สิทธิและเสรีภาพ

สิทธิและเสรีภาพ

ฉบับที่แล้วได้เขียนถึงสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ของประเทศไทยไปแล้วทีนี้เราลองมาดูเพื่อนบ้านเราในภูมิภาคนี้กันบ้างว่ากฎหมายเขามีหลักเกณฑ์สำหรับเรื่องนี้กันอย่างไรบ้าง

ในประเทศกัมพูชา ตามกฎหมายของเขาก็บังคับให้ผู้ชุมนุมต้องทำหนังสือเพื่อแจ้งการจัดการชุมนุมแก่ฝ่ายปกครองในท้องที่ก่อนที่จะมีการจัดการชุมนุมล่วงหน้าเช่นกัน โดยต้องแจ้งถึงจุดประสงค์ในการชุมนุมเหมือนกับเรา แต่เจ้าหน้าที่ก็จะห้ามไม่ให้จัดการชุมนุมในที่สาธารณะเป็นส่วนใหญ่ โดยอ้างว่า การชุมนุมอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ด้วยเหตุนี้เราก็ไม่ค่อยได้พบเห็นภาพของประชาชนชาวกัมพูชาออกมาชุมนุมประท้วงสักเท่าไหร่

แต่ในปี ค.ศ.2013 ก็มีการนำของพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งมีประชาชนมาร่วมชุมนุมกันเป็นจำนวนมาก จากเหตุการณ์นี้คงสะท้อนภาพของกฎหมายการชุมนุมสาธารณะกับประชาชนชาวกัมพูชา ว่าพวกเขากำลังก้าวข้ามความขลาดกลัวได้เป็นอย่างดี

ในประเทศฟิลิปปินส์ การชุมนุมถึงแม้จะไม่ค่อยมีการขัดขวาง แต่การอนุญาตต้องเป็นการชุมนุมที่ไม่ได้อยู่ใกล้กับสถานที่ราชการของรัฐ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยก็กำหนดข้อห้ามในทำนองเดียวกัน

โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษด้วยแล้ว ประเทศนี้หากมีการชุมนุมเพื่อต่อรองหรือประท้วงนายจ้างเกิดขึ้น ถึงแม้รัฐบาลไม่ได้ออกกฎหมายห้ามก็ตาม ทางเอกชนหรือนายจ้างจะจัดการกับผู้ชุมนุมเอง โดยที่รัฐจะไม่เข้ามาดูแลให้ความคุ้มครอง
แต่อย่างใด

ประเทศสิงคโปร์ การชุมนุมในที่สาธารณะก็ต้องได้รับการอนุญาตจากทางการของเขาเท่านั้น แต่ก็เป็นไปได้ยาก หรือพูดได้ว่าไม่เคยอนุญาตให้จัดการชุมนุมในที่สาธารณะเลย  สถานที่ที่คนสิงคโปร์สามารถชุมนุมได้มีเพียง Speaker’s Corner

ในสวนสาธารณะ Hong Lim เท่านั้น ซึ่งในปัจจุบันเพียงต้องลงทะเบียนเพื่อจองขอใช้สถานที่เท่านั้น แต่เขาก็มีข้อจำกัดมากมายเช่นกันนะครับ ที่น่าสนใจของประเทศนี้คือ คนส่วนใหญ่มีทัศนคติกับการประท้วง คือการสร้างปัญหา ดังนั้นการถูกจำกัดเสรีภาพของเขาในเรื่องนี้จึงไม่ค่อยมีผลกระทบต่อชาวสิงคโปร์เท่าใดนักในประเทศมาเลเซีย เพื่อนบ้านที่มีพรหมแดนติดกับประเทศเราอีกประเทศหนึ่ง การชุมนุมมีเพื่อต่อต้านรัฐบาล หรือการถูกคุกคามสิทธิและเสรีภาพก็มีให้เห็นอย่าง
ต่อเนื่อง ผู้จัดการชุมนุมเองก็ต้องแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อนล่วงหน้า 10 วัน เช่นกันแต่จะได้รับอนุญาตหรือไม่ก็แล้วแต่กรณี

ส่วนประเทศสุดท้ายที่อยากจะเขียนถึงแม้ว่าจะไม่อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกันก็ตาม แต่เป็นมังกรจีนที่มีบทบาทสำคัญไม่เพียงในภูมิภาคเดียวกันเท่านั้นแต่ ระดับโลกเลยทีเดียว ประชาชนก็ไม่สามารถใช้สิทธิในการชุมนุมโดยพลการได้เช่นเดียวกัน จะต้องขออนุญาตต่อฝ่ายปกครองเสียก่อน และต้องแจ้งรูปแบบการชุมนุมซึ่งก็คล้ายกับในบางประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย รวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน แต่อย่าลืมนะครับประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนปกครองด้วยระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์

ข้อสังเกตจากตัวอย่างของประเทศทั้งหมดมีความคล้ายคลึงกันมากที่สุด ก็คือทุกประเทศต้องมีการขออนุญาตก่อนมีการจัดการชุมนุมสาธารณะทั้งสิ้น คงมีแต่ประเทศสิงคโปร์เท่านั้นที่ปัจจุบันเพียงแต่ขอจองเพื่อการใช้สถานที่เท่านั้น แต่ก็สามารถกระทำได้ในสถานที่ที่กำหนดไว้เท่านั้น 

ในฉบับหน้าอยากให้ติดตามต่อนะครับว่าการชุมนุมในอเมริการวมถึงยุโรปในประเทศชั้นนำจะเป็นเช่นไร 

WORD OF WISDOM

ความแตกต่างของเชื้อชาติและศาสนามิได้หมายถึงความแตกต่างกันของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ในการชุมนุม (ตอนที่ 2)