ประชาคม ลุนาชัย

ประชาคม ลุนาชัย

เมื่อมองไปนอกชานเล็กๆ ฟ้าหม่นกับเม็ดฝนยามบ่ายกระปริบกระปอยหล่นลงมาเป็นระยะ บางห้วงลมเย็นก็แทรกเข้ามา แม้เป็นครั้งแรกที่ผมมาเยือนห้องนี้ก็ยังรู้สึกถึงความเปลี่ยวดาย

 

“ผมทำงานแบบสบายๆ สัก 9 โมงก็เริ่มเปิดคอมพิวเตอร์ อ่านงานที่ทำค้างไว้ เตรียมความพร้อมเรียกสมาธิ เพราะบางครั้งเราทำค้างไว้เมื่อหลายวันก่อน เราก็เอามาตรวจดู อย่างงานเก่าที่เราทำไว้มันจะมีแรงส่งไปถึงงานใหม่ พอพักเที่ยงก็กินข้าว ก่อนที่จะกลับมาทำงานต่อจนถึง 4 โมงเย็นก็เลิก หลังจากนั้นไปเดินเล่น ไปถ่ายรูป”

 

นอกเหนือจากงานประจำที่ทำเป็นอาชีพคืองานเขียนหนังสือแล้ว การถ่ายรูปนับเป็นงานอดิเรกที่เขากำลังสนใจอยู่ในขณะนี้ เขาบอกว่าการถ่ายรูปมันไม่อาจเรียกว่างานได้ เพราะเป็นสิ่งที่เขาทำเล่นๆ เหมือนการปลูกดอกไม้ในสวนหย่อม ที่จะแต่งแต้มดอกอะไรลงไปในสวนนั้นก็ได้

 

ก่อนที่เขาจะใช้ชีวิตแบบนี้ ความจริงแล้วเขาผ่านความยากลำบากมามากมาย เขาเป็นมาแล้วหลายอาชีพ ตั้งแต่ ชาวไร่ ชาวนาลูกจ้างร้านลูกชิ้น คนแบกข้าวสาร พนักงานโรงงาน ลูกเรือประมงในทะเล พนักงานรักษาความปลอดภัย ฯลฯ

 

“การเป็นลูกจ้างเขามันหนัก ไม่มีข้อต่อรอง ไม่มีทางเลือก คือมันหนักที่เราไม่อยากทำ แต่เราก็ต้องทำ ช่วงหนึ่งของชีวิต ผมเคยนอนตามที่ต่างๆ มาเยอะ ตั้งแต่หัวลำโพง สนามหลวง วงเวียน22 สถานีรถไฟ วงเวียนใหญ่ ตามม้าหิน หรือตามสวนสาธารณะ”

 

แม้จะถึงจุดต่ำสุดของชีวิตขนาดนี้ ท้อถอยต่อโชคชะตาแห่งชีวิตหลายต่อหลายครั้ง แต่เขาก็ลุกขึ้นยืนได้ เพราะมีหนังสือที่เป็นแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต ไม่ว่าเขาอยากรู้หรืออยากทำอะไรก็จะมีหนังสืออยู่ข้างกายเสมอ เขาเปรียบหนังสือเป็นเพื่อนที่เปิดทางฝันให้แก่ตัวเอง เขาใช้เวลาในการบากบั่นตามหาฝันนานถึง 17 ปี ในช่วงแห่งการต่อสู้เพื่ออยู่รอดของชีวิต หลังจากนั้นความมุ่งมั่นที่จะเป็นนักเขียนของเขาก็เป็นผลขึ้นมา และในที่สุดปี 2537 เขาก็ทำงานเขียนเพียงอย่างเดียว

 

ผลงานของเขาได้รับรางวัลมามากมาย ใครที่เป็นนักอ่านคงผ่านตาเรื่องเหล่านี้มาบ้าง ผลงานรวมเรื่องสั้นของเขาคือ ลูกแก้วสำรอง ตัวละครตกสมัย นาฏกรรมแห่งชีวิตเมืองใต้อุโมงค์ เกสรปรารถนา นิทานกลางแสงจันทร์ ส่วนนวนิยายก็มี ฝั่งแสงจันทร์คนข้ามฝัน ดอกไม้กลางเมือง โลกห้าเหลี่ยม กลางทะเลลึก เขียนฝันด้วยชีวิต และก้าวไปเก็บจันทร์พันดวง

 

“ผมทำงานตามสเต็ปตามจังหวะก้าวของเรา เราอยากทำอะไรเราก็ทำ เรื่องของรางวัล มันไม่ได้เกี่ยวกับเราเลยการคัดเลือก มันเป็นงานของคนอื่น

 

“อย่างหนังสือ ‘เขียนฝันด้วยชีวิต’ เป็นงานที่ทำนานเพราะเขียนเก็บไว้ ก็ไม่คิดว่าจะรวมเล่มนะ มันเป็นช่วงชีวิตที่ไม่ค่อยมีเงิน เอาพิมพ์ดีดไปจำนำแล้วทำต้นฉบับไม่ได้ ก็มาเขียนด้วยลายมือ นั่นคือการเขียนเรื่องชีวิตของตัวเองเกือบพันหน้า จนเวลาผ่านไป 5-6 ปี ก็เอามาดู เอามาจัดระเบียบใหม่”

 

ส่วนงานที่เรียกว่ามาสเตอร์พีชสำหรับนักเขียนอย่างเขาแล้ว เป็นสิ่งที่เลือกไม่ได้ เพราะงานของเขาแต่ละเล่มมีที่มาแห่งความทรงจำที่แตกต่างกัน

 

“มาสเตอร์พีชของผมไม่มีหรอก คนที่มีมาสเตอร์พีชแล้วแสดงว่าเขาพอเพียง สำหรับงานเขียนทุกเล่มมันมีความผูกพันอยู่ มันมีที่มาที่ไป อย่าง ลูกแก้วสำรอง ก็อยู่กันมานานมาก กว่าจะเขียนเป็นเล่ม ผ่านการระหกระเหิน ผ่านการแยกย้ายบ้านเช่ามาตั้งหลายแห่ง ผ่านความรู้สึกอันหลากหลาย มันมีเรื่องเล่าซ้อนกันอยู่ในหนังสือแต่ละเล่ม ทุกเล่มเรามีความทรงจำที่ดีกับมันหมด

 

“มีนักเขียนคนหนึ่งบอกว่าหนังสือก็เหมือนลูกของเขา ต้องรักลูกทั้งหมดเท่ากัน มันมีความผูกพันในหนังสือแต่ละเล่ม กว่าจะเป็นเล่มหนึ่งขึ้นมามันมีเลือดและน้ำตาซ่อนอยู่ข้างใน”

 

การทำงานขึ้นมาชิ้นหนึ่งต้องอาศัยเงื่อนไขของเวลาที่จะผลิตจำนวนงานกับคุณภาพที่ออกมา ซึ่งบางครั้งหนังสือหลายเล่มใช้เวลาทำนานหลายปี แต่บางเล่มอาจใช้เวลาไม่ถึงปี ในส่วนนี้ เขามีความเห็นว่าไม่เคยกำหนดเส้นตายว่าเล่มนี้จะเขียนเสร็จเมื่อไหร่ เขาทำเท่าที่จะมีความสามารถให้มันออกมาดีที่สุด จะกินเวลาแค่ไหนไม่เคยจำกัด

 

“ผมทำงานล่วงหน้า คือขณะที่เรามีงานชิ้นหนึ่งในนิตยสาร เราก็ทำงานใหม่เลย ซึ่งมันจะไปจบเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ แต่ธรรมชาติของคนทำงานจะรู้ว่ามันต้องเสร็จ พอเรื่องจากนิตยสารเสร็จ จะเข้าไปสู่กระบวนการที่เข้าไปในสำนักพิมพ์เพื่อทำพ็อกเก็ตบุ๊ค เรื่องที่เราเขียนใหม่ก็จะไปลงนิตยสารอีก นั่นคือการทำงานล่วงหน้าเพื่อรอพิมพ์ ไม่ได้ทำงานเพื่อให้เวลามาไล่จี้”

 

ปัจจุบันมีงานเขียนหลากหลายให้ผู้อ่านได้เลือกซื้อมากขึ้นกว่าก่อน และไม่น้อยที่งานเขียนส่วนใหญ่ที่เนื้อหาสาระเบาเข้ามาแทนที่งานเนื้อหาหนักๆ ประชาคมบอกว่าเขาเองไม่คิดที่จะเปลี่ยนตามกระแสของสังคม คือไม่อาศัยตลาดของคนอื่นเพื่อให้งานของตัวเองได้รับการตีพิมพ์ แต่จะขอยืนอยู่บนตลาดของตัวเองเท่านั้น

 

“ตามธรรมชาติของมนุษย์จะชอบเสพสิ่งที่ง่ายคือความบันเทิง ไม่ต้องวงการหนังสือหรอกครับ ถ้าเป็นวงการภาพยนตร์ หากเราสร้างหนังที่มีสาระหนักๆ สักเรื่องหนึ่งก็จะไม่ค่อยได้เงิน ถ้าสร้างหนังตลกหนังผีจะได้เงินมากกว่า มันเป็นสิ่งที่เราบริโภคง่าย”

 

“อาชีพนักเขียนนี่อยู่ได้จริงๆ เหรอ” ผมยังติดใจกับการทำงานแบบนี้ งานที่ไม่ต้องวุ่นวายกับใคร ทำงานอยู่ในห้องเพียงคนเดียว

 

“นักเขียนมันกว้าง มันมีหลายระดับ การตลาดของนักเขียนก็ไม่เท่ากัน นักเขียนที่ร่ำรวยก็มีในประเทศ ที่มีรายได้ปีละหลายล้านก็มี นักเขียนรายได้ปีหนึ่งไม่ถึงแสนก็มี บางคนก็ต้องไปหางานอื่นเสริม งานเขียนมันเป็นได้ทั้งอาชีพและไม่ได้เป็นอาชีพ อยู่ที่ว่ามันเป็นงานที่เรารักและมีความสุขกับมัน จนก้าวข้ามไปว่างานเขียนไม่ใช่งานแต่มันคือก้าวในชีวิตประจำวันของเราหรือเปล่าเพราะฉะนั้นบางคนก็อยู่ได้”

 

คำว่าอยู่ได้มีความหมายที่ลึกซึ้ง อยู่ได้คืออยู่ได้แบบไหน มีความเป็นอยู่อย่างไร บางทีการอยู่ได้อาจไม่ใช่หมายถึงอยู่ได้แบบมีแก้วแหวนเงินทอง แต่อาจหมายถึงอยู่ได้แบบมีความสุข

“อยู่คนเดียวไม่เหงาเหรอครับ”