สีชัง
เมื่อมาเยือนเกาะสีชัง จากท่าเรือเทววงศ์ หรือที่คนที่นี่เรียกกันว่าท่าล่าง สีสันของตลาดและความเป็นเมืองจะเข้ามาทักทายให้เราได้สนุกสนาน สามล้อสกายแล็บสีสันฉูดฉาดดูจะเหมาะกับการนั่งเที่ยวรับลมทะเลไปตามถนนสายเล็กๆ ที่วนเวียนไปรอบๆเกาะสีชัง
ด้วยการตั้งอยู่กลางทะเลในเป็นแนวพัดผ่านของกระแสลม ทั้งยังเป็นเกาะที่ตั้งอยู่ใกล้ปากแม่น้ำเจ้าพระยา และอยู่ใกล้กรุงเทพฯมากที่สุด ผู้คนในอดีตจึงเดินทางมาเยือนสีชังกันรุ่นต่อรุ่น
ในสมัยรัชกาลที่ 4 ด้วยเรือกลไฟชื่อ “สยามอรสุมพล” พระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาที่เกาะแห่งนี้เป็นครั้งแรก เมื่อมาประทับทรงสังเกตเห็นว่าชาวบ้านที่มีอายุยืนเกินกว่า 100 ปีขึ้นไปมีเยอะ จึงทรงเห็นว่าอากาศที่นี่น่าจะทำให้ร่างกายแข็งแรง ท่านจึงเสด็จพระราชดำเนินมาประพาสที่นี่อยู่บ่อยๆ
ยิ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 เกาะสีชังได้พัฒนาขึ้นเป็นท่าเทียบเรือของบรรดาเรือสินค้าจากต่างประทศ ก่อนจะล่องเข้าสู่เจ้าพระยาความเจริญและการพัฒนาจึงได้ผูกพันให้คนกับแผ่นดินที่นี่กลายเป็นเมืองและกลายเป็นที่พักตากอากาศเพื่อพักฟื้นยอดนิยมของพระบรมวงศ์ ที่แพทย์หลวงล้วนถวายคำแนะนำให้เจ้านายหลายพระองค์เสด็จมาพักรักษาพระวรกายที่เกาะ โดยเฉพาะ พระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าอัษฏางค์เดชาวุธ ที่ทรงมีพระอาการมากที่สุด จึงต้องเสด็จมาพักรักษาพระองค์อยู่ที่เกาะสีชังยาวนานที่สุดรัชกาลที่ 5 ท่านจึงต้องเสด็จมาอภิบาลพระราชโอรสพระองค์นี้เป็นประจำ และนั่นทำให้ถนนหนทางและสิ่งก่อสร้างบนเกาะส่วนใหญ่ล้วนปรากฏเป็นชื่ออัษฏางค์เสียเป็นส่วนใหญ่
หลายสิ่งพัฒนาไปจนความห่างไกลและท้องทะเลต้องยอมแพ้ต่อแรงบัลดาลใจและความดิ้นรนในการเป็นอยู่ของมนุษย์
สีชังไม่ได้เป็นเพียงเกาะที่พักของสินค้า แต่ยังงดงามอยู่ด้วยธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ของวันเวลา สิ่งก่อสร้าง และความเป็นอยู่ของผู้คน
ที่ศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ซึ่งตั้งอยู่บนเขา ห่างไปทางด้านเหนือของเกาะ เมื่อขึ้นไปมองลงมายังทิวทัศน์บ้านเรือนหน้าเกาะ มีเพียงวิวเปิดสายตา แต่ศรัทธาของผู้คนเชื้อสายจีนที่ตกทอดอยู่ในหินรูปปางคล้ายคนนั่งซึ่งผ่านการบูชากราบไหว้ของคนมายาวนานตั้งแต่การรอนแรมของพ่อค้าชาวจีนที่ล่องเรือผ่านมาในอดีต หรือคนไทยเชื้อสายจีนบนเกาะแห่งนี้
สิ่งก่อสร้างบางแห่งก็เต็มไปด้วยเรื่องราว หากมาเยือนสีชัง ทุกคนต้องไปยืนมองทะเลอยู่บนสะพานอัษฏางค์ สะพานสีขาวสุดโรแมนติก ที่เป็นส่วนหนึ่งของพระจุฑาธุชราชฐาน พระราชวังตากอากาศของรัชกาลที่ 5 ที่เสด็จประทับแปรพระราชฐานในฤดูร้อนอันงดงามอยู่ด้วยตึกวัฒนา พระตำหนักทรงปั้นหยาฉลุลายขนมปังขิงในเนื้อไม้ ตึกผ่องศรีที่เป็นศาลาแปดเหลี่ยมสีขาว ตึกอภิรมย์และอุโบสถวัดอัษฏางค์นิมิตที่อยู่บนยอดเขาซึ่งสร้างขึ้นด้วยสถาปัตยกรรมไทยผสมตะวันตกแบบโกธิก แสดงถึงการติดต่อสื่อสารกับชาวต่างชาติในอดีต
บริเวณเนินเขาแห่งนี้ยังเคยเป็นที่ตั้งของพระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์ พระราชวังไม้สักที่สร้างขึ้นอย่างดงาม แต่ยังไม่ทันสร้างเสร็จก็ถูกฝรั่งเศสบุกเข้ารุกรานในสมัย ร.ศ. 112 รัชกาลที่ 5 จึงโปรดฯ ให้รื้อมาสร้างใหม่ในเขตพระราชวังสวนดุสิต กลายเป็นพระที่นั่งวิมานเมฆที่งดงามในทุกวันนี้
สีชังไม่ได้มีเพียงเรื่องราวในบ้านเรือน หากใครหลงใหลในเสน่ห์ของทะเล แถบหาดถ้ำพังก็เต็มไปด้วยบรรยากาศของชายหาดง่ายๆ ให้เลือกมุมจ่อมจมกับความเป็นทะเล ลงไปเริงร่ากับเกลียวคลื่นหรือขึ้นมานอนเล่นในเก้าอี้ชายหาด ให้ลมไกวเรือนผมเล่นจนอยากหลับตา
เมื่อยามเย็นมาเยือน การได้ขึ้นไปมองอาทิตย์ลับลงตรงเส้นขอบฟ้าที่ช่องเขาขาดทางด้านหลังเกาะดูจะเป็นความรื่นรมย์ในท้ายๆวันของคนมาเยือนสีชัง ทุกวันนี้พลับพลาที่ประทับชมทิวทัศน์ของรัชกาลที่ 5 ยังคงความงามเหมือนตอนที่มันได้ถูกใช้เป็นที่นั่งมอง หน้าผาหินรูปร่างคล้ายคลื่นที่ถูกน้ำพัดไปในทางเดียวกันเบื้องล่าง ค่อยๆ ย้อมแสงเย็นและจมลับไปกับความมืดเรื่อยมา
เรื่องของความงามที่โอบล้อมสีชังจะยิ่งมีเสน่ห์เมื่อเราเข้ามาสู่ตลาดของคนเกาะ ที่นี่ร้านสะดวกซื้อประเภทเลข 7 เลข 11 แทบไม่มีความหมาย ร้านค้าต่างๆ ล้วนเต็มไปด้วยสินค้าครบครันทั้งของสด ของแห้ง หรือความสะดวกสบายที่ข้ามมาจากฝั่ง บางร้านเปิดตลอด 24 ชั่วโมง สีสันและความคึกคักของคนเกาะสีชังที่ดูจะชัดเจนมากที่สุดก็อยู่ที่บริเวณตลาดนี่เอง ทั้งคนที่กำลังจะไปฝั่งศรีราชาหรือเพิ่งข้ามทะเลกลับมา
มันเป็นความคึกคักประเภทที่หาได้ยากแล้วในโลกที่เคลื่อนไหวเร็วอย่างทุกวันนี้
เป็นความคึกคักที่บรรจุเต็มอยู่ด้วยเรื่องราวของสุขทุกข์ เสียงหัวเราะและคำปลอบใจเป็นห่วงของคนที่อยู่ร่วมกันมายาวนาน อยู่ร่วมกันในบ้านที่แม้เก่าแก่ ทว่ามั่นคงแข็งแรงด้วยหัวใจและดวงตาคู่เดิม ไม่ว่าข้างนอกจะเร่าร้อนดวงแดด หรือกระหน่ำอยู่ด้วยสายฝนยาวนานสักเพียงใด