ภาษาจีนและลีกวนยู - หลี่กวังย่าว
ลีกวนยู - หลี่กวังย่าว (Lee Kuan Yew 李光耀 1923/9/16 - 2015/3/23) เกิดในครอบครัวชาวจีนฮากกาที่พูดภาษาอังกฤษและภาษามาเลย์ในบ้านปู่ของเขา หลี่หวินหลง (李雲龍 Lee Hoon Leong) ให้เขาเข้าศึกษาระบบภาษาอังกฤษ แต่ช่วงอายุไม่เต็ม 6 ขวบ ยายก็ส่งไปเรียนภาษาจีนในโรงเรียนแบบเก่า ซึ่งเขาไม่ชอบวิธีการสอนแบบจีนโบราณ ประกอบกับฟังสำเนียงฮกเกี้ยนของครูไม่เข้าใจ และไม่คุ้นกับการเขียนหนังสือด้วยพู่กัน จึงเรียนได้ไม่ดี ออกจะมีอาการต่อต้านภาษาจีนในช่วงวัยเด็กด้วยซ้ำ
ชื่อ "หลี่กวังย่าว" ไม่ได้เป็นชื่อที่พ่อแม่ตั้ง ทว่าเป็นชื่อที่พ่อแม่เลือกจากหลายๆ ชื่อที่พ่อขอให้ "ผู้รู้" ช่วยตั้งให้ ถ้าตรวจสอบเอกสารสำคัญ เช่น สูติบัตร และปริญญาบัตรของเขาจะพบว่าเดิมเขามีชื่อเป็นทางการว่า Lee Harry Guan Yu แต่ต่อมา ในปี ค.ศ.1950 ในการสอบเนติบัณฑิตที่สิงคโปร์ เขาได้ "ย้าย" เอาชื่อฝรั่งไปไว้ข้างหลังชื่อภาษาจีน ตั้งแต่ปี ค.ศ.1950 เป็นต้นมา เขาก็ใช้ชื่อ หลีกวังย่าว (李光耀)
เขาตั้งชื่อลูกๆ ของเขาด้วยภาษาจีน โดยไม่มีชื่อฝรั่ง มาถึงรุ่นหลานคนในครอบครัวก็ยังไม่ใช้ชื่อฝรั่ง หลี่กวังย่าวเข้าเรียนมัธยมต้นที่โรงเรียนมัธยมแรฟเฟิลส์และวิทยาลัยแรฟเฟิลส์ สมัยญี่ปุ่นบุกเอเชียอาคเนย์ หลี่กวังย่าวต้องหยุดเรียนในโรงเรียนเนื่องจากญี่ปุ่นเข้ายึดครองสิงคโปร์ ในปี ค.ศ.1942 เขาเริ่มศึกษาภาษาจีนและภาษาญี่ปุ่น เป็นนักเรียนรุ่นแรกที่สอบด้วยภาษาญี่ปุ่น
ช่วงปี ค.ศ.1943-1945 ทำหน้าที่พลสื่อสารถอดรหัสสัญญาณของญี่ปุ่น ปี ค.ศ.1946 เขาไปศึกษาต่อที่ London School of Economics และรับอิทธิพลแนวความคิดสังคมนิยม เขาเริ่มมีแนวความคิดต่อต้านการปกครองแบบอาณานิคมของอังกฤษเช่นกัน ในปี ค.ศ. 1947 เขาย้ายไปเรียนนิติศาสตร์ที่ Fitzwilliam College Cambridge University ปี ค.ศ.1949 สำเร็จการศึกษาเกียรตินิยม ช่วงอยู่อังกฤษได้เข้าร่วมกิจกรรมกับพรรคแรงงานอังกฤษด้วย
ระหว่างเรียนหนังสืออยู่ในอังกฤษ หลี่กวังย่าวเริ่มรับรู้ถึงความตกต่ำทางวัฒนธรรมในหมู่คนจีนแถบคาบสมุทรอินเดีย พื้นฐานภาษาจีนแต่เดิมของเขานั้นอ่อนด้อยมาก
หลังสำเร็จการศึกษา เมื่อกลับประเทศแล้วเขาได้มีส่วนในการตั้งพรรค People's Action Party ในปี ค.ศ.1954ดำรงค์ตำแหน่งเลขาธิการพรรค และลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎร แต่ถูกคู่แข่งทางการเมืองท้าทายว่าเขารู้ภาษาจีนเพียงแค่พูดได้ แต่อ่านเขียนไม่เป็น คุณสมบัติไม่พอที่จะมาเป็นตัวแทนคนจีนได้ เพื่อให้ได้คะแนนเสียงจากชาวจีนเขาจึงเริ่มเรียนภาษาจีนใหม่อีกครั้ง และในการเลือกตั้งปีต่อมาเขาก็ได้เป็น ส.ส.วาระแรกที่เขตตันยงปาเกอร์ ต่อมาใน ค.ศ.1961 ตนกูอับดุลเราะห์มานได้เชื้อเชิญสิงคโปร์เข้าร่วมในสหพันธรัฐมาลายา ในปี ค.ศ. 1963 สหพันธรัฐมาลายาชูนโยบายภูมิบุตร ให้สิทธิพิเศษกับคนเชื้อสายมาเลย์เหนือชนชาติอื่นๆ คนจีนและคนอินเดียจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ คนจีนออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน
นำไปสู่เหตุการณ์จลาจลเชื้อชาติ ในวันที่ 7 สิงหาคม ค.ศ.1965 สิงคโปร์ประกาศแยกตัวออกจากสหพันธ์รัฐ ตั้งเป็นประเทศสิงคโปร์อย่างเป็นทางการ
เกี่ยวกับการเรียนภาษาจีน หลี่กวังย่าวเล่าไว้ในหนังสือ《我一生的挑战——新加坡双语之路》"ความท้าทายในชีวิตของผม - บนเส้นทางทวิภาษาของสิงคโปร์" ว่า "ผมใช้เวลาช่วงกินมื้อเที่ยงเรียนภาษาจีน มีคนหนุ่มคนหนึ่งในสาขาพรรคเรามาสอนภาษาจีนที่สำนักงานของผมวันละ 1 ชั่วโมง ต่อมาผมแบ่งเวลาวันละ 2 ชั่วโมงเพื่อการศึกษาภาษาจีนทุกๆ วัน"
นอกจากจะเรียนภาษาจีนจากบทเรียนตามแบบแผนแล้ว เขายังเริ่มศึกษาค้นคว้าเรื่องสำเนียงท้องถิ่น สุภาษิต คำคม และคำแสลงต่างๆ 4 ปีต่อมาเขาก็สามารถพูดปาฐกถาด้วยภาษาจีนแบบ "ด้นสด" ได้คล่องแคล่ว คมคาย
แม้ในขณะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว หลี่กวังย่าวก็ยังไม่ละทิ้งการเรียนรู้ภาษาจีนเพิ่มเติม เขาจะใช้เวลาตั้งแต่ 16.00 - 19.00 น. เรียนภาษาจีนกับอาจารย์โจวไห่ชิงและนักวิชาการอีกหลายคนจากวิทยาลัยขงจื๊อสังกัดมหาวิทยาลัยหนานหยาง คณะครูผู้สอนให้คะแนนความตั้งใจเรียนของลูกศิษย์ประธานานธิบดีด้วยคะแนนสูง เขาทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อให้การศึกษาภาษาจีนในสิงคโปร์ ลงรากปักฐานอย่างมั่นคงแข็งแรง ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 70 มีการรณรงค์เกี่ยวกับภาษาจีนอย่างสม่ำเสมอ ค.ศ.1983 รณรงค์ "คนจีนพูดภาษาจีน ถูกเหตุถูกผลถูกอารมณ์", ค.ศ.2000 รณรงค์ "พูดภาษาจีน? ไม่มีปัญหา", ค.ศ.2006 รณรงค์ "ภาษาจีนเท่ๆ"
ในการให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่งเขายอมรับถึงวิธีในการเรียนการสอนภาษาจีนในสิงคโปร์ว่าเป็นเรื่องผิดพลาดอย่างมากที่ใช้รูปแบบเก่า สำหรับเรื่องภาษาจีนแล้วในประเทศมาเลเซียมีโรงเรียนจีนที่แข็งแกร่งกว่าสิงคโปร์ซึ่งเคยวิจารณ์การศึกษาภาษาจีนในสิงคโปร์ว่า "มีแต่ชื่อ" และในความเป็นจริงก็มีนักเรียนสิงคโปร์จำนวนไม่น้อยที่ปฏิเสธการเรียนภาษาจีนเช่นกัน