วิ่งด้วยกัน  Run Together

วิ่งด้วยกัน Run Together

เมื่อได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับโครงการ “วิ่งด้วยกัน” โครงการที่นำผู้พิการทางสายตาออกมาวิ่งพร้อมกับนักวิ่งสายตาปกติ ฉันก็เกิดความสงสัยว่าพวกเขาจะวิ่งด้วยกันได้อย่างไร? แล้วมันจะยากแค่ไหน? แค่ลองหลับตา จากถนนที่เคยมองเห็น เส้นทางที่คุ้นเคย กลับปกคลุมไปด้วยความมืด เราไม่รู้ว่าสิ่งที่อยู่ตรงหน้าคืออะไร เพราะความไม่รู้ทำให้คนเรากลัว ประสาทสัมผัสส่วนอื่นๆ เริ่มทำงานมากยิ่งขึ้น เมื่อมีข้อจำกัดทางสายตา การวิ่งจึงเต็มไปด้วยอุปสรรค    

ไอเดียของโครงการวิ่งด้วยกัน เริ่มมาจากกลุ่มอาสา ที่อยากสร้างแรงบันดาลใจให้คนในสังคมได้แบ่งปัน เพิ่มคุณค่าทางจิตใจ เพราะกิจกรรมในสังคมปัจจุบันไม่ได้ถูกออกแบบมาให้กับผู้พิการมีส่วนร่วมมากนัก รวมถึงการออกกำลังกาย และการออกกำลังกายที่ง่ายที่สุดคือการวิ่ง…ทำยังไงที่จะให้คนตาบอดวิ่งได้

การที่ผู้พิการทางสายตาจะวิ่งได้อย่างราบรื่น นั้นจำเป็นต้องมีนักวิ่งอีกคนวิ่งนำ เราจะเรียกพวกเขาเหล่านั้นว่า ไกด์รันเนอร์ Guide Runner นักวิ่งสายตาปกติที่จะช่วยให้ผู้พิการทางสายตาได้มีโอกาสวิ่งอย่างปลอดภัย

เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมในวงการวิ่งเมืองไทยตอนนี้ มีนักวิ่งให้ความสนใจสมัครเป็นอาสาไกด์รันเนอร์ มากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความอยากรู้ฉันจึงไปร่วม กิจกรรม บรรยากาศยามเช้าที่สวนลุมพินี มีคนหลากหลายวัยตื่นเช้าขึ้นมาเพื่อออกกำลังกาย ที่ลานตะวันยิ้มกลุ่มนักวิ่งประมาณร้อยกว่าคนรวมตัวกัน ไกด์รันเนอร์ จับคู่กับนักวิ่งผู้พิการ โดยมีเชือกคล้องหนึ่งเส้นเป็นสื่อกลางในการวิ่ง 

ซึ่งก่อนวิ่งเราต้องมีการตกลงกันกับบัดดี้ของเราในเรื่องของความเร็วในการวิ่ง ไกด์รันเนอร์ต้องระวังจังหวะในการลงเท้า รวมถึงต้องเฉลี่ยน้ำหนักที่จูงตลอดเวลา ผู้วิ่งและผู้ตามต้องมีความเข้าใจที่ตรงกัน ซึ่งทั้งหมดต้องอาศัยการสื่อสาร พูดคุย และการซ้อมวิ่งด้วยกัน 

หลังจากที่ฉันได้ไปลองวิ่ง เป็นไกด์รันเนอร์ แม้ว่าจะเป็นระยะทางสั้นๆ เพียงแค่สองกิโลเมตรครึ่ง แต่ตลอดทางเต็มไปด้วยเรื่องราว ลองสังเกตตัวเองเวลาปกติที่เราวิ่งคนเดียว เรามักจะมีอุปกรณ์มากมาย สมาร์ทโฟนที่อัดแน่นไปด้วยเพลงเต็มเครื่อง และเมื่อเราเริ่มวิ่ง เพลงร็อคดังขึ้น เราก็ก้าวขาและเพิ่มสปีดในการวิ่ง โดยที่เราไม่ได้ให้ความสนใจ รับรู้ถึงความรู้สึกของคนข้างๆ ที่วิ่งใกล้ๆ กัน ต่างคนต่างวิ่ง นักวิ่งส่วนใหญ่คิดว่ากำลังมีสมาธิอยู่กับตัวเอง อยู่กับการวิ่ง แต่
ความจริงแล้ว…เรากำลังจดจ่ออยู่กับเพลง ไม่ใช่การจดจ่ออยู่กับการก้าวขาหรือลมหายใจขณะการวิ่ง แต่เมื่อลองมาวิ่งนำผู้พิการทางสายตา เราจะต้องเพิ่มความสนใจ และความใส่ใจกับคนอื่นๆ มากขึ้นการสื่อสาร และการฟัง เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการวิ่งด้วยกัน หูฟังและสมาร์ทโฟนกลายเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นอีกต่อไป นักวิ่งทั้งคู่ใช้แค่ เชือกหนึ่งเส้นผูกเป็นวง และจับไว้คนละด้าน ตลอดทางที่วิ่งรอบๆ สวนลุมพินีนั้น เต็มไปด้วยบทสนทนา ขณะวิ่ง 

น้องมอส นักวิ่งผู้พิการทางสายตาที่มาวิ่งเป็นครั้งแรก ทักขึ้นมาว่า พี่ผมชอบมาสวนลุมฯ มาฟังดนตรีในสวนบ่อย…ฉันจึงได้ตะหนักว่า เมื่อสักครู่ ได้วิ่งผ่านวงดนตรีมาทั้งวง แต่บางครั้งเราก็ละเลยกับสิ่งเหล่านั้นไป…ทั้งๆ ที่มองเห็นทุกอย่าง แต่คนสายตาปกติกลับมองข้ามวงดนตรีที่อยู่ ระหว่างทางไปได้ มีเรื่องดีๆ เกิดขึ้นมากมายตลอดทาง แต่ที่เรามองไม่เห็นเป็นเพราะขาดความใส่ใจ 

จากคนที่มองไม่เห็น เดินไปไหนมาไหนยังยาก เรื่องการมาวิ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้ แต่เมื่อมีไกด์รันเนอร์วิ่งนำ ผู้พิการก็สามารถออกมาวิ่งได้ การแข่งขันวิ่งในปัจจุบันอย่างกรุงเทพมาราธอนปีนี้มีแคมเปญ Run With The Blind ครั้งแรกที่ได้
เปิดโอกาสให้ผู้พิการทางสายตาตั้งแต่ระยะ 1.5 กิโลเมตร และ 4.5 กิโลเมตร และในงานนี้เราจะเห็นนักวิ่งผู้พิการที่สามารถพิชิตระยะ 42.195 กิโลเมตร ได้สำเร็จ! 

แน่นอนว่าพวกเขาไม่ได้วิ่งคนเดียว…เพราะชีวิตคนเราสามารถเลือกได้ เลือกที่จะวิ่ง เลือกที่จะใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า เลือกที่จะทำสิ่งดีๆ ให้กับคนรอบข้าง โครงการวิ่งด้วยกัน Run Together นี้ยังเปิดกว้างรับผู้พิการทุกประเภทไม่จำกัดเพศ วัย อายุ ขอแค่มีความตั้งใจว่าอยากวิ่ง 

การได้วิ่งด้วยกันทำให้ เราได้ฟัง รับรู้ สื่อสารกับคนอื่นมากขึ้น ทั้งหมดนี้เราไม่ได้สัมผัสด้วยตา แต่สัมผัสได้ด้วยใจ     

 

เพียงแค่รองเท้าผ้าใบสักคู่ เราก็สามารถวิ่งไปได้อย่างอิสระ