ปฤษฐ ชุมสาย ณ อยุธยา

ปฤษฐ ชุมสาย ณ อยุธยา

คุณเหวิน “ปฤษฐ ชุมสาย ณ อยุธยา” ลูกไม้ใต้ต้นของ ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (สถาปัตยกรรมร่วมสมัย) พ.ศ.2541 ด้วยเหตุนี้เองทำให้เขาซึมซับความชอบด้านศิลปะการออกแบบและชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก เป็นที่มาให้เขาเลือกเรียน สถาปัตยกรรมที่ UCL (University College London) จนจบปริญญาตรีและโท แถมด้วยการเรียนต่อปริญญาโท อีก 1 ใบ ที่ มหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ 

เมื่อมีความรู้ และประสบการณ์ที่มากพอเขาจึงเปิดบริษัท DYMAXION STUDIO จำกัด ซึ่งรับงานด้านสถาปนิก โดยมีผลงานสำคัญฝากเอาไว้อาทิ โครงการออกแบบ “Institute for Language and Culture Studies” ซึ่งจะกลายเป็นมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่แห่งแรกของภูฎาน ออกแบบโรงพยาบาลบางขุนเทียน ของกทม. ที่กำลังดำเนินการในไม่ช้า

“แม้เราจะเป็นบริษัทเล็กๆ ที่มีกันอยู่ไม่กี่คน แต่ทุกคนต้องมีความสามารถรอบด้านครบเครื่อง ผมคิดว่าตอนนี้บริษัทใหญ่อาจไม่ได้เปรียบมากเหมือนในอดีต อาจเพราะขาดความคล่องตัว แต่จะได้เปรียบตรงที่มีชื่อเสียงสามารถเรียกลูกค้าเข้ามาได้ แต่สมัยนี้ด้วยเทคโนโลยีของซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ คนคนเดียวสามารถทำได้เกือบหมดทุกอย่างแล้ว ทำให้แทบไม่ต่างกันมากนัก

“ส่วนโครงการที่ผมเพิ่งทำเสร็จไปหมาดๆ ก็เป็นคอนโดที่ตรงซอยทองหล่อ 25 กำลังเปิดเป็นเซอร์วิสอพาร์ตเม้นต์ แล้วก็มีงานออกแบบคอมมูนิตี้มอลล์ ย่านท่าช้าง ใกล้กับมหาวิทยาลัยศิลปากรซึ่งจะเริ่มก่อสร้างในปีนี้ นอกจากนี้ทางบริษัทก็ช่วยงานของคุณพ่อทำอาร์ตมิวเซียม ด้วยครับ

“แต่กว่าจะทำงานสำเร็จได้ต้องผ่านอะไรมาเยอะ มันไม่สวยหรูเหมือนตอนเสร็จแล้ว เช่นเริ่มจากการต้องคุยรายละเอียดกับลูกค้า ออกไปดูสถานที่จริง กลับไปออกแบบ นำเสนองาน ซึ่งกระบวนการนี้กว่าจะผ่านก็ใช้เวลานานพอสมควร จากนั้นต้องไปคุยกับกลุ่มผู้รับเหมาที่ก่อสร้าง ซึ่งแน่นอนว่าปัญหามันเยอะมาก ทำให้บางงานใช้เวลาหลายปีทำให้บางคนอาจท้อใจได้

“สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ไม่ว่าเราจะออกแบบอย่างสุดความสามารถขนาดไหน แต่ถ้าลูกค้าบอกไม่ไหวงบหมด ทุกอย่างก็แทบจบ ต้องกลับมาแก้แบบตามงบประมาณที่มีจำกัด คนส่วนใหญ่ที่นำงานมาให้สถาปนิกทำมักจะเอาของดีที่สุดแต่ด้วยงบที่ถูกที่สุด” 

ส่วนงานที่ยากที่สุดของเขาไม่ใช่โปรเจ็กต์พันล้านใหญ่โต แต่เป็นงานการออกแบบบ้านคนปกติ เขาให้เหตุผลว่า เพราะบ้านหลังหนึ่งลูกค้าต้องอยู่ไปทั้งชีวิต ฉะนั้นเรื่องของไลฟ์สไตล์แต่ละคนจึงไม่เหมือนกัน เช่น บางคนชอบนอนพื้น บางคนชอบนอนเตียง บางคนอยากได้ห้องครัวติดห้องนั่งเล่น อาจไม่ชอบสิ่งที่สถาปนิกเลือกมาให้ จึงเป็นงานที่ท้าทายมากสำหรับเขา

“เราต้องยอมลูกค้าบ้าง เพราะคนที่อาศัยอยู่เป็นเขาไม่ใช่เรา หากเราใส่ความเป็นตัวเองลงไปร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เขาอยู่แล้วไม่มีความสุขมันก็ไม่มีประโยชน์ หน้าที่เราเป็นเพียงแค่คนออกแบบจากนั้นก็ไป งานสถาปนิกจึงแทบไม่มีอะไรออกมาจากเราทั้งหมด แต่เราต้องจบงานให้ได้

“สไตล์งานของผมเน้นเรื่องของฟังก์ชั่น และความเหมาะสมในหลายๆ อย่าง แต่ละโปรเจ็กต์จึงไม่เหมือนกัน ผมไม่ชอบอะไรที่ดีไซน์ครั้งเดียว แล้วก๊อบปี้เอาไปตั้งที่นั่นที่นี่แล้วเหมือนกันหมด งานดีไซน์มันต้องมองว่าอะไรเหมาะสมตรงไหน ลูกค้า หรือคนที่จะมาใช้งานเป็นใคร องค์ประกอบของธรรมชาติแดดลมเป็นยังไง มันมีรายละเอียดปลีกย่อยเยอะมาก”

ในเรื่องของการออกแบบสิ่งก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่ หรือมีสไตล์เฉพาะตัว เมื่อทำเสร็จแล้วมักกลายเป็นจุดที่น่าสนใจ ให้ผู้คนเข้ามาเยี่ยมชม ซึ่งสถานที่ชื่อดังเหล่านี้กระจายตัวอยู่ตามประเทศหรือเมืองใหญ่ทั่วโลก ถือว่าการสร้างสิ่งเหล่านี้คืองานที่ช่วยประชาสัมพันธ์ประเทศของตัวเองให้โด่งดังอีกทางหนึ่ง

“คุณลองสังเกตสิว่า ถ้าคนไปเที่ยวต่างประเทศเขาจะไปดูอะไร เขาก็ไปดูสิ่งก่อสร้างทั้งนั้น ไม่ว่าจะถูกก่อสร้างในอดีต หรือเป็นของปัจจุบัน อย่างพีระมิด พระราชวัง หรือตึกดีไซน์สวยงาม ของเหล่านี้ถ้ามีความโดดเด่น คนก็มาเที่ยวชม
สร้างมูลค่ามหาศาลแล้วก็สร้างชื่อเสียงให้กับทางเจ้าของด้วย

“ในด้านสถาปัตย์ของไทยในตอนนี้ที่ผมคิดว่าที่มาแรงและพอสู้ต่างประเทศได้ ก็เรื่องของการออกแบบรีสอร์ต และโรงแรมนี่แหละ คือผู้บริหารในกลุ่มนี้ เขายอมที่จะจ่ายเงินเพื่อทำให้ดีที่สุด ซึ่งมันคือประเด็นนึงที่ทำให้งานออกมาดี เพราะมีการเลือกใช้วัสดุที่ดี มีดีไซน์ที่แตกต่างจากการออกแบบปกติที่มีงบประมาณจำกัด 

“ส่วนบ้าน คอนโด หรืออาคารทั้งหลายก็เหมือนกัน หากมีสถาปนิกฝีมือดีมาช่วยดีไซน์ ด้วยงบประมาณที่เพียงพอ แล้วลูกค้ายอมให้สถาปนิกทำงานเต็มที่ ผมว่าจะสร้างงานสวยๆ ให้เกิดขึ้นในบ้านเราได้อีกเยอะเลยครับ 

Know Him

ในอีกบทบาทหนึ่งคุณเหวินคือเป็นอาจารย์สอนนักศึกษา คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

นอกจากบริษัทด้านสถาปนิกแล้วเขายังมีบริษัทชื่อ U-DOX International (Thailand) จำกัด ที่ทำงานด้าน Event

นอกจากงานสถาปนิกแล้วในอดีตเขาเคยเป็นดีเจอยู่ที่คลื่น Fat Radio 104.5 อีกด้วย

สถาปนิกในสายเลือด