ศุนันทวดี อุทาโย

ศุนันทวดี อุทาโย

นี่คือมุมมองหนึ่งของคุณจอย ศุนันทวดี อุทาโย คนข่าวกำลังสำคัญของกลุ่มเนชั่น เธอเป็นหญิงสาวที่มีบุคลิกมาดมั่น แคล่วคล่องว่องไว พูดเร็ว มีมนุษย์สัมพันธ์ชั้นเลิศ ซึ่งทั้งหมดก็เป็นคุณสมบัติที่เหมาะสมกับงานของเธอ

 

ปัจจุบันเธอดำเนินรายการ คุยกับลุงแจ่ม ทางเนชั่นแชนแนลเท่านั้น ด้วยเวลาที่จำกัดในแต่ละวัน และพยายามผันตัวเองจากคนเบื้องหน้ามาทำงานเบื้องหลัง เพื่อปลุกปั้นผู้ประกาศหน้าใหม่ให้ออกมาสู่สาธารณะอย่างมีคุณภาพ แต่กว่าที่เธอจะก้าวเข้ามาสู่ตึกเนชั่น เธอได้ผ่านหลายสิ่งหลายอย่างมามากมาย วันนี้เธอจึงนำประสบการณ์ในสายงานข่าวของตัวเองมาเล่าให้เราฟัง

 

“ตอนสมัยที่ยังเรียนรามฯ อยู่ มีรุ่นพี่ติดต่อมาให้ช่วยพิสูจน์อักษรให้กับนิตยสารฉบับหนึ่ง ก็เลยลองทำ พอใกล้จะเรียนจบก็มีพี่ที่นับถืออีกคนเขาก็ให้เราไปเป็นแบบถ่ายพวกกางเกงยีนส์ แหวน ตุ้มหู เป็นงานสินค้าที่เป็นชิ้น พอเรียนจบก็มาเป็นเซลส์ให้กับคลื่นวิทยุ ก็วิ่งหาลูกค้า จำได้ว่าได้มีอยู่รายหนึ่ง ลูกค้าไม่มีคนทำสปอตวิทยุให้ เราก็ไม่รู้จะทำยังไง ก็มานั่งคุยกับทีมงาน แล้วก็นัดคนขายเสียง คนอ่านสปอต นัดกัน 3 ทุ่ม เพราะงานต้องออกพรุ่งนี้หกโมงเช้า ปรากฏว่าคนอ่านสปอตป่วย เพื่อนที่เป็นช่างเทคนิคก็บอกว่าไม่มีใครแล้ว ให้เราลองดู พอสปอตตัวแรกออกไป เจ้าของคลื่นวิทยุเขาก็ถามว่าเสียงใคร ก็ไม่มีใครกล้าบอก จนเจ้าของคลื่นวิทยุรู้ ปรากฏว่าเขาอยากให้เรามาจัดรายการ พอไปจัดวันแรกก็โดนด่าเลย เพราะว่าจัดไปหัวเราะไป แต่คนฟังก็จำเราได้ (หัวเราะ)

 

“พอมาอยู่ที่เนชั่น ดิฉันก็เลือกทำฝ่ายโปรดักชั่น ไม่ได้เบื่องานขายนะ เพราะเงินมันดี แต่ก็ต้องเลือกสิ่งที่เรารัก สุดท้ายก็ได้มาเรียนงานกับคุณสุทธิชัย หยุ่น เรียนวิชาที่ต้องออกทีวี เรียนทุกอย่างที่ต้องทำในทีวี ช่วงนั้นมีทั้งสนุก มีทั้งร้องไห้เสียน้ำตา

 

“ในเรื่องของข่าวจะมีทั้งเศรษฐกิจ การเมือง สังคม คนไทยจะบอกว่าข่าวการเมืองเจ๋งสุด แต่มุมมองของดิฉันจะบอกว่าไม่ใช่ดิฉันว่าข่าวเศรษฐกิจสำคัญที่สุด คือถ้าเราทำให้คนระดับล่างเข้าใจ เรื่องของเงินสำรอง 30 % คุณต้องทำให้ทุกคนเข้าใจ คือทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย

 

“อย่างเรื่องรูปแบบการนำเสนอ มันก็ต้องวนไปคำตอบเดิม ทำยังไงก็ได้ให้คนสนใจข่าว คุณอาจจะตีลังกาอ่าน จะใส่ชุดว่ายน้ำข่าวจะสนุกเหมือนการดูละครก็ได้ จะทำยังก็ได้ แต่หัวใจหลักคือมันต้องเป็นข่าว ท้ายที่สุดมันต้องนำเสนอด้วยคน”

 

บางครั้งการนำเสนอบางข่าว อาจจะมีเรื่องราวไปกระทบกับผู้มีอิทธิพลบ้าง เราถามว่าเธอหวั่นไหวกับเรื่องนี้หรือไม่ เธอยังคงตอบด้วยความมั่นใจเช่นเดิม

 

“ไม่กลัวนะเพราะเชื่อในความจริง อาจเป็นเพราะที่บ้านดิฉันเป็นตำรวจมั้ง นิสัยส่วนตัวก็เป็นแบบนี้ พรุ่งนี้ตายก็ไม่เสียดาย ก็คิดแบบนี้ ดิฉันเคยทำข่าวการเมืองเรื่องหนึ่ง พอเช้ามาก็มีมอเตอร์ไซค์ขี่ตามเรามา เซ้นส์เราก็บอกว่ามันไม่ใช่มอเตอร์ไซค์ทั่วไปหรอก เขาตามเราอย่างนี้ประมาณ 2-3 วัน ดิฉันก็เล่าให้พี่ชายที่เป็นตำรวจฟังว่ามันเป็นแบบนี้นะ คำถามแรกพี่ชายถามเลย ‘แกพูดอะไรในทีวีล่ะ มันก็มีเรื่องเดียวแหละ’ พี่ยังเหน็บให้อีกว่า ถ้ามันตามมา 3 วันแล้วไม่ทำอะไรคือรอดแล้ว

 

“อย่างเรื่องนักข่าวที่ลงพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ มันคงไม่ใช่เรื่องตื่นเต้นนะ แต่กลายเป็นว่าเรากลับสงสารเขามากกว่า ดิฉันคุยกับเพื่อนทุกวัน ให้กำลังใจ คนข่าวเนชั่นทุกคนจะคล้ายๆ กันคือไม่กลัว เพราะเราเชื่อว่าเราทำในสิ่งที่ถูกต้อง ก็มีขู่นะ คือขู่องค์กรแต่จะไม่ขู่เป็นรายบุคคล นี่ก็คือความต่างจากที่อื่น คือทำอะไรก็ทำด้วยกันทั้งหมด ใจเดียวกัน

 

“แต่ที่ตื่นเต้นที่สุดก็คือเหตุการณ์สึนามิ ไม่อยากเชื่อว่าโลกจะเป็นอย่างนี้จริงๆ มันใจหายนะที่มีคนตายเป็นแสนไม่อยากจะเชื่อเลย ทุกวันนี้ก็ยังตื่นเต้นกับทุกๆ ข่าวที่เป็น Breaking News”

 

ทำงานที่เนชั่นมาก็นาน แล้วเราจะมีโอกาสเห็นเธอทางฟรีทีวีบ้างหรือไม่ เรายิงคำถามนี้ออกไป แต่ดูเธอจะมีคำตอบไว้ในใจมานานแล้ว

 

“ดิฉันคิดว่าตัวเราไม่น่าจะเหมาะกับอะไรอย่างนั้น ถึงมีคนชวนก็ไม่รู้จะตอบเขายังไง เพราะไม่รู้ว่าตัวเองจะปรับตัวให้เข้ากับสิ่งใหม่ๆ ได้มั้ย เราเคยทำงานยุ่งทุกวันด้วยปริมาณงานมากมายมหาศาล สมมุติว่าไปอยู่ที่ใหม่ หน้าที่ก็คืออยู่หน้าจอทีวี มีคนแต่งหน้าทำผมให้ แล้วทำอะไรต่ออะไร รูทีน เราไม่รู้ว่าจะทำตัวให้เหมาะกับอะไรอย่างนั้นได้หรือเปล่า

 

“อยู่ที่เนชั่นมันเหมือนเป็นวิถี คือเราอยู่ที่นี่ 12 ชั่วโมง อยู่บ้าน 12 ชั่วโมง เรามีความคิด เรามีสิ่งที่อยากทำ ถ้าดิฉันอยากมีโปรเจ็คท์ ก็เสนอผู้ใหญ่ ก็สนุกท้าทายดี อย่างที่เรามีโรงเรียนสอนผู้ประกาศ ก็ลองขออนุมัติที่ประชุมดู ถ้ามันเป็นไปได้ เราก็ทำ แต่ถ้าไปอยู่ที่อื่น เราจะได้ทำแบบนี้หรือเปล่า เราจะได้คุณค่าแบบนี้หรือเปล่า มันเป็นสิ่งที่ต้องมองมากกว่า

 

“เวลาคนอื่นชวน คำถามแรกที่ดิฉันถามเขาก็คือ ต้องทำอะไรบ้าง คือเราต้องทราบ Job Description แต่คนที่ถาม เขาจะหาว่าเราเรื่องมากไง เขาจะชอบคนที่ไม่ค่อยมีปฏิกิริยา คือดิฉันเป็นคนอย่างนี้ด้วยมั้ง เป็นคนตรงๆ พอถามว่าต้องทำอะไรให้บ้าง เขาก็ตอบไม่ได้

 

“หากใครเข้ามาทำงานที่เนชั่น ที่เกี่ยวข้องกับงานข่าวของเนชั่น ทุกคนจะได้หนังสือหนึ่งเล่มที่เรียกว่า “เนชั่นเวย์” (Nation Way) มันเป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัตินะ ท้าทายกิเลสพื้นฐานของมนุษย์มาก สมมุติว่ามีคนเอาของขวัญมาให้ เราก็รับไม่ได้นะ เพราะเนชั่นบอกว่าคุณไม่ควรรับอามิสสินจ้างใดๆเขาให้ก็ต้องการสิ่งตอบแทน

 

“คุณจะสังเกตเลยว่าเราจะมีตราอยู่ตรงหน้าผาก คือทุกคนเห็นหน้าก็จะพูดว่า นี่ไอ้พวกเนชั่น”

 

นอกจากการทำงานข่าวแล้ว ตอนนี้เธอยังเป็นผู้บรรยายพิเศษให้กับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ เกี่ยวกับประสบการณ์การทำงานข่าวที่เธอได้ทำมา เธอบอกว่านักศึกษาต้องรู้จักตัวเองก่อนว่าจะเป็นอะไร ซึ่งความจริงก็ควรจะเริ่มตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม

 

“บ้านเราบอกว่าวัยรุ่นมีปัญหา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสื่อ คิดดู เอาแต่ฉายคอนเสิร์ตเด็กดูแบบไม่ได้รู้ แค่ฟังมันส์ไปเรื่อยเพราะทำง่าย เรายัดเยียดรายการติงต๊องให้เขา แต่เราไม่เคยถามว่าเขาอยากดูอะไร แต่เด็กบางคนเขาเก่งมากนะ อย่างมีน้องคนนึง เป็นเด็กที่บ้านอยู่ป่าชายเลน เขาถ่ายภาพข่าวได้เป็นเรื่องเป็นราวเลย เขาก็ทำสกู๊ปออกมาโดยการเอามือถือถ่าย ตัด แล้วก็ส่งไฟล์มาให้เรารู้เรื่องราวในชุมชนเขา นี่ไงใครว่าเด็กโง่ คือเด็กไทยนี่เจ๋งมากนะ แต่คุณไม่เคยสนใจเขาจริงๆเท่านั้นเอง

 

“ไอ้เด็กหลังห้องเนี่ย มันจะมีความพิเศษนะ เด็กฝึกงานกับดิฉันทุกรุ่นเป็นพวกเหลือขอทั้งนั้น แต่เขาทำงานดี คือคุณต้องรู้ว่าเด็กมันสมองไม่เหมือนกัน ดิฉันเชื่อว่าคนทุกคนทำได้ถ้าเขาอยากทำ เด็กบางคนไม่อยากเรียนเพราะอะไรล่ะ เพราะตอนที่เลือกคณะมันงงไง พ่อแม่ก็จะด่าถ้าไม่มีมหาวิทยาลัยเรียน ที่เลือกแบบไม่มีจุดหมายปลายทางมันเยอะนะ ขอให้จบปริญญาตรีให้พ่อแม่สบายใจ

 

“ผู้ใหญ่ชอบให้คนรุ่นหลังเหมือนตัวเอง แต่ลืมไปว่ามันอาจไม่ใช่สำหรับเขา จะบอกน้องๆ ว่าเราไม่จำเป็นต้องเดินตาม เราไม่จำเป็นต้องเป็นปูที่ต้องเดินตามแม่ ดิฉันเชื่อในศักยภาพมนุษย์ที่สุด คนแต่ละคนมีแบบนี้แค่คนเดียวในโลก คุณต้องเป็นคุณ เป็นในสิ่งที่คุณอยากเป็นที่สุด แล้วคุณจะเป็นคนคนนั้นได้ดีที่สุด”

ทีวีเมืองนอกภาพลักษณ์เป็นสิ่งจำเป็นต้องดูดี