็นเอกลักษณ์อีก ผมก็บอกให้ลูกศิษย์ใส่ส่วนประกอบความเป็นไทยเข้าไปเพิ่มเติม นี่แหละคือความเป็นไทย อย่างผมพยายามใส่ลายตู้พระธรรมเข้าไปให้ดูเป็นไทยเพิ่มขึ้น ถ้าไม่มีส่วนประกอบเหล่านี้มันก็คือสีธรรมดาทั่วไป”
คำถามส่วนมากที่เขามักถูกถามบ่อย ๆ คือ แล้วสีไทยต่างกันอย่างไรกับสีสากลล่ะ? อย่างแรกเลยเป็นเรื่องของเฉดสี ที่ต่างคือสีไทยจะดรอปลงจากสีทั่วไป ทำให้มีบุคลิกที่แตกต่าง ไม่ว่าจะนำเฉดสีตัดกันมากแค่ไหนมาผสมกัน ก็ยักลมกล่อมลงตัว มีความนุ่มนวลเหมือนมีฝุ่นแป้งผสม อย่างที่สองคือความงามของวัสดุ ที่ใช้วัสดุธรรมชาติ 100% ทั้งเปลือกไม้ แร่ธาตุ รวมถึงพืช และอย่างสุดท้ายคือความงดงามด้านวรรณศิลป์ ชื่อเรียกสีไทยที่เป็นเอกลักษณ์ มีความหมายที่ดี
“ถ้าเรียกกลาง ๆ เรียกแบบไม่ผิดหลักการจะเรียกว่าสีไทย แต่ผมตั้งชื่อว่า ‘ไทยโทน’ จริง ๆ แล้วมันมาจากคำว่า แพนโทน (Pantone) ค่ายสีค่ายหนึ่ง พอเวลาเราจะตั้งชื่อ เราก็อยากจะตั้งค่ายสี ก็เลยเลียนแบบกลายมาเป็น ‘ไทยโทน’ ต่อไปในอนาคตผมก็คิดว่าอยากจะให้เป็นเหมือนกับค่ายสีหนึ่ง เพื่อจะจับกลุ่มสีที่เกี่ยวกับไทยเป็นเครื่องหมายการค้า ให้สามารถต่อยอดไปในทางธุรกิจได้และให้คนไทยสามารถได้ใช้สีไทย สีที่เป็นสีของชาติไทยกันทั่วประเทศ”
ล่าสุดกับนิทรรศการ “สีไทยโทน: เสน่ห์ไทยเพิ่มมูลค่าธุรกิจ” ของเขาที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างอัตลักษณ์งานออกแบบไทยเพื่อเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจในอนาคต และอาจต่อยอดเป็นงานสร้างสรรค์ที่เสริมพลังให้กับประชาคมอาเซียน โดยภายในนิทรรศการนำเสนอ ความรู้ในการฟื้นเสน่ห์ไทย เพื่อก้าวสู่โลกธุรกิจสมัยใหม่, การต่อยอดในงานศิลปะและการออกแบบร่วมสมัยด้วยสีทาต่าง ๆ, สีเซรามิก สีย้อมไหม และการต่อยอดในธุรกิจบริการด้วย “ไทยโทนคาเฟ่” กับ “ไทยโทนไลฟ์สไตล์ช็อป”
“นิทรรศการนี้จะแตกต่างกับนิทรรศการที่ผมเคยจัดมาอันนี้เหมือนเป็นการต่อยอดว่าเราสามารถนำสีไทยไปทำอะไรได้บ้าง เช่นจากที่เป็นชื่อสีไทย ก็เอาไปทำเป็นตัวมาสคอต กำหนดคาแรคเตอร์ อาจจะต่อยอดเป็นพระเอกละครไทยได้เลย แล้วก็จะมีเรื่ององค์ความรู้ที่ขยายไปในส่วนภาคธุรกิจการบริการ คือไทยโทนคาเฟ่ ที่นำชื่อสีไปเป็นชื่อเครื่องดื่ม, มีของที่ระลึกพวกแก้ว และก็เป็นพวกสิ่งทอ แฟชั่นดีไซน์ สุดท้ายอีกอย่างคือการร่วมงานกับสี TOA ที่กำลังอยู่ในกระบวนการเซ็นสัญญาผลิตขายออกมาเป็นสีจริง ๆ ทำเป็นสีทาบ้านเลย ก็คงจะจำหน่ายในไม่ช้านี้
“จริง ๆ แล้วผมตั้งใจให้ไทยโทนเป็นค่ายเฉดสีที่สวยแบบไทย ผมอยากให้มันเป็นเอกลักษณ์ไทยใหม่ แต่การจะตั้งเป็นเอกลักษณ์อะไรสักอย่าง ผมคงพูดเองเออเองไม่ได้ต้องมีการยอมรับและมีการใช้บ่อย ๆ มันต้องใช้เวลา ซึ่งตอนนี้ผมว่าทุกคนเริ่มจะรู้จักไทยโทนกันบ้างแล้ว ส่วนกลุ่มเป้าหมายของผมน่าจะเป็นพวกดีไซน์เนอร์ ผมการันตีเลยว่า 150 เฉดสีของผม สวยหมดเลย อนาคตถ้าคนใช้เยอะ ๆมันจะกลายเป็นสีไทยที่เป็นเทรนด์ของเรา ผมตั้งเป้าไว้ว่าจะเป็นสีแห่ง Tropical Color ไม่ได้เล็งแค่เราใช้อย่างเดียว แต่เราจะเผยแพร่วัฒนธรรมด้วยสีให้ไกลไปจนถึง AEC”
งานวิจัยชิ้นนี้เรียกได้ว่าวิจัยกันมาเกิน 10 ปีแล้ว และคาดว่าจะมีต่อไปเรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด เราคงเห็นเฉดสีไทยเพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญกระทรวงวัฒนธรรมยังเล็งเห็นถึงความน่าสนใจ จึงได้จัดตั้งศูนย์บันดาลไทย เพื่อสร้างแรงบันดาลใจเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมไทยในการออกแบบอีกด้วย ถือได้ว่าเป็นอีกเสน่ห์ไทยที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดในภาคธุรกิจและการออกแบบได้อย่างแน่นอน