One Day Trip in Bangkok Part 3
อย่างที่เคยบอกไปในฉบับก่อนๆ ครับ ว่ากรุงเทพฯ มีอะไรดีมากกว่าที่คุณคิด เรื่องราวประวัติศาสตร์ในเมืองหลวงและสถานที่น่าสนใจนั้นยังมีให้ค้นหาและออกไปเยือนอีกมากมาย ซึ่งบางที่คนส่วนใหญ่ยังไม่เคยได้ไปสัมผัส อย่างเรื่องของพระพุทธรูปทองคำที่วัดไตรมิตรวิทยารามและเรื่องราวของถนนเยาวราชแห่งนี้
ที่นี่หลายคนคงคุ้นเคยแต่อาจละเลยเรื่องราวความน่าสนใจที่ซ่อนตัวอยู่ ณ ใจกลางเมืองแห่งนี้ นอกจากตำนานพระพุทธรูปทองคำแล้ว เรื่องราวของบรรพบุรุษชาวจีนเชื้อสายไทยยังเริ่มต้นเป็นรูปเป็นร่างบนหน้าประวัติศาสตร์ไทยในย่านนี้ด้วยเช่นกัน และนี่คือตอนจบของไตรภาค ONE DAY TRIP IN BANGKOK ซีรี่ส์นี้ครับ
ตามประวัติแล้ววัดไตรมิตรวิทยาราม มีชื่อเดิมว่า วัดสามจีนใต้ โดยเล่ากันว่ามีชาวจีน 3 คนร่วมกันสร้างขึ้นมา เมื่อเวลาผ่านมาก็มีการดูแลพัฒนาวัดกันมาเรื่อยๆ จนในปี พ.ศ.2482 ได้เปลี่ยนนามวัดมาเป็นวัดไตรมิตรวิทยาราม แต่สิ่งที่ผู้คนให้
ความสนใจเข้าไปกราบไหว้คือพระพุทธรูป 2 องค์ที่สำคัญ เริ่มจากพระพุทธทศพลญาณ ที่ประชาชนทั่วไปเรียกว่า “หลวงพ่อโต” หรือ “หลวงพ่อวัดสามจีน” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ซึ่งเป็นพระประธานในพระอุโบสถ
แต่สิ่งที่เรียกความสนใจจากคนทั่วโลกก็คือพระสุโขทัยไตรมิตร เพราะเป็นพระพุทธรูปทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก (จากการบันทึกในกินเนสส์บุ๊กเวิลด์ เรคคอร์ด) โดยได้มีการสันนิษฐานว่าเดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย เมื่อถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีการอัญเชิญพระพุทธรูปมาจากเมืองเหนือเพื่อนำมาประดิษฐานยังวัดสำคัญจำนวนมาก คาดการณ์กันว่าขุนนางท่านหนึ่งรู้ว่ามีพระทองคำองค์หนึ่งรวมอยู่ด้วยท่านนั้นจึงได้แอบเอาปูนไล้
ปิดทับพระพุทธรูปทองคำแล้วได้อัญเชิญมาไว้ที่วัดพระยาไกร(วัดโชติการาม)
เวลาต่อมาวัดเกิดร้าง บริษัท อี๊สต์เอเชียติ๊ก ได้ขอเช่าที่วัด เพื่อทำเป็นโรงเลื่อยจักร อีก 20 ปีให้หลัง คือวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2498 วัดไตรมิตรวิทยารามที่เพิ่งสร้างเสร็จได้อัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานยังวิหาร แต่ระหว่างที่กำลังเคลื่อนย้ายเกิดเหตุให้ปูนกะเทาะออกทำให้เห็นเนื้อทองจากพระพุทธรูปองค์จริง การค้นพบพระพุทธรูปทองคำปางมารวิชัยของวัดไตรมิตรวิทยารามสร้างความตื่นเต้นจนเป็นข่าวใหญ่บนหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์ยุคนั้น
จากการสำรวจแล้วพบว่าพระพุทธรูปซึ่งเป็นทองคำบริสุทธิ์มีน้ำหนักกว่า 5 ตัน คิดเป็นน้ำหนักทองคำ 25,000 ปอนด์ ถือว่ามีมูลค่ามหาศาลนัก แต่สิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้คือคุณค่าทางจิตใจของประชาชนที่มีความศรัทธาต่อพระพุทธรูปทองคำนี้
นอกจากพระพุทธรูปทองคำแล้ว ความน่าสนใจของวัดไตรมิตรวิทยารามยังมีในส่วนของพิพิธภัณฑ์เยาวราช หรือที่เรียกกันว่าศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราชที่อยู่ภายในบริเวณมหามณฑป ชั้นที่ 2 ของวัดไตรมิตรวิทยาราม ซึ่งในส่วนของพิพิธภัณฑ์นี้จะนำเสนอรูปแบบและแนวคิดที่บอกเล่าเรื่องราวของชาวจีนโพ้นทะเลในอดีต ที่เคยหอบเสื่อผืนหมอนใบมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร และความรุ่งเรืองบนถนนสายทองคำบนผืนแผ่นดินไทย หรือที่รู้จักกันดีในชื่อเยาวราช นั่นเอง
ด้านในแบ่งออกเป็น 6 ส่วนด้วยกัน โดยส่วนแรกที่เข้ามาแล้วจะได้พบเลยก็คือ เติบใหญ่ใต้ร่มพระบารมี ที่ได้อากงชาวเยาวราช มาแนะนำความเป็นมาเบื้องต้นของชุมชนชาวจีนย่านสำเพ็งและเยาวราช ว่ามีประวัติความเป็นมาอย่างไรถัดมาในส่วนที่ 2 จะเป็นส่วนของ กำเนิดชุมชนจีนแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2325 - 2394) ซึ่งรวบรวมข้อมูลของการกำเนิดของชุมชนจีน - สำเพ็ง นับตั้งแต่การโล้สำเภามาจากเมืองจีน จวบจนกระทั่งขึ้นแผ่นดินไทยในช่วงสมัยรัชกาลที่ 1 - 3 จนกระทั่งกลายเป็นย่านการค้าที่ใหญ่ที่สุดของกรุงเทพฯ เช่นในปัจจุบัน
ส่วนที่ 3 เส้นทางสู่ยุคทอง (พ.ศ.2394 - 2500) จะนำเสนอในเรื่องพัฒนาการของชุมชนจีน จากตลาดสำเพ็งสู่ความเป็นย่านธุรกิจสมัยใหม่บนถนน เยาวราช เรื่องราววิถีชีวิตที่ช่วยให้ผู้ชมเกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อวิถีทาง สังคมของชาวเยาวราชในยุคนั้น
ส่วนต่อมา ตำนานชีวิต ที่จะบอกเล่าตำนานชีวิตของบรรดาบุคคลชาวเยาวราชที่ยกให้เป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจแก่ชนรุ่นหลัง ในรูปแบบของการแสดง Hall of Fame ประกอบวีดิทัศน์
พระบารมีปกเกล้าฯ เป็นส่วนที่รวบรวมแกลลอรี่ภาพถ่าย รวมไปถึงวีดิทัศน์ ที่แสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ในรัชกาลปัจจุบันที่มีต่อชุมชนเยาวราช นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
มาถึงส่วนสุดท้ายกับห้อง ไชน่าทาวน์วันนี้ ที่นำเสนอภาพลักษณ์อันโดดเด่นในแง่มุมของเยาวราชในปัจจุบัน ในรูปแบบของเมืองจำลอง ไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยว ช้อปปิ้ง ฯลฯ ว่าเพราะเหตุใดจึงได้รับการขนานนามว่าเป็น “ไชน่าทาวน์” ของประเทศไทย
และแล้วก็ถึงเวลาที่ต้องกลับไปเตรียมพร้อมทำงานต้องขอขอบคุณส่วนงานของกรมทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่เอื้อเฟื้อและเชิญพวกเรา MiX MAGAZINE ได้มาพักผ่อนควบคู่ไปกับเรียนรู้วิถีชีวิต รวมถึงประวัติศาสตร์ใน One Day Trip ครั้งนี้ด้วยครับ
How to go?
สามารถเดินทางไปชมศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช และกราบสักการะหลวงพ่อทองคำเพื่อเป็นสิริมงคลได้ทุกวันที่วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เลขที่ 661 ถนนเจริญกรุง แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร
ในส่วนของศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช เปิดให้เข้าชมทุกวัน ไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับคนไทย สำหรับชาวต่างชาติคนละ 140 บาท