เกาะยาวน้อย
ลมทะเลกวัดไกวระหว่างเรือลำเล็กค่อยๆ พาเรากลับไปยังแผ่นดินผืนเดิม แผ่นดินที่ตั้งอยู่กลางทะเลอันดามัน ไม่ห่างจากฝั่งแดนดินใหญ่ ทว่าโลกบนนั้นคล้ายการขับเคลื่อนไปอย่างมีทิศทางของตัวเอง
มันเป็นภาพที่เกิดขึ้นจริงอันแสนจีรังของเกาะแห่งหนึ่งป่าชายเลนแน่นขนัดที่กำลังฟื้นคืน ทะเลสีฟ้าอ่อนๆ ยามแดดจัดกระเจิงแสง แรงงานเล็กๆ ตามสวนยางพาราบนควนเขา กลุ่มชุมชนการท่องเที่ยวโฮมสเตย์ที่รวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง
ขณะถ้อยเปล่งบทละหมาดล่องลอยอยู่ในปลายวันฟ้ามืด เหลือเพียงดวงไฟเล็กๆ เป็นจุดๆ อยู่ในสวนยาง ทะเลเปลี่ยนผ่านจากใสสดสู่แสงสีสดสวย ผู้คนหลากหลายทั้งนักท่องเที่ยวและชาวบ้านหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวในค่ำคืนกลางทะเล มันราวกับภาพใบเก่าได้ฉายซ้ำ ขณะใครสักคนพาตัวเองมาสู่เกาะยาวน้อยอีกคราวครั้ง
ที่บ้านท่าเขา ป่าเกาะของกลุ่มเกาะหินปูนฝั่งทะเลกระบี่ค่อยๆ เผยรายละเอียดพร้อมกับการมาถึงของดวงอาทิตย์ตรงตีนฟ้า โดยที่ตรงท่าเรือท่าเขา ชาวบ้านมากมายต่างพกพาเสียงหัวเราะจ้อกแจ้กจอแจมารอเรือเมล์เที่ยวแรกที่จะข้ามสู่ฝั่งกระบี่แถบคลองท่าเลน กาแฟร้อนเจ้าเดียวตรงนั้นโชยควันฉุย และปาท่องโก๋หรือยาโก๊ยตัวกำลังดีก็กำลังร้อนนุ่มอยู่ในถาดสังกะสี
ถึงแม้จะเป็นที่ตั้งของชุมชนแรกๆ ของเกาะยาวน้อย แต่แถบตะวันออกของเกาะกลับเงียบเชียบ หากเทียบกับท่าเรือใหญ่อีกฟากเกาะอย่างท่าเรือมาเนาะห์ ที่เป็นจุดข้ามสู่ภูเก็ต
ฟ้าเปิดกระจ่างกว้างไกล เกาะหินปูนหลากรูปทรงในเขตของทะเลกระบี่เป็นภาพสวยๆ ให้หลายคนที่ไม่ใช่คนเกาะยาวตื่นเต้น แต่สำหรับพวกเขาภาพงานประมงดูเหมือนจะหล่อหลอมให้คนที่นี่ลืมตาขึ้นมาและบ่ายหัวเรือลงทะเลเลี้ยงชีวิตมาร่วมร้อยปี
ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรใต้ทะเล ทำให้เกาะใหญ่กลางน่านน้ำอันดามันที่ตั้งอยู่ระหว่างเส้นทางเดินเรือของหลายต่อหลายกลุ่มคน ทั้งพ่อค้า กลุ่มชนเร่ร่อนทางทะเล หรือแม้แต่ขบวนทัพกรำศึกสงคราม กลายเป็นเหมือนดินแดนที่ใครสักคนจะลงหลักปักหมุดความฝัน
ทั้งเกาะยาวน้อยและเกาะยาวใหญ่ต่างถูกขนาบอยู่ด้วยสามจังหวัดใหญ่อย่างกระบี่ พังงา และภูเก็ต หย่อมเกาะเล็กเกาะน้อยเรียงราย ซึ่งนอกจากจะส่งผลให้ปัญหาเรื่องลมและคลื่นลดน้อยลง ยังทำให้แผ่นดินกลางทะเลแห่งนี้กลายเป็นจุดคึกคักที่บรรดาเรือต่างๆ นิยมใช้เป็นเส้นทางวิ่งผ่านไปมา ใต้ผืนน้ำเต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์
วิถีประมงพื้นบ้านของคนเกาะยาวเคยสั่นคลอนลงจากพิษภัยของเรืออวนรุนและอวนลากที่เข้ามาจับสัตว์น้ำแบบล้างผลาญ จนชาวบ้านอยู่แทบไม่ได้ การต่อสู้ของชาวบ้านเกาะยาวน้อยและพื้นที่ใกล้เคียงเริ่มขึ้นในนาม “กลุ่มประมงพื้นบ้านเกาะยาว” เพื่อเรียกร้องให้เรืออวนรุนอวนลาก และเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่อีกจำนวนมากที่เข้ามา “กวาด” ปู ปลา กุ้ง หอยออกไปจากปากท้องของชาวบ้าน ให้ออกไปนอกน่านน้ำทำกินของคนเกาะยาว โดยรวมกลุ่มกันเรียกร้องให้สภาตำบลออกมติให้เกาะยาวน้อยปลอดจากการทำประมงที่ผิดกฎหมายและทำลายทรัพยากรชายฝั่ง โครงการ “การท่องเที่ยวเพื่อนิเวศและสังคม” (Responsible & Ecological Social Tour หรือ REST) เกิดขึ้นหลังจากนั้น โดยที่มีกลุ่มผู้นำชุมชนที่เป็นคนเกาะยาวเองเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการดำเนินการ
เกือบยี่สิบปีที่พวกเขาเลือก “ทาง” ใหม่กับชมรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยเกาะยาว ในการหันมาดูแลเกาะยาวน้อย หลังจากที่ทะเลล้อมรอบบ้านของคนเกาะยาวน้อยหนีไม่พ้นความเปลี่ยนแปลง ซึ่งก็คือจำนวนทรัพยากรสัตว์น้ำที่ลดลงเคียงคู่ไปกับความเป็นอยู่ ป่าโกงกางที่เคยเขียวครึ้มและตามโคลนเลนอันสมบูรณ์ไปด้วยแหล่งอาหารค่อยๆ จางหาย การหันมามองตัวเองใหม่โดยได้รับการสนับสนุนจากหลากหลายองค์กรภายนอกทำให้บ้านกลางทะเลของพวกเขาเหมือนจะมีทิศทางใหม่ให้เลือกก้าวเดิน
ใช่เพียงแค่ธรรมชาติแท้ๆ ของทะเล ฟ้าใส กลุ่มเกาะและวิวกระจ่างตาที่ผู้มาเยือนได้สัมผัสเกาะยาวน้อย แต่ความแน่นแฟ้นของการรวมกลุ่มสมาชิกจากหลากหลายบ้านรวมไปถึงรูปแบบการงานที่มีอยู่อย่างมากมาย ทั้งการเลี้ยงปลาในกระชัง สวนยางพารา การละเล่น ความคิดความเชื่ออันน่าศึกษา เหล่านั้นล้วนทำให้สิ่งที่พวกเขาเลือกที่จะ “เล่า”สู่แขกผู้มาเยือนนั้นเปี่ยมไปด้วยคุณค่าและการเรียนรู้ทำความเข้าใจในความแตกต่างที่ต้องเดินไปร่วมกันของคนแต่ละคนบนโลกใบนี้
ความคึกคักของคนเกาะยาวน้อยตกทอดอยู่ที่ท่าเรือมาเนาะห์ นอกจากจะเป็นจุดข้ามไปมาของคนเกาะยาวน้อยและเกาะยาวใหญ่แล้ว ยังเป็นจุดลงเรือไปยังภูเก็ตและพังงา ซึ่งเต็มไปด้วยภาพอันมีชีวิตชีวา หากเลาะลัดมาที่แถบบ้านท่าค่าย สีสันของผู้คนที่นี่ยิ่งสนุกสนานและน่าทำความรู้จักมากขึ้นเท่านั้น ชีวิตของคนบนฝั่งแตกต่างอยู่บ้างกับคนของทะเล ความเงียบเหงา งานหนักและคลื่นลม หล่อหลอมให้ชาวบ้านบนหลายคนเกาะรักการจบสิ้นของคืนวัน เมื่อเทียบหัวเรือกลับสู่ฝั่งและอาบน้ำอาบท่า หรือหมดสิ้นการงานจากเครื่องรีดน้ำยางบนควนเขา
นั่นหมายถึงความสุขในร้านน้ำชา วงสนทนา กระดานหมากรุกของผู้ชาย เฒ่าชรา หรือแม้แต่หนุ่มวัยรุ่น ส่วนผู้หญิงก็เตรียมหยิบฉวยตะกร้าขึ้นรถเครื่องคันเดิมมาที่ตลาดเพื่อซื้อหาข้าวของรวมถึงเสื้อผ้าสวยๆ ที่พวกเธอหาไม่ได้จากชีวิตประจำวัน เช่นนี้เองพวกเขาแต่ละคนจึงขมีขมันกับขั้นตอนสุดท้ายในการทำงานมากกว่าตอนถอนสมอเรือและขึ้นไปคัดท้ายในยามเช้า
ร้านชาเปรียบเสมือนมหรสพรื่นเริงเหนือสิ่งอื่นใดบนเกาะ ที่นี่เหล้ามีเฉพาะแขกในรีสอร์ทและบังกะโลเท่านั้น และไม่มีทางเล็ดลอดมาถึงคนพื้นเมืองได้ มุสลิมลูกทะเลทุกคนเคร่งครัดในกฎของศาสนาอย่างที่โลกทุกวันนี้น่าจะกล่าวคำขอบคุณ ไม่ใช่แค่คำขอบคุณต่อใครทั้งสิ้น แต่ขอบคุณในหนทางที่ใครสักคนเลือกศรัทธาและปฏิบัติโดยไม่ต้องตั้งเงื่อนไขว่าชีวิตจะต้องงดงามดีขึ้นหรือแร้นแค้นอย่างที่เป็นมา โลกบางใบอาจคล้ายไร้การเปลี่ยนแปลง
ใครสักคนรู้สึกเช่นนั้นเมื่อพาตัวเองมาสู่แผ่นดินกลางทะเลอันดามันแห่งหนึ่ง ที่ซึ่งพวกเขาพร้อมจะเรียกมันว่าบ้าน
บ้านที่เต็มไปด้วยความสมบูรณ์แห่งทรัพยากรทางทะเลเต็มไปด้วยความงดงามหลากหลายที่ไม่เพียงหล่อหลอมผู้คนข้างบนนั้นให้มีชีวิตยั่งยืน ทว่ายังอารีต่อใครสักคนที่เลือกข้ามน้ำข้ามทะเลขึ้นมาทำความรู้จัก
ใช่ ที่เกาะยาวน้อย โลกราวไร้การเปลี่ยนแปลง ถ้อยความเช่นนี้ไม่ได้หมายถึงหาดทราย ผืนน้ำ หรือดวงตะวันหากแต่กินความลึกลงไปถึงจิตใจของผู้คนที่หยัดยืนอยู่บนแผ่นดินกลางทะเลแห่งนั้น
How to get there ?
ไปเที่ยวเกาะยาวน้อย สามารถข้ามเรือได้ที่ท่าเรือบางโรง จังหวัดภูเก็ตจะสะดวกที่สุด มีเรือให้บริการวันละหลายรอบ ตั้งแต่เวลา 11.00, 12.00, 13.00 14.30 และ 17.00 น. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 30 นาที ค่าโดยสารประมาณคนละ 80 บาท ต่อเที่ยว
บนเกาะมีบังกะโล เกสต์เฮาส์หลายแห่ง ตลอดจนโรงแรมรีสอร์ตขนาด 5 - 7 ดาวให้บริการ หากชอบความเงียบสงบแนะนำให้พักแถบบ้านท่าเขาและบ้านป่าทราย หากสนใจเข้าพักในรูปแบบโฮมสเตย์กับชาวบ้านเกาะยาวน้อย ติดต่อชมรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยเกาะยาว โทรศัพท์ 0-7659-7244, 08-1968-0877 เว็บไซต์ www.kohyao-cbt.com หรือกลุ่มเกาะยาวโฮมสเตย์ โทรศัพท์ 0-7659-7428
เนื่องจากชาวบ้านเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์บนเกาะยาวน้อยนับถือศาสนาอิสลาม ดังนั้นควรเคารพในข้อปฏิบัติของเจ้าของบ้านอย่างเคร่งครัด เช่น ไม่นำเนื้อหมูและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขึ้นไปบนเกาะ