วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์
ด้านตัวตนของเขาในมุมของการเป็นนักศิลปหัตถกรรมก็ไม่น้อยหน้า เพราะผลงานของเขาล้วนแต่ได้รับการยอมรับจากคนในวงการเซรามิค แถมความรู้ความสามารถที่เขามีก็ยังถ่ายทอดไปยังคนรุ่นใหม่ๆ ด้วยการเป็นอาจารย์พิเศษของมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตทับแก้ว อีกด้วย
ชายหนุ่มหน้าจีน รูปร่างสันทัด ใส่แว่น แฝงไปด้วยความรักในงานศิลปะคนนี้ ยินดีเล่าให้เราฟังถึงเรื่องราวของตนเองอย่างใจเย็น
“ผมโตมากับโรงงานครับ ยอมรับเลยว่าตอนแรกไม่ได้ชอบงานปั้น เพราะเห็นพ่อเหนื่อย มันเป็นอาชีพที่หนักต้องดูแลรักษาทุกขั้นตอน บ่อยครั้งที่ผมเห็นพ่อหลับอยู่บนโซฟา แม่ก็เห็นว่าเหนื่อย ก็บอกเราว่าอย่าเลย น่าจะไปหาอาชีพอื่นที่สบาย แต่มันก็น่าเสียดาย ถ้าไม่มีใครทำต่อ พ่อก็เลยเสนอให้ผมไปเรียนต่อที่เยอรมัน
“ผมคิดว่าเมื่อเรามีโอกาสแล้ว ต้องคว้าไว้ก่อน ก็เลยไปเรียน พอไปก็พบกับอุปสรรคมากมาย จำได้แม่นเลยว่าตอนไปเรียน มีอาจารย์ท่านหนึ่งเขาบอกว่าถ้าปั้นไม่ได้ ก็ไปทำอาชีพอื่นดีกว่า เราก็เครียด เลยถามตัวเองว่าคิดผิดหรือคิดถูกกันแน่ที่มาที่นี่
“แล้วก็มาเจอเพื่อนคนหนึ่งชื่อ สเตฟาน เขาเป็นลูกของศิลปิน วันหนึ่งเขาก็ชวนเราไปกินข้าวที่บ้าน เราก็เห็นเขาปั้นงานค้างไว้ ก็เห็นว่าเป็นงานปั้นที่ดีและสนุก เพราะมันไม่มีโจทย์อะไร คืออยากจะปั้นอะไร ทำอะไรก็ทำไปเลย เพิ่งจะเข้าใจคำว่า เส้นผมบังภูเขา ก็ตอนนั้นเอง
“เซรามิคมันเป็นอะไรที่มากกว่าเราคิดไว้เยอะเลย แต่เราต้องยอมรับว่าเซรามิคมันขึ้นอยู่กับเทคนิค ต้องมี Know How ความเข้าใจทางด้านวัสดุ และเทคโนโลยีการเผาพอสมควร”
เขาใช้ชีวิตอยู่ที่เยอรมันร่วม 10 ปี ทำให้ซึมซับแนวคิดที่เกี่ยวกับงานเซรามิคมามากมาย เมื่อกลับมาที่เมืองไทยเขาจึงนำความรู้ที่เรียนมาใช้ในโรงงานของตัวเองได้อย่างเหมาะสม ปัจจุบันงานเซรามิคของโรงงาน “เถ้า ฮ่อง ไถ่” จึงมีลักษณะของการประยุกต์แบบโมเดิร์น
“พอกลับมา เราก็ต้องสวมหัวโขนหลายอย่าง โรงงานก็ต้องเดินหน้าต่อไป แต่เราไม่มีความรู้ทางด้านธุรกิจเลย เลยเริ่มจากสงสัยในจุดไหน เราก็เริ่มทำในสิ่งนั้นก่อน อยากทำอะไรก็ทำ ขายได้หรือขายไม่ได้ค่อยว่ากัน เพราะศิลปินมักจะไม่ได้คิดถึงตัวเงินเราก็เลยทำออกมาเป็นกึ่งศิลปะกึ่งดีไซน์ แต่ก็ต้องนำมาใช้งานได้ง่าย ทำได้จริง ก็เลยนำเอาสีแปลกๆ เข้ามาช่วยเสริมด้วย
“ผมมีความชอบส่วนตัวในการทำงานกึ่งหัตถกรรมกับเทคนิคการการปั้นต่างๆ ผมเรียนรู้จากการข้อผิดพลาดมาแล้วทั้งสิ้น ณปัจจุบันจึงค่อนข้างจะลงตัวในระดับหนึ่ง เราก็เอาสิ่งที่บรรพบุรุษได้สั่งสมความรู้มาก่อนแล้วเราก็เอามาต่อยอด เทคนิคอาจจะเหมือนเดิมแต่เราเอาบางสิ่งที่เราเรียนรู้จากต่างประเทศเข้ามาเสริม
“อย่างแจกันหรือโอ่งที่มีรูปทรงโมเดิร์น ถ้าเป็นงานหัตถกรรม เทคนิคและความรู้อาจจะเหมือนกัน แต่ที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดคือรูปแบบ รูปทรง หรือสีสัน มันหลากหลายมากขึ้น ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีก็มีส่วนที่เข้ามาเติมเต็มในจุดนี้มากๆ มันเป็นจุดยืนของผมตั้งแต่แรกที่ได้ไปเรียนเยอรมัน เพราะเราไม่ต้องการเปลี่ยนแปลง แต่เราต้องการเสริมเพิ่มขึ้นมา ซึ่งเรื่องของเซรามิคที่สนุกที่สุดคืออะไรรู้มั้ย คือตอนเปิดเตา เพราะมันต้องลุ้นว่าแตกมั้ย สีที่ผสมมาเป็นยังไง”
ส่วนผลงานที่เขาภูมิใจที่สุดก็คือชิ้นที่มีการนำมาแสดงในงานนิทรรศการ Chapter 75: Clay Overture ที่จัดขึ้น ณ ร้านPlayground มันเป็นงานลายเส้นที่นำมาต่อกันให้เป็นรูปทรง โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากสมัยเด็กๆ
“ตอน ป.4 ครูสอนศิลปะให้พวกเราใช้ไม้จิ้มฟันสร้างเป็นรูปทรงต่างๆ จำได้ว่าผมไม่ชอบเอามากๆ ทั้งงานที่ต้องทำรวมถึงวิชาศิลปะ ไม่ว่าผมจะพยายามต่อให้ตรงยังไง แต่มันก็ยังโย้ยังเบี้ยวอยู่ กาวก็เลอะเหนียวติดมือไปหมด แต่พอเวลาผ่านไป ผมกลับรักและดีใจที่ได้ทำงานศิลปะ ก็เลยทำงานชิ้นนี้ขึ้นมาเพื่อระลึกถึงงานประติมากรรมชิ้นแรกของผมในวันนั้น
“ผมรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เป็นคนที่มีพรสวรรค์และก็ไม่ค่อยได้แสวงด้วย แต่โชคดีที่มีโอกาสเข้ามาอยู่เรื่อยๆ แล้วผมก็รู้จักใช้โอกาส ผมว่าศิลปิน บางทีก็เหมือนกับนักวิทยาศาสตร์ คือมีการตั้งสมมุติฐาน มีการสงสัย ซึ่งถ้าเราไม่สงสัยเราก็ไม่สามารถสร้างอุปกรณ์ต่างได้ ในกรณีของผม ผมสงสัยว่าสีสดๆ เนี่ย ถ้าเราเอาสีสดในยุโรปปี 60-70 มาเล่นแต่ไม่อิงกับรูปทรงของเขา แต่เอารูปทรงเอเชียมา ทำยังไงจะให้มันดูแมทช์กัน
“ตอนนี้ผมแบ่งเป็น 2 อย่าง คือ เอาความฝันมาสร้างเป็นงานคอมเมอร์เชี่ยล แต่ในส่วนของศิลปะก็อีกรูปแบบหนึ่ง คือเรามาเล่นกับโจทย์ เล่นกับมุมมองและความเป็นไปได้
“ผมทำงานไม่ได้อิงกับการตลาดมากนัก ผมอิงความต้องการ ความรู้สึก เพราะจริงๆ ก็ถือว่าโชคดีที่ลูกค้าบางคนชอบในลักษณะงานแปลกๆ
“ถ้าให้มองว่าเครื่องปั้นดินเผาไทยควรเป็นอย่างไร ก็คงต้องบอกว่าควรจะมีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น เพราะเราไม่สามารถแข่งกับจีน เวียดนามในเรื่องของราคาได้ แต่เราจะทำยังไงให้มูลค่ามันเพิ่มขึ้นได้ การตลาดกับการออกแบบเลยต้องเป็นสิ่งที่ควบคู่กันไป”
แม้เขาจะทำงานในวงการเซรามิคมานาน แต่ก็ยังมีสิ่งที่เขาอยากทำอีกหลายอย่าง
“ผมต้องการทำงานกึ่งประติมากรรมมากขึ้น ต้องการร่วมทำกับจังหวัดหรือกลุ่มเด็กๆ ต้องการให้ราชบุรีเป็นเมืองโมเดิร์นอาร์ต ผมว่าราชบุรีเป็นจังหวัดที่สามารถทำได้ คืออย่างเยอรมันยังมีบางเมืองที่ไม่ได้สำคัญอะไรเลย แต่เขามีหอศิลปะที่ใหญ่มาก ก็อยากให้ราชบุรีไม่ได้มีแต่โอ่งมังกรหรือกระถาง แต่มีเซรามิคที่ร่วมสมัยด้วย ความจริงเราก็เริ่มแล้วโดยการเอางานของลูกศิษย์บางคนมาตั้งไว้ในพิพิธภัณฑ์”
คำถามสุดท้ายเราถามเขาไปว่า คุณเคยคิดรึเปล่าว่าตอนนี้คุณเป็นอะไรระหว่างนักธุรกิจหรือศิลปิน เขาคิดอยู่นานพอสมควร
“อาจจะพูดได้ว่าผมเป็นศิลปินที่บังเอิญได้อยู่ในแวดวงธุรกิจ หรือเป็นนักธุรกิจที่ชอบงานศิลปะก็ได้ แต่ถ้าเป็นมุมมองส่วนตัว ผมคิดว่าผมเป็นนักศิลปะมากกว่า เพียงแต่เราอยู่ในสภาพแวดล้อมของอุตสาหกรรม เราก็เลยต้องคิดว่าจะต้องทำยังไงถึงจะเลี้ยงคนร้อยกว่าคนได้”