บ้านหนองขาว

บ้านหนองขาว

หลายคนรู้ ชีวิตคือการยอมรับความเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกัน คนบ้านนี้ต่างรู้ดีกับปัจจุบันอันวิ่งชนอยู่ตรงหน้า หลายวันที่มาอยู่ร่วมกับพวกเขา ว่ากันตามตรง ผมเองต่างหากที่เป็นฝ่ายตีโพยตีพายและฟูมฟายเอากับ “สิ่งภายนอก” ที่ไหลเลื่อนมาตามวันเวลา

 

กลิ่นดินกลิ่นฝนยามเช้า แววตาอบอุ่นของผู้เฒ่า ผ้าทอสีสวย หยาดเหงื่อจากงานหน่วงหนัก หรือควันธูปปะปนความเชื่ออันห่มคลุม

 

สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่คนบ้านหนองขาวรู้จักมันดี และเชื่อว่ามันยังคงอยู่ แม้วันคืนจะเปลี่ยนผ่านสักกี่หน้าปฏิทิน

 

1.

ฝนกลางฤดูผ่านไปเหมือนทุกค่ำคืน และวันรุ่งก็มาถึงอย่างสดสะอ้าน นกกระแตแต้แว้ดส่งเสียงเหมือนชื่ออยู่ไม่ไกลห้องนอนน้ำค้างยังไม่เหือดหยาดใสไปจากใบข้าว เมื่อผมผลักบานประตูออกมาก็พบว่า ยามเช้าของชีวิตได้ผลักพาทั้งผู้คนและแผ่นดินให้เคลื่อนไหวไปก่อนหน้านี้แล้ว

 

เราอยู่กันที่บ้านกลางทุ่ง ออร์กานิกโฮม ของทิพวัลและสาคร ประเสริฐกุล หรือป้าแอ๊ดและลุงคร ท่ามกลางทุ่งนาที่โอบล้อมบ้านไม้หลังสวย สวนผักขนาดย่อมเปลี่ยนเวียนชนิดตามฤดูกาล มีสุนัขแสนซื่ออีกหนึ่งตัว และชีวิตเรียบง่ายของคู่รักที่เลือกใช้วัยเกษียณราชการกับบ้านหนองขาว

 

“แรกๆ ป้าก็เพียงมาซื้อที่ปลูกบ้าน ตั้งใจมาใช้ชีวิตบริสุทธิ์ ปลูกผัก พักผ่อน พอมาอยู่จึงรู้ว่า เรื่องราวของคนที่นี่น่าสนใจมาก”ระหว่างมื้อเช้าริมระเบียงใต้ไม้ใหญ่ห่มคลุม เราว่ากันถึง “คนหนองขาว” ที่ป้าแอ๊ดและลุงครเพียรพาผู้มาเยือนบ้านกลางทุ่งฯ ออกไปรู้จัก

 

“ไปรู้ไปเห็นว่าสิ่งน่าสนใจล้วนอยู่รอบตัวเรา เป็นมากกว่าเพื่อนบ้าน เป็นเหมือนองค์ความรู้” ลิบหลังทุ่งนาเข้าไปในหมู่บ้านนั้นอีกไม่ไกลคือสิ่งที่ป้าพูดถึง “เพื่อนบ้าน” อันน่าจะหมายถึงคนทั้งตำบลที่เธอ “เห็น” ว่าชีวิตของพวกเขานั้นน่าใส่ใจ

 

บ้านกลางทุ่งของป้าจึงเป็นมากกว่าที่พักชั้นดี ทว่ารอยยิ้มของป้าแอ๊ดและลุงครมักเกิดขึ้นเสมอ ยามเมื่อ “แขก” ที่มาพักเลือกพาตัวเองออกไปทำความ “รู้จัก” กับอีกหลายชีวิตที่หล่อหลอมให้หนองขาวเป็นมากกว่าหมู่บ้านเล็กๆ ของอำเภอท่าม่วง

 

ผ่านพ้นมื้อเช้า เราออกจากบ้านกลางทุ่ง เดินลัดบนถนนลูกรังไปใกล้ๆ เพื่อทำความรู้จักกับโลกใบเล็กของผู้หญิงอีกหนึ่งคน โลกที่ภาพวาด ศิลปะหลากหลาย และเด็กๆ บ้านหนองขาวได้มาพบกัน

 

ศูนย์การเรียนรู้บ้านหนองขาว ป้าเต่า-ลีลาวดี ทองดีเลิศ ติดป้ายหน้าบ้านของเธอไว้เช่นนั้น ทว่าหลังจากผ่านรั้วเข้ามา ที่นี่ร่มรื่นและปราศจากความเป็น “ทางการ” โดยสิ้นเชิง

 

“ศิลปะอยู่รอบๆ ตัวเรา ใครก็สัมผัสได้” เช่นเดียวกับป้าแอ๊ดอันเป็นเพื่อนรัก ป้าเต่าเลือกที่ดินเล็กๆ ก่อบ้านอันเป็นที่ทำงานและเรือนนอน ขุดบ่อน้ำไว้ด้านหน้าให้พักวางตารื่นเย็น และเลือกให้เวลาวันๆ ผ่านไปกับ “ค่าย” เล็กๆ ของเธอ

 

“ปิดเทอมที เด็กๆ มากันเยอะค่ะ ตอนนั้นเราจะเห็นได้ชัดว่า เด็กบ้านทุ่งนั้นจินตนาการกว้างไกลกว่าเด็กเมืองมาก” เธอว่าถึงโครงการ “ปิดเทอมที่กลางทุ่ง” แต่ละครั้งเด็กๆ จากในตำบลมาฝึกหัดทักษะทางศิลปะหลากหลายรูปแบบ “มีหมดค่ะ เพนต์สีเขียนกระจก ผ้าบาติก ปั้น” เธอหยิบผลงานของเด็กๆ ชิ้นหนึ่งให้ผมดู นาตาลโยกโย้ในโทนสีของยามเย็นบนกระดาษนั้นดูไร้มารยา ผมคิดถึงศิลปะนาอีฟอาร์ตอันสื่อด้วยความบริสุทธิ์

 

ปรารถนาของเด็กๆ บนกระดาษเหล่านั้น มันวนเวียนอยู่กับการเกษตรกรรม บ้านเรือน ภูเขาท้องนาอันรายล้อมหล่อหลอม บ้างก็เป็นงานฝีมือหรือพิธีกรรมอะไรสักอย่าง ที่ไม่จำเป็นต้องลึกซึ้งก็เข้าใจได้ไม่ยากว่า โลกพรีมิทีฟยังคงวิ่งเต้นอยู่ในแววตาอย่างน่าทึ่ง

 

บ้านป้าแอ๊ดและบ้านป้าเต่าเหมือนเดินอยู่คู่กันริมทุ่งนอกเมืองหนองขาว ใครมาพักที่บ้านกลางทุ่ง ลิ้มลองชีวิตออร์กานิก เป็นต้องเดินเล่นมาเยี่ยมและนั่งดูป้าเต่านั่งผ่านยามบ่ายไปกับสีน้ำ ผืนกระดาษที่ค่อยๆ กลายเป็นนาข้าวสีน้ำตาลหรือเขียวสดตามฤดูกาลตรงหน้า เป็นดอกไม้สวยๆ สักดอก เคล้าด้วยเสียงนกร้องจุ๊บจิ๊บ ลมทุ่งพัดเย็น

 

นี่คือหนึ่งใน “โลกใหม่” ที่วิ่งเข้าหาและทำความรู้จักกับบ้านหนองขาว อิงแอบอยู่ชายทุ่ง ทว่าก็ไม่เคยละเลยที่จะบอกตัวเองว่าบนผืนแผ่นดินเดียวกัน เราไม่อาจอยู่ตัวคนเดียวได้

 

“คนที่นี่ชัดเจนในทุกความเป็นอยู่” ป้าแอ๊ดเล่าเบายามเราเดินกลับมาอ้อยอิ่งที่ตั่งไม้หน้าบ้าน

 

ผมไม่รู้ว่าที่ป้าบอกเป็นเช่นไร ตราบจนบดล้อรถคันเก่าลงบนทางลูกรังขุ่นแดงหน้าบ้านกลางทุ่ง เลียบนาข้าวอันโอบล้อม ผ่านฝูงวัวเรียงราย และมุ่งเข้าสู่ใจกลางหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งของกาญจนบุรีแห่งนั้น

 

2.

ยามสายในวัดอินทารามยังคงเงียบเชียบร่มรื่น โบสถ์หลังโตสะท้อนว่าวัดกับคนหนองขาวไม่เคยแยกจาก ที่หน้าวัด อาคารศิลปะยุโรปสีขาวนวลนั้นน่าหลงใหล วัดนี้เก่าแก่มาแต่ พ.ศ. 2480 สร้างขึ้นเป็นโรงเรียนในชื่อโกวิทอินทราทร ว่ากันว่านี่คืออาคารเรียนหลังแรกของกาญจนบุรี สร้างขึ้นก่อนในตัวจังหวัดเสียอีก คืนวันผ่านไปพร้อมกับชีวิตของคนหนองขาว จากเก่าแก่ทิ้งร้างเมื่อมีการเปลี่ยนมติจากรื้อทิ้งให้จัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์บ้านหนองขาว คนที่นี่จึงรู้ว่าข้าวของเครื่องใช้ ตลอดจนความคิดความเชื่อของพวกเขามิได้เป็นแค่สิ่งที่วนเวียนแต่ในหมู่บ้าน หากมีค่ายิ่งสำหรับคนนอกที่อยาก “รับรู้” ชีวิตของพวกเขา

 

“รู้จักตัวเอง รู้จักผู้อื่น รู้จักโลกค่ะ” วิทยากรสาวพูดแนะนำด้วยสำเนียงบ้านหนองขาวแท้ๆ ซึ่งแม้จะฟังยาก แต่ก็เปี่ยมเสน่ห์ในน้ำเสียงอยู่ไม่น้อย “บางคนเขาว่าคล้ายสำเนียงคนใต้ค่ะ ผันเสียงตรีเกือบหมด” คนหนองขาวมีสำเนียงแปลกและไม่เหมือนใครในกาญจนบุรี แม้จะอยู่ห่างออกไปเพียงคนละตำบล

 

เราใช้เวลาเกือบสองชั่วโมงในอาคารเล็กๆ หลังหนึ่ง ผ่านเรื่องราวประวัติศาสตร์ของมนุษย์ สู่ชั้นสองที่ “เข้าถึง” ความเป็นคนหนองขาวในหลายมิติ ชื่อโบราณอย่างบ้านหนองหญ้าดอกขาว การตั้งถิ่นฐานของผู้คน หลักฐานเมืองเก่าที่วัดส้มใหญ่ที่ชื่อว่าบ้านดงรัง และวัดโบสถ์ที่ชื่อบ้านดอนกระเดื่อง หรือมิติทางความคิดความเชื่อในเรื่องบรรพบุรุษ งานฝีมือ และชีวิตอันเป็นเอกลักษณ์

 

“จริงๆ ทั้งตำบลนั่นแหละค่ะคือพิพิธภัณฑ์ มันมีชีวิต” ประโยคนี้ผมรู้สึกได้ เธอมิได้พูดตามสคริปต์ แต่เพราะเห็นมันเติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ “ตอนสร้างพิพิธภัณฑ์ฯ ใหม่ๆ ยังสงสัยอยู่เลยค่ะว่าใครจะมาดู วันนี้ถึงไม่มีใครมา แต่เด็กๆ ที่นี่ก็เข้ามาค่ะ” เธออมยิ้มเมื่อพาผมมายืนอยู่หน้ากี่ทอผ้าคร่ำคร่า มองผ่านหน้าต่างออกไปยังหมู่บ้านที่กระจุกตัวอยู่เบื้องล่าง

 

นาทีนี้อาจไม่แตกต่าง ข้างในพิพิธภัณฑ์ฯ หรือภายในหมู่บ้าน ในแววตาฝ้าฟางของเฒ่าชรา หรือสดใสเริงร่าของเด็กๆ

 

อาจเพราะมันสืบเนื่องเชื่อมโยงถึงกัน ทั้ง “ภายนอก” และ “ภายใน”

 

ถนนใหญ่ด้านหน้าที่มุ่งไปสู่อำเภอพนมทวนคลาคล่ำรถรา แต่เมื่อลัดเข้ามาในซอยเล็กๆ ไม่กี่สิบเมตร ที่นี่ราวไม่รู้จักกับคำว่าอึกทึก

 

เราอยู่กันในหมู่บ้านที่เบียดเรือนกันแน่นขนัด อย่างที่คนหนองขาวนิยมปลูกสร้างกันมารุ่นต่อรุ่น โดยให้อิงแอบใกล้ชิดราวคำเปรียบที่ว่า ‘ชิดกันจนไก่บินไม่ตกดิน’

 

เช่นนั้นเอง นี่คือการอยู่ร่วมกันแบบเครือญาติ ดูแลอาทรกันมาแต่ครั้งปักหลัก “บ้านติดกัน เป็นญาติกันหมด เป็นกลุ่มๆ ค่อยกระจายกันไป” ยายมาลัย บัวทอง จดจ่อทั้งสายตา มือ และเท้า อยู่หน้ากี่กระตุก ผ้าขาวม้าโทนสีม่วงเริ่มเป็นรูปร่าง นานๆ ทีพอเปลเจ้าตัวเล็กซึ่งทำจากผ้าขาวม้าหนองขาวหยุด แกก็ดึงสายไกวและร้องเพลงสบายอารมณ์

 

ไร่นาด้านนอกโอบล้อมบ้านเรือนไว้ราวกับในนี้คือ “ไข่แดง” การงานของผู้หญิงบ้านหนองขาวปะปนอยู่ทั่วทุกเรือนนอน ผ้าขาวม้าลวดลายดั้งเดิมที่สารพันด้วยริ้วสีนั้นไม่เพียงบอกว่า ชีวิตไม่เคยว่างเว้นการดิ้นรนในทุกฤดูกาล หากแต่ยังมากไปด้วยวัฒนธรรมในการใช้ชีวิต

 

“หมดหน้านาก็ทอผ้า ทำขนม อย่างว่าแหละ คนหนองขาวชัดเจนในเรื่องงาน” แกนิ่งไปสักครู่ สอนหลานที่กำลังเดินขึ้นลายจัดไหมสลับสีอยู่ใกล้ๆ ให้ระวังไหมพันหลัก สักพักก็ว่าต่อ “รักพวกพ้อง อดทนงานหนัก ประหยัด และรักสามัคคี” นี่คือคำจำกัดความของนิสัยที่คนหนองขาวทุกคนรู้จักมันดี

 

ทุกๆ วัน มีคนไม่น้อยที่เข้ามาเยือนหนองขาวโดยมุ่งเข้ามาหาผ้าขาวม้าผืนสวยของแม่บ้านที่นี่ จากกี่มือที่ทำกันมาแต่ดั้งเดิมพัฒนามาสู่กี่กระตุก ทว่าลวดลายโบราณอย่างลายตาจัก ลายตาคู่ หรือลายหมากรุก ก็ยังคงอยู่ ซ้ำลายใหม่ๆ ซึ่งพัฒนาไปอย่างน่าดู หญิงชราผู้เจนจัดเพียงดูไม่กี่ทีก็ “ถอด” ลายออกมาทอเป็นผืนได้ไม่ยาก “ผ้ามันอยู่กับเรามานาน” ป้าบัวทองว่า หลานสาวที่อยู่ถัดไปอมยิ้ม ทุกวันนี้ดูเหมือน “ยุคสมัย” จะมีผู้หญิงหนองขาวไม่น้อยกว่าสามรุ่นที่เดินไปพร้อมๆ กัน

 

โมงยามนั้นกลุ่มบ้าน “ไก่บินไม่ตกดิน” ยิ่งดูอบอุ่นด้วยความรู้สึกของคำว่า “สายสัมพันธ์” อันแสนคงทน

 

3.

วันๆ ที่มาอยู่บ้านหนองขาว หลังล่วงยามเช้าที่พระสงฆ์จากวัดอินทารามกลับจากบิณฑบาต ผมมักต้องตามใครหลายคนออกสู่“ไข่ขาว”-พื้นที่การเกษตรอันล้อมรอบหมู่บ้านและเป็นแหล่งทำมาหากินอันอุ่นเอื้อต่อคนหนองขาวมาแต่ยุคบรรพบุรุษ

 

ทุ่งนา หนองน้ำ ดงตาล ไร่เชิงเขา ว่าไปมันก็วนเวียนอยู่ในไม่กี่สิ่งเหล่านี้

 

คนหนองขาวมีนาอยู่สองฝั่ง ทางทิศตะวันออกของหมูบ้านนั้นเขียวชอุ่มอยู่ตลอดปี ด้วยใกล้คลองชลประทาน เป็น “นาทุ่ง” หรือ“นาลุ่ม” ที่ทำนาได้ต่อเนื่องทุกฤดูกาล ส่วนทางฟากตะวันตกนั้น ไร้แหล่งน้ำใหญ่ ต้องรอฟ้ารอฝน ซึ่งพวกเขาเรียกกันว่า “นาป่า”

 

อย่างไรก็ตาม แทบจะไม่มีใครหันหน้าหนีจากแผ่นดินอันเป็นที่ทำกิน หากทำนาไม่ได้ บางคนก็เลือกไปทำไร่ผักชี ไร่พริก ซึ่งใช้น้ำน้อยกว่า หลังจากที่คนต่างถิ่นเข้ามาขอเช่าพื้นที่ทำ และเมื่อพวกเขาเองเลือกลอง ก็ดูจะเป็นเรื่องง่ายสำหรับคนที่เข้าใจในแผ่นดินอันยืนอยู่มากกว่าคนนอก

 

บางคราวยามออกไปไกลหมู่บ้าน ไปเพลินกันในทิวตาลยืนต้นเรียงรายกลางทุ่งเขียว เราคุยกันถึง “แกงกลางวัน” -แกงของคนหนองขาวที่ทุกวันนี้ไม่ค่อยมีใครทำกันแล้ว พี่บางคนถอด “โม่ง” สีสวยซึ่งทำจากผ้าขาวม้าหนองขาวและใส่กันแทบทุกคน จากนั้นก็เล่าอมยิ้ม “แต่ก่อนมานามาไร่มันไกล เตรียมเครื่องมาแกง แกงมื้อเดียว เจออะไรก็เอามาแกงกินหมด กบ รังผึ้ง เน้นเผ็ดมากๆ”

 

และมีหลายวันที่ผมมักมานั่งคุยกับหญิงคนหนึ่ง ที่ร่องรอยงานหนักยังคงชัดเจนอยู่ทั้งในสองแขนและแววตา

 

ในพื้นที่ป่าธรรมชาติราว 26 ไร่อันเป็นบ้านของสรรพชีวิต ป้าเตียว คล้ายคลึงยังคงเดินเหิน ดูแลต้นไม้ ตัดส่วนเกินเผาถ่านแจกจ่ายวัดและเพื่อนบ้าน วางผลไม้ไว้ให้นกมาจิกกิน ล้อมรั้วรอบพื้นที่ให้แย้ใช้ชีวิตอยู่เป็นเพื่อน

 

“อึ่ง แย้ ผึ้ง นก สี่อย่างนี้ฉันดูแลและอยู่กับมันตลอด” ป้าเตียวเคี้ยวหมากสบายอารมณ์ ทว่าเท่าที่เห็น มือแกไม่เคยหยุดนิ่ง หาอะไรทำได้ตลอด เดี๋ยวไปดายหญ้า กวาดลานดิน

 

“เหนื่อยแต่ไม่นอน ขุดดินเหนื่อยก็เปลี่ยนมาถอนหญ้า หยุดทำไมงาน”

 

“ฝนตกฉันกางร่มนั่งเฝ้าอึ่ง ช่วงมันตั้งท้องนี่ ริมบ่อใครก็มาเอาไม่ได้ มันจะได้มีมากๆ”

 

“บ่อน้ำใหญ่โตฉันขุดกับมือ ลูกๆ มันจะได้รู้ว่าแม่เหนื่อย นี่คือความภูมิใจของแม่มัน ฉันตายมันจะได้ไม่ขายแผ่นดินอันเป็นบ้าน”

 

ถ้อยคำเหล่านี้อาจเป็นเยี่ยงเดียวกับหลายสิ่งที่หล่อหลอมให้คนหนองขาวมีตัวตนและทิศทางที่แตกต่าง คือมีที่มาที่ไปในสิ่งที่คิดเชื่อ ร้อยโยงต่อยอดเพียงเพื่อให้คำว่าพี่น้องญาติมิตรยังคงแข็งแรง

 

และชัดเจนแม้การหลากไหลของคืนวันจะบ่าโถมเชี่ยวกรากสักเพียงใด

ทางหลวงหมายเลข 323 มุ่งสู่ชายแดนตะวันตก