นิพิฐ อรุณวงษ์ ณ อยุธยา
คงมีไม่กี่คนที่ไม่เคยได้ยินชื่อบริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) เมืองใหญ่ที่มีสาธารณูปโภคครบครันในเขตอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันนวนครมีพื้นที่กว่า6,485 ไร่ มีบริษัทชั้นนำรวมกันอยู่ภายในโครงการมากกว่า 200 บริษัท กว่าจะมาถึงวันนี้ บริษัทนวนครต้องผ่านเหตุการณ์มากมาย จุดเปลี่ยนสำคัญคือได้ผู้บริหารฝีมือดีอย่าง คุณนิพิฐ อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ที่ช่วยพลิกฟื้นแผ่นดินนวนครให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
คุณนิพิฐ อรุณวงษ์ ณ อยุธยา เป็นบุตรชายของ ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา อดีตผู้ว่าฯ กทม. โดยเริ่มต้นการศึกษาในระดับมัธยมที่โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ จบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยยุคนั้นคุณนิพิฐ มีรุ่นพี่ที่รู้จักกันดีคือกลุ่มซูโม่สำอาง และพี่รหัสคือ คุณนิติพงษ์ ห่อนาค นักแต่งเพลงชื่อดัง
“สมัยนั้นรุ่นพี่รุ่นน้องจะสนิทกันหมด แล้วพวกกลุ่มรุ่นพี่จะจับผมมาเล่นละครแทบจะทุกเรื่องที่มีของคณะในสมัยนั้น เพราะผมตัวท้วมใหญ่กว่าคนอื่นก็จะได้รับบทเด่นตลอดเวลา แล้วการเล่นละครมันสนุกมาก ทำกิจกรรมจนผลการเรียนตก พอปีสองผมก็ไปบอกรุ่นพี่ว่าผมไม่เล่นละครแล้วนะ (หัวเราะ) แต่ก็ยังมีเล่นบ้าง
“หลังจากนั้นผมไปเรียนต่อปริญญาโทด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยมินิโซต้า สหรัฐอเมริกา ที่ตัดสินใจไปที่นั่นเพราะอธิการบดีเป็นอาจารย์เก่าของคุณพ่อ ที่นั่นเป็นเมืองไม่ค่อยน่าอยู่เพราะอากาศหนาวมาก แต่สภาพแวดล้อมเรื่องอื่นดีหมด พอเรียนจบผมก็กลับมาช่วยคุณพ่อทำงาน แล้วพบกับวิกฤติของชีวิตเลย อย่างแรกคือคุณพ่อหันหน้าเข้าสู่การเมืองปล่อยบริษัทสถาปนิกให้ผมดูแลคนเดียว และสิ่งที่ตามมาคือพนักงานพร้อมใจกันลาออกเกือบหมดแล้วไปตั้งบริษัทกันใหม่ คือเหมือนโดนรับน้อง
“ผมก็คิดว่าถ้าผมเป็นหัวหน้าบริษัทแล้วทำไม่ได้ก็อย่าทำดีกว่า จึงได้เรียกลูกค้ามาประชุมแล้วบอกว่าเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น ซึ่งผมคิดว่าทำงานได้แต่ช้าแน่นอนถ้าคุณไม่ไหวก็เปลี่ยนบริษัทได้ สุดท้ายก็มีลูกค้าออกไปถึง 40% แต่ 60% เป็นเหมือนเพื่อนคุณพ่อซึ่งเขาไม่ได้มั่นใจผมหรอกแต่คงสงสารก็เลยให้ลองทำ แต่พอทำได้ตามเวลาที่กำหนดพวกเขาก็เริ่มเชื่อฝีมือ ผมดึงรุ่นพี่และรุ่นน้องที่สถาปัตย์จุฬาฯ มาช่วยกันทำงานปรากฏว่าผลงานดีขึ้นกว่าเดิมอีก ออฟฟิศผมจากที่มีไม่กี่คนต่อมามีมากถึง 200 คน แล้วกลายเป็นบริษัทที่มีงานมากที่สุดโดยคุณพ่อไม่ต้องช่วยอะไร
“ความจริงผมได้หลายอย่างมากจากคุณพ่อท่านเป็นเศรษฐีเก่าคือมีที่ดิน ดั้งเดิมท่านเคยมีสมบัติมากกว่านี้เยอะ แต่บางช่วงเวลาอาจมีคนทำให้ทรัพย์สินหายไปมากพอสมควร ตอนหลังคุณพ่อก็เลยเก็บอย่างเดียว แล้วรักษาทุกอย่างเอาไว้ให้ครอบครัว
“คุณพ่อผมมีความคิดว่าทำอะไรต้องให้ได้ที่ 1 ท่านก็จะอยู่ในระดับท็อปตลอดตั้งแต่การเรียน หรือขับเครื่องบินต้องให้เป็นแชมป์ ยิงปืนต้องได้แชมป์ แล้วท่านสอนผมไว้อย่างหนึ่ง คือคนเราต้องคว้าอะไรให้สุดเอื้อม ถึงหรือไม่อย่างน้อยก็ใกล้ถึง ท่านบอกอีกว่าคนเราไม่เหมือนกันอย่างรถโฟล์คเต่ากับเฟอร์รารี่ ถ้าคุณเป็นรถเต่าแล้วเหยียบเต็มที่คุณคือได้พยายามดีที่สุดแล้ว ดีกว่าเฟอร์ร่ารี่ที่เหยียบได้ไม่เต็มสูบ
“การที่ผมขับเครื่องบินได้มันก็เป็นภาคบังคับของคุณพ่อนี่แหละครับคือท่านจะให้คุณแม่และลูกๆ ทุกคนขับให้ได้ เพราะตัวท่านเองไม่ค่อยสบายกลัวว่าบินขึ้นไปจะเป็นลม คือถ้าพ่อเป็นลมต้องมีคนขับได้คุณแม่และลูกทุกคนจึงขับเครื่องบินเป็นทั้งหมด ซึ่งความจริงแล้วผมไม่ได้ชื่นชอบสักเท่าไหร่ เพราะบังเอิญรุ่นที่ผมไปเรียนมีการรับรองว่าปลอดภัยมากสุดท้ายแล้วรุ่นที่ผมเรียนเครื่องตกเสียชีวิตไป 2 คน แต่ผมก็เรียนการบินจนจบออกมา ซึ่งวันนี้ถ้าจำเป็นต้องให้ผมเอาเครื่องขึ้นหรือลงผมก็ทำได้
“ผมชอบดนตรีและยิงปืนมากกว่า ตั้งแต่ผมสิบขวบคุณพ่อก็ซื้อปืนยาวอัดลมให้เลย แล้วยิงทุกวันจนชำนาญถึงขนาดได้เป็นนักกีฬายิงปืนของคณะสถาปัตย์จุฬาฯ คือจะยิงปืนได้ดีต้องสมาธิดี เราจะมีแค่ศูนย์กับเป้าเท่านั้นเน้นการบังคับลมหายใจ พอโตขึ้นมาก็ได้ปืนจากคุณพ่อมาเยอะ ตอนนี้มีอยู่ราว 40 กระบอก คือสำหรับตัวผมเองก็ทำทุกอย่างที่คุณพ่ออยากให้ทำแต่คงเป็นสิ่งที่ท่านอยากให้เป็นไม่ได้ เพราะผมก็มีวิถีทางของผมเอง แต่ถ้าท่านมองลงมาหาผมในวันนี้ท่านคงภูมิใจในสิ่งที่ผมทำพอสมควร
“ข้อดีที่คุณพ่อสอนผมก็ได้แนวทางมาเอามาปรับใช้กับลูกชายของผมเอง อย่างการทำร้านอาหาร HERO Food & Gathering ซึ่งผมให้เขาบริหารงานทุกอย่างเองตั้งแต่เขายังเรียนไม่จบ ถามว่าเด็กอายุแค่นี้กับการทำธุรกิจแบบนี้จะไปไหวเหรอ ผมคิดง่ายๆ ว่าลงทุนไป 5 ล้านบาทแต่เราไม่เสียค่าเช่าที่เพราะเป็นที่ดินของเราเอง แล้วการที่เขาไม่ไปเรียนเมืองนอก เขาตัดสินใจเรียนที่เมืองไทย เพราะถ้าผมส่งเขาไปนอกปีเดียวก็ต้องเสียเงินประมาณ 4 ล้านบาทแน่นอน ถ้าไป 4 ปี ก็ต้องเสีย 16 ล้านบาท ตรงนี้แหละคือเงินที่เขาประหยัดให้ผม เงินที่เอามาลงทุนทำร้านอาหารก็ไม่ได้เสียหายอะไร แล้วที่สำคัญมันจะเป็น Business โมเดลจริงๆ ให้เขาได้เรียนรู้ ในขณะที่เราประคองเขาได้ด้วย ผมจะสอนเขาให้ได้รู้กับสิ่งที่เป็นโมเดลจริงๆ คงไม่มีใครให้ลูกได้ทำ ซึ่งตรงจุดนี้เขาสามารถจับต้องได้มันน่าจะดีกว่า
“แต่กว่าที่จะมาเป็นร้านนี้ ลูกชายผมเขาเสนอมาหลายโปรเจ็กต์นะ ซึ่งไม่ผ่านเลยสักชิ้น จนกระทั่งผมถามเขาว่าชอบอะไร เขาบอกว่าชอบซูเปอร์ฮีโร่แล้วชีวิตประจำวันเขาชอบทานของอร่อยและทำอาหาร ผมก็บอกว่าทำไมไม่ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบละ เขาจึงคิดคอนเซ็ปต์มาเป็นร้านแนวซูเปอร์ฮีโร่ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ผมให้เขาเริ่มจากร่างแบบมาเสนองบประมาณ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เหมือนกับธนาคารคือผมให้เขากู้โดยที่ไม่มีดอกเบี้ย แต่ทุกอย่างก็ต้องกลับคืนมาเหมือนเดิม คือผมให้เขาตัดสินใจเองเลยคือเขากลายเป็นบอส ตอนแรกเขาก็บอกทำไม่ได้เพราะต้องติดต่อกับผู้ใหญ่เยอะ ผมบอกว่าเราไม่ต้องเกรงใจขนาดนั้นการทำธุรกิจกับ Seniority มันคนละเรื่องกัน เราสามารถตัดสินใจโดยที่เราเคารพกันได้
“ผมให้เขาทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมายเพราะจะทำให้เขารู้ทุกกระบวนการ แล้วที่ทำตรงนี้ต้องไปคุยกับ Marvel และ DC นะ ไม่ใช่มั่วๆ ทำขึ้น เขาก็ไปคุยเองคือต้องเผชิญกับเรื่องของลิขสิทธิ์ ก็ต้องตั้งเป็นชมรมซูเปอร์ฮีโร่ขึ้นมา เราก็ทำกลุ่มแฟนคลับ ทำแกลลอรี่ไม่ได้มาขายของ เพราะเราขายอาหาร ซึ่งก็ผ่านมาได้ลิขสิทธิ์เขาไม่ได้ว่าอะไร แม้แต่เรื่องภาษีสรรพากรหรือสำนักงานเขต เขาต้องเรียนรู้ที่จะทำให้ถูกต้อง อย่างน้อยที่สุดถ้าเขาทำพลาดขึ้นมาแล้วเจ๊ง ซึ่งมันแทบเป็นไปไม่ได้ มันก็เทียบเท่ากับที่ผมส่งเขาไปเมืองนอกแค่ปีเดียว อย่างน้อยถ้ามันสามารถอยู่ได้ขึ้นมาก็จะสามารถเลี้ยงคนได้หลายสิบคน แต่ถ้ามีกำไรก็ยิ่งดีเป็นสิ่งที่รีเทิร์นกลับมาแน่นอนทั้งเรื่องของประสบการณ์และธุรกิจ”
ย้อนไปในสมัยที่คุณนิพิฐยังทำงานด้านสถาปนิกที่ตัวเองถนัด ในยุคนั้นสิ่งที่ไม่คาดฝันสำหรับตัวเขาก็เกิดขึ้น เมื่อบริษัทที่เขาเป็นกรรมการอยู่ มีการเทคโอเวอร์บริษัทนวนครเข้ามาดูแล และได้ส่งคุณนิพิฐเข้ามารักษาการแทนชั่วคราวแทนไปก่อน โดยที่ตัวเองก็ยังไม่ได้รู้จักบริษัทนวนครดีนักว่าจะต้องบริหารงานในรูปแบบใด
“ตอนนั้นผมอายุประมาณ 40 ปี พอรู้ข่าวว่าต้องเข้าไปดูแลจึงบอกไปว่างานผมเยอะไม่มีเวลาหรอก ผมขอเข้าบริษัทแค่อาทิตย์ละ 3 วันพอนะ แต่พอเข้าไปแล้วสิ่งแรกที่ผมทำคือ เข้าไปดูว่านวนครมีอะไร สิ่งที่เห็นมีเพียงที่ดินเก่าๆแล้วที่ก็แทบจะไม่มีเหลือขาย พนักงานส่วนหนึ่งอายุมากหมดไฟในการทำงานแล้ว คือต้องขอเท้าความก่อนว่า บริษัท นวนคร จำกัด เริ่มก่อตั้งเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2514 จากโครงการพระราชดำริ โดยมีทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และตระกูลจารุศรเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งมีแนวคิดสร้างนวนครเป็นอีกเมืองที่จำลองกรุงเทพมหานครเอาไว้ โดยเอาสนามบินดอนเมืองสมัยนั้นเป็นศูนย์กลางลงมาทางใต้ 20 กิโลเมตร ก็เป็นกรุงเทพฯ ขึ้นเหนือไป 20 กิโลเมตร ก็เป็นนวนคร
“ต่อมาได้มีการรวบรวมที่ดินด้านเหนือของถนนพหลโยธิน ช่วงแรกมี 2 พันกว่าไร่ ให้ต่างชาติเป็นคนออกแบบผังเมือง มีที่อยู่อาศัย ทะเลสาบ ห้างสรรพสินค้า โรงงาน คือเป็นเมืองสำเร็จรูป ในช่วงแรกจะมีบริษัทในเครือทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เข้ามาก่อน เช่น ปูนซีเมนต์ไทยคูโบต้า แล้วมีการทำเป็นโรงงานมากขึ้น มีการจัดสรรที่ดินบางส่วนขายออกไป และทำเป็นหมู่บ้านแต่ปรากฏว่าไม่เป็นไปตามแผน ไม่มีใครอยากไปอยู่ตรงนั้น เพราะสมัย 40 ปีที่แล้วการเดินทางไปย่านรังสิตมันลำบากมาก
“พอมาถึงในยุคในช่วง 20 กว่าปีที่แล้ว บริษัทนวนครประสบปัญหาทางเศรษฐกิจทำให้ขาดทุน จึงต้องหากลุ่มทุนที่จะมาเทคโอเวอร์ ซึ่งบริษัทที่ผมเป็นกรรมการอยู่นั้นได้ทำสัญญาซื้อบริษัทนวนครมาบริหารงานในเวลาต่อมาแล้วบังเอิญตอนผมเข้าไปทาง BOI (Board of Investment) ก็เชิญผมไปโรดโชว์ที่ญี่ปุ่น ผมไปถึงมีคนถามผมว่ามาจากไหนผมบอกว่ามาจากนวนคร ณ วันนั้นราว 20 ปีที่แล้วไม่มีใครรู้จักเลย ที่เสียใจที่สุดคือมีข่าวในทำนองว่านวนครยังอยู่อีกเหรอ คือเหมือนเป็นการเสียดสี ผมก็เลยกลับมาคุยกับลูกน้องแล้วบอกว่าคนอื่นเขามองเรายังไง แล้วก็เรียกพนักงานในบริษัทนวนครทุกคน พาไปเที่ยวพัทยาทั้งหมด พอเขาเที่ยวเล่นสบายใจ วันรุ่งขึ้นเรียกประชุมทันทีผมบอกว่าไม่มีคำถามและไม่มีนโยบายมาบอกพวกคุณนะแต่ให้พวกคุณมาถามผม มีคนถามว่าเราไม่มีที่จะขายแล้วเราจะทำอะไรต่อไป ผมบอกว่าไม่ต้องกลัวมันบริหารจัดการได้ มีคนถามต่อว่าจะไล่คนออกเยอะไหม ผมสัญญาว่าไม่มีการไล่ออกยกเว้นคุณไม่พัฒนาไปพร้อมผม แล้วถามว่าแผนของผมเป็นยังไง ผมบอกว่ายังไม่รู้เลยเพราะผมเพิ่งมาก็ต้องดูไปก่อน”
เมื่อคุณนิพิฐศึกษาบริษัทนวนครอย่างจริงจังจึงรู้ว่ามีศักยภาพหลายอย่าง ซึ่งได้เอาทีมมืออาชีพเข้ามาช่วยทั้งเรื่องของบัญชีการเงิน การขาย หลังจากนั้นก็ได้งานใหญ่คือ ขายที่ดินได้ 600 กว่าล้านบาทให้กับกลุ่มทุนญี่ปุ่น เหมือนจุดประกายกำลังใจให้คนในบริษัทมีความหวังจะพลิกฟื้นนวนครขึ้นมาใหม่
“พอหลังจากที่ผมทำผลงานได้ ตอนแรกแค่มารักษาการแทนในบริษัทนวนคร ทางบอร์ดบริหารก็บอกว่าให้ผมเป็นผู้บริหารเต็มตัวไปเลย เผอิญตอนนั้นก็มีการเปลี่ยนบอร์ดพอสมควรแล้วผมเป็นตัวกลางระหว่างผู้ถือหุ้นและทางบอร์ดบริหาร การเจรจาต่อรองช่วงแรกไม่มีการยอมกันเท่าไหร่ การคุยทั้งสองฝ่ายผมจึงต้องไม่เข้าข้างฝ่ายไหนถ้าเจรจาแล้วเขาเสียเปรียบก็คงไม่ได้หรือถ้าเป็นฝ่ายผมได้เปรียบก็ต้องไม่เข้าข้าง
“สิ่งที่ผมเห็นอีกอย่างหนึ่งคือ Income ของกลุ่ม Property มันขึ้นลงตามสภาวะเศรษฐกิจ วันนี้ผมขายดีพรุ่งนี้ผมอาจขายไม่ดีก็ได้ ผมจึงอยากสร้างรายได้ประจำที่มั่นคง ผมก็เลยเริ่มต้นจากเรื่องของน้ำ ช่วงแรกของนวนครเรื่องระบบน้ำเจอคนร้องเรียนว่าแย่มาก เพราะมันคือปัจจัยการผลิตของโรงงาน ผมก็ปรึกษาผู้ใหญ่ว่าเราต้องทำโรงผลิตน้ำเป็นของตัวเอง แต่แม่น้ำเจ้าพระยาห่างกับนวนคร 8 กิโลเมตร ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำ
“ความยากคือ ต้องเริ่มประชุมคณะกรรมการอนุรักษ์น้ำตั้งแต่ต้นน้ำของจังหวัดต่างๆ ประชุมครั้งหนึ่ง 50 กว่าคนหน่วยงานที่เราต้องวางท่อผ่านตั้งแต่การรถไฟ อบต. การทางพิเศษ เรียกว่าสิบกว่าหน่วยงานจนสำเร็จ กำลังการผลิตน้ำของเรา คือมีโรงงานกว่าสองร้อยโรงงาน มีคนราวสามแสน ผมว่าจะขายน้ำได้หนึ่งล้านห้าแสนคิวต่อเดือน พอทำออกมาลูกค้าแฮปปี้มากเลย เนื่องจากการประปาส่วนภูมิภาคสมัยนั้นขายคิวละ 21 - 22 บาท แต่ผมขาย 18.30 บาท แต่คุณภาพน้ำของผมดีมากเพราะน้ำเราเน้นเพื่ออุตสาหกรรมที่ไม่ใช่น้ำประปาซึ่งสะอาดไม่มีคอลีน และน้ำได้กลายเป็นรายได้ประจำจนถึงทุกวันนี้
“ผมยังมีภารกิจหลักคือต้องการนำนวนครเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ก็มีคนแย้งว่าเอาเข้าทำไม ให้เป็นของคนอื่น ผมต้องขายสิ่งที่ถูกต้อง คือผมเอา Asset ทั้งหมดตีเป็นมูลค่า แต่เดิมถ้าต้องการขายของสักชิ้นหนึ่ง บริษัทนวนครต้องทำรายละเอียดหลายขั้นตอนวุ่นวายมาก แล้วที่สำคัญไม่มีใครรู้ว่าค่าของมันจริงๆ เท่าไหร่ แต่ถ้าเข้าตลาดหลักทรัพย์เราจะการันตีราคาจากตลาดหลักทรัพย์แค่เปลี่ยนมูลค่าที่มีทั้งหมดเป็นหุ้น ถ้าไม่ชอบใจก็เพียงแค่ขายหุ้นทิ้งแถมมีมูลค่าอีกด้วย
“การเข้าตลาดหลักทรัพย์ผมสามารถระดมทุนแล้วสร้างธุรกิจต่อได้ทันที ทุกคนก็เห็นเหมือนกันเพราะบริษัทตอนนี้ก็ไม่มีทุนมากมายอะไร พอเข้าตลาดหลักทรัพย์เราก็สามารถขยายทุกอย่างได้ บริษัทนวนครวันนั้นกับวันนี้คนละเรื่องเลย ผมพยายามสร้างความเจริญก่อน สิ่งที่เกิดขึ้นคือเรามีระบบน้ำที่ใหญ่มาก มีระบบไฟฟ้า มีถนนที่เปลี่ยนไป มีศูนย์การค้าที่ทันสมัย” แม้ทุกอย่างจะเข้าที่เข้าทางเป็นรูปแบบของบริษัทที่สร้างกำไรได้ในระยะยาว แต่ก็ต้องมาประสบเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 54 บริษัทนวนครเสียหายไปมหาศาล กว่าจะได้รับการฟื้นฟูและความเชื่อมั่นจากนักลงทุนซึ่งต้องใช้เวลานานพอสมควร
“พอรู้ว่าน้ำมาแน่ผมก็ตั้งศูนย์เฝ้าระวังน้ำท่วมทันทีโดยส่งคนไป 5 กิโลเมตร เพื่อดูระดับน้ำเองเพราะเจ้าหน้าที่รัฐมีไม่พอ คืออยู่กัน 24 ชั่วโมงเลย ผมได้รับความร่วมมือจากคนที่อยู่รอบๆ ทั้งคนงาน ชาวบ้าน มาช่วยกันกั้นกระสอบทรายวางบนเขื่อน ก็มั่นใจว่าจะเอาอยู่ เรากั้นเป็นเขื่อน 26 กิโลเมตร มีคนยืนทุกเมตรเลย ลองคิดดูว่ามีกี่หมื่นคนยืนอยู่ตรงนั้น คือทุกคนเป็นห่วงนวนครเพราะพวกเขาทำงานกันอยู่ในนั้น
“ผมยิ่งเห็นน้ำท่วมชัดจากตอนที่ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปดูที่โรจนะ มันเหมือนทะเลมาก คราวนี้ผมรู้ทันทีเลยว่าเอาไม่อยู่แน่นอน เพราะหลายคนคิดว่านวนครน่าจะเป็นด่านสุดท้ายถ้านวนครแตกกรุงเทพก็คงไม่รอด ช่วงนั้นทีวีก็ถ่ายทอดสดกันบ่อย ซึ่งวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ.2554 มีการแจ้งว่าน้ำไม่มีทางเกิน 4.20 เมตร ผมทำเขื่อนที่ 4.50 เมตร แต่น้ำมา 4.70 เมตร
“พอน้ำท่วมเข้ามาก็มีคนร้องไห้กันใหญ่แล้วทหารก็เอาเฮลิคอปเตอร์บินขึ้น ผมมีความรู้สึกว่าตัวเองกำลังดูหนังสงครามอยู่ ผมก็ไห้เวลาพนักงานร้องไห้อยู่ครึ่งชั่วโมงแล้วก็เรียกประชุม ผมบอกว่าเรื่องน้ำตอนนี้คงหยุดไม่ได้แต่ต้องมาช่วยคนกัน เพราะคนอยู่ในนั้นเป็นแสน ทั้งเด็กและคนแก่ แล้วน้ำค่อยๆ ขึ้น เมื่อคนออกไปเกือบหมดแล้วคืนนั้นผมออกเป็นคนเกือบสุดท้ายเลยนะ พอวันรุ่งขึ้นน้ำท่วมมิดหมดผมก็เรียกเรือหางยาวมาตั้งเป็นท่าเรือ แห่งแรกเป็นท่าเรือประชาชน อีกท่าหนึ่งสำหรับโรงงานก็เกิดปัญหาอย่างหนึ่งคือโรงงานส่วนใหญ่จะต้องการโมการผลิตของเขา จึงต้องจ้างทีมประดาน้ำรับงมโมอย่างเดียว ที่ให้ลูกค้าได้คือเรามีโรงงานชั่วคราวที่โคราชเอาไว้รองรับ บางโรงงานยังผลิตได้อยู่เพราะไฟฟ้าที่อยู่ด้านบนไม่ได้ตัด แต่บางโรงงานก็ผลิตไม่ได้
“ความสูญเสียตรงนั้นน่าจะราว 8 หมื่นล้านบาทเพราะชั้นล่างของโรงงานต้องทำใหม่ มีโรงงานย้ายออกไป 30 กว่าโรงงาน ตอนหลังกลับมาหมดเลย แต่มีที่เลิกกิจการไป 15 โรงงาน ซึ่งผมเช็คดูแล้วเป็นโรงงานเล็กที่ซ่อมแซมไม่ไหวแล้วเป็นช่วงที่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาททำให้ต้องเลิกไป แต่โรงงานขนาดใหญ่นี่ถือเป็นโอกาสเพราะเขาสามารถเครมประกันได้ 100% ก็เปลี่ยนจากเครื่องจักรเดิมเป็นเครื่องจักรใหม่ที่ใช้คนน้อยกว่าเดิม ถามว่าการผลิตเพิ่มขึ้นไหมผมวัดได้เลยจากการใช้น้ำ วันนี้การใช้น้ำของผมมากกว่าตอนปี พ.ศ. 2554 แล้ว แต่คนของผมหายไปราว 5 หมื่น ส่วนใหญ่เป็นคนงานเพราะหลายคนพอน้ำท่วมก็กลับบ้านไปเลย
“หลังน้ำท่วมต้องมีการประชุมซึ่งแน่นอนว่าผมต้องโดนด่าแน่นอน พอเริ่มประชุมก็ลุกขึ้นมาโค้งขอโทษในสิ่งที่ผมทำ ผมพยายามทำดีที่สุดแล้ว สรุปไม่มีใครด่าเลย มีแต่เรามาช่วยกัน ลูกค้าเหมือนเพื่อน ถ้าเพื่อนทำดีที่สุดแล้วก็ต้องช่วยกันหาทางออก เราช่วยกันหาตัวแทนจากกลุ่มผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการต่างชาติมาประชุม ให้รู้ว่าผมทำอะไร มีคอมเม้นต์อะไรก็บอกกันตรงนั้นเลย แสดงให้เขารู้ว่าเราจริงใจ และรับผิดชอบ ในที่สุดก็จบเพราะเขาได้ร่วมสร้างมากับเราทั้งหมด จากจุดนี้มันทำให้ลูกค้าโดยเฉพาะญี่ปุ่นมั่นใจในตัวเรา
“ที่ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ มาได้เพราะผมเป็นคนคิดบวกถ้าเราไม่สู้มันจะแพ้ไปเลย แต่ถ้าเราสู้มันก็ต้องได้อะไรสักอย่างหนึ่ง ไม่ 100 ก็ 50 ที่ผมคิดบวกได้ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ผมเป็นโรคไต ซึ่งได้รับการผ่าตัดมาสองครั้งแล้วถ้าเรามานั่งเสียใจมันจะดีอะไรกับผม ผมก็ต้องใช้ชีวิตให้ดีที่สุดแล้ววันหนึ่งผมก็ได้รับการเปลี่ยนไตมันก็ดีขึ้นแต่ไม่ได้ดีมาก ตอนที่ผมไม่สบายผมใช้ชีวิตการทำงานปกติทุกอย่าง ไปเที่ยวเฮฮากันเพื่อนได้จนคนไม่รู้ อย่างไปฟอกไตครั้งละ 4 ชั่วโมง เดินเข้าไปในโรงพยาบาล ผมก็เฮฮากับพยาบาลจนคนมารุมที่เตียง คนไข้อื่นอาจหมั่นไส้คงคิดว่าบ้าเหรอไม่สบายขนาดนี้ทำไมโลกสวยสดใสอยู่ได้
“ผมขอยกตัวอย่าง มีน้องคนหนึ่งอายุ 16 ปี ชื่อเมย์ ร้องไห้ทุกครั้งที่มาโรงพยาบาล แล้วพ่อแม่ก็ไม่สามารถปลอบลูกได้ ผมก็ขอพยาบาลไปคุยกับน้องคนนี้ ว่าลุงผ่านจุดนี้มาแล้วนะ เมย์จะอยู่กับมันแบบเสียใจไปตลอดหรือมีความหวัง
คือมันต้องผ่านเวลานี้ทั้งคู่แหละ อย่างน้อยที่สุดเรายังมีโอกาสดีกว่าใครหลายคน ถ้าเมย์เป็นมะเร็งอาจจะไม่หายก็ได้ วันหนึ่งโรคนี้ถ้าผ่าตัดก็สามารถหายได้ หรือไม่หายก็ใช้ชีวิตปกติพอสมควรก็ยังดีกว่า ผมก็สอนเขาหลายอย่างจนเขาดีขึ้น เมื่อเขามีปัญหาก็โทรหาผมตลอด จนตอนหลังทางโรงพยาบาลเห็นผมให้กำลังใจคนได้ ผมกลายเป็นเหมือนพรีเซ็นเตอร์ให้โรงพยาบาลเลย เพราะคนป่วยเขาไม่เชื่อหมอเท่าไหร่ เพราะหมอไม่ได้เป็นโรค เขาจะเชื่อคนไข้ด้วยกันมากกว่า ซึ่งผมอธิบายความรู้สึกได้ดี
“หากใครที่ผิดหวังแล้วท้อแท้ ผมอยากบอกว่าทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ที่ใจตัวเอง ปัญหาชีวิตของเราทุกคนมีทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพ ครอบครัว การเงิน ผมเคยผ่านจุดเรื่องการเงินมาแล้วตอนปี 40 ที่แทบไม่เหลืออะไรเลย แต่ถ้าเรายอมแพ้แล้วท้อแท้มันคุณไม่มีทางจะกลับมาได้ คือให้กำลังใจตัวเองไม่ต้องให้คนอื่นมาให้หรอก แล้วสุขภาพจิตต้องดีทำตัวเราให้แจ่มใสยังไงมันต้องดีกว่าอย่างแรกแน่นอน แต่จะมากขึ้นแค่ไหนต้องอยู่ที่ตัวคุณเอง...”