ดร.บุษบา ชัยจินดา
ภายในพื้นที่ 2 ไร่ครึ่งของบ้านบุษบาโมเดิร์น ปกคลุมไปด้วยหมู่พันธุ์พืชน้อยใหญ่เพริศแพร้วงามตา ลีลาวดีผลิผกาหอมหวนโอนเอนหยอกล้อกับหมู่แมลง นกกระจิบเฝ้าขับขาน เหล่าปลาคาร์ฟฝูงใหญ่เริงระบำแหวกว่ายสายนที
โต๊ะเก้าอี้ที่นั่งไม้ไร้ลวดลาย คล้ายเครื่องประดับราชสำนักจีนโบราณ ตั้งตระหง่านรองรับหลากหลายผู้มาเยือน ภายในห้องรับแขกขนาดใหญ่โอ่โถง มองเห็นแกลเลอรี่ แหล่งสะสมศิลปะบริสุทธิ์ร่วมสมัยนับร้อย สร้างความเบิกบานสราญใจเมื่อได้ยล ในแกเลอรี่เล่นระดับจัดหมวดหมู่ทัศนศิลป์สอดใส่จิตวิญญาณของศิลปินลงไป ทั้งภาพเขียนสีน้ำ สีน้ำมัน วิวทิวทัศน์ ภาพเหมือนภาพวาดพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถสิริกิติ์ พระบรมวงศ์สานุวงศ์และประติมากรรมต่างๆ แลดูมีชีวิตชีวา ทั้งหมดถูกนำมาประดับประดาบูชาล้วนประเมินค่ามิได้ เพราะเป็นผลงานของเหล่าศิลปินแห่งชาติและศิลปินชื่อก้อง อาทิ อาจารย์จำรัส เกียรติก้อง อาจารย์ทวี นันทขว้าง อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต อาจารย์คิด โกศารวัต อาจารย์ปุ่ม มาลากุล จึงบ่งบอกเป็นนัยถึงสุนทรียภาพแห่งอารมณ์ศิลป์ของเจ้าของบ้าน
เมื่อนาฬิกาตั้งพื้นตีบอกเวลา ก็ทำให้ตื่นจากภวังค์ ดอกเตอร์บุษบา ชัยจินดา นัยน์ตาเปล่งเป็นประกาย ยิ้มรับที่มุมปาก หลังจากพาชมวิมานน้อยสองชั้นสไตล์คันทรี เผยให้เราเห็นอัตลักษณ์ส่วนตัวที่วันนี้เราจะมาเจาะเกราะหลังบ้านผู้การเมืองหลวง พลตำรวจตรี จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บังคับการตำรวจปฏิบัติการพิเศษ (ผบก.ตปพ 191) หรือ “ผู้การแป๊ะ” ผู้มีภาระหน้าที่ในการถวายอารักขาความปลอดภัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถฯ และพระบรมวงศ์สานุวงศ์ รวมทั้งยังดูแลเขี้ยวเล็บหน่วยอรินทราช 26 รถยนต์สายตรวจ หน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด ตำรวจม้า ตำรวจสุนัข
ดร.บุษบา ชัยจินดา หรืออาจารย์จุ๋ม เธอเป็นนักบริหารการศึกษา มีดีกรีปริญญาเอก สาขา Psy.D in organization Management จาก California School of Professional Psychology สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันเธอเป็นรองอธิการบดีฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี กรรมการบริหารโรงเรียนในเครือมหาวิทยาลัยศรีปทุม เธอเป็นบุตรสาวคนที่ 2 ของดร.สุข พุคยาภรณ์ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศรีปทุม เธอมีความคิดเหนือจินตนาการ มีวิสัยทัศน์บริหารปกครอง เธอหล่อหลอมความรักให้หอมกรุ่นดุจขนมปังกำลังออกจากเตาอบอย่างไร ขอขยายวันชื่นคืนสุขเล็กๆ น้อยๆ แต่ยิ่งใหญ่ของผู้หญิงคนนี้
กำเนิดมหาวิทยาลัยศรีปทุม
ย้อนหลังไปเมื่อเกือบ 100 ปี ดร.สุข พุคยาภรณ์ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศรีปทุมถือกำเนิดเกิดขึ้นที่บ้านสวนอำเภอหนองจอกจังหวัดพระนคร ทุกวันนี้หากท่านมีชีวิตอยู่ อายุก็คงราวๆ 92 ปี ท่านเริ่มอาชีพด้วยการช่วยบิดามารดาพายเรือขายของตั้งแต่เมื่อเรียนจบชั้นประถมปีที่ 4 ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อเข้าสู่ยุคข้าวยากหมากแพง ท่านเริ่มกิจการด้วยการลงทุนซื้อสินค้าที่จำเป็นสำหรับชาวบ้าน เอาไปแลกข้าวเปลือกแล้วนำข้าวเปลือกไปขายให้โรงสี ท่านมีความเพียรวิริยะอุตสาหะ จนในที่สุดได้ลงทุนซื้อกิจการโรงสีข้าวเป็นของตัวเองเมื่อปี พ.ศ. 2491 ขณะที่อายุได้เพียง 30 ปี จากนั้นได้เริ่มกิจการรับเหมาก่อสร้างโดยจัดตั้งบริษัทส่งเสริมสถาปัตย์ จำกัด รับเหมาการก่อสร้างจากหน่วยราชการหลายแห่ง ปี พ.ศ. 2510 ท่านได้จัดตั้งโรงเรียนอาชีวศึกษาในย่านบางเขน ต่อมาปีในพ.ศ. 2513 ได้สร้างสถาบันอุดมศึกษาขึ้นอีก 1 แห่ง โดยได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ จากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระราชทานนามพร้อมความหมายให้ว่า วิทยาลัยศรีปทุม ซึ่งแปลว่า บ่อเกิดแห่งวิชาที่เบิกบานเช่นดอกบัว วิทยาลัยของท่านพัฒนามาเป็นลำดับและได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยเมื่อปีพ.ศ. 2530
ดร.บุษบาได้หวนรำลึกเล่าถึงความยากลำบากของบิดาอย่างภาคภูมิใจ ก่อนนำเข้าสู่เรื่องราวของตัวเอง
“ชีวิตวัยเยาว์ของดิฉัน เป็นนักเรียนประจำโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ ตั้งแต่ชั้นอนุบาล จนชั้นประถมและเรียนที่เซนต์โยเซฟจนจบมัธยม ตอนนั้นคุณพ่อคุณแม่กำลังก่อร่างสร้างตัวจึงส่งลูกๆ เข้าโรงเรียนประจำ คุณพ่อดิฉันได้เลิกกิจการรับเหมาก่อสร้างและหันมาให้ความสนใจกับการทำการศึกษาก็เพราะว่าพี่ชายของดิฉัน (ลูกชายของคุณพ่อกับภริยาคนแรก) ได้เสียชีวิตเนื่องจากอยากเรียนวิชาช่างไฟฟ้าแต่ไม่ได้เรียน เพราะสอบเข้าไม่ได้ สมัยนั้นยังไม่มีโรงเรียนช่างเป็นของเอกชน พี่ชายชอบซ่อมไฟฟ้า แล้วก็ถูกไฟฟ้าดูดเสียชีวิต คุณพ่อจึงมีความรู้สึกว่าการศึกษามันกระจายไปไม่ทั่วถึง มีเยาวชนอีกมากที่ไม่มีโอกาสได้เรียน ท่านก็เลยคิดทำโรงเรียนช่าง เพื่อเป็นที่ระลึกถึงบุตรชาย ที่ถึงแก่กรรมและเพื่อให้โอกาสแก่เยาวชนได้มีที่เล่าเรียน ชื่อโรงเรียนช่างกลไทยสุริยะ
“สมัยนั้นไทยสุริยะมีชื่อเสียงไปในทางเกเร นักเรียนชอบยกพวกตีกัน ด้วยความที่เราอยู่เซนต์โยเซฟ ซึ่งมีแต่ลูกคนมีสตางค์มาเรียนกัน เวลาถูกใครต่อใครถาม ว่าทำไมโรงเรียนของเราต้องไปตีกับโรงเรียนนั้นโรงเรียนนี้ ก็รู้สึกอายว่า ทำไมพ่อเราทำโรงเรียนแล้วมีนักเรียนเกเร เคยไปถามพ่อว่าพ่อเลิกทำไม่ได้เหรอ ทำไมมันถึงเป็นแบบนี้ มีคนเคยชวนคุณพ่อทำโรงแรม บอกว่าร.ร. เหมือนกัน เงินดีกว่าด้วย พ่อก็ไม่ทำ พ่อบอกดิฉันว่าเด็กเหล่านี้ออกมาจากโรงเรียนอื่น เพราะว่าเขาเกเร เขาไม่มีที่จะเรียนถ้าเราไม่ให้โอกาสกับเขา เขายิ่งไม่กลายไปเป็นโจร เป็นผู้ร้ายสร้างปัญหาให้แก่สังคมหรือ ยิ่งเขาเกเร เราจึงยิ่งต้องให้เขาได้เรียนสุดท้ายเขาจบออกไปแล้วมีการศึกษา เขาก็มีอาชีพ โดยเฉพาะนักเรียนรุ่นแรกๆ ที่จบออกไปตอนนี้ได้เป็นใหญ่เป็นโตในหน้าที่การงานในสังคม ดิฉันเคยพบบางคน เขายังบอกกับดิฉันว่าคุณพ่อได้ให้โอกาสกับเขา ถ้าไม่มีโรงเรียนของคุณพ่อ เขาอาจจะไม่มีชีวิตหรืออาจไปเป็นโจรไม่มีอนาคตไปแล้ว
“ตอนเรียนชั้นมัธยม ดิฉันมีเพื่อนเป็นลูกอธิบดีกรมตำรวจสมัยนั้น พอเขารู้ว่าดิฉันเป็นลูกเจ้าของโรงเรียนช่างกลไทยสุริยะ เขาบอกลูกของเขาไม่ให้มาคบกับดิฉัน ตั้งแต่นั้นมาก็ทำให้รู้สึกว่าคนเรามองกันแค่รูปลักษณ์ภายนอกแค่นั้นหรือ ไม่มีใครมาถามคุณพ่อแบบที่ดิฉันถาม อีกอย่างการทำโรงเรียนมันไม่เหมือนกับการทำโรงแรม ทำโรงแรมเข้ามาปุ๊บ ได้สตางค์ปั๊บ โรงเรียนมีรายรับปีละ 2 หน แต่มีรายจ่ายทุกวัน คนที่ทำโรงเรียนได้สำเร็จ ต้องอดทนจริงๆ เพราะมันไม่เห็นผลทันที มันเหมือนน้ำซึมบ่อทราย
“หลายคนเข้าใจว่า โรงเรียนช่างกลไทยสุริยะปรับสภาพเป็นมหาวิทยาลัย ความจริงไม่ใช่ ตอนช่วงที่พี่สาวดิฉันกลับจากศึกษาต่อที่สหรัฐ ช่วงนั้นคุณพ่อเริ่มสร้างมหาวิทยาลัยแล้ว แต่ตอนนั้นเป็นวิทยาลัย พี่สาวก็มาช่วยทำมหาวิทยาลัย ส่วนโรงเรียนคุณพ่อก็ยังทำอยู่ ที่ดินอยู่ติดกัน ต่อมาโรงเรียนก็ย้ายไปอยู่ที่ย่านรามอินทรา ปัจจุบันชื่อโรงเรียนทักษิณา และเลิกสอนด้านช่าง เปิดสอนเป็นโรงเรียนพาณิชย์มีผู้หญิงเรียนเยอะ แต่ก่อนที่จะเลิก โรงเรียนไทยสุริยะก็กลับกลายเป็นโรงเรียนดีเด่น ของกระทรวงศึกษาธิการ (หัวเราะ)”
เกือบจะเป็นนักเขียน
“ตอนเด็กๆ ดิฉันช่วยคุณพ่อคุณแม่ทำงานด้วยการรับสมัครนักเรียน เริ่มทำงานตั้งแต่อายุ 12-13 ขวบ เลยเป็นคนที่รู้จักคุณค่าของเงินว่ามันได้มายากอย่างไร ดิฉันมีโอกาสเรียนรู้การทำงานจากการดูคุณพ่อคุณแม่ การทำกิจการโรงเรียนไม่เหมือนกิจการอื่นๆ ทำแล้วไม่ใช่เลิกง่ายๆ มันต้องมีการสานต่อปณิธาน คุณพ่อคุณแม่จึงใช้กลยุทธ์ให้ลูกๆ มาเรียนรู้การทำงาน เมื่อโตขึ้นจะได้รู้ว่าการบริหารคนและการบริหารเงินมันเป็นอย่างไรโดยที่ไม่ต้องมานั่งสอน
“ตอนเรียนมัธยม ดิฉันเป็นนักกีฬาบาสเกตบอล เสาร์อาทิตย์ก็ซ้อมกีฬา ปิดเทอมไม่ได้ไปไหน ต้องนั่งรับสมัครนักเรียน เพื่อนๆไปเที่ยวต่างประเทศไปสิงคโปร์ ไปฮ่องกงกัน แต่เราต้องมานั่งรับสมัครนักเรียน สยามเซ็นเตอร์ สยามสแควร์ที่ว่าดังๆ ปีหนึ่งจะได้ไปเที่ยวสักครั้ง มีครั้งหนึ่งขี้เกียจนั่งรับสมัครนักเรียน อยากลองเป็นแม่ค้าหาบขนม เราก็ชวนพี่สาวไปซื้อขนมมาขายให้พวกครูอาจารย์ ครูอาจารย์ก็ใจดีเหลือเกิน อุดหนุนจนหมด แต่ปรากฏว่าไม่มีใครจ่ายสตางค์เลย (หัวเราะ) เขาคงเห็นว่าเราเด็กๆ มาเล่นขายของมั้ง
“ดิฉันชอบเป็นคนติดดิน ชอบลุยๆ ตอนสอบเอนทรานซ์ ดิฉันเลือกธรรมศาสตร์ ศิลปากร เกษตรศาสตร์ คิดในใจว่าถ้าสอบไม่ติดก็ไปเรียนมหาวิทยาลัยของเราก็ได้ แต่สุดท้ายก็ไปติดที่ศิลปากร คณะอักษรศาสตร์สมใจอยาก เพราะเป็นคนที่ชอบอ่าน ชอบเขียน ตอนมัธยม เคยเขียนเรื่องสั้นไปลงหนังสือขวัญเรือน หนังสือคุณหญิง ใช้นามปากกาว่า “รตี” แปลว่าความรัก เช้ยเชย(หัวเราะ) ก็ลองส่งๆ ไป เผอิญได้ลงตีพิมพ์ ก็ได้สตางค์มา ร้อยบาทเองมั้งคะ ต่อมาได้รู้จักกับรุ่นพี่ที่เล่นละคร เรื่อง 38 ซอย 2ฮิตมาก สมัยก่อนเป็นละครประเภทซิทคอม ดิฉันได้ไปดูเขาเล่นละคร ก็เลยลองเขียนบทละครส่งไปตอนหนึ่ง ปรากฏว่าบริษัทกันตนาเขาชอบ เขายังชวนว่าให้เขียนมาอีก ไอ้เราอยากเป็นนักเขียนแต่ขี้เกียจ ก็เลยไม่ได้เขียน ต่อเมื่อมาเรียนที่อักษรศาสตร์มหาวิทยาลัยศิลปากร จึงรู้ว่าความจริงว่าฝีมือไม่ค่อยจะเอาไหนหรอก เพราะพอเขียนบทละครส่งอาจารย์ที่สอนละคร ท่านก็บอกว่าสไตล์ที่เธอเขียนมันเป็นนิยาย แต่พอเขียนนิยายส่งอาจารย์ที่สอนภาษาไทย ท่านก็บอกว่าสไตล์การเขียนของเธอน่าจะเป็นบทละคร ก็เลยสงสัยว่าคงไม่เก่งทั้งสองอย่างนั่นแหละ (หัวเราะ)
“ตอนเรียนศิลปากรเรียนอยู่วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ นครปฐม ช่วงนั้นไม่ค่อยได้เข้าไปช่วยกิจการครอบครัวเท่าไร ส่วนใหญ่จะทำกิจกรรมที่มหาวิทยาลัย เป็นประธานชมรมนัจกร นัจกรแปลว่าผู้แสดง ผู้กระทำการ ละเล่น ทำละคร
“สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ดิฉันค่อนข้างบู๊ นิสัยตรงนี้อาจจะมาจากความผูกพันกับการเป็นลูกไทยสุริยะ เพราะบ้านอยู่ในโรงเรียนเห็นเขาตีกันวิ่งผ่านเราไปมาเกือบทุกวัน ตอนเป็นนักศึกษาก็เลยชอบลุยๆ มีอยู่ครั้งหนึ่งซ้อมละครเลิกตี 1 กลับขึ้นหอไม่ได้น้องๆ ผู้ชายเขาก็ขึ้นหอได้ แต่หอผู้หญิงปิด จะปีนก็ปีนไม่ได้ ตอนนั้นจะตี 2 แล้ว เชื่อมั้ย ดิฉันขี่มอเตอร์ไซค์จากนครปฐมกลับบ้านกรุงเทพฯ กับเพื่อนผู้หญิง 2 คน ไปกัน 2 คัน โอ้โหไม่โดนสิบล้อเสยก็บุญแล้วค่ะ เพราะระหว่างทาง เพื่อนขับรถล้ม ดิฉันก็ฉุดเพื่อนขึ้นมาจากข้างทาง ขณะกำลังดึงมือ รถบรรทุกก็วิ่งเฉี่ยวไป ลมตีหน้า เรานึกว่าตายแล้ว
“ดิฉันเป็นคนลุยๆ แต่ถ้าจะให้ตัดสินใจอะไรเรื่องเงินจะไม่ค่อยลุย จะรอบคอบ เมื่อจะต้องใช้เงินลงทุน ดิฉันจะต้องมีข้อมูลเพียงพอในการตัดสินใจเพราะไม่อยากให้ใครมาลำบากหรือเสี่ยงด้วย ส่วนเรื่องงานดิฉันจะคิดอยู่เสมอว่า งานใดก็ตามจะสำเร็จได้ต้องมีความมานะอดทนและจะทำงานอะไรก็ต้องทำให้มีคุณภาพ ต้องสร้างสรรค์พัฒนางานอยู่เสมอ
“ตอนเรียนหนังสือไม่ได้อยากที่จะมาเป็นอาจารย์หรือนักบริหารเลย อยากเป็นผู้กำกับการละครหรือนักเขียน เพราะได้แรงบันดาลใจมาจากการเขียนหนังสือของคุณประภัสสร เสวิกุล ในแง่ของการมองสังคม ประกอบกับได้ไปดูละครของคณะสถาปัตย์จุฬาฯเลยอยากทำละคร แต่ก็ไม่ได้ทำเพราะต้องมาทำงานให้กับที่บ้าน แต่ความจริงคนเราถ้ามีความอยากจริงๆ ก็ไม่ควรมีข้ออ้างว่าต้องทำอย่างอื่น อย่างการเป็นนักเขียน ถ้าเขียนจริงๆ จังๆ ก็เขียนได้ แต่มันขี้เกียจ (หัวเราะ)”
มหาวิทยาลัยสำหรับคนรุ่นใหม่
มหาวิทยาลัยศรีปทุมแห่งท้องทุ่งบางเขนไม่เคยเงียบเหงา ที่นี่ถือเป็นเบ้าหล่อหลอมของคนรุ่นใหม่ทันสมัยมุ่งสร้างบัณฑิตด้วยระบบการศึกษาให้นักศึกษารู้หลักวิชาการความคิดสร้างสรรค์รู้ทันเทคโนโลยี รอบรู้ในการนำการแก้ปัญหาร่วมพัฒนาสังคมและดำรงตนอย่างมีคุณค่า ตามคำขวัญที่ว่า “ปัญญา เชี่ยวชาญ เบิกบาน คุณธรรม” สำหรับเป้าหมายในการก่อตั้งนั้น ดร.บุษบาขยายความว่า
“ก่อนที่คุณพ่อท่านจะถึงแก่กรรม มีคนมาสัมภาษณ์ท่านถึงการก่อตั้งมหาวิทยาลัยศรีปทุมท่านบอกว่า ‘ผมดีใจและเป็นสุขมากที่วิทยาลัยศรีปทุมได้เป็นมหาวิทยาลัย เพราะว่าเมื่อผมจากโลกนี้ไปอยู่โลกอื่น ถ้าคนโลกนั้นถามผมว่า ตอนอยู่ในโลกมนุษย์คุณทำอะไรบ้าง ผมก็จะตอบอย่างเต็มภาคภูมิว่าผมสร้างมหาวิทยาลัยให้คนได้เรียนเป็นหมื่นๆแสนๆ คนมาแล้ว’ อันนี้คือเจตนารมณ์ของคุณพ่อ ท่านมองเห็นว่าประเทศไทย การศึกษาต้องเจริญขึ้นและต้องขยายไปถึงระดับปริญญา เมื่อก่อนมหาวิทยาลัยยังไม่มีของเอกชน จะมีก็แต่ของรัฐบาล ศรีปทุมเป็นวิทยาลัยเอกชน 1 ใน 5 ของวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกของประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2513 สมัยก่อนวิทยาลัยเอกชน คนไม่ค่อยอยากส่งลูกมาเรียน อาจจะเป็นเพราะค่านิยม เพราะเมื่อก่อนมหาวิทยาลัยของรัฐจะรับนักศึกษาจำนวนจำกัด ต้องสอบแข่งกันเข้า พวกที่เข้าไม่ได้ก็เข้าเรียนมหาวิทยาลัยเอกชน มันก็เลยเหมือนแบ่งชั้น วรรณะ แต่ความจริงมหาวิทยาลัยเอกชนเป็นสถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพ เพราะถูกทบวงมหาวิทยาลัยกำกับดูแลใกล้ชิดมาก แม้แต่ข้อสอบยังต้องมีกรรมการมาตรวจ มาพิจารณาทุกวิชา การทำกิจการมหาวิทยาลัยไม่ใช่เรื่องง่ายเลย การที่มหาวิทยาลัยเอกชนที่เจริญก้าวหน้ามาได้มาเกือบ 40 ปีนั้น แปลว่าเขาต้องมีคุณภาพ มิฉะนั้นไม่สามารถดำเนินกิจการมาได้จนถึงปัจจุบัน
“พี่สาวกับดิฉันเป็นรุ่นที่สองที่สานต่อตามเจตนารมณ์ของคุณพ่อ พี่สาวดูแลที่มหาวิทยาลัยศรีปทุม บางเขน ดิฉันดูแลที่มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี ระบบการเรียนการสอน คณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิเครื่องไม้เครื่องมือทุกอย่างเหมือนที่กรุงเทพฯ”
ม. รัฐบาล & ม.เอกชน
“ถ้ามองในแง่ของคนที่จัดการศึกษา ดิฉันเชื่อว่าบางสาขาวิชาของมหาวิทยาลัยเอกชนหลายๆ แห่งดีกว่ามหาวิทยาลัยของรัฐบางแห่งด้วยซ้ำ เพราะเราจัดการศึกษา เราสัมผัสเราจึงรู้ แต่ประชาชนยังติดที่ค่านิยมว่ามหาวิทยาลัยของรัฐดี แต่มหาวิทยาลัยของรัฐเดี๋ยวนี้ก็ต้องยอมรับว่ามีโครงการพิเศษ โครงการนอกระบบ เปิดศูนย์ต่างๆ เยอะแยะ ซึ่งโครงการเหล่านั้นก็เก็บค่าบำรุงการศึกษาไม่ต่างไปจากมหาวิทยาลัยเอกชน แล้วอาจารย์ก็มาจากภาคกลางวันไปสอน ไม่ได้เป็นอาจารย์ประจำอยู่กับหลักสูตร ถึงเวลาก็ไปสอนเท่านั้น
“มหาวิทยาลัยของรัฐมี พรบ.ของแต่ละมหาวิทยาลัยเอง การทำงานต่างๆ จึงคล่องตัว แต่ที่รู้สึกกันว่าไม่คล่องตัว อาจจะเป็นเพราะระบบการบริหารเป็นระบบราชการ ส่วนมหาวิทยาลัยเอกชน มีตั้งห้าหกสิบแห่ง แต่มี พรบ.ฉบับเดียวกัน ชื่อเป็นเอกชน แต่ความจริงแล้วการทำงานมันไม่คล่องตัวเท่าไร ยกเว้นระบบการบริหารภายในมหาวิทยาลัย ประชาชนบางส่วนยังมองว่ามหาวิทยาลัยเอกชนทำธุรกิจ ดิฉันขอถามว่าคนที่มีเงินเป็น 100 ล้าน 1,000 ล้าน เขาเอาเงินไปทำอย่างอื่นที่มันได้กำไรมากกว่านี้ไม่ดีกว่าหรือ การทำกิจการสถาบันการศึกษา สมัยนี้ต้องลงทุนเยอะมาก เพราะเทคโนโลยีมันเปลี่ยนทุกวันคอมพิวเตอร์ 3 ปีก็ใช้ไม่ได้แล้ว มันต้องแข่งขันกันด้วยภาพลักษณ์อะไรต่างๆ อีก เช่น กลยุทธ์การทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ทางสื่อต่างๆ เกือบทุกมหาวิทยาลัยต้องทำ เพื่อให้ถูกใจเด็กรุ่นใหม่ แต่โฆษณาอย่างเดียวแล้วข้างในกลวงโบ๋ก็ไม่ได้ การจัดการศึกษาก็ต้องทำให้มีคุณภาพด้วย เพราะคุณภาพของเด็กที่จบออกไป จะเป็นตัวบ่งบอกตัวเอง
“ถ้ารัฐบาลอยากจะสนับสนุนให้การศึกษาทัดเทียมกัน ก็ต้องให้การสนับสนุนภาคเอกชนด้วย มหาวิทยาลัยเอกชนที่ว่าค่าเล่าเรียนแพงไปดูจริงๆ เทอมละ 18,000- 25,000 บาท โรงเรียนมัธยม บางแห่งตอนนี้เทอมละเกือบ 50,000 บาทเข้าไปแล้ว ถ้าถามว่ามหาวิทยาลัยเอกชนสิ้นปีมีรายได้เหลือมั้ย เหลือค่ะ ถ้าไม่เหลือก็ไม่รู้จะเอาที่ไหนมาบริหารต่อ แต่อยากให้ไปดูวิธีการใช้เงินของมหาวิทยาลัยเอกชนว่าเขาบริหารอย่างไรจึงมีเงินเหลือได้ ไม่ใช่เพราะว่าค่าเล่าเรียนแพงกว่ารัฐบาลนะคะ แต่เขามีวิธีการจัดการ ในขณะที่มหาวิทยาลัยรัฐ ได้รับงบประมานมากกว่ารายรับของมหาวิทยาลัยเอกชนอีก แต่ก็ไม่พอใช่มั้ยคะ บางแห่งค่าน้ำ ค่าไฟ ยังติดหลวงอยู่เลย แต่รัฐบาลมีเงินช่วยเหลือสนับสนุน