Vitiligo

Vitiligo

ไมเคิล แจ็คสัน ทิ้งบทเพลงและท่าเต้นไว้ให้เป็นตำนานของโลกที่ไม่มีใครกล้าลืม เพราะพอพูดถึงชื่อของเขาสิ่งที่ลอยมาก่อนอันดับแรกๆ เลยก็คือ ท่าเต้นและวิธีร้องของเขา ลำดับต่อมาก็คือปริศนาสีผิวของเขาที่ว่าทำไมคนผิวสีอย่างเขาสุดท้ายจึงกลายมาเป็นคนผิวขาวได้ถึงขนาดนั้น

 

เหตุผลง่ายๆ ที่เขาบอกกับคนทั้งโลกเมื่อครั้งไปออกรายการกับ โอปราห์ วินฟรีย์ เมื่อปี พ.ศ.2536 ก็คือ เขาไม่ได้ฟอกสีผิวเขาไม่ได้รังเกียจที่เขาเป็นคนผิวสี และเขาก็ไม่คิดว่าการฟอกสีผิวจะมีจริงในโลก แต่เขาป่วยเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่เรียกว่าVitiligo (วิติลิโก้) หรือโรคที่คนไทยเรียกว่า โรคด่างขาว ต่างหาก

 

Vitiligo เป็นโรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติของสีผิว พูดง่ายๆ ก็คือเซลล์ที่ทำหน้าที่สร้างเม็ดสีให้กับร่างกายที่เรียกว่า เมลาโนไซน์(Melanocytes) ถูกบางอย่างในร่างกายทำลายหรือสกัดกั้นจนไม่สามารถทำหน้าที่ผลิตเม็ดสีให้กับผิวหนังบริเวณนั้นๆ ได้ผิวหนังบริเวณนั้นจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงจากสีปกติของร่างกายกลายเป็นสีขาวที่มีขอบเขตชัดเจน รอยขาวที่เกิดขึ้นตามร่างกายนั้นมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งเป็นจุดเดียวหรืออาจจะกระจายไปหลายจุดก็ได้

 

ในกรณีของ ไมเคิล แจ็คสัน ผิวหนังของเขาค่อยๆ เปลี่ยนแปลงสีไปเรื่อยๆ ไล่ตั้งแต่ คอ หน้าอก แขน ขา จนกระทั่งกลายเป็นสีขาวทั้งตัว แต่ไม่ใช่ขาวซีด แต่กลายเป็นขาวอมชมพูเหมือนอย่างที่เราเคยเห็นในมิวสิควิดีโอเพลง You Are Not Alone คู่กับลิซ่า เพรสลีย์ (ลูกสาวคนเดียวของ เอลวิส เพรสลีย์ และเป็นภรรยาในขณะนั้นของไมเคิล แจ็คสัน)

 

อีกจุดหนึ่ง เราจะสังเกตได้ว่าเขาจะใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว และใส่หมวกเกือบตลอดเวลา เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะโรคนี้ไม่ถูกกับแสงแดดเป็นอย่างมาก เนื่องจากตัวเมลาโนไซน์ที่ผลิตเม็ดสีให้กับร่างกายเรานั้นจะช่วยป้องกันผิวหนังเราจากรังสียูวีที่มาจากแสงแดด แต่เมื่อไม่สามารถผลิตเม็ดสีมาป้องกันได้ เวลาที่โดนแสงแดดก็เลยมีโอกาสเสี่ยงสูงที่ผิวหนังจะเกิดความผิดปกติมากขึ้น และยังเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งผิวหนังสูงกว่าคนปกติอีกด้วย

 

อย่างไรก็ตาม โรคนี้ไม่ได้มีอันตรายร้ายแรง ไม่ได้เป็นโรคติดต่อ และไม่ได้เป็นโรคที่คร่าชีวิต ไมเคิล แจ็คสัน ไปจากโลกนี้สำหรับผู้ที่เป็นโรคนี้ทั่วๆ ไป จะพบรอยด่างขาวได้อย่างชัดเจนในบริเวณที่ไม่ได้ถูกปกปิดด้วยเสื้อผ้า เช่น ใบหน้า คอ ตา จมูกแขน ขา แต่ส่วนที่อยู่ใต้ร่มผ้าก็สามารถที่จะเป็นได้เช่นเดียวกัน อาทิ หัวนม สะดือ รอยพับ ขาหนีบ และแม้กระทั่งอวัยวะสืบพันธุ์หรือขนต่างๆ ตามร่างกายก็อาจจะได้รับผลกระทบเช่นกัน

 

โดยปกติแล้วโรคนี้พบได้เพียง 1 % ของประชากรทั้งหมด และพบได้ทั้งหญิง-ชายในอัตราเท่าๆ กัน ทุกเชื้อชาติ ผู้ที่เป็นโรคนี้ส่วนใหญ่จะเริ่มเป็นเมื่ออายุประมาณ 10-30 ปี และ 1 ใน 5 จะพบว่าผู้ป่วยมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ การเป็นโรคนี้นั้นยังเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงการเป็นโรคอื่นๆ แทรกซ้อนเข้ามาด้วย เช่น เบาหวาน ไทรอยด์ และโลหิตจาง ส่วนสาเหตุที่มาของโรคนี้นั้น ยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดแจ้งว่าเป็นเพราะเหตุใดกันแน่

 

เนื่องจากเป็นโรคที่ไม่มีอันตราย เพราะฉะนั้นจะทำการรักษาหรือไม่ก็ได้ แต่ทว่าสีที่ตัดกันมากของผิวหนังอาจจะทำให้สูญเสียบุคลิกภาพที่ดีไป แต่ถ้าจะรักษาก็สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การใช้ยาทากลุ่ม Steroid หรือกลุ่ม Psoralen ซึ่งใช้ร่วมกับการตากแดดหรือฉายแสง UVA ให้กับร่างกาย หรือจะเป็นยากิน ประเภทนี้เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นด่างขาวบริเวณกว้าง

 

วิธีการฉายแสง UVA ดูจะเป็นการรักษาที่ได้ผลดีที่สุด แต่จะต้องทำอย่างต่อเนื่องสัปดาห์ละ 2 ครั้งเป็นเวลานานถึง 1-2 ปี การฉายแสงนี้เหมาะกับผู้ป่วยที่เกิดอาการด่างขาวบริเวณกว้างมากๆ อาจเกิดบริเวณใบหน้า แขน ปลายมือ ปลายเท้า และอีกวิธีนั่นก็คือการปลูกถ่ายเซลล์เม็ดสี (Autologous Melanocytes Transplantation) ซึ่งเป็นการรักษาที่จะทำก็ต่อเมื่อบริเวณที่เป็นด่างขาวไม่สามารถตอบสนองการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ได้ แต่หากเป็นไม่มาก เราสามารถจะใช้เครื่องสำอางในการปกปิดหรืออำพรางบริเวณที่เป็นก็ได้

 

แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีไหนรักษาก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว ก็ยังไม่มีวิธีไหนที่จะรักษาโรคนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบครับ

ไมเคิล แจ็คสัน เสียชีวิตอย่างกะทันหัน