ชัยชนะ บุญนะโชติ

ชัยชนะ บุญนะโชติ

นักร้องลูกทุ่งผู้มีเอกลักษณ์อยู่ที่ลูกคออันทรงพลัง เสียงดังฟังชัด กล่อมกังวานไปทั่วท้องทุ่ง สร้างสรรค์ขับกล่อมผลงานเพลงลูกทุ่งสุดอมตะไว้มากมาย อาทิ บางกอกน้อย (สุดคลองบางกอกน้อย), ใจนางเหมือนทางรถ, กังวานไพร, ล่องใต้, กระท่อมปลายนา, แม่แตงร่มใบ ฯลฯ แถมยังมีความสามารถในด้านศิลปะการแสดงพื้นบ้าน (ภาคกลาง) เช่น ลิเก ลำตัด เพลงอีแซว การแสดงตลก และเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงลูกทุ่ง) ประจำปี พ.ศ.2541

นอกจากท่านจะเป็นนักร้องลูกทุ่งระดับครูบาอาจารย์ที่มีผลงานมาร่วมครึ่งศตวรรษของไทยแล้ว ท่านยังได้สร้างนักร้องลูกทุ่งประดับวงการไว้อีกหลายคน โดยหนึ่งในศิษย์เอกก็คือ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ แม้จะอยู่ในวงการลูกทุ่งมานานถึงครึ่งศตวรรษ ท่านก็ยังคงรับงานร้องเพลงทั่วไป รวมทั้งงานทำขวัญนาค เฉกเช่นที่เคยทำมานานหลายสิบปี

จากบางเล่าถึงบางกอกน้อย

เคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า ‘ชะตาฟ้า หรือจะสู้มานะตน’ ไหมครับ คนเราแม้เลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกหนทางที่จะเดิน หรือสิ่งที่ต้องการจะเป็นได้ ขอเพียงแค่ต้องมีความพยายาม อุตสาหะ มานะ อดทน ดั่งศิลปินแห่งชาติของเราท่านนี้

“ตอนเป็นเด็กลำบากมาก เกิดมาในตระกูลที่มั่งคั่งด้วยความจน มีพี่น้อง 9 คน ผมเป็นคนที่ 5 ตอนเล็กๆ ก็ไปอาศัยอยู่หลายที่ ตระเวนอาศัยอยู่กับอาและลุง แล้วก็กลับมาโตที่ตำบลบางเล่า อำเภอบางคล้า เข้ารับการศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนประชาบาลวัดสามร่ม จนจบประถมปีที่ 4 แล้วไม่ได้ศึกษาต่อเนื่องจากความยากจน ต้องรับจ้างทำสวนหมาก สวนมะม่วง จึงอยู่ไม่เป็นที่เป็นทาง เริ่มเรียนหนังสือตอนอายุได้ 7 ขวบ ได้เรียนเพราะไปเป็นเด็กวัด 
เนื่องด้วยทุนทรัพย์ไม่มี 

“ตัวผมเองชอบร้องเพลงมาตั้งแต่เด็ก เริ่มหัดร้องเพลงตอนอายุ 7 ขวบ ชอบร้องเพลงเพราะได้ฟังจากวิทยุ สมัยก่อนความจำดีมาก ฟังเที่ยวเดียวนี่จำได้หมดเลย ช่วงนั้นผมชื่นชอบในเพลงของครูสมยศ ทัศนพันธ์ และครูคำรณ สัมปุณณานนท์ อย่างมาก ตอนเรียนประถมมีครูท่านหนึ่งชื่อครูอุ่นเรือน ชอบฟังเพลงจึงให้ผมร้องให้ฟังอยู่เป็นประจำ เขามักจะเรียกผมกับน้องชาย (ชัยณรงค์ บุญนะโชติ) ไปข้างโบสถ์ ไปร้องเพลงให้เขาฟัง ให้ทีละบาทสองบาท ตอนนั้นเงินเหรียญยังเป็นสตางค์รู 

“ผมเรียนจบประถมศึกษาปีที่ 4 ตอนอายุ 12 ปี หลังจากนั้นอยู่วัดต่ออีก 2 ปี ผมก็ได้รู้จักกับหลวงพี่วิเชียร ตัณยะสิทธิ์ ซึ่งทำงานอยู่ที่บริษัท ส.สำราญไทยแลนด์ ที่ทำมีด ทำช้อน ที่กรุงเทพฯ เขามาบวชที่วัดนั้น ผมจึงเป็นลูกศิษย์ของหลวงพี่วิเชียร ตอนอายุ 14 ปี เมื่อหลวงพี่วิเชียรสึกจากพระได้ชวนให้ผมไปทำงานที่ บริษัท ส.สำราญไทยแลนด์ ที่ซอยกิ่งเพชร ซึ่งผมเห็นเป็นโอกาสดีจึงตามเขาไป ได้ประสบการณ์ทำมีดทำช้อนอยู่สองปี แต่ก็ยังไม่มีเงินเดือนเลยตัดสินใจ
กลับบ้านที่ฉะเชิงเทรา 

“จุดเปลี่ยนที่ทำให้ได้ร้องเพลงอาชีพ เริ่มต้นขึ้นเมื่อครั้งมีงานประจำปีวัดหลวงพ่อพุทธโสธร ได้ร้องเพลงตามร้านอาหารที่เขามาเปิดร้านในงาน เริ่มแรกผมไปขอเขาร้องเพลงที่ร้านเกษตร ซึ่งมาออกร้านขายอาหาร คืนหนึ่งได้ประมาณ 70-80 บาท ที่นี่ผมเริ่มเป็นนักร้องที่ผู้คนชื่นชอบ ในคืนที่สามขณะที่ผมร้องเพลงอยู่นั้น คุณบุญยง สาคลียะ หัวหน้าวงดนตรีลูกตะวันออก ซึ่งมาเปิดร้านขายอาหารและแสดงดนตรีอยู่ด้วย ได้มายืนฟังผมร้องเพลงในแนวของครูคำรณ เห็นว่าเป็นนักร้องเสียงดี จึงเชิญให้ไปร้องที่ร้านเขาด้วยอีกร้านหนึ่ง คราวนี้ได้ร้อยกว่าบาทเลย 

“หลังจากงานวัดเลิก พี่ยงเขาก็ชวนให้อยู่กับเขาที่นั่น เพราะเขามีรถสองแถววิ่งเลียบแม่น้ำบางประกง ผมก็เลยมาเป็นเด็กรถกับเขา พอมีงานก็ไปร้องเพลงกับวง เลยมาเป็นนักร้องนำวงลูกตะวันออก แล้วพี่ยงให้ร้องแต่เพลงของครูคำรณ เพราะเสียงเหมือน ผมก็เลยร้องเพลงของครูคำรณตลอดมา โดยออกตระเวนแสดงดนตรีในภาคตะวันออก จนมีชื่อเสียงในชื่อ คำรณน้อย 

“ตอนฝึกร้องเพลงผมร้องตามวิทยุครับ และมาได้เรื่องจับจังหวะให้แม่น ตอนอยู่วงดนตรีลูกตะวันออก ฝึกแม้กระทั่งดนตรีขึ้นอินโทรแบบไหนต้องจำให้ได้อย่างแผ่นเลย นักดนตรีก็ต้องฝึกอย่างนั้น ผมจำจากทางวิทยุ ไม่มีใครสอน หลังจากนักดนตรีเรียนจบ ต่างคนต่างเข้ามาเรียนหนังสือในกรุงเทพ วงลูกตะวันออกก็ล้มไปโดยปริยาย แต่ก่อนที่จะล้มพวกเราได้เข้าร่วมการประกวดดนตรีที่สถานีโทรทัศน์ช่อง 5 สนามเป้า นักร้องของวงมีผมคนเดียว ต้องร้องเพลงชีวิตชาวนา 
ของอาจารย์คำรณ และวงดนตรีของเราได้อันดับที่ 13 จากที่เข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด 33 คณะ

โอกาสทองของชีวิต

หลังจากที่เข้าร่วมประกวดดนตรีกับวงลูกตะวันออก ประตูแห่งความสำเร็จก็ค่อยๆ แง้มออก โอกาสเข้ามาเพราะเสียงของเขาไปสะกิดใจคุณเตียง โอศิริ ผู้จัดการฝ่ายแผ่นเสียงของบริษัทกมลสุโกศล ที่ได้ชมการแข่งขันรายการนั้นด้วย ทำให้ได้อัดแผ่นเสียงครั้งแรกในชีวิต

“ระหว่างการแข่งขันลุงเตียงเห็นผมร้องเพลงชีวิตชาวนา ซึ่งเสียงละหม้ายคล้ายกับนักร้องต้นฉบับ (ครูคำรณ) ท่านก็ชื่นชอบ แต่ก็ไม่รู้จะตามหาผมที่ไหน เป็นช่วงเดียวกับที่ครูพยงค์ มุกดาได้แต่งเพลง ‘ของเขาไม่เอา ของเราไม่ให้’ 
ที่พูดถึงกรณีพิพาทเรื่องเขาพระวิหารไปเสนอขายให้ลุงเตียง ท่านจึงตามผมมาบันทึกแผ่นเสียง 

“ตอนนั้นหลังจากวงแตกผมกลับมาทำงานที่กิ่งเพชรอีกรอบ พอดีว่ามือกีตาร์ของวงลูกตะวันออก คุณชัชวาล โพธิ์ไพโรจน์ เขาไปเรียนวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพฯ อยู่ที่ทุ่งมหาเมฆ หลานลุงเตียงก็เรียนอยู่ด้วยกัน เมื่อหลานชายของลุงเตียงรู้ว่าพี่เขาสนิทกับผมก็วานให้เขาไปตามให้ เขาก็รับมาบริษัทกมลสุโกศล วันนั้นก็ได้เจอกับครูพยงค์ มุกดา และลุงเตียง โอศิริ ก็ได้ร้องเพลงให้ท่านฟังในห้องอัดเสียง แล้วครูพยงค์ได้แต่งเพลงให้เพิ่มอีกเพลงชื่อ ‘21 รำลึก’ ผมมีโอกาสได้บันทึกแผ่นเสียงครั้งแรกเมื่ออายุ 16 ปี 

“ตอนปล่อยสองเพลงนี้ออกไปยังไม่ได้รับความนิยมเท่าไหร่ พออัดเพลงเสร็จก็มาอยู่กับครูพยงค์มาตลอดที่ตึกบริษัทของแกแถวพรานนก อยู่มาตั้งแต่อายุ 16 จนถึง 20 ปี แต่ระหว่างนั้นตอนอายุ 17-18 ผมได้หนีครูพยงค์ไปอัดแผ่นเสียงให้กับอาจารย์พิพัฒน์ บริบูรณ์ อัดแผ่นเสียงกับครูพยงค์ได้ 150 บาท ต่อเพลง แต่อาจารย์พิพัฒน์ให้ 300 บาท ความละโมบบังเกิดขึ้น อัดไปอัดมาเพลงเริ่มเยอะ รวมแล้ว 14 เพลง ผมเลยไม่เอาแล้วเงิน ขอเป็นสร้อยทอง หนัก 20 บาท ที่อาจารย์เขาใส่อยู่ ซึ่งแกก็ยกให้

“หลายเพลงใน 14 เพลงนี้ ได้สร้างชื่อให้ชัยชนะ บุญนะโชติ กลายเป็นนักร้องที่คนรู้จัก เรียกว่ามาดังเพราะเพลงของอาจารย์พิพัฒน์ก็ว่าได้ เพลงแรกที่ดังก็คือ ‘บางกอกน้อย’ ต่อด้วยเพลง ‘แม่แตงร่มใบ’ ‘กระท่อมปลายนา’ ‘นาล่ม’ ดังตามกันมาเรื่อยๆ จนมาถึงเพลง ‘แฟนคนสวย’ ก็ความแตก เพราะพี่พิพัฒน์ทะเลาะกับภรรยา เลยเอาเทปชุดนี้ไปขายให้กับบริษัทเสียงไทยทั้งม้วน 

“ความแตกเพราะบริษัทเสียงไทยเอาไปเปิดในวิทยุจนโด่งดัง แล้วก็เป็นเรื่องจนได้เพราะผมยังสังกัดเป็นนักร้องของครูพยงค์ มุกดา จำได้ว่าวันนั้นไปร้องที่อำเภอศรีนครพิงค์ จังหวัดเชียงใหม่ พอตอนบ่ายคนก็แน่นเต็มวิกที่เราไปเปิดคอนเสิร์ตเลย เหตุเพราะคนจะมาฟังเพลง ‘บางกอกน้อย’ ที่ผมร้อง ครูพยงค์ก็ถามว่าเป็นเพลงของนักร้องคนไหน ผมเลยต้องสารภาพบอกว่าผมร้องเอง ไปร้องให้พี่พิพัฒน์ แต่ครูพยงค์ก็ไม่ว่าอะไร ตอนนั้นผมร้องเพลงในคอนเสิร์ตได้ครั้งละ 70 บาท ก็ใช้เพลงบางกอกน้อยหากิน ทำให้วงพยงค์ มุกดา มีงานเข้ามาตลอด อยู่กันมา 4 ปี ผมก็ลาออกจากวง

“ออกมารับจ้างร้องเพลงอยู่หลายวง เรียกว่าวงดนตรียุคนั้นไปมาเกือบหมด แล้วก็กลับเข้าไปหาครูพยงค์อีกรอบ กลับเข้าไปใหม่เขาให้ค่าตัว 300 บาท อยู่ได้พักหนึ่งก็ออกมาลองตั้งวงดนตรีของตัวเอง คล้ายๆ ทำเอาสนุกๆ ไม่ได้จริงจัง ครั้งหนึ่งตอนไปเล่นคอนเสิร์ตกับวงครูพยงค์ที่วัดสร้อยทอง ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ก็มาฝากตัวเป็นลูกศิษย์ ตอนนั้นเขาร้องเพลงของครูสมยศให้ฟัง แต่ผมไม่มีวงดนตรีของตัวเองเพราะยังอยู่กับวงครูพยงค์ เอาไปฝากครูพยงค์เขาก็ไม่รับ ผมก็เลย
ต้องรับไว้เป็นศิษย์เองให้อยู่กินที่บ้านผม ตั้งชื่อให้ด้วย จากนั้นก็เอาไวพจน์ไปฝากไว้กับวงบางกอกชะชะช่า 

“ผมเริ่มแต่งเพลงเอง มาตั้งแต่ช่วงที่อยู่กับครูพยงค์แล้วครับ เพลงแรกที่ได้บันทึกเสียงนี่ผมเขียนให้ไวพจน์เขาแหล่ ต่อด้วยเพลง ‘พระเจ้าเงินตรา’ ‘กรรมกรแท็กซี่’ ‘หนุ่มบ้านนา’ ฯลฯ ผมร้องเพลงมาทุกแนวแล้ว หมายถึงพวกเพลงพื้นบ้านของไทยนะ ละครเพลงก็เล่น ตลกก็เล่น เรียกได้ว่าผมร้องเพลงแหล่เป็นคนแรกของประเทศไทยเลยนะ
 
จากนักร้องลูกทุ่งสู่ศิลปินแห่งชาติ

ในปี พ.ศ.2541 ท่านได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงลูกทุ่ง) ซึ่งเป็นรางวัลที่สร้างความปลาบปลื้มยินดี เสมือนดุจน้ำทิพย์ชโลมใจ จากนั้นชื่อชั้นของท่านก็ขึ้นแท่นหนึ่งในนักร้องลูกทุ่งแถวหน้าของประวัติศาสตร์ลูกทุ่งไทย

“ชีวิตหลังจากได้เป็นศิลปินแห่งชาติ ก็เปลี่ยนไปพอสมควร ความเป็นอยู่ดีขึ้นตรงที่ได้รัฐบาลมาอุปถัมภ์ค้ำชู จำได้ว่าก่อนจะได้รางวัลศิลปินแห่งชาติผมได้รางวัลลูกทุ่งดีเด่นกึ่งศตวรรษมาก่อน ครั้งต่อมาได้ร้องเพลงสืบสานผลงานเพลงลูกทุ่ง เป็นตัวแทนของอาจารย์คำรณ แล้วก็มาได้ศิลปินแห่งชาติ พอได้ศิลปินแห่งชาติก็ได้เงินเดือนจากหลวงมาอุปถัมภ์ค้ำชู แต่ชีวิตก็ยังไม่ได้สบายหรือร่ำรวยอย่างนักร้องท่านอื่นๆ ถ้าถามว่าดีไหม ดีขึ้นเยอะครับ เริ่มซื้อบ้านเป็นของตัวเองได้ แต่ยังคงต้องร้องเพลงแหล่แลกเงินประทังชีวิตอยู่เช่นเดิม

“ตอนนี้งานร้องเพลงในนามชัยชนะ บุญนะโชติ แทบจะไม่มีแล้ว มันหายไปจากหลังจากมีคอมพิวเตอร์ วงดนตรีแสดงสดมันหายไป ไม่ว่าจะเครื่องเป่า กีตาร์ เบส กลอง เหลือแค่อิเล็กโทน หลังๆ อิเล็กโทนเลิกไป มีแค่คนมานั่งเปิดซีดี หลังจากนั้นกลายเป็นคอมพิวเตอร์พร้อมมีคาราโอเกะ นักร้องเริ่มหางานยากขึ้นเพราะตรงนี้ นักดนตรีก็ไม่มีงาน พอเปิดคาราโอเกะคนเขาจัดงานก็ร้องเพลงกันเอง นักดนตรีก็ตกงาน 

“เรื่องลิขสิทธิ์เพลงเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้นักร้องไม่กล้าเอาเพลงที่ตัวเองเคยร้องไว้จนโด่งดังไปร้อง จริงๆ ลิขสิทธิ์จะต้องอยู่กับนักแต่งเพลง นักร้องไม่เกี่ยว แต่ตอนนี้ลิขสิทธิ์เพลงส่วนใหญ่กลับไปอยู่ที่นายทุน อยู่กับบริษัทค่ายเพลง เพราะเขาซื้อสิทธ์ขาดไปตั้งแต่ตอนที่นักแต่งเพลงขายเพลงให้ สมัยก่อนไม่มีใครคาดคิดหรอกครับ ว่าต่อไปในอนาคตมันจะทำเงินให้เป็นกอบเป็นกำมากกว่าที่ขายไปเสียอีก ในส่วนเพลงของผมเป็นอีกกรณีหนึ่ง คือผมขอสิทธิ์กับนักแต่งเพลงมาหมดแล้ว อาจารย์พิพัฒน์ท่านอนุญาตให้ผมเอาไปใช้งานได้ตลอด”

ศิลปะและศิลปิน

ในฐานะที่เป็นศิลปินแห่งชาติ ในสาขาศิลปะการแสดง (นักร้องลูกทุ่ง) ท่านอยากฝากข้อคิดไว้ให้กับนักร้องลูกทุ่งรุ่นใหม่ๆ ได้ลองนำไปลองขบคิด เพราะเพลงลูกทุ่งถือเป็นศิลปะแขนงหนึ่งของไทยเช่นกัน 

“สมัยนี้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา โลกเราเจริญขึ้นทุกวัน การแสดงต่างๆ มันก็เจริญขึ้น เอาศิลปะต่างประเทศเข้ามาผสมบ้าง ที่ดีผมก็เห็นว่าดี แต่กลายเป็นศิลปะไทยเราก็เลยจะหลงลืมกันไปเยอะ ประเทศเราภาษาไทยแทบจะไม่มีใช้ ร้านค้าชื่อเป็นฝรั่งหมด แล้วใครกันจะเป็นผู้สั่งสอนเด็กให้รู้จักประเพณีไทย ผมว่าก็สื่อมวลชนนี่แหละ แต่สื่อเราก็ไม่ใช่อย่างนั้นอีก เพลงบางเพลงที่ไม่น่าเอาออกมาโปรโมตก็เอาออกมา หมิ่นเหม่เรื่องศีลธรรมอันดีงามก็ไม่สน สนใจแต่ยอดขาย มันเริ่มจะกลายเป็นเรื่องปกติเข้าไปทุกวัน ไม่ว่าจะเนื้อเพลงที่ยั่วยุหรือการแต่งตัวของนักร้องที่โป๊ขึ้นเรื่อยๆ

“นักร้องลูกทุ่งต้องมีอยู่คู่ประเทศไทยเรา มันกลายเป็นวัฒนธรรมไปแล้ว แต่ตอนนี้บางคนกลับเหยียดหยาม คิดว่าเชยไม่อยากสนับสนุน ผมไม่อยากให้แบ่งประเภท เพลงสตริง ลูกกรุง หรือลูกทุ่ง ก็เป็นเพลงเหมือนกัน คล้ายๆ ว่าถือยศถืออย่าง ศิลปะมันยังคงที่อยู่ แต่ว่าศิลปินมันเปลี่ยนไปตามยุคสมัย 

“จริงๆ ก็ไม่รู้จะแนะนำอะไร เดี๋ยวนี้เด็กรุ่นใหม่ๆ ไม่ค่อยจะฟังผู้ใหญ่บอกกล่าว เด็กสมัยใหม่ไม่เหมือนสมัยเก่า พูดยาก แต่น่าเป็นห่วง สมัยนี้ด้วยเทคโนโลยีทำให้การเป็นศิลปินนั้นง่ายขึ้น ไม่เหมือนรุ่นผมกว่าจะได้เป็นลำบากยากเย็น ต้องเริ่มจากแบกของแบกเครื่องดนตรี ฝากตัวเป็นลูกศิษย์กับครูบาอาจารย์ สมัยนี้บางทีเสียงไม่ดี แต่รูปหล่อหรือสวย ขอให้เก่งเต้นก็ดังได้ มันคนละสมัยกัน จะไปโทษเด็กก็ไม่ได้ เพราะผู้ใหญ่บางคนไม่สอน ถ้าผู้ใหญ่ไม่บอกเขา เขาจะมานับถือเราได้อย่างไร อยากให้ศิลปินรุ่นใหม่ๆ รู้จักเคารพผู้ใหญ่ มันเป็นประเพณีของไทยเรา” 

อมตะลูกทุ่ง กังวานไพร