ประเวศวุฒิ ไรวา

ประเวศวุฒิ ไรวา

พูดได้เต็มปากว่าปัจจุบัน S&P คือร้านอาหารและเบเกอรี่แถวหน้าของเมืองไทย ไปที่ไหนห้างไหนคุณก็ต้องเจอ และเชื่อได้ว่าคนไทยแทบทุกคนเคยลิ้มรสอาหารและเบเกอรี่ของที่นี่มาแล้ว เท่านั้นไม่พอ S&P ยังก้าวไกลไปในตลาดโลก และยิ่งก้าวไปไกลเท่าไร สิ่งที่คุณประเวศวุฒิและ S&P ได้มอบไว้ก็มีขนาดใหญ่ขึ้น ใหญ่ขึ้น เต็มไปด้วยคุณค่า และนั่นคือเหตุผลที่เรามาพูดคุยกับผู้ชายคนนี้ ผู้ชายในวัย 60 ปีที่บอกกับทุกคนว่าเขา “พอแล้ว”

 

วัยเด็กที่เริ่มต้น 

ชีวิตในวัยเด็กของสุภาพบุรุษ คุณประเวศวุฒิ ไรวา หลายคนอาจมองว่า เขาเกิดในตระกูลดี มีเงินทองมากมาย อยากได้อะไรต้องได้ ร้องขออะไรก็ต้องมี แต่เขายืนยันว่าใครที่รู้จักคุณพ่อเขาดี จะทราบได้เลยว่าท่านไม่เคยเลี้ยงลูกแบบนั้น

 

“ผมเป็นลูกชายคนสุดท้อง คุณพ่อคุณแม่ผมมีลูกทั้งหมด 6 คน คนโตคือคุณภัทรา ศิลาอ่อน (นามสกุลเดิม ไรวา) เป็นพี่สาวคนโต ร้อยโทวรากร ไรวา กับคุณขจรเดช ไรวา เป็นพี่ชายอีกสองคน ส่วนอีก 2 คนคือพี่สาวคนรองกับน้องสาวคนเล็ก เสียชีวิตไปแล้ว

 

“หลายคนอาจจะคิดว่าผมถูกเลี้ยงมาอย่างตามใจ แต่ใครก็ตามที่รู้จักคุณพ่อคุณแม่ผมจะรู้ได้เลยว่าท่านทั้งสองไม่ได้เป็นคนตามใจ คุณพ่อผมเป็นนักธุรกิจสมัยก่อน คุณพ่อเรียกได้ว่าเป็นนักธุรกิจที่ร่ำรวยและมีชื่อเสียงมากๆ ของประเทศไทยในสมัยนั้น รุ่นเดียวกับ คุณถาวร พรประภา, คุณเชาว์ เชาว์ขวัญยืน, คุณชิน โสภณพนิช คุณพ่อทำธุรกิจเกือบทุกอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศไทย คุณพ่อเริ่มมาหมดแล้ว ด้วยความที่คุณพ่อเป็นคนทำงานแบบเดินหน้าอย่างเดียว ลูกๆ ก็เลยโตไม่ทัน เลยไม่มีใครสืบทอดสิ่งที่คุณพ่อทำ

 

“ส่วนคำถามที่ว่าผมถูกเลี้ยงมาแบบไหน ก็ตอบได้ง่ายๆ ว่า ผมถูกเลี้ยงมาแบบลูกพ่อค้า ไปไหนก็ต้องตามไปด้วย ตัวเล็กๆ เดินตามพ่อไปประชุมที่ธนาคารก็ต้องไปด้วย ไปนั่งคอยฟัง เพราะพ่อเป็นคนที่ต้องการให้ลูกๆ ทุกคนได้เรียนรู้ในสิ่งที่คุณพ่อทำ ต้องเข้าไร่ เพราะคุณพ่อทำไร่ด้วย ผมตามไปดูเรื่องการทำโรงงานแป้งมันสำปะหลัง เพราะเราเป็นโรงงานแห่งแรกๆ ของเมืองไทย คุณพ่อยังเป็นคนที่ริเริ่มโครงการฟาร์มโคนมแห่งประเทศไทยเป็นคนแรกๆ ในอดีตคุณพ่อเคยสั่งวัวมาจากเดนมาร์กเพื่อมาขาย วัวราคาตัวละเป็นหมื่นบาท เข้ามาเลี้ยงที่ศรีราชาครั้งละหลายร้อยตัว แต่ช่วงนั้นคนก็ไม่นิยมดื่มนมเหมือนทุกวันนี้ กิจการโคเนื้อคุณพ่อก็มีฟาร์มที่ทันสมัยมาก เรียนรู้เทคนิคแบบญี่ปุ่นที่เลี้ยงโคเนื้อโกเบ รวมทั้งฝึกคนไปต่างประเทศเพื่อกลับมาบริหารฟาร์มของท่าน ทั้งหมดที่คุณพ่อเป็น ทำให้ผมไม่ได้ถูกเลี้ยงมาแบบลูกคนรวย ผมถูกเลี้ยงมาแบบธรรมดามากๆ”

 

ชีวิตเหมือนฟ้าลิขิต

อนาคตของใครหลายคนมักถูกกำหนดไว้ตั้งแต่วัยเยาว์แล้วว่าโตขึ้นจะเป็นอะไร และคนที่กำหนดสิ่งเหล่านี้ก็คงจะไม่ใช่ใครอื่น นอกจากพ่อแม่ผู้ปกครอง คุณประเวศวุฒิก็เช่นกัน เขาถูกขีดเส้นไว้แล้วตั้งแต่เล็กๆ ว่าโตขึ้นจะต้องทำอะไร จะประกอบอาชีพอะไร 

 

“จริงๆ แล้วอนาคตของพวกเรา ทั้งผมและพี่ๆ น้องๆ ทุกคน คุณพ่อคุณแม่ระบุไว้แล้วว่าใครต้องทำอะไรบ้าง อย่างผมโดนระบุไว้เลยว่าจะต้องเป็นนักการทูต ต้องเรียนศิลป์-ฝรั่งเศส จบไปต้องรับราชการ ทำให้ตั้งแต่ในอดีตผมก็เรียนหนังสือเพื่อไปแนวทางนี้ตลอด อยู่อัสสัมชัญผมก็เรียนภาษาฝรั่งเศส เพราะสมัยก่อนมีความเชื่อว่าถ้าอยู่ในแวดวงทางด้านกฎหมาย ต้องเรียนภาษาฝรั่งเศส ผมก็เรียน แล้วพอเข้าเตรียมอุดม ก็อยู่เตรียมศิลป์ เตรียมเข้ารัฐศาสตร์ ก็เดินตามที่วางไว้ทุกอย่าง พี่ชายผมทั้งสองคนก็เป็นอย่างนั้น เขาก็เรียนเกี่ยวกับการค้าอะไรต่างๆ แล้วผมก็สอบติดรัฐศาสตร์การทูตที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ก็ไม่ได้เรียนที่จุฬาฯ เพราะไปเรียนต่อเมืองนอกเสียก่อน

 

“ในช่วงนั้นครอบครัวผมไม่เคยมีใครเป็นข้าราชการพลเรือนมาก่อน คุณพ่อเป็นพ่อค้า ก่อนหน้านี้คุณพ่อเคยรับราชการตำรวจ แต่สุดท้ายก็มาเป็นพ่อค้า ถ้าผมรับราชการก็จะเป็นคนแรกที่รับราชการพลเรือนจริงจัง ผมเองตั้งใจที่จะรับราชการ ทุกอย่างยังคิดเหมือนเดิมหมด แม้กระทั่งตอนที่ไปเรียนต่อต่างประเทศที่สหรัฐฯ ผมก็ไปเรียนรัฐศาสตร์การทูต ก็คิดไว้ตลอด

 

“แต่มีจุดเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตอนที่ผมจบปริญญาตรี เผอิญผมไม่สบาย ไม่สบายโดยที่ไม่รู้มาก่อนว่าไม่สบาย ผมเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจ ผมก็เลยคิดว่าถ้าเป็นอย่างนี้คงไม่ได้รับราชการแน่ๆ เพราะมีปัญหาที่หัวใจ ก็เลยเปลี่ยนแนว แล้วก็ไม่ได้คิดว่าจะต้องรับราชการ จากนั้นก็กลับมาทำงานกับคุณพ่อที่ประเทศไทย”

 

พ.ศ.2516 ปีเริ่มต้นความอร่อย

ชีวิตที่ผกผันจากการเกือบได้เข้ารับราชการของคุณประเวศวุฒิ ทำให้เขาได้มีโอกาสเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการกำเนิดเกิดขึ้นของ S&P และจุดเริ่มต้นของแบรนด์ไทยที่ดังไปก้องโลก ก็ไม่ได้เริ่มที่ร้านใหญ่โตหรือมีการวางแผนล่วงหน้าว่าจะต้องประสบความสำเร็จไปไกล เพราะวันแรกที่เริ่มต้นนั้น S&P เป็นเพียงแค่ร้านไอศกรีมเล็กๆ ในซอยสุขุมวิท 23 เท่านั้น

 

“หลังจากที่ผมกลับมาทำธุรกิจกับคุณพ่อที่ประเทศไทย ช่วงนั้นคุณพ่อกำลังทำธุรกิจเกี่ยวกับมันสำปะหลัง ผมก็มาทำด้วย พร้อมกับพี่ชายอีกสองคน (ร้อยโทวรากร ไรวา กับ คุณขจรเดช ไรวา) แต่หลังจากนั้นไม่นานธุรกิจมันสำปะหลังก็เริ่มไม่ค่อยดี กำไรลดลง คู่แข่งก็เยอะ ก็เลยเปลี่ยนมาเป็นธุรกิจอาหาร เพราะในช่วงนั้นธุรกิจอาหารยังมีช่องว่างอีกเยอะ ธุรกิจอาหารของเราเริ่มขึ้นโดยความต่อเนื่องจากที่ในอดีตคุณพ่อคุณแม่มีธุรกิจโรงแรมอยู่ ชื่อโรงแรมแกรนด์โฮเต็ล เป็นธุรกิจโรงแรมที่ให้การบริการกับทหารอเมริกัน เพราะตอนนั้นเป็นช่วงสงครามเวียดนาม แต่หลังจากที่สงครามเวียดนามจบ เราก็หยุดธุรกิจโรงแรมไปด้วย เพราะทหารกลับบ้านหมดแล้ว เราก็ปิดกิจการ ส่วนอุปกรณ์ต่างๆ ที่เหลือของในโรงแรมก็เหลือเยอะ น้องสาวคนสุดท้องของผมที่จากไปแล้ว ก็เลยคิดว่าเราน่าจะทำอะไรสักอย่างกับมัน และเหตุผลที่ธุรกิจ S&P เริ่มต้นที่ซอยสุขุมวิท 23 ก็ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนเลย เป็นเพราะว่าคุณแม่ของผมไปตัดเสื้อที่ซอยนั้นบ่อยๆ น้องสาวผมก็เลยเสนอให้เปิดร้านไอศกรีมเล็กๆ ขึ้นมา ชื่อร้าน S&P ไอศกรีม คอร์นเนอร์

 

“ความหมายของชื่อ S&P จริงๆ ก็ไม่มีอะไรมากมาย มันเป็นชื่อของผู้ก่อตั้ง น้องสาวผมชื่อขึ้นต้นด้วยตัว S พี่สาวผมชื่อขึ้นต้นด้วยตัว P แล้วก็มีอีกสองท่านคือพี่สะใภ้ที่ชื่อขึ้นต้นด้วยตัว P แล้วก็น้าสาวของผมอีกคนหนึ่ง ชื่อขึ้นต้นด้วยตัว S พี่สาวผมก็เลยบอกว่าน่าจะตั้งชื่อแบบนี้ มีคนถามว่าแล้วทำไมไม่ใช่ชื่อไทย ก็ต้องยอมรับว่าชื่อภาษาไทยในสมัยก่อนมันดูเชย ก็เลยตั้งชื่อให้มันดูอินเตอร์หน่อย เลยกลายเป็นชื่อของผู้ก่อตั้ง ไม่ได้มีความหมายหรือนัยยะอื่นๆ แม้แต่นิดเดียว ตอนที่ตั้งชื่อพวกเราก็คิดแค่นี้เอง ภายหลังที่มาเปิดสาขาที่สยาม พวกนักศึกษาที่จุฬาฯ เขาก็ตั้งให้ว่าย่อมาจาก ซิ้มแอนด์แป๊ะ (หัวเราะ) ส่วนโลโก้ของเรา สมัยครั้งแรกที่เราเริ่มเปิดร้าน ผมจ้างให้เขาทำในราคาแค่ 800 บาทเท่านั้นเอง แล้วก็ปรับมาครั้งล่าสุดเป็นครั้งที่สาม สองครั้งหลังก็ใช้เงินหลายล้าน ก็มีคนแซวว่า ครั้งแรกแปดร้อย ครั้งที่สองแปดล้าน”

 

คนสร้างแบรนด์ 

นอกจากสโลแกนในปัจจุบันของ S&P ที่บอกว่า S&P “ชื่อนี้มีแต่ของอร่อย” แล้ว ในอดีต หลายท่านคงรู้จัก S&P ในฐานะร้านที่มีเค้กรสชาติอร่อย ใครอยากสั่งเค้กในยุคสิบกว่าปีที่แล้ว ชื่อของ S&P จะถูกเอ่ยเป็นชื่อแรกๆ สิ่งที่ทำให้เค้ก S&P กลายเป็นกระแสของโลกในยุคนั้น และก้าวผ่านมายังยุคปัจจุบันได้ ไม่ใช่แค่ความอร่อยเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีสิ่งอื่นๆ ที่สำคัญมากกว่านั้น

 

“ถ้ามีคนบอกว่า เค้ก S&P ของผมอร่อยที่สุด ผมก็คงตอบได้ง่ายๆ ว่าเป็นไปไม่ได้ มีเค้กที่อื่นอร่อยกว่าเยอะ แม้แต่เค้กแบรนด์ในไทยเองก็ตาม แต่สิ่งที่ทำให้ S&P มีจุดที่ดี และโดดเด่นกว่าเค้กร้านอื่นๆ เป็นเพราะว่าเราเป็นร้านที่มีความคิดสร้างสรรค์ ผมว่าสิ่งนี้เองที่เป็นสิ่งสำคัญ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เรามีตั้งแต่แรกเริ่มเลย เรายึดเรื่องนี้เป็นหลักในการทำธุรกิจมากๆ จริงๆ เรื่องนี้มันไม่ได้ยาก ตอนนั้นผมคิดเรื่องแรกเลยว่า ทำอย่างไรให้แพ็กเกจสวย”

 

ตัวอย่างหนึ่งที่เป็นคล้าสสิกเคสที่น่าจดจำเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องการทำให้ขนมไหว้พระจันทร์ซึ่งจากเดิมดูเป็นขนมโบราณ กินยาก ไม่มีความน่าสนใจ หรือน่าใส่ใจ รอคอยวันที่จะเลือนหายไป ยิ่งเมื่อกลุ่มคนสมัยใหม่ ต้องการอะไรที่ดูอินเทร็นด์ และมีความเท่ ก็ยิ่งต้องมีการเปลี่ยนแปลง

 

“ในอดีต ถ้าพูดถึงขนมไหว้พระจันทร์ ภาพที่ผู้คนส่วนใหญ่นึกออก คนทำจะใส่เสื้อกล้าม เหงื่อไหลไคลย้อย แล้วก็ทำใส่แท่นไม้ ที่มีหลุมเป็นก้อนๆ เวลาทำก็ดูไม่ค่อยสะอาดเท่าไร ยิ่งไปกว่านั้นก็คือใส่สารกันบูดเยอะมาก ด้วยความที่เทคโนโลยีในสมัยก่อนมันไม่ดีเหมือนในปัจจุบัน เราก็เลยมานั่งคิดว่าแล้วจะทำอย่างไรมันถึงจะขายได้ ก็สรุปว่าต้องทำแพ็กเกจใหม่ เราก็เลยกลายเป็นผู้ผลิตขนมไหว้พระจันทร์รายแรกในประเทศไทยที่ทำแพ็กเกจที่ดูดี สวยงาม และกลายเป็นสินค้าที่ติดตลาดไป

 

“จากนั้นแทนที่คนจะนำไปไหว้ในเทศกาลไหว้พระจันทร์ ก็มีการเปลี่ยนแนวคิด กลายเป็นของขวัญที่มอบให้กันในช่วงเทศกาลนี้ นี่ก็คือจุดเล็กๆ ที่ทำให้เห็นว่าทำไมเค้กหรือสินค้าของ S&P ถึงมีจุดแตกต่างตั้งแต่ในสมัยอดีต เพราะเราเน้นที่การสร้างแบรนด์ พอแบรนด์มันดีขึ้นมา ความน่าเชื่อถือมันก็เกิดขึ้น หรือพูดง่ายๆ ว่า ทำอย่างไรก็ได้ ขอให้การสร้างแบรนด์ประสบผลสำเร็จ ธุรกิจก็สามารถดำเนินต่อไปได้

 

“หลายคนอาจจะมองว่า ผมเป็นคนชอบชนกับปัญหา จริงๆ แล้วโดยนิสัย ผมเป็นคนชอบเลี่ยงปัญหานะ คือเลี่ยงที่จะไม่ให้เกิดปัญหา แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม เราก็ต้องเข้าไปแก้ปัญหา แล้วผมก็ทำให้ปัญหาของผมกลายเป็นโอกาส เหมือนที่เขาชอบพูดกันว่า พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส อย่างช่วงตอนที่มีลูกค้าสั่งเค้กเราเยอะมาก มีอยู่รายหนึ่ง ตอนนั้นเป็นช่วงปีใหม่ เขาก็สั่งเค้กกับเราร้อยก้อน แล้วให้เราเป็นผู้แจกให้กับลูกค้าของเขา พอเราแจกเสร็จ หลังจากนั้นประมาณสี่ห้าวันก็มีโทรศัพท์กลับมา เขาบอกเราว่าเค้กที่ส่งไปให้ลูกค้าเขาเสียหมดเลย ผมก็คิดในใจว่าอากาศเมืองไทย ผ่านไปสี่ห้าวันเค้กมันต้องเสียแน่ๆ แต่ผมก็บอกว่า ไม่เป็นไรครับ ผมจะจัดการให้ แล้วผมดำเนินการเขียนจดหมายจาก S&P ไปขอโทษลูกค้าทุกคน แล้วจัดการส่งเค้กใหม่ไปให้ทั้งหมด ทุกคนได้รับเค้กก้อนใหม่หมด ลูกค้าเขาแฮปปี้มาก ตอนนั้นแทนที่ผมจะได้ลูกค้าคนเดียว ผมได้ลูกค้าเพิ่มอีกหนึ่งร้อยคน

 

“ข้อนี้เป็นเรื่องสำคัญมากในการทำธุรกิจ เราต้องตอบรับให้เร็ว เกิดปัญหาเมื่อไร เราต้องรีบแก้ ยิ่งเราเป็นเจ้าของธุรกิจ เราต้องลงมือไปแก้เองเลย ผมโทรไปคุยเลย ลูกค้าเขาก็รู้สึกดี ผมก็บอกว่ามีอะไรให้ติดต่อผมโดยตรงได้เลย คือส่วนมากเวลาที่เราเจอปัญหาหรือทำผิดพลาด เราจะปฏิเสธไว้ก่อน ผมบอกพนักงานทุกคนเลยว่า เราต้องไม่ปฏิเสธ ลูกค้าว่าอย่างไร เราก็ขอรับผิดไปก่อน ทำอย่างไรก็ได้ให้ลูกค้าคิดว่าเราเป็นพวกเดียวกับเขา แล้วการแก้ปัญหาต่างๆ ก็จะง่ายขึ้น” 

 

ยึดมั่นหลักการ ผ่านพ้นอุปสรรค

ธุรกิจการค้าหลายๆ ประเภทที่สามารถเติบโตได้มากขึ้นในยุคยี่สิบปีให้หลังมานี้ รสชาติไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่จะทำให้ผู้บริโภคหันมาสนใจเท่านั้น แต่การบริการกลับเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า หากรสชาติอาหารอร่อย คนก็บอกต่อๆ กันไป 
ลูกค้าก็จะมากันมากมาย แต่เมื่อใดก็ตามที่มองข้ามเรื่องของการบริการไป ในไม่ช้า ธุรกิจก็มีแนวโน้มที่จะล่มสลายได้เช่นกัน และ S&P ก็ใช้หลักการง่ายๆ บอกกับบุคลากรในองค์กรเสมอๆ ว่า เราไม่ต้องการลูกค้าระยะสั้น

 

“หลักการในการทำธุรกิจของผม มันมีหลักง่ายๆ อีกอย่างหนึ่งที่ใช้และพูดให้พนักงานฟังอยู่ตลอด และเป็นความตั้งใจหลักๆ ของ S&P เลยก็ว่าได้ นั่นก็คือเราไม่ได้ต้องการลูกค้าระยะสั้น แต่เราต้องการลูกค้าระยะยาว ซึ่งพอพูดแค่นี้ 
ทุกคนก็จะเข้าใจตรงกันหมดเลยว่าการที่เราจะได้ลูกค้าระยะยาว เราต้องทำอย่างไร ต้องทำทุกอย่างให้ดีที่สุด มาตรฐาน
ต้องดี การบริการต้องดี สินค้าเราก็ต้องดี นอกจากนั้นแล้วเราก็ต้องมีความตั้งใจที่ดีอีกด้วย ถ้าอยากอยากทำอะไรให้มันดี แล้วเราไม่มีความตั้งใจให้มันดี มันก็คงจะไม่มีทางดีได้ ความสม่ำเสมอ ความเสมอต้นเสมอปลายก็ต้องมี หลักการที่เรามีเราวางไว้อย่างไร เราต้องปฏิบัติตามนั้น ผมยึดหลักเหล่านี้มาตลอด พี่สาวผม คุณภัทราเป็นผู้กำหนดไว้ เราก็ยึดถือ พนักงานก็จะถูกปลูกฝังด้วยความคิดเหล่านี้มาตลอด

 

“แต่ถึงเราจะปลูกฝังดีอย่างไรก็ตาม มันก็เป็นเรื่องยากที่จะทำให้ทุกคนหันมาคิดเหมือนเรา การทำธุรกิจในชีวิตของผม อุปสรรคที่ต้องเจอเยอะที่สุดก็คือเรื่องคน นับวันยิ่งจะหายากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งในธุรกิจบริการ คนที่ดีๆ ทำงานบริการดีๆ จะเป็นคนที่สำคัญมากๆ ไปที่ไหนคนก็ต้องการ ยิ่งคนที่อยู่ S&P คนข้างนอกเขาต้องการหมด เหตุผลก็ง่ายๆ เพราะเขาผ่านการเทรนนิ่งมาแล้ว เรามีศูนย์ฝึกอบรมพนักงาน ใครก็ตามที่จะเข้ามาทำงานกับเราต้องผ่านการอบรมนี้ก่อน

 

“ปัจจุบันเราข้ามไปอีกสเต็ปหนึ่ง เราสร้างนักเรียนเลย เราทำเป็นโรงเรียน คล้ายๆ กับโรงเรียนปัญญาภิวัฒน์ของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เราใช้ชื่อว่า ศูนย์การเรียน S&P อยู่ใน RCA อาคาร C เปิดมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 เราให้ฟรีค่าหน่วยกิตตลอด 3 ปี ฟรีอาหาร 2 มื้อในวันฝึกปฏิบัติ ฟรีชุดฝึกปฏิบัติ แถมยังมีรายได้ในวันฝึกปฏิบัติ จบแล้วมีงานทำ ส่วนงานที่ผู้ที่เรียนจบจะเลือกทำนั้น จบแล้วจะไปทำที่ไหนก็ได้ จะเห็นว่าเราก็พยายามตอบแทนสังคมเหมือนกัน ในขณะเดียวกันมันก็ทำให้เราสร้างบุคลากรให้กับตัวเองได้ด้วย ซึ่งมันก็ทำให้แก้ไขปัญหาเรื่องคนไปได้ส่วนหนึ่ง

 

“นอกจากนั้นแล้ว การมีอุปสรรคก็ทำให้เราได้โอกาสที่ดีเหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น สภาวะต้มยำกุ้งเมื่อปี พ.ศ.2540 จากจุดนั้นเองเป็นสาเหตุที่ทำให้เราต้องมีส่วนลดทุกวันจันทร์ 25% (ปัจจุบันเป็นทุกวันพุธลด 20%) จริงๆ ตอนนั้นบอกได้เลยว่า เราไม่ได้ประสบปัญหาเราถึงได้ลดราคา แต่เรารู้ว่าผู้บริโภคของเรามีปัญหา เราถึงได้ทำโพรโมชั่นนี้ขึ้นมา แล้วเราไม่เคยคิดว่าของเราแพง เราถึงต้องลดราคา เพราะถ้ามีคนมาบอกว่าของคุณแพง ใช่ครับ บางคนอาจจะมองว่าแพง แต่สำหรับบางคนอาจจะมองว่าไม่แพง

 

“อย่างหนึ่งที่ผมพอบอกได้ก็คือ การทำสินค้าขึ้นมาแต่ละชิ้น มันมีกระบวนการในการผลิตขึ้นมา ซึ่งไม่ใช่ว่าอยากกินปุ๊บ แล้วมันจะมาวางตรงหน้าคุณเลย ไม่ใช่ มันต้องผ่านกระบวนการตั้งมากมาย คือถ้าเรามองให้ลึกเข้าไปถึงสิ่งที่เรากินเข้าไป เราก็จะรู้สึกเข้าใจและประทับใจมันมากขึ้น อย่างที่บอกข้างต้น เรามีมาตรฐาน มีการควบคุมตั้งแต่วัตถุดิบ จนถึงคนที่มาผลิตสินค้า ไม่ใช่ว่าใครก็มาทำได้ ต้องมีการอบรมมาก่อน และที่สำคัญ เราไม่ได้เน้นแค่เรื่องรสชาติ เราเน้นเรื่องของการบริการด้วย”

 

ครอบครัวดี สังคมดี

แม้ว่าคุณสุริยน คุณพ่อของคุณประเวศวุฒิ จะเป็นผู้ที่ทำธุรกิจมากมาย แต่ท่านก็ไม่เคยลืมเลือนครอบครัว ยังคงดูแลและเอาใจใส่ลูกๆ ทุกคนเป็นอย่างดี ในจุดนี้เองที่ทำให้คุณประเวศวุฒิมองเรื่องครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญ ลูกมาเป็นที่หนึ่ง เมื่อลูกเริ่มเข้าสู่วัยเรียน เขาจะเป็นผู้ไปส่งลูกไปโรงเรียน และไม่ใช่แค่เขาเท่านั้น พี่น้องคนอื่นก็ทำแบบนี้ด้วยเช่นกัน

 

“ผมมองว่าเรื่องของครอบครัวมันเป็นเรื่องพื้นฐาน เป็นจุดเริ่มต้นของการที่เด็กหรือลูกๆ เราจะเป็นคนที่ดีได้ ถ้าเราไม่มีจิตใจที่ดีต่อครอบครัว แล้วเราจะไปมีจิตใจดีต่อคนอื่นได้อย่างไร ผมว่ามันเป็นรากฐานที่สำคัญ ไม่เกี่ยวว่าต้องเป็นคนไทย คนต่างประเทศก็คิดแบบนี้เหมือนกัน ผมว่าถ้าครอบครัวดี ทุกอย่างจะดีหมด

 

“สำหรับเรื่องของการแบ่งเวลาให้กับครอบครัว ผมไม่เคยแบ่งนะ แล้วก็ไม่ใช่ว่าเมื่อไรว่างก็เมื่อนั้น คือมันต้องมีเวลา ไม่มีเวลาให้ครอบครัวไม่ได้ ทุกคนมีเวลา 24 ชั่วโมงต่อวันเท่ากันหมด แต่มันก็ไม่ใช่ว่าเราจะทำงานตลอด 24 ชั่วโมง เราต้องมีความเอาใจใส่ ให้ความใกล้ชิดมากๆ วิธีการของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน แต่สำหรับผม ผมให้เวลากับลูกและภรรยาค่อนข้างเยอะ หลายคนอาจจะมองว่ามันอาจจะเบื่อก็ได้ เพราะการใกล้ชิดสำหรับบางคนอาจเป็นการแสดงความรัก แต่สำหรับบางคนอาจทำให้ไม่อยากรักก็ได้ ก็ต้องตามสถานการณ์แต่ละครอบครัว

 

“แต่อย่าลืมว่าจะทำอย่างไรให้เขาดูแลเราอย่างมีความสุขที่สุด แล้วเราก็ดูแลเขาอย่างมีความสุขที่สุด เคยได้ยินไหมที่ว่า มันไม่มีอะไรถูกใจเราไปเสียหมด และมันก็ไม่มีอะไรที่ทำให้เราพอใจได้ทั้งหมด เราต้องมีคำว่า พอ มันถึงจะมีความสุข”

 

คำสอนจากพ่อ 

ชีวิตของหลายๆ คนที่ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นในเชิงธุรกิจหรือด้านอื่นๆ คำสอนของผู้เป็นพ่อและแม่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะผลักดันให้เขาเหล่านั้นประสบความสำเร็จ คุณประเวศวุฒิเองก็เป็นหนึ่งในผู้ที่นำคำสอนของคุณพ่อมาคอยย้ำเตือนเพื่อดำเนินชีวิตให้ถูกต้องตามครรลอง

 

“ในชีวิตผม มีคำพ่อคำหนึ่งที่ผมจำได้แม่นตลอดและยึดถือเป็นหลักในการดำเนินชีวิตมาตลอด เพราะคุณพ่อมักจะพูดว่า มือของผู้ให้ สูงกว่ามือของผู้รับเสมอ เป็นคำที่ผมจำมาตลอด ตอนแรกผมก็ไม่ค่อยเข้าใจเหมือนกันว่าคุณพ่อหมายถึงอะไร แต่สิ่งที่คุณพ่อท่านกำลังจะบอกก็คือ สังเกตไหมเวลาที่คนเขาจะให้อะไรใคร มือเขาจะสูงกว่ามือคนรับ อันนี้คือความเข้าใจขั้นต้น แต่ที่ลึกไปกว่านั้นที่คุณพ่อสอนก็คือ ให้มีจิตใจเมตตา คือพูดง่ายๆ คนที่ให้ จิตใจจะสูงกว่า คนที่รับใจเขาก็สูงเหมือนกัน แต่ความรู้สึกของเราซึ่งเป็นผู้ให้มันจะช่วยให้จิตใจเรายกขึ้น เวลาที่ผมพูดให้พนักงานฟัง ผมก็จะพูดเรื่องนี้ตลอด สิ่งนี้เป็นสิ่งที่อยากให้ทุกคนนำไปปฏิบัติ

 

“ถ้าจะให้ผมพูดถึงครอบครัว พูดแล้วก็เหมือนว่าจะออกไปทางลิเกๆ หน่อย คือเป็นครอบครัวที่มีคุณธรรม และในปัจจุบันคนในครอบครัวก็ยังให้ความเคารพ รักใคร่ และสามัคคีกลมเกลียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความเคารพต่อพี่ ผมก็ยังให้ความเคารพต่อพี่ใหญ่ คุณภัทรา เสมอ ไม่ว่าจะมีเรื่องอะไรก็ตาม เราก็จะฟังคนที่เป็นผู้ใหญ่กว่าทุกครั้ง แม้ความคิดอาจจะไม่ใช่อย่างนั้นก็ตาม แต่เราก็ต้องฟัง ถ้าครอบครัวบอกว่านี่เป็นสิ่งที่เราต้องทำ เราก็ต้องทำอย่างนั้น มันเป็นไปไม่ได้หรอกว่าความคิดทุกคนจะเหมือนกันตลอดเวลา แต่ถ้าเราอยู่ร่วมกันแล้วมีความเคารพในความคิดของแต่ละคน โดยเฉพาะความคิดของผู้ใหญ่ ก็จะทำให้อยู่กันได้อย่างมีความสุข”

“มือของผู้ให้ สูงกว่ามือของผู้รับเสมอ”