ปรมี แสวงรุจน์

ปรมี แสวงรุจน์

ผู้ชายมาดเท่คนนี้เขาชื่อ ปรมี แสวงรุจน์

 

นั่นคือบทบาทของเขาผ่านทางจอโทรทัศน์ที่ทำให้คนทั่วไปรู้จักเขา แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าเขามีธุรกิจของตัวเองด้วย มันเป็นธุรกิจของครอบครัวที่ทำต่อเนื่องมานานถึง 15 ปีแล้ว

 

บริษัท เมล์บ๊อกซ์ อีทีซี (ไทยแลนด์) จำกัด หรือ MBE คือธุรกิจไปรษณีย์เอกชนที่เป็นเหมือนอีกหนึ่งงานหลักของเขา บริษัทนี้ได้สัมปทานธุรกิจมาจาก MAIL BOXES ETC. USA . INC. ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2536 โดยเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขยายศูนย์บริการด้านไปรษณีย์ รับฝากส่งส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ รวมทั้งงานด้านเอกสารย่อยๆ อย่างรับถ่ายเอกสาร รับ-ส่งโทรสาร รับพิมพ์นามบัตร ทำตรายาง ปัจจุบันมีสาขากระจายอยู่ตามห้างและชุมชนกว่า 30 สาขา

 

“นอกจากพิธีกรสำรวจโลกแล้ว ผมก็เป็นกรรมการผู้จัดการของ MBE ครับ เราดำเนินธุรกิจมานานแล้ว แนวโน้มก็ดีขึ้นเรื่อยๆครับ แต่ธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่ไม่ใช่การขายของ แต่เราเน้นไปที่การบริการ ดังนั้นจึงจุดประสงค์จึงไม่ได้อยู่ที่การขยายสาขาให้มากเข้าไว้ แต่อยู่ที่คุณภาพของการบริการมากกว่า

 

“บางคนอาจจะมองว่าไปรษณีย์เอกชนแต่ละเจ้าเป็นคู่แข่งกัน แต่ความจริงแล้วเราช่วยกันโปรโมทให้คนเห็นว่ามีไปรษณีย์เอกชนต่างหาก แล้วแต่ละเจ้าก็เป็นคนละตลาดกันด้วย เพราะตัวกลางในการรับฝากไปรษณีย์นั้น มันมีทั้งที่เป็นแบรนด์ แล้วก็ที่เปิดขึ้นมาเอง แต่ธุรกิจหลักของ MBE ก็คือการขยายเครือข่าย อะไรที่ทำให้เครือข่ายขยายและแข็งแรงได้ เราก็จะทำตรงนั้นครับเพราะฉะนั้นเราไม่ได้ขายแฟรนไชส์ แต่เรากำลังหาคนที่เหมาะสมมาช่วยกันทำงานมากกว่า”

 

นั่นคือคำอธิบายคร่าวๆ ถึงเรื่องของธุรกิจไปรษณีย์เอกชนที่ปัจจุบันเรามักจะพบเห็นหรือเคยใช้บริการกันบ่อยขึ้น แรกเริ่มทีเดียวนั้น รัฐยังไม่มีการลงมาจัดระเบียบตรงส่วนนี้ แต่หลังจาก พ.ศ. 2544 ก็มีพระราชบัญญัติออกมาว่าไปรษณีย์เอกชนทุกเจ้าจะต้องจดทะเบียน และต้องแจ้งรายละเอียด หลักแหล่งที่ตั้งให้ชัดเจนจึงจะเปิดดำเนินการทำธุรกิจได้

 

“ไปรษณีย์เขามีปัญหามาตั้งนานแล้ว เพราะคนไม่พอ เลยจำเป็นที่จะต้องมีไปรษณีย์เอกชนเกิดขึ้น แต่เขาก็ทำสุดความสามารถแล้วนะครับ บางคนอาจจะนึกว่าเขาเป็นราชการ เช้าชามเย็นชาม แต่ถ้าลองไปดูจะพบว่าวันๆ หนึ่ง มีจดหมาย มีพัสดุมาเป็นหมื่นๆชิ้น ของที่ต้องส่งก็มากขึ้นทุกวัน แต่เงินเดือนยังเท่าเดิม เพราะฉะนั้นถ้ารัฐขยายไม่ได้ ก็ต้องให้เอกชนเข้ามาช่วยทำ

 

“อย่างที่เมืองนอกเขาก็ให้เอกชนเข้ามาดูแลงาน โดยรัฐเป็นคนสร้างเครือข่าย แล้วให้เอกชนเข้ามาบริการส่วนปลาย เรียกว่าเป็นส่วนเสริมธุรกิจกัน สุดท้ายผู้บริโภคก็สะดวกขึ้น

 

“สิ่งที่ทำให้ MBE ต่างจากไปรษณีย์เอกชนรายอื่นๆ ก็คือ เราเป็นเจ้าแรกในประเทศ ผ่านประสบการณ์มาเยอะ ทำผิดมาก็เยอะ ก็เลยได้แก้ไขปรับปรุง ประสบการณ์จึงเยอะตามไปด้วย แล้วบริษัทแม่ของเราก็คือ UPS (United Parcel Service) ซึ่งเป็นบริษัทขนส่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพราะฉะนั้นชื่อชั้น แบ็คอัพทางการเงินก็ย่อมจะดีที่สุด

 

“ส่วนเรื่องของทัศนะในการทำธุรกิจ เราต้องการขยายเครือข่ายในระยะยาว ตรงนี้มันเลยเป็นโจทย์ที่กำหนดทิศทางของการทำธุรกิจไปในตัว”

 

คุณปรมี จบการศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ จากประเทศนิวซีแลนด์ โดยก่อนหน้านั้นเขาเคยเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์มาก่อน

 

“ต้องยอมรับว่าวิศวะเป็นอะไรที่เรียนยาก แล้วเราก็ไม่ถนัดด้านนี้ด้วย สุดท้ายผมก็เลยเปลี่ยนมาเรียนเศรษฐศาสตร์ เพราะคิดว่ารทางบ้านเองก็ทำธุรกิจอยู่ น่าจะช่วยตรงนี้ได้บ้าง

 

“สิ่งที่ได้จากการเรียนที่ต่างประเทศก็คือ เรื่องภาษากับเรื่องของวินัย ส่วนเรื่องของการศึกษาถึงแม้จะไม่ได้ทำงานตรงที่เรียนมาแต่จริงๆ แล้ว ผมคิดว่าการศึกษานั้นเป็นการฝึกเรื่องการจัดลำดับความสำคัญ ฝึกทักษะการเรียนรู้ ฝึกวินัยมากกว่าครับ”

 

แน่นอนว่าเขาเป็นถึงพรีเซนเตอร์ของสินค้าที่เน้นเรื่องของการช่วยลดโลกร้อน เพราะฉะนั้นถ้าเราจะไม่ถามถึงความคิดเห็นที่เขามีต่อเรื่องนี้ ก็ดูจะขาดอะไรไป วันนั้นเราจึงถามคำถามทิ้งท้ายเกี่ยวกับเรื่องนี้

 

“เรื่องของโลกร้อน มันจะเป็นกระแสหรือเอาจริงเอาจัง ส่วนตัวผมเองคงตอบแทนไม่ได้ แต่เอาง่ายๆ ว่าเมื่อเทียบกรุงเทพฯ วันนี้กับเมื่อสิบปีที่แล้ว เราคงจะเห็นการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน ไม่ต้องเอาตัวเลขทางวิทยาศาสตร์มาวัด เอาแค่มองดูก็รู้ว่ามันมืดกว่าเมื่อก่อน ร้อนกว่าเมื่อก่อน รถก็เยอะขึ้น

 

“เพราะฉะนั้น วันนี้ไม่ว่าโลกจะปรับตัวเองได้หรือไม่ วันนี้เราไม่รอได้มั๊ย ก็แค่ช่วยกันสักหน่อยได้มั้ย แค่นี้ก็น่าจะดีขึ้น จริงๆ สารที่ต้องการจะสื่อเกี่ยวกับเรื่องโลกร้อนมีอยู่เท่านี้เอง

 

“อย่างออฟฟิศผมอยู่ชั้น 23 มันเป็นชั้นเดียวที่มีลิฟท์จอดที่ชั้นนี้ทั้งสองข้าง ผมก็จะกดลิฟท์ฝั่งเดียวให้เป็นตัวอย่างกับพนักงานไม่กดลิฟท์พร้อมๆ กันสองฝั่ง แค่นี้ก็เป็นตัวอย่างเล็กๆ ที่เราพอจะทำได้ ถามว่าช่วยโลกได้มั้ย ก็น่าจะช่วยได้ แต่จะน้อยหรือมากก็อีกเรื่องนึง”

 

นี่คืออีกมุมหนึ่งของนักสำรวจโลกคนนี้ ที่ไม่ว่าจะในจอหรือนอกจอ เขาก็ห่วงใยในโลกใบนี้ไม่ต่างกันเลย

ช่วงนี้ถ้าคุณเปิดโทรทัศน์ คงจะเห็นหน้าผู้ชายคนนี้