Handup Network
แน่นอนว่าความสามารถของแต่ละคนมีไม่เหมือนกัน อยู่ที่ว่าเราจะนำความสามารถนั้นออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากน้อยแค่ไหน ‘ปิง–ศราวุฒิ ปิงคลาศัย’ และ ‘วิทย์–ชาญวิทย์ หาญธำรงวิทย์’ ผู้ร่วมก่อตั้ง Handup Network ต่างบอกกับเราเป็นเสียงเดียวกันว่า “ไม่ต้องทำเรื่องยาก ๆ ที่เราทำไม่ได้ ขอให้เราทำเรื่องง่าย ๆ ที่เราทำได้ก็พอ”ในแง่นี้หมายถึง ถ้าคุณอยากจะลองทำอะไรเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมสักอย่าง ไม่ต้องไปทำอะไรเจ๋ง ๆ ก็ได้ เพียงแค่ทำในสิ่งที่เราสามารถทำได้ก็พอแล้ว ยังดีกว่าไม่ได้ลงมือทำ
Handup Network เป็นตัวกลางเชื่อมโยงอาสาสมัครที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ จากภาคธุรกิจและองค์กรภาคสังคมเข้าด้วยกัน เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาสังคม โดยนำปัญหาที่ซ่อนอยู่ในแต่ละองค์กรภาคสังคมมาสร้างเป็นโครงการเพื่อการพัฒนาในรูปแบบของงานอาสาที่เติมเต็มศักยภาพ และตรงกับความสามารถทางวิชาชีพของอาสาสมัคร หรือที่เรียกกันว่า Skill-based Volunteer
“ผมอยากเป็นที่ปรึกษาให้กับองค์กรภาคสังคมในการที่เข้าใจว่าคุณมีปัญหาอะไร ที่เขาไม่สามารถแก้ไขเองได้ เราก็ไปหาคนเก่ง ๆ มาช่วยกันแก้ปัญหาร่วมกัน ซึ่งโปรเจกต์นี้ผมประยุกต์มาจากโมเดลต่างประเทศด้วย เลยยังไม่รู้ว่าคอนเซ็ปต์
แบบไหนเหมาะกับเมืองไทยบ้าง เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นช่วงที่เรากำลังทดลองทำโปรเจกต์ให้หลากหลายรูปแบบ
“ตอนนี้กระบวนการที่เราทำก็มีหลายแบบ คือออกแบบงานให้มันท้าทายกับคนที่มาช่วย แต่มันก็ขึ้นอยู่กับแต่ละองค์กรด้วย ซึ่งแต่ละองค์กรก็จะมีปัญหาที่แตกต่างกัน ฉะนั้นสิ่งที่เราต้องทำคือเลือกโปรเจกต์ให้มันวิน ๆ ทั้งคนที่มาช่วยและจะช่วย โดยแง่ของคนที่มาช่วยก็จะมีอยู่ 3 ลักษณะ คือเป็น Individual Project ไปหาคนเก่ง ๆ แต่ละบริษัทมาช่วยเลย พี่ขอ 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ อันต่อมาเป็น Corporate Project ติดต่อกับทางบริษัท และอย่างสุดท้ายคือ University Project ร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นศิษย์เก่าหรือนักศึกษาที่มีทัศนคติที่ดีในการทำงาน มาช่วยกัน”
ช่องทางกระจายข่าวสารเพื่อตามหาอาสาสมัครแต่ละโครงการนั้น พวกเขาไม่ห่วงเลย เพราะโซเชี่ยลเน็ตเวิร์กและปากต่อปาก ทำให้คนที่สนใจมาสมัครมีจำนวนไม่น้อย แต่สิ่งที่พวกเขาห่วงอยู่ตรงที่ ทำอย่างไรให้อาสาสมัครมาร่วมมือกันทำแล้วเกิด Social Impact บวกกับองค์กรภาคสังคมที่เข้าไปช่วยได้ประโยชน์สูงสุดต่างหาก
“ที่โปรเจ็กต์นี้เริ่มช้า เพราะเราให้ความสำคัญมากในช่วงแรก ผมได้ลงไปคลุกคลีกับอาสาสมัครด้วย ผมก็จะถอดบทเรียนว่าเวลาทำไปแล้วมีปัญหาอะไรบ้าง อะไรที่ทำให้เขาไม่ได้มาเป็นอาสาสมัครอย่างต่อเนื่อง อะไรที่จะทำให้เขามีความสุขกับการทำงานเป็นอาสาสมัคร ผมพยายามจด และปรับปรุงให้มันดีอยู่ตลอด แต่สิ่งที่เรามองนอกเหนือจากปริมาณแล้ว เราต้องการคุณภาพมากกว่า เพราะถ้าพูดจริง ๆ งานอาสาสมัครทุกวันนี้เยอะมาก แต่ถามว่ารูปแบบที่มันดึงดูด
คนอย่างเรา ๆ หรือคนรุ่นใหม่ให้อยากเข้าไปทำ งานก็ต้องท้าทายเขาด้วย ไม่ใช่แบบที่ทำอะไรเหมือน ๆ กันเหมือนคำที่เราเรียกกันว่า Skill-based Volunteerใช้ความสามารถของตัวเองมากที่สุดในการทำอะไรอย่างหนึ่ง”
โปรเจกต์ที่พวกเขาได้ลงมือทำเรียบร้อยแล้ว มีอยู่ 1 โปรเจกต์ เป็นมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) จุดมุ่งหมายขององค์กรคือต้องการให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ อยากทำอะไรก็ได้ให้คนรุ่นใหม่มีจิตอาสา หันมาทำความดี แต่พวกเขากลับตั้งคำถามต่อองค์กรว่า แล้วเด็กสมัยนี้รู้จัก มอส. รึเปล่า พวกเขาเลยเสนอว่าให้ปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์องค์กรก่อนเป็นอันดับแรก แล้วจึงเปิดรับสมัครอาสาสมัครหลายตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็น Social Media Marketing, Brand Strategic และ Copy Writer เป็นต้น
“ถ้ามองให้เห็นภาพชัด ๆ ก็เหมือน Avengersมารวมตัวกัน พอพวกเขามารวมทีมกัน 6 คนผมรู้สึกว่าโปรเจกต์นี้มันน่าสนุก น่าตื่นเต้น เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่เราอยากสร้างขึ้นอีกหลาย ๆโปรเจกต์ นอกเหนือจากการที่เขาได้ทำเพื่อสังคมแล้ว
เขายังได้ประสบการณ์จากเพื่อน ๆ ที่อยู่ด้วยกัน กลายเป็นว่าการทำงานอาสาไม่ได้แค่ทำงานช่วยคนอื่น แต่ยังได้แลกเปลี่ยนความรู้กันอีกด้วย
“เป้าหมายของ Handup Network จริง ๆ แล้วคือเราต้องการสร้างเรื่อง Skill-based Volunteer ซึ่งในต่างประเทศมีเยอะมาก ในไทยก็มีทำมาแล้วบ้าง แต่ยังไม่เป็นกระแส ซึ่งมันเป็นเทรนของการทำอาสาสมัครด้วยว่า การที่คุณไปช่วยปลูกป่า Social Impact ที่เกิดขึ้นมันจำกัดวงมาก แต่ถ้าคุณใช้ความสามารถในการช่วยเหลือคนอื่น สิ่งที่คุณทำมันจะเกิดประโยชน์จำนวนมากได้
“พวกเราเลยคิดว่า ภายใน 3-5 ปี อยากทำให้เรื่องนี้มันเป็นสิ่งที่ผมไม่ต้องมานั่งบอกทุกคนว่า Skill-basedVolunteer คืออะไร ทุกคนเข้าใจว่ามันมีงานประเภทนี้จริง ๆ นะ แล้วคุณสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการทำแบบนี้เพื่อคนอื่นได้ เปลี่ยนทัศนคติที่ว่าการทำเรื่องอาสาเป็นเรื่องแปลกใหม่ ผมอยากให้อนาคตเกิดสิ่งที่ว่า ทุกคนทำงานอาสาเป็นเรื่องปกติ ถ้าทุกคนทำงานอาสาหมด แสดงว่าทุกคนล้วนช่วยเหลือกันจากใจจริง แล้วมันจะดีมากถ้าสมมติว่า เราไปสมัครงานเอกชน แล้วคนสัมภาษณ์ถามว่าเราเคยทำงานอาสาอะไรมาบ้าง ถ้าเกิดมันเป็นแบบนี้ได้ มันจะทำให้คนอยากทำเพื่อคนอื่นมากขึ้น”
ไม่เพียงเท่านั้นพวกเขายังมองธุรกิจเพื่อสังคมไทยในปัจจุบัน มีแนวโน้มเติบโตขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งสสส. หรือว่าการที่คนรุ่นใหม่หลาย ๆ คน สร้าง Eco Systemของคนทำงานเพื่อสังคมให้เติบโต แม้กระทั่งบางมหาวิทยาลัยยังมีหลักสูตรเกี่ยวกับเพื่อสังคมสอดแทรกไปอีกด้วย คงจะดีหากทุก ๆ ปัญหาของสังคมได้รับการเยียวยา ทุกคนมีจิตอาสาและร่วมลงมือกันทำ อาจจะไม่ต้องทำให้ยิ่งใหญ่ แต่ขอให้ทำในสิ่งที่เราสามารถทำได้ก็พอ จริงไหม?
Know Them
• Handup Network คว้ารางวัลชนะเลิศจาก Banpu Champion for Change #5 โดยนำทุนที่ได้มาต่อยอดโครงการ
• ตอนนี้โปรเจ็กต์ที่มีอยู่ในมือ Handup Network มีทั้งหมด 4 โปรเจ็กต์ คือ Blind Theater,Folk Rice, Ma:D และ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม
• ปัจจุบันทีมงานของ Handup Network มีทั้งหมด 6 คน คาดว่าในต้นปี 2559 จะมีผลงานมากขึ้นอีกแน่นอน
• ติดตามต่อได้ที่ www.facebook.com/Handup.network