บางตะบูน-บ้านแหลม

บางตะบูน-บ้านแหลม

ถนนสายโบราณพาเราเวียนแวะไปตามหมู่บ้านทั้งริมฝั่งแม่น้ำและผืนทะเล บางแห่งตกทอดเรื่องราวลึกซึ้งแม้แต่ในจานข้าว ขณะที่มีไม่น้อย ที่ในแววตาอันเข้มชัด แน่วแน่ ล้วนมากอยู่ด้วยวันคืนที่เต็มไปด้วยริ้วรอยของคลื่นลมและรอยยิ้มผสานกลิ่นคาวเค็มของทะเล

 

จากบ้านยี่สาร ตำบลเล็กๆ ปลายติ่งของอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เลาะไปจนถึงบ้านแหลม หมู่บ้านชาวประมงแสนเก่าแก่ของจังหวัดเพชรบุรี บนทางหลวงหมายเลข 2021 ผมใช้มันไปกับผู้คนที่รู้จักแผ่นดินของตนเองมากกว่าโลกรายรอบ

แผ่นดินที่โอบล้อมอยู่ด้วยอยู่ด้วยแม่น้ำ ทะเล และชีวิตที่มากไปด้วยการขัดเกลา

 

...............................................................................

 

ออกจากยี่สาร ริมทางโอบล้อมด้วยผืนป่าโกงกางและดงชะครามเขียวครึ้ม ถนนสายโบราณเปลี่ยนหน้าตาไปตามการปรับปรุง หลุมบ่ออย่างที่คนหลายสิบปีก่อนรู้จักไม่ปรากฏให้เห็นอีกต่อไป ลมทะเลพัดมาเป็นช่วงๆ ยามลงมาสูดอากาศโล่งริมทาง

เมื่อถึงบางตะบูน เขตจังหวัดเพชรบุรี แม่น้ำบางตะบูนแยกออกมาจากแม่น้ำเพชร ทอดยาวเอื่อยไหลมาเปิดกว้างออกสู่ปากอ่าว ภาพบนสะพานนั้นกว้างไกล น่าจดจำ กระเตงเฝ้าแนวหอยแครงตรงปากอ่าวบางตะบูนเรียงรายลิบตา มันย้อมเป็นสีเดียวกับท้องฟ้าเมื่อทุกยามเย็นมาเยือน ชุมชนปากแม่น้ำเรียงรายด้วยเรือประมงเล็กใหญ่ บ้านริมน้ำสวยงามราวโปสการ์ดเมื่อมองลงไปจากมุมสูง

 

เราเข้าสู่หมู่บ้านชาวประมงที่บ้านแหลม ภาพสองฟากฝั่งถนนปะปนไปอย่างน่าใส่ใจ ปลายทางจากการรอนแรมออกทะเลอยู่ที่นี่ แทบทุกบ้านนั้นเต็มไปด้วยเสียงพูดคุยและเรื่องราวเกี่ยวกับทะเล ปลาใหญ่ หมึก หอย รวมถึงเหล่าผลิตภัณฑ์อาหารทะเลตากแห้ง ล้วนมีที่มาอยู่ในหมูบ้านประมงขนาดใหญ่ริมทะเลตมอันแสนสมบูรณ์

เราข้ามสะพานเล็กแต่สูงขึ้นมามองวัดต้นสน-วัดเก่าแก่เคียงคู่คนบ้านแหลม ศาลเจ้าฮุดโจ้วบ่งบอกการตั้งรกรากอยู่ร่วมของพี่น้องคนจีนไหหลำผู้แรมรอนจากโพ้นทะเล เรือประมงขนาดใหญ่จอดอิงแอบไล่ตีโค้งไปตามแม่น้ำเพชร ชีวิตประมงของพวกเขาล้วนผ่านการเติบโต ต่อสู้ และปรับเปลี่ยนดีงาม

กลิ่นคาวเค็มอวลอยู่เมื่อผมลงไปเยือนตามแต่ละบ้าน แม่น้ำเพชรที่ไหลไปออกปากอ่าวบ้านแหลมเต็มไปด้วยเรื่องราวและความคิดความเชื่อเกี่ยวกับวิถีประมง ท้องทะเล มรสุม และความอุดมสมบูรณ์

 

“ผู้ชายอยู่ในทะเล ผู้หญิงอยู่กับบ้าน ทำของทะเล” ป้าบุญเจิด เกิดเจริญ บอกความเป็นคนประมงของบ้านแหลมสั้นๆ แต่ชัด ในยามสายที่แดดจัด หมึกกล้วยและหมึกหอมเรียงรายบนตะแกรงรอแดดจับให้แห้ง ลานซีเมนต์ที่ตำบลบางแก้วของป้าคึกคักด้วยแรงงานนับสิบ

อาชีพประมงผลักดันให้ดินแดนปากแม่น้ำเพชรบุรีแห่งนี้มากไปด้วยภาพแห่งการงาน ยามสายเมื่อเรือเล็กกลับจากฝั่ง เราจะเห็นแผงคัดปลากันตามริมแม่น้ำหรือสายคลองที่แยกย่อยออกไปตามหมู่บ้านเล็ก ๆ ถึงแม้การสื่อสารปัจจุบันจะทันสมัย แต่เรือประมงก็พร้อมติดธงแดงมาแต่ปากอ่าวเฉกเช่นโบราณ เพื่อถึงกาการกลับมากลับมาจากทะเล คนบนฝั่งต้องเตรียมพร้อมที่จะขึ้นปลา

ปลาใหญ่ถูกคัดขึ้นไปก่อนโดยแรงงานผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ ส่วนปลาเล็ก กั้ง และปลาที่รอวันขึ้นไปชำแหละและตากแห้ง กลุ่มแม่บ้านหลายช่วงวัยนั่งล้อมวงกันอยู่ริมเพิง พวกเธอคัดแยกมันอย่างชำนิชำนาญ สองมือระวิงราวเครื่องจักร แต่สีหน้าและรอยยิ้มทักทายหยอกล้อนั้นปะปนอยู่ในการงานแห่งยามสาย

 

บางบ้านตั้งแผงปลาตุ๊กกา-กระเบนขนาดเล็กตากแห้งกันที่ริมถนน การถนอมอาหารอย่างชาญฉลาดด้วยเกลือและแดดกลายเป็นอาชีพหลักของคนบ้านแหลม ทุกวันมีผลิตภัณฑ์อาหารแห้งจากทะเลหลั่งไหลออกจากตำบลริมน้ำแห่งนี้มากมาย ทั้งหมึก ปลาวง ปลาเรียวเซียว ที่ทุกแห่งล้วนเชื่อมโยงเรื่องราวมาจากกลางทะเล

เช้าๆ ที่แหลมเหลว จุดที่เป็นปากอ่าวบ้านแหลม ภาพมุมเปิดตรงนั้นกว้างไกลสุดตา เรือเล็กจะออกทะเลกันแต่เช้ามืด ส่วนเรือใหญ่นั้นขึ้นอยู่กับว่ากี่ค่ำ น้ำในทะเลเป็นเช่นไร ถึงอย่างไรก็ตาม โลกอันเชื่อมต่อระหว่างทะเลและปากแม่น้ำก็ไม่เคยหยุดพัก รอยยิ้มจากบนลำเรือยามออกทะเลและกลบสู่ฝั่งนั้นแตกต่างกันไปตามฤดูกาล

จากชุมชนประมงที่เติบโตมานับร้อยปี ผู้คนพื้นถิ่นและคนจีนโพ้นทะเลอยู่ร่วม ไม่เพียงการประมง แต่เส้นทางการค้าขายทางเรือของชายฝั่งตะวันออกแห่งนี้ยังขับเคลื่อนด้วยเกลือ-แร่ธาตุที่สำคัญกับมนุษย์มาเป็นพันปี

ถนนสายตรงที่จะมุ่งไปหาดเจ้าสำราญพาเราออกจากตัวบ้านแหลม เมื่อไปถึงแถบบ้านบางขุนไทร ดินแดนตรงนั้นเปิดกว้าง นาเกลือมองเป็นตารางสีขาวยามสะท้อนแดด ที่ยังไม่ตกผลึกก็ดูเหมือนหนองน้ำสีหมากสุก กลุ่มมอเตอร์ไซค์จอดเรียงกันตามนา บ่งบอกว่าความคึกคักของวันเก็บเกลือกำลังมาเยือน ผิวแผ่นน้ำกลายเป็นดอกเกลือสีขาวอันมีค่าที่พวกเขาเฝ้ารอผ่านแดดลม

 

“คราดเกลือกันมาแต่เมื่อคืน กองๆ ไว้ พอเช้าล่ะก็สนุก” คำว่าสนุกนั้นปะปนอยู่ด้วยหยาดเหงื่อและแรงงาน หลังจาก “นายหน้า” จับสลากว่าใครจะขนกองไหน ใกล้หรือไกล ซึ่งก็แตกต่างกันด้วยราคา ทุกคนไม่มีบ่น ยิ้มหัวและหยอกล้อตลอดการทำงาน

“ไกลหน่อยก็กองละสิบกว่าบาทครับ ขนมากองเข้ายุ้ง ก่อนฝนมาหนัก คนทำนาเกลือต้องรู้จักการแบ่งเวลา ดูฟ้าฝน และเข้าใจนำขึ้นน้ำลง” ใครบางคนตรงนั้นบอกเล่า ลูกบ้านแหลมแต่ละคนผิวเข้ม สวมเสื้อสวมหมวกกันแดด หาบเกลือกันขวักไขว่ แดดร้อนร้ายแต่ใบหน้าไม่เคยตกหล่นความหวัง

 

สลับไปทั้งวันสำหรับวันเก็บเกลือ หมดนาหนึ่ง พวกเขาก็เฮโลกันขี่มอเตอร์ไซค์ไปจอดอีกนาหนึ่ง หาบเก็บกันจนแดดเย็นฉาบสีส้มสะท้อนลงบนผืนน้ำในนาเกลือ และเหลือเพียงผืนดินอันว่างเปล่าไร้กองรูปกรวยสีขาว

ดูเหมือนการก่อเกิดในเกลือแต่ละดอกจะไม่ได้ตกผลึกอยู่แต่เพียงในตัวมัน แต่มันได้หล่อหลอมและปั้นแต่งอีกหลายชีวิตตรงนั้นขึ้นมาอีกรูปแบบหนึ่ง

ชีวิตที่ผ่านแดด ลม และแรงศรัทธาแห่งการมีชีวิตอยู่

วันหนึ่งกลางหมู่บ้านประมงของบ้านแหลม ผมนั่งคุยกับ กรกฏ อารมย์ดี ศิลปินลูกหลานชาวประมงที่เลือกกลับมาสร้างงานที่บ้าน โคมไฟงานไม้ไผ่รูปทรงอิสระและน่าทึ่งของเขาก่ายกองอยู่กับคนงานที่ทั้งหมดคือลูกหลานประมงเช่นเดียวกัน บางคน ‘ทำปลา’ ในช่วงเช้า สายๆ ก็มาเริ่มงาน

 

“มันมีที่มาจากบ้านของเราครับ บ้านริมทะเล ทั้งไผ่ การขัดแตะที่ยึดมาจากการสร้างยุ้งเกลือ สีไม้ไผ่จากการผ่านแดดลม สีของเรือ รวมถึงรูปทรงที่ลดทอนจากงต้นมะพร้าว ไข่กบ การสานทับเป็นตารางเหมือนแห อวน” สำเนียงเหน่อเพชรบุรีของเขาปนอยู่ด้วยรอยยิ้ม ทว่าในดวงตาชัดเจนถึงที่มาที่ส่งผลในงานโมเดิร์นของเขา ที่มาอันชัดเจน ผ่านฤดูกาล และความเป็นลูกทะเล

ราวกับพวกเขาจะบอกว่า ทุกอย่างล้วนมีที่มา และยังคงอยู่ได้ หากคนตรงนั้นเข้าใจและศรัทธา ไม่ว่าคืนวันจะปรับเปลี่ยนรูปแบบของชีวิตไปสักเท่าไร

 

............................................................................................................................................

 

ณ ตำบลเล็กๆ กลางป่าชายเลนที่การปรับตัวและเรียนรู้เป็นเหมือนทิศทางอันยิ่งใหญ่ มาจนถึงเมืองประมงแห่งหนึ่ง ซึ่งชีวิตล้วนผูกพันอยู่กับธรรมชาติรายล้อม มากไปด้วยการดิ้นรนและทำความเข้าใจกับทะเลและฤดูกาล สองที่นี้อยู่ใกล้กันเพียงไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง ไม่กี่วันบนถนนสายสั้น ดูเหมือนถนนจะไม่ใช่คำตอบเสมอไปในการรับรู้

 

แท้จริงทางเดินเหล่านี้ได้ทอดยาวมาแล้วแสนเนิ่นนาน

และหัวใจจริงแท้ก็ดูเหมือนจะเป็นคำตอบแห่งการเดินทางเพื่อพานพบ 

 

How to go?

จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 35 (ธนบุรี-ปากท่อ) ผ่านสมุทรสาคร สมุทรสงคราม เมื่อข้ามแม่น้ำแม่กลองมาไม่ไกล ก่อนถึงคลองโคน แยกซ้ายที่ปั๊มน้ำมัน ปตท. กิโลเมตรที่ 72 เข้าทางหลวงชนบทหมายเลข 2021 ผ่านบ้านคลองโคน จากนั้นเข้าสู่เขตบ้านเขายี่สาร

 

แวะเที่ยวบ้านเขายี่สาร หมู่บ้านเก่าแก่ที่แสนมีเอกลักษณ์ พิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร จัดแสดงโบราณวัตถุที่ค้นพบเชิงเขายี่สารและรายรอบ รวมถึงสะท้อนภาพความเป็นอยู่อันมีเอกลักษณ์ไว้อย่างมีมิติ น่าสนใจ เปิดให้เข้าชมทุกวันเสาร์-อาทิตย์

 

เดินเที่ยวบ้านเขายี่สาร ดูโรงถ่านเก่าแก่ที่ผลิตถ่านไม้โกงกางชั้นดี ขึ้นไปเยี่ยมชมพระอุโบสถวัดเขายี่สารที่งดงามด้วยลายปูนปั้น หาอาหารพื้นบ้านยี่สารลิ้มลองได้ที่ร้านครัวคุณจ๋า หน้าวัดเขายี่สาร ริมคลอง บรรยากาศดี ลมพัดเย็นสบาย แนะนำ แกงส้มกุ้งใบชะคราม ยำชะคราม และน้ำพริกมะขาม

 

ขับรถเที่ยวต่อผ่านดงชะครามและป่าโกงกาง เมื่อถึงบางตะบูน บนสะพานปากน้ำบางตะบูนบรรยากาศดี น่าหาเวลาแวะขึ้นไปชมปากอ่าวในมุมสูง มองออกไปฝั่งทะเล เห็นกระเตงเฝ้าหอยแครงเพลินตา ต่อเข้าสู่เขตอำเภอบ้านแหลม เที่ยวชมหมู่บ้านชาวประมงขนาดใหญ่ แวะไปไหว้หลวงพ่อวัดเขาตะเครา วัดต้นสน

 

เย็นๆ อย่าพลาดโอกาสไปกินอาหารทะเลสดๆ ที่ร้านทับทิมทอง แหลมเหลว นอกจากรสชาติแล้ว บรรยากาศปากน้ำเพชรตรงช่วงนี้ยังสวยงามด้วยหมู่บ้านชาวประมง จากนั้นใช้เส้นทางเดิม ผ่านบ้านบางขุนไทร บ้านบางแก้ว สองฟากทางคือนาเกลือสีขาวทอดยาวร่วมสิบกิโลเมตร สามารถใช้เส้นทางสายเลียบอ่าวไทยฝั่งตะวันตกต่อไปเที่ยวหาดเข้าสำราญ หาดปึกเตียน และหาดชะอำได้ โดยไม่ต้องย้อนออกไปเส้นเพชรเกษม

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ททท. สำนักงานเพชรบุรี โทรศัพท์ (032) 471-005-6 ททท. สำนักงานสมุทรสงคราม โทรศัพท์ (034) 752-847-8

วันที่ผมมาถึงแผ่นดินริมทะเล