ศรินนี วราทร

ศรินนี วราทร

1. สำนักพิมพ์ที่นำหนังสือเล่มนี้มาแปลก็คือ สำนักพิมพ์กำมะหยี่ ที่มีอายุการตั้งบริษัทเพียง 2 ปีกว่าๆ เท่านั้น ฟังชื่อเราอาจจะไม่คุ้นหูมากนัก แต่ต่อจากนี้ ชื่อของกำมะหยี่จะอยู่ในบทบันทึกของวงการสำนักพิมพ์ไทยที่ผลิตงานคุณภาพให้พวกเราได้อ่านกัน

ความหมายของกำมะหยี่ที่แท้จริง คุณจะได้รู้จักมากขึ้นว่าคืออะไร

2. ในเวลาไม่นานนัก ผมได้มีโอกาสพบกับ คุณศรินนี วราทร เรียกชื่อตำแหน่งอย่างเป็นทางการว่า บรรณาธิการจัดการ สำนักพิมพ์กำมะหยี่ตั้งอยู่ในพื้นที่คอนโดแห่งหนึ่งในถนนพหลโยธิน ซอย 9 สิ่งที่ผมคิดไว้ในใจว่าสำนักพิมพ์นี้จะต้องมีคนทำงานอ่านต้นฉบับกันอย่างคร่ำเคร่ง แต่ผิดถนัด

 

“สำนักพิมพ์ไม่ได้มีคนเยอะอย่างที่คิดหรอกค่ะ บางครั้งตัวดิฉันเองยังต้องมาตรวจคำผิด หรือแม้แต่ขนหนังสือจากโรงพิมพ์ติดต่อสายส่ง ก็ทำเกือบหมดนะ” เธอเล่าให้ผมฟังด้วยแววตาที่มีความสุข

ความจริงแล้วเธอไม่ใช่คนที่จบมาทางหนังสือโดยตรง เพียงแต่มีความรักต่อมันจึงทำให้เกิดความคิดที่จะร่วมหุ้นกับเพื่อนเปิดสำนักพิมพ์ขึ้นมา ใครจะรู้ว่าก่อนหน้านี้เธอเรียนจบบัญชีจุฬา หลังจากนั้นก็ไปเป็นเจ้าหน้าที่พิจารณาสินเชื่อให้กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เคยทำงานที่แบงก์ชาติ เธอเป็นผู้หญิงคนเดียวขณะนั้นที่เป็นผู้ตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะไปเรียนปริญญาโทด้านโทรคมนาคมในต่างประเทศ พอกลับมาเมืองไทยก็ได้ทำงานกับบริษัทโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดในขณะนั้น

นอกจากนี้เธอยังเป็นครูสอนภาษาอังกฤษให้กับเด็กๆ ในศูนย์การเรียนรู้ด้านภาษาชื่อดัง ยังไม่พอ เธอยังเป็นผู้ช่วยผู้จัดการกองประกวดนางสาวไทย และสิ่งล่าสุดที่เธอทำก็คือเรื่องของโหราศาสตร์ เธอเป็นพิธีกรร่วมกับคุณติ๊ก กลิ่นสี และอาจารย์หยู๋ จัดรายการทางวิทยุที่ชื่อ รู้ชีวิตกับติ๊ก กลิ่นสี ทาง FM 94.5

 

“งานที่เราทำจะมีตัวองค์กรและส่วนเล็กๆ ที่เราเองรับผิดชอบ ส่วนใหญ่คนก็จะเห็นเฉพาะส่วนที่เรารับผิดชอบ แต่บางครั้งองค์กรต้องการให้เราทำอะไรบางอย่างให้ได้ ซึ่งอาจไม่เกี่ยวข้องกับงานของเรา แต่ถ้าตรงนี้ไม่มีใครทำ มันไม่สำเร็จ องค์กรก็จะอยู่ไม่ได้ ซึ่งมันจะกระทบถึงเรา เวลาเราทำงานเราก็เลยต้องมองให้กว้างขึ้นกว่างานที่เรารับผิดชอบ เพราะในที่สุดแล้วมันจะมีผลกระทบต่อเรา

 

 “สมัยก่อนพอเข้าไปทำงาน ดิฉันจะคิดว่าต้องทำงานทุกนาที จะรู้สึกผิดถ้าไม่ทำงานเต็มที่ จนบางทีเจ้านายก็จะบอกว่าเมลไม่ต้องเช็คบ้างก็ได้ ส่วนงานหนังสือก็เหมือนงานที่เป็นเจ้านายตัวเอง จะทำดึกแค่ไหนก็ได้”

3. เราคุยกันอยู่พักใหญ่ ก่อนที่จะมีเสียงโทรศัพท์เรียกเข้ามา เธอขอตัวลุกออกไป เดาได้ทันทีว่าเธอมีงานรัดตัวอย่างมาก เพราะดูจากเอกสารมากมายที่รออยู่บนโต๊ะ เธอเขียนขยุกขยิกพร้อมกับคุยโทรศัพท์ไปด้วย คนอะไรจะมีงานเยอะขนาดนี้ ผมคิดในใจอย่างเก่งคนเราก็ทำงานแค่ไม่กี่อย่าง แต่เธอเล่นทำเสียทุกอย่างที่ผ่านเข้ามา ไม่เคยนั่งรอให้โอกาสเข้ามาหาและก็ทำออกมาได้ดี ไม่นาน เธอเดินกลับมา บทสนทนาเริ่มต้นอีกครั้ง

“งานเยอะดีนะครับ เหมือนมีงานตลอดเวลาเลย”

 

“ใช่ค่ะ ก็พอสมควร มันอยู่ที่มุมมอง แต่ก็สนุกมาก”

เธอเล่าให้ผมฟังถึงการแบ่งเวลาว่าในหนึ่งวัน คนเราบางทีต้องแบ่งให้เป็นสูตร 8 8 8 คือ เวลาทำงาน 8 ชั่วโมง เวลาส่วนตัว 8ชั่วโมง และนอนอีก 8 ชั่วโมง แต่แทนที่เธอจะนอน 8 ชั่วโมงเหมือนคนทั่วไป เธอกลับนอนได้มากกว่านั้น เพราะเธอสามารถเอางานกับเวลาส่วนตัวมาปนกันได้ จนทำให้ช่องว่างของการพักผ่อนมีมาก และกิจกรรมยามว่างที่เธอชอบเป็นพิเศษก็คือการร้องเพลง

 

“ดิฉันชอบร้องเพลงมานานแล้ว ส่วนใหญ่จะไปที่ร้านชิวชิว แถวหลังสวน ชอบเพลงเก่ามาก อย่างริมฝั่งน้ำ รักไม่รู้ดับ ส่วนตอนนี้กำลังหัดร้องเพลง รักแท้คืออะไร ของ น้ำชา อยู่ค่ะ พอดิฉันร้องเพลง เวลาเจอผู้ใหญ่พวกเขาก็จะเอ็นดู แล้วก็จะได้คำแนะนำเรื่องงานค่ะ”

4. ในความคิดผม งานทั้งหมดที่เธอทำ ไม่มีอะไรที่ลงตัวไปกว่างานหนังสือที่สำนักพิมพ์กำมะหยี่ ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ หนังสือจะอยู่เป็นเพื่อนไม่เคยห่างเธอไปไหน  โดยเฉพาะหนังสือเล่มล่าสุดที่เธอนำเสนอและเพิ่งจะเปิดตัวไปคือ เจ้าชายน้อย

 

“หนังสือเล่มนี้ ดิฉันอยากได้คำนำจากท่านเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ประจำประเทศไทย พอดีญาติผู้ใหญ่ท่านหนึ่งประสานงาน ในที่สุดก็ได้พบท่านทูต และได้คำนำมา ดิฉันอยากให้คนไทยและเด็กไทยอ่านหนังสือเล่มนี้ เลยพยายามลดราคาขายลง เน้นให้แม่สอนลูกผ่านหนังสือเล่มนี้ เพราะว่าเวอร์ชั่นนี้จะเข้าถึงเด็กมากกว่าเล่มเดิมๆ พยายามผลักดันให้เข้าสู่โรงเรียน ก็เป็นโปรเจ็คท์ใหญ่ที่สุดเท่าที่ทำมา”

ก่อนที่เราจะจากกัน ผมเกือบลืมคำถามสำคัญที่เป็นหนึ่งความหมายของงานที่เธอทำ

“ขอโทษครับผมลืมอะไรไปอย่างหนึ่ง ชื่อของกำมะหยี่ความจริงมันคืออะไรกันแน่ครับ”

 

“อ๋อ มันมีสัญลักษณ์ของนางฟ้าที่เป็นคฑา เป็นชื่อที่มาจากภาษาฝรั่งเศส ที่แปลว่า Magic Collection แปลเป็นภาษาไทยก็คือชุดมหัศจรรย์ เรามีความเชื่อมั่นใจความอัศจรรย์ของมนุษย์ค่ะ”

 

“ผมเข้าใจแล้ว ขอบคุณครับ”

ผมรู้จัก ฮารูกิ มุราคามิ ครั้งแรกจากหนังสือรวมเรื่