ญารินดา บุนนาค

ญารินดา บุนนาค

จากสาวผมสั้นสีช็อกกิ้งพิ้งค์บาดตา ผู้มากับบทเพลงติดหูในสมัยนั้นคือ “แค่ได้คิดถึง” เธออยู่ในวงการเพลงในระยะเวลาหนึ่งก่อนจะไปศึกษาต่อคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ประเทศสหรัฐอเมริกา หลายปีผ่านไปเธอกลับมาพร้อมกับบทบาทการเป็นอาจารย์ในหลักสูตรนานาชาติ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

ด้านงานเพลงเธอย้ายมาอยู่กับค่าย Smallroom พร้อมกับมีผลงานการแสดงภาพยนตร์ให้พอหายคิดถึง ด้านชีวิตส่วนตัวของเธอได้แต่งงานกับวิล พาเธร่า ชาวอเมริกัน และมีลูกชายวัย 7 เดือน ที่กำลังน่ารัก ทำให้งานหลายอย่างที่เธอทำต้องพักไว้ก่อน  

“ก่อนที่มีลูกเราสามารถวางแผนชีวิตดูแลจัดการเวลาของเราได้อย่างชัดเจน ว่าในหนึ่งเดือนหรือหนึ่งปีจะมีงานอะไรออกมา แต่เมื่อมีลูกแล้วเงื่อนไขของเวลาก็กลืนงานแทบทุกอย่าง มันโดนย้ายความสนใจไปอยู่ที่เขา ความสำคัญของเขาจึงต้องเป็นอันดับหนึ่ง

“แต่การมีลูกหลายคนอาจกังวลว่าแรงบัลดาลใจในการทำเพลง หรืองานในวงการหายไปหรือเปล่า ไม่ได้หายไปหรอกค่ะ มันเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ เพียงแต่ติดแค่เรื่องของเวลาเท่านั้น แล้วการมีลูกเหมือนเป็นประสบการณ์ใหม่ของชีวิตในการเลี้ยงดูแลเด็กตัวเล็กๆ คนหนึ่งค่ะ” 

ถึงแม้เธอจะพักงานของตัวเองไปหลายส่วน แต่สิ่งที่เธอยังทำอยู่คือการเป็นอาจารย์สอนหนังสือ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยประสบการณ์ของเธอที่ไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ เมื่อเปรียบเทียบกันก็สัมผัสได้ว่า ลูกศิษย์ที่สอนนั้นส่วนใหญ่มีพัฒนาการที่ดีมาก

“สมัยนี้มหาวิทยาลัยวางหลักสูตรไว้แข็งแรง ตรงนี้เองทำให้นักศึกษาที่เข้ามาเรียนได้จึงมีความเข้มข้น แน่นอนว่าเมื่อเราสอนจะมีทั้งเด็กที่ขี้เกียจและขยัน แต่ส่วนใหญ่จะพบว่าเด็กเก่งขึ้นทุกปี พอเขามีความตั้งใจมากๆ ก็อาจจะนำหน้าหรือสู้กับพวกนักศึกษาที่เมืองนอกได้ด้วยซ้ำ

“ตรงนี้มันสะท้อนถึงพัฒนาการด้านสถาปนิกในประเทศได้ด้วยนะ เพราะเมื่อคนเก่งจบออกมาเขาจะหันมาเปิดบริษัทเล็กๆ ซึ่งบริษัทเหล่านี้แหละที่ทำงานออกมาได้อย่างน่าสนใจ จากที่เมื่อก่อนเราอาจรู้จักแต่บริษัทใหญ่ๆ เพียงไม่กี่บริษัท แต่ตอนนี้บริษัทเล็กๆ แสดงศักยภาพออกมาเยอะขึ้น

“เมื่อก่อนหากใครชอบงานด้านสถาปัตย์ของเมืองนอกก็มักใช้วิธีก๊อปปี้งานมาทำ แต่ด้วยสภาพดินฟ้าอากาศของไทยมันไม่เหมาะ อาจเพราะอากาศที่ร้อนมาก พอทำออกมาก็ไม่ประสบความสำเร็จ วัสดุเสียหายไปบ้าง แต่เดี๋ยวนี้บริษัทสถาปนิกรุ่นใหม่ ให้ความสนใจกับสภาพภูมิประเทศ มีการประยุกต์วัสดุในท้องถิ่นเข้ามาใช้ เราเห็นได้จากพวกเขาไปคว้ารางวัลในต่างประเทศมามากมาย”

จากการที่เธอเป็นศิลปิน และทำงานเป็นสถาปนิกจากในบริษัทใหญ่มาก่อน ได้พบกับการทำงานจริงในหลายโปรเจ็กต์ ตั้งแต่การพบปะลูกค้าเขียนแบบ ไปสถานที่ก่อสร้าง เรียกว่าตั้งแต่ต้นจนจบงาน จึงมีประสบการณ์โดยตรงทำให้มีมุมมองในวงการสถาปนิกได้อย่างน่าสนใจ

“งานสถาปนิกมันไม่เหมือนเพลงหรือหนังที่ถ่ายทอดประสบการณ์แชร์ผ่านได้เหมือนยูทูป ถึงแม้เทคโนโลยีมันจะพัฒนาไปถึงไหน แต่งานสถาปนิกมันยังเป็นงานที่ช้าและหนักอยู่ อย่างตึกมันไม่สามารถยกไปไหนได้ แม้ว่าระยะเวลาการก่อสร้างมันเร็วขึ้น แต่ความจริงมันก็ยังช้าอยู่ดีเมื่อเทียบกับศิลปะแขนงอื่นๆ 

“ในงานเพลงเทคโนโลยียังสามารถกระจายได้อย่างรวดเร็ว แล้วมันสามารถเปลี่ยนผู้บริโภคได้อย่างสิ้นเชิง คือเดี๋ยวนี้คนไม่ต้องซื้อซีดีและต่อไปอาจไม่ต้องดาวน์โหลดเพลงมาฟัง เพราะสามารถเปิดฟังจากอินเตอร์เน็ตได้เลย หรือใครที่อยากทำเพลงก็อาจเป็นศิลปินคนเดียวทำลงยูทูปได้เลย คือมันแทบไม่ต้องพึ่งค่ายเพลงแล้ว 

“ในทางกลับกันงานสถาปัตยกรรมผ่านไปเท่าไหร่ ก็ยังเหมือนเดิม สมัยก่อนเริ่มจากการเขียนแบบด้วยดินสอ ก็เปลี่ยนมาเป็นใช้ซอฟต์แวร์ช่วย เมื่อเขียนแบบเสร็จก็เอาไปให้ผู้รับเหมา แล้วก็ไปซื้อวัสดุอุปกรณ์มาสร้าง คือมันไม่ได้เปลี่ยนแปลงนัก ท้ายที่สุดแล้วตัวผลงาน ก็ยังเป็นอิฐเป็นปูนอยู่ดี แล้วคนบริโภคงานด้านนี้นอกจากจะดูจากภาพถ่ายแล้วต้องเข้าไปสัมผัสจริงๆ ภายในตึก มันจึงต่างจากเพลงหรือหนัง ที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง 

“แต่ถึงอย่างไรเมื่อเทียบกับงานหลายด้านที่เคยทำมาตัวเองจะถนัดทางด้านสถาปัตย์มากที่สุด เพราะเป็นสิ่งที่เรียนมา ส่วนงานด้านอื่นๆ เราทำจากประสบการณ์ ความสามารถในเชิงทฤษฎีประวัติศาสตร์ หรือความคล่องในการเล่นเครื่องดนตรีและการแสดง จึงสู้ไม่ได้กับวิชาที่เราเรียนด้านสถาปัตย์มาในมหาวิทยาลัย” 

Know Her 

ในปี พ.ศ.2552 อัลบั้ม Schools ของเธอได้รับรางวัลศิลปินหญิงเดี่ยวยอดเยี่ยม จาก คมชัดลึก อวอร์ด ครั้งที่ 7

เธอเคยแสดงภาพยนตร์ 2 เรื่อง ความจำสั้น แต่รักฉันยาว (2552) และอินทรีแดง (2553) 

หลังจากมีลูก เธอได้ร่วมมือกับยูนิเซฟเปิดโครงการ “Best Start - หกปีแรกของชีวิต คือหกปีทองของเด็ก” เพื่อจุดประกายให้พ่อแม่และสาธารณชนเห็นความสำคัญของการพัฒนาเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึงหกปี

 

ศิลปินผู้สร้างศิลปะ