FarmSook Ice Cream

FarmSook Ice Cream

ใครจะนึกว่าแค่ซื้อไอศกรีมเพียง 1 ถ้วย ก็สามารถช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสได้ ด้วยการเปิดอบรมวิชาชีพการทำไอศกรีมให้เด็กและเยาวชนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา หรือประสบภาวะยากลำบากในชีวิตให้สามารถประกอบอาชีพมีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว ซึ่งเป็นระยะเวลากว่า 3 ปีแล้ว ที่ ‘บอม - ชัยฤทธิ์ อิ่มเจริญ’ ได้นำ FarmSook Ice Cream มาถึงจุดที่แสดงให้เห็นว่า ไอศกรีมสามารถสร้างความสุขให้แก่คนรอบข้างได้จริงๆ

‘ฟาร์มสุข ไอศกรีม’ ไอศกรีมโฮมเมดเพื่อสุขภาพระดับพรีเมียมและเป็นไอศกรีมเพื่อสังคมรายแรกของไทยที่ได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นทางการ จากสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมเพื่อชาติ (สกส.)และสถาบันพัฒนาวิสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (สพว.) โดยมุ่งมั่นพัฒนาช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส และสร้างแรงบันดาลใจให้สังคม

จากจุดเริ่มต้นที่เขาเป็นคนชอบทานไอศกรีม และนำไอศกรีมไปเลี้ยงเด็กตามบ้านสงเคราะห์ แต่ด้วยไอศกรีมที่เขาชอบส่วนใหญ่มีรสหวานและราคาสูง เขาจึงเริ่มศึกษาถึงกระบวนการทำไอศกรีมที่หวานน้อย อร่อย สะอาด และดีต่อสุขภาพอย่างจริงๆ จังๆ โดยเขาลองผิดลองถูกจนได้สูตรเป็นของตัวเอง คือไอศกรีมที่มีน้ำตาลประมาณ 11% ขณะที่ไอศกรีมทั่วไปในตลาดมีน้ำตาลประมาณ 18% ตอนนั้นเองที่เขาเริ่มมองเห็นว่าไอศกรีมหนึ่งถ้วยน่าจะทำอะไรได้มากกว่าการบริจาคให้เด็กๆ

“ผมเอาสูตรนี้ไปต่อยอดสอนเด็กให้เด็กทำตามสูตร ครั้งแรกโมเดลเพื่อสังคมนี้ถูกคิดขึ้นมาเป็นโมเดลของคนที่ไม่เคยทำงานสังคมเลย มองเด็ก มองปัญหาแบบผิวเผิน คิดว่ามีเงินก็คงจะแก้ปัญหาได้ ก็เลยวางโมเดลแบบนี้ ให้เด็กทำแล้วก็จ่ายเงิน แต่พอตัวเองได้ไปขลุกอยู่กับเด็กได้รับฟังเด็กมากขึ้น ผมก็พบว่าปัญหามันอยู่ปลายทาง ถึงเด็กจะมีเงินแต่ถ้าเด็กไม่มีความคิดมันก็แก้ไม่ได้ ผมก็เลยเปลี่ยนแผนใหม่  

“คือสร้างรายได้ สร้างอาชีพให้เด็ก โดยเริ่มจากกระบวนการเรียนรู้ระหว่างการทำไอศกรีม เด็กก็จะได้เรียนรู้ในเรื่องการทำอาหารให้สะอาด การใส่ใจการทำงาน และที่สำคัญใส่กระบวนการทางจิตใจกับความคิด จากเด็กที่ไม่รู้จักคิดก็คิดเป็น ตลอดระยะเวลาที่ทำมา ช่วยเด็กกว่า 500 คนมี 3 คนที่เรียนถึงมหาวิทยาลัยด้วยกระบวนการที่ว่ามา นี่คือผลลัพธ์ที่ทำให้เรารู้สึกว่า เราได้ทำเพื่อสังคมจริงๆ นะ”

หากมอง ‘ฟาร์มสุข ไอศกรีม’ ในแง่ของธุรกิจ เขามองว่าอย่าเอาฟาร์มสุขไปเทียบกับหัวใหญ่ๆ เลย ขออยู่ในสเกลเล็กๆ แต่อยู่รอดดีกว่า ทุกวันนี้เรื่องการเงินของฟาร์มสุขสามารถหมุนเวียนอยู่ในระบบ ให้โครงการสามารถวิ่งต่อไปเรื่อยๆ ได้โดยไม่เจ็บตัว เขาก็พอใจแล้ว

“ผมคิดว่ากิจการเพื่อสังคมมันก็มีข้อดีของมัน ฟาร์มสุขเติบโตมาแบบนี้ ซึ่งไอศกรีมอื่นทำไม่ได้ และเราก็คงทำแบบคนอื่นไม่ได้ เพราะฉะนั้นรูปแบบการเติบโตของเราเลยเป็นแบบเฉพาะตัว ดูของคนอื่นได้แต่อย่าไปเลียนแบบ ให้เป็นแรงบันดาลใจดีกว่า นำมาต่อยอด ผมเชื่อว่าธุรกิจนี้ต้องเติบโต แต่คนทำต้องคิดหนัก ต้องหาตัวเองให้เจอก่อนว่าจะเติบโตยังไง ฟาร์มสุขผมเป็นแค่คนดูแลและลงแรง แต่มันเป็นของทุกๆ คนที่เขาต้องการให้เราช่วยเหลือเด็ก มันก็เลยกลายเป็นรูปแบบหนึ่ง ซึ่งจะให้ทิ้งตรงนี้ไปไม่ได้หรอก ก็ต้องโตไปแบบนี้แหละ แต่จะโตไปในรูปแบบไหนก็ต้องมาดูกันอีกที”

อนาคตเขาอยากให้ ‘ฟาร์มสุข ไอศกรีม’ เป็นแฟรนไชน์สำหรับผู้ด้อยโอกาส มีระบบการจัดการและการควบคุมคุณภาพที่ดี ทุกวันนี้เขาพยายามจะยกระดับ ‘ฟาร์มสุข ไอศกรีม’ ให้กระจายไปตามที่ต่างๆ ทั่วประเทศ แน่นอนว่าหนทางยังอีกยาวไกล แต่เป้าหมายระยะใกล้ที่เขาต้องการคือทำแบรนด์ให้ทุกคนรู้จักเป็นอันดับแรก ก่อนจบการสนทนาเขาได้ทิ้งท้ายว่า

“ตอนนี้เหมือนผมเห็นอะไรบางอย่างชัดเจนขึ้นจากการทำฟาร์มสุข ฟาร์มสุขเหมือนเป็นแค่เครื่องมือ ผมจะหยุดทำฟาร์มสุขก็ได้ แต่ไม่ได้หยุดที่จะทำงานด้านสังคม อาจจะใช้โมเดลประมาณนี้กับ Product อื่นก็ได้ เพื่อช่วยเหลือสังคม ผมรู้สึกว่าพอมาอยู่จุดนี้เราสามารถมองเห็นคุณค่าในสิ่งที่เราทำและเห็นคุณค่าของตัวเอง ยิ่งทำเรายิ่งโตขึ้น ยิ่งทำเรายิ่งเข้าใจคนมากขึ้น ได้เรียนรู้ความอดทนและความเห็นอกเห็นใจ เพราะผมอยู่กับคนที่มีความกดดันในชีวิตมากๆ ใกล้ชิดกับเขาแทบทุกวันทำให้รู้สึกว่างานที่เราทำมันเจ๋งตรงที่เข้าใจโลก เข้าใจชีวิตมากขึ้น ถือได้ว่าสิ่งนี้เป็นงานที่ดีและเป็นงานที่เรารัก” 

Know Him

• มีหลายครั้งที่เขาท้อ จนเกือบจะเลิกทำ FarmSook Ice Cream แต่โชคดีที่มีโอกาสได้ร่วมงานกับทางบริษัทบางจาก ทำให้ฟาร์มสุขได้ต่อยอด เติบโตไปอีกก้าว
• ก่อนหน้าที่จะมาเป็น ‘FarmSook Ice Cream’ เคยใช้ชื่อแบรนด์ ‘Scoop The Love’ มาก่อน 2 ปี
• ปัจจุบันเขาทำงานที่ FarmSook Ice Cream เป็นงานหลัก ส่วนงาน Graphic Design เป็นงานเสริม 
• ติดตามได้ที่ www.facebook.com/farmsookicecream 

A little help a lot ไอศกรีมสร้างสุข