Local Alike
Local Alike เป็นอีกหนึ่งกิจการเพื่อสังคมที่ส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน มุ่งสร้างคุณค่าและเพิ่มมูลค่าให้การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติเติบโต พร้อมพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และสังคมอย่างยั่งยืน โดยพวกเขาเป็นตัวเชื่อมระหว่างนักท่องเที่ยวกับชุมชน และยังสอดคล้องกับสโลแกน “ท่องเที่ยววิถีไทย” แคมเปญล่าสุดของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยอีกด้วย
พวกเขาหาจุดร่วมที่ทุกฝ่ายพึงพอใจสูงสุดในเรื่องการท่องเที่ยว ช่วยพัฒนาวางระบบการจัดการและประชาสัมพันธ์ จนเกิดเป็นโปรแกรมท่องเที่ยวพร้อมที่พักอาศัยแบบโฮมสเตย์ มีไกด์นำเที่ยวท้องถิ่น จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมและแหล่งท่องเที่ยวสุด Unseen ตามแต่ศักยภาพและความพร้อมของชุมชนนั้นๆ โดยมีคุณไผ “สมศักดิ์ บุญคำ” ผู้ก่อตั้ง Local Alike เป็นผู้ขับเคลื่อนหลัก
“เราจับสามโมเดลหลักๆ เข้ามารวมไว้ด้วยกันจนเกิดเป็นการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน คือเน้นการช่วยเหลือชุมชน เป็นหมู่บ้านตามต่างจังหวัดที่เขาอยากทำการท่องเที่ยว เราจะเข้าไปร่วมเรียนรู้ว่าหมู่บ้านเขาเป็นยังไง รองรับนักท่องเที่ยวได้มากแค่ไหน การบริการที่ดีเป็นอย่างไร และความยั่งยืนของการท่องเที่ยวที่ทำอยู่มันควรจะเป็นยังไง
“เสร็จแล้วเราจะมีการวางแผน มี Business Units ให้เขา สำหรับชุมชนที่ยังไม่พร้อมเราก็ขายผ่าน Travel Agency บริษัททัวร์ของ Local Alike แต่ถ้าชุมชนไหนพร้อมแล้วเราก็ขึ้นเว็บไซต์ localalike.com ได้เลย เหมือนเป็น Market Place ที่นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาดูโปรไฟล์ของหมู่บ้านแต่ละหมู่บ้านได้ อยากไปเที่ยวหมู่บ้านไหนก็จองได้เลย แล้วให้ชาวบ้านจัดการกันเอง”
สิ่งหนึ่งที่พวกเขาเน้นคือการขยายผลกระทบทางสังคม ซึ่งรายได้ทั้งหมดจากการท่องเที่ยวของแต่ละหมู่บ้านจะนำมาพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้วยตัวของชาวบ้านเอง ไม่ใช่แก้ปัญหาที่ปลายเหตุ อย่างเรื่องปัญหาขยะ หรือสนามเด็กเล่น ทั้งนี้พวกเขามองว่าเมืองไทยสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเยอะมาก แต่กลับไปหาชุมชนที่เป็นเจ้าของทรัพยากรน้อยมาก เพราะรายได้เหล่านั้นดันไหลไปให้นายทุน นักธุรกิจ ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่เจ้าของเป็นชาวต่างชาติทั้งนั้น
“Local Alike เริ่มมาจากผมทำงานมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงมาก่อน แล้วได้ทำโปรเจ็กต์ที่ได้ช่วยเหลือชาวบ้าน ในเรื่องของการพัฒนาแผนธุรกิจโฮมสเตย์ ผมก็ได้ศึกษาเรื่องการท่องเที่ยวของเมืองไทยด้วย เลยรู้สึกว่าอยากออกมาทำ แต่สุดท้าย
ทำมาแล้วไม่มีช่องทางการขายก็เท่านั้น บริษัททัวร์ไม่สนใจอยู่ดี เพราะมันยังไม่เป็นเทรนด์ ผมเลยอยากทำให้มันออกมาเป็นเทรนด์ ทำให้น่าสนใจ จึงเริ่มทำออกมาเป็น Facebook แล้วพอคุณสุรัชนา ภควลีธร มาเห็นก็เข้ามาช่วยอีกแรง”
จากวันนั้นจนถึงวันนี้พวกเขาหล่อเลี้ยงบริษัทมาได้ 2 ปี โดยในปีแรกพวกเขาเน้นการทำความเข้าใจ ใช้เวลาในการศึกษาระบบการทำงานกับหมู่บ้าน สร้างความเข้าใจและความเชื่อถือระหว่างกัน เข้าไปคลุกคลีกับชุมชนให้ได้มากที่สุด บางชุมชนไม่เคยทำมาก่อน ก็ใช้เวลาเป็นปี แต่บางชุมชนที่พร้อมแล้ว ใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือนก็เข้าที่เข้าทาง ทุกอย่างขึ้นอยู่กับระบบการจัดการที่พวกเขาเข้าไปช่วยเหลือ
“เราใส่คอนเซ็ปต์ Carring Capacity ว่าชุมชนนี้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้มากเท่าไหร่ ไม่อยากให้นักท่องเที่ยวมากเกินไป เราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก แล้วเขาต้องเข้าใจว่านักท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือสร้างรายได้แหล่งที่สอง ถ้าเขาขาดนักท่องเที่ยวไปสองสามเดือน ก็ไม่กระทบต่อรายได้ของเขา ให้ชาวบ้านสามารถปลูกกาแฟ ดำนา ออกเรือหาปลาได้ตามปกติ เหมือนเป็นรายได้เสริม และเราต้องบอกให้นักท่องเที่ยวทราบด้วยว่าการท่องเที่ยวแบบนี้อย่าคาดหวังมาก เพราะคุณจะได้เห็นในสิ่งที่ชาวบ้านเขาเป็น เข้าไปเรียนรู้สังคมและวัฒนธรรม ซึ่งส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวก็เข้าใจดีครับ
“แรกๆ เราล้มลุกคลุกคลานเหมือนธุรกิจอื่นนะ แต่หนักหน่อยตรงที่ต้องไปโน้มน้าวให้คนเชื่อ ว่าชาวบ้านมีความสามารถในการจัดการตัวเอง แม้จะขายให้บริษัททัวร์หลายที่แล้วเขาไม่สนใจแต่เราก็ไม่เคยท้อ ปัญหาส่วนใหญ่มักเป็นเรื่อง
การทำงานของชาวบ้าน ซึ่งเราพยายามปรับจูนหลายๆ อย่าง ต้องใช้เวลาพอสมควร ให้ชาวบ้านเป็นคนแก้ปัญหาเอง ถึงจะเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน”
อนาคตพวกเขาตั้งเป้าระยะยาวว่าอยากให้ Local Alike เป็นผู้นำองค์กรที่ดำเนินเรื่องการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนในประเทศและภูมิภาค ส่วนเป้าหมายระยะสั้นคือขยายจำนวนชุมชนจาก 15 ชุมชน ไปสู่ 30 ชุมชน ทั่วประเทศและทุกภาคภายในปีนี้ พร้อมขยับขยายบริษัทให้ยิ่งใหญ่กว่าเดิม เชื่อได้เลยว่าเป้าหมายที่พวกเขาตั้งไว้ไม่ไกลเกินเอื้อมแน่นอน
Know Them
ทีมงานจากวันแรกที่มีเพียง 2 คน ดำเนินการเองทั้งหมด 8 ชุมชน เน้นภาคปฏิบัติ ลงสนามจริง มาปีนี้ขยับขยายทีมงานเพิ่มขึ้นเป็น 11 คน แถมวางเป้าขยายจำนวนชุมชนอีก 30 ชุมชน
กลุ่มลูกค้า Local Alike มี 2 กลุ่ม คือ B2B (Business to Business) เป็นกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ อย่าง ปตท. หรือ SCG จัดทริปให้พนักงานได้สัมผัสวิถีชีวิตของคนในชุมชน และ B2C (Business to Customer) เป็นกลุ่มลูกค้ารายเล็ก ซึ่งชาวบ้านเป็นผู้ดูแลและจัดการเองทั้งหมด
ติดตามต่อได้ที่ www.localalike.com หรือ www.facebook.com/LocalAlike