FUNGJAI.COM

FUNGJAI.COM

ทุกวันนี้วงการเพลงไทยอยู่ในยุคที่นักดนตรีสามารถสร้างสรรค์ผลงานเพลงได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องง้อค่ายเพลงใหญ่ๆ แม้ว่าจะมีนักดนตรีอิสระไม่ตามกระแสนิยมสังคมเกิดขึ้นมากมาย แต่ก็ยังไม่มีพื้นที่รวมตัวกันอย่างเป็นรูปธรรม ‘ท็อป – ศรันย์ ภิญญรัตน์’ ผู้ก่อตั้งและ CEO เว็บไซต์ฟังใจ (www.fungjai.com) จึงเกิดไอเดียสร้าง Community Online ที่เปิดกว้างทางดนตรีและสนับสนุนวงดนตรีอิสระในเมืองไทย 

Fungjai.com เป็นเว็บไซต์ Music Streaming สัญชาติไทยที่รวบรวมเพลงไทยที่มีความหลากหลายจากทั่วประเทศ โดยไม่จำกัดแนวเพลง ไม่จำกัดศิลปินค่ายเล็กหรือค่ายใหญ่ เพียงแค่ได้ลองเข้าฟังเพลงโดยใช้ใจฟัง ก็จะทำให้ค้นพบเสียงดนตรีใหม่ๆ ให้รสนิยมทางดนตรีก้าวขึ้นไปอีกระดับ 

“มี 2 ปัจจัยที่ทำให้เกิดฟังใจครับ ช่วงที่เกิดฟังใจตอนนั้นเป็นช่วงที่ผมเพิ่งกลับจากต่างประเทศ ไปเรียนต่อและทำงาน อย่างแรกคือไปทำงานบริษัท Startup แห่งหนึ่งที่อเมริกา ทำอยู่ประมาณ 1 ปี ได้แนวคิดเรื่องธุรกิจมาเลยรู้สึกว่าอยากลองสร้างอะไรของตัวเองขึ้นมาบ้างบวกกับประสบการณ์การทำงานที่มีอยู่ เลยมองว่ามันก็ไม่ได้ยากขนาดนั้น ส่วนปัจจัยที่สอง ตอนอยู่อเมริกาได้ใช้บริการซอฟต์แวร์ที่ชื่อ Spotify เป็น Music Streaming อันดับ 1 ของโลก แล้วพบว่าการฟังเพลงแบบนี้ดีกว่าฟังบน YouTube อีก จึงเกิดเป็นความชอบ พอกลับมาเมืองไทย ก็นึกขึ้นได้ว่าวงการเพลงไทยน่าจะมีพื้นที่หนึ่งที่รวบรวมงานเหล่านี้เอาไว้ ซึ่งรูปแบบการรวมงานผมก็ทำแบบ Music Streaming รู้สึกการแบ่งประเภทจัดหมวดหมู่แบบ Spotify ก็ดี เลยพยายามสร้างโปรเจ็กต์ฟังใจขึ้นมา

“ผมไม่ได้อยู่ในวงการดนตรี พอมีไอเดียนี้ผมก็ได้เจอกับน้องคนหนึ่ง เขาก็พาผมไปคุยกับคนนั้นคนนี้เลยเริ่มรู้จักคนมากขึ้น แต่คนที่เปิดประตูที่ทำให้รู้จักกับคนในวงการนี้จริงๆ ก็คือพี่พาย ( ปิยะพงษ์ หมื่นประเสริฐดี ) ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งอีกคนหนึ่ง คอนเน็กชั่นเป็นสิ่งสำคัญคือการที่เรามีตัวตน มีปฏิสัมพันธ์ที่เป็นลักษณะเชิงคนกับคน เพราะว่าถ้าไปดู Music Streaming ที่อยู่ในบ้านเราตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าใหญ่ๆ อย่าง Deezer, KKBOX หรือ Apple Music เขาจะไม่ได้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับศิลปินเลย เหมือนเป็นแค่หน้าร้าน แล้วก็มีพ่อค้าคนกลางที่รวบรวมเพลงเอาไปขึ้นแต่ฟังใจคือมีการพบปะพูดคุยกับศิลปินโดยตรง เขาจะรู้จักพวกเรา ซึ่งมันต่างจาก Music Streaming อื่นๆ ก็คือเรามีตัวมีตนจริงๆ”

สำหรับ Music Streaming ในเมืองไทยช่วงแรกๆ ถือว่าเป็นคอนเซ็ปต์ที่ค่อนข้างแปลกใหม่ เขาเลยใช้วิธีเดินสายเข้าไปหาค่ายเพลงก่อน เป็นการเข้าไปทำความรู้จักแล้วพรีเซ็นต์ฟังใจให้ฟังทีละค่าย ทีละศิลปิน เมื่อเขาทำไปได้ระยะหนึ่ง เริ่มมีคนเข้าใจและรู้จัก จึงมีผลงานเพลงส่งเข้ามาเขาเลยสร้างระบบอัพโหลดเพลงขึ้นมาบนหน้าเว็บโดยมีการจัดการระบบอย่างเป็นระเบียบ

“ก่อนที่เราจะนำเพลงเข้าสู่ระบบ เราจะเช็กไฟล์เพลงก่อนว่าไม่ใช่เพลง Cover หรือถ้า Cover ก็ต้องซื้อลิขสิทธิ์มาแล้ว อันดับหนึ่งคือต้องมีกฎหมาย สองคือไม่มีเนื้อหาที่ล่อแหลม (ล่อแหลมในที่นี้คือไม่ผิดกฎหมาย) คำหยาบได้ สามคือเราไม่ได้คัดเพลงดีหรือไม่ดี เราอยากให้มันเป็นพื้นที่ที่คนสามารถมาปล่อยของได้ แล้วให้คนฟังเป็นคนตัดสิน เพราะชาร์ตของฟังใจจะจัดอันดับตามยอดฟัง จุดยืนของเราคือประชาธิปไตยทางดนตรีครับ เรามอบอำนาจให้กับผู้ฟังเป็นผู้เลือกว่าเขาอยากจะฟังอะไร ให้ศิลปินได้อยู่บนพื้นที่เดียวกันในระดับที่เท่าๆ กัน ให้คนฟังก็ไปเลือกฟังกันเอาเองครับ”

ฟังใจไม่ได้ทำแค่เพียง Music Streaming เท่านั้น แต่ยังทำนิตยสารออนไลน์ (fungjaizine.com) คอนเสิร์ต และงานสัมมนาอีกด้วย สำหรับรายได้ของฟังใจมาจากสปอนเซอร์ของงานคอนเสิร์ตและค่าตั๋วที่ขายได้ บวกกับโฆษณาที่มาลงในเว็บไซต์นั่นเอง 

“คือเรามี 4 อย่าง แต่เราไม่ได้ให้ความสำคัญกับอย่างใดอย่างหนึ่ง อย่างงานสัมมนาคนอาจไม่ได้มาเยอะ แต่ผมเชื่อว่ามันเป็นสิ่งที่วงการดนตรีมันไม่เคยมีมาก่อน การที่พยายามจะปลูกฝังความรู้ให้นักดนตรีใหม่ๆ มันก็แค่ปากต่อปาก ไม่มีศูนย์กลางตัวแทนที่จะรวบรวมองค์ความรู้พวกนี้เอาไว้เราพยายามให้ศิลปินมีพลัง เพราะรู้สึกว่ายิ่งศิลปินเติบโตหรือแข็งแรงมากเท่าไหร่ วงการเพลงโดยรวมก็จะแข็งแกร่งมากเท่านั้น ฟังใจก็โตขึ้นด้วย เป็นการสร้างความเปลี่ยนแปลง
ของวงการเพลงไทยไปในทิศทางที่ดีขึ้น

“อนาคตผมอยากให้ดนตรีไทยกลายเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออก ตลาดในไทยก็ใหญ่นะแต่ไม่ได้ใหญ่มาก ทั้งในและนอกกระแสก็มีพื้นที่ของเขา ไม่ได้อยู่ในสเกลที่มันจะโตไปได้มากกว่านี้ มันมีความอิ่มตัวอยู่ ด้วยความที่เราเป็นแพลตฟอร์มทางอินเตอร์เน็ต ทำให้การเผยแพร่สินค้าทางดนตรีออกไปต่างประเทศเป็นเรื่องง่าย ในอนาคตเราอาจจัดทำระบบ Licensing ที่โฆษณาต่างประเทศอยากเอาเพลงไทยไปใช้ ก็สามารถทำผ่านระบบออนไลน์ได้เลยซื้อสิทธิ์ไปใช้ อีกอย่างหนึ่งคือเวลาคนอยากฟังเพลงไทยก็ให้นึกถึงฟังใจ แล้วถ้าวันไหนที่ศิลปินสามารถใช้ดนตรีหาเลี้ยงชีพได้โดยไม่ต้องประกอบอาชีพอื่นจำนวนมาก วันนั้นฟังใจประสบความสำเร็จแล้ว อันนี้เป็นตัวชี้วัดที่ชัดเจน แปลว่าเรากำลังสร้าง Ecosystem ที่ทำให้นักดนตรีเป็นอาชีพได้ก็ต้องดูกันต่อไป ไม่มีใครรู้อนาคตหรอกครับ (ยิ้ม)”

ล่าสุด FUNGJAI เพิ่งจัดงานคอนเสิร์ต “เห็ดสด 2.5” Live in Chiangmai เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ถือได้ว่าเป็นการเดินทางอีกก้าวไปทำความรู้จักกับคนฟังเพลงในต่างจังหวัด ยิ่งเราอยู่ในยุคที่เพลงกลายเป็นของฟรี และศิลปินถูกลดค่าลงเรื่อยๆ ศิลปินต้องพยายามเพิ่มคุณค่าให้ดนตรีมากขึ้น การให้บริการ Music Streaming น่าจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกและแนวทางแก้ไขปัญหาหลายอย่างในวงการดนตรีได้ ไม่แน่ว่าเราอาจเห็น FUNGJAI สร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆ ให้วงการเพลงไทยก็เป็นได้ 

The Democracy of Music ประชาธิปไตยทางดนตรี