ศิระ โพธิพิมพานนท์

ศิระ โพธิพิมพานนท์

สืบสานปณิธาณบรรพบุรุษ

“คุณปู่ผมเป็นต้นตระกูล โพธิพิมพานนท์ ท่านโล้สำเภามาจากจีนแผ่นดินใหญ่ มีเสื่อผืน หมอนใบ มาเจอคุณย่า ซึ่งเป็นคนไทยที่เมืองกาญจนบุรี จึงแต่งงานอยู่กินด้วยกัน ปู่มีลูกชายหญิงทั้งหมด 8 คน มีคุณพ่อกับคุณอาผมเท่านั้นที่หันมาค้าขายรถยนต์ จากนั้นคุณปู่จึงเริ่มค้าขายทางเรือ รับพวกของป่าและพวกข้าวจากเมืองกาญจนบุรี ล่องเรือตามลำน้ำแม่กลองไปขายยังจังหวัดราชบุรีเสร็จแล้วก็นำสินค้าจากราชบุรี จำพวกโอ่ง พวกเกลือ ขึ้นมาขายที่เมืองกาญจนบุรี นั่นคือเรื่องที่ผมรับรู้ได้จากคุณพ่อประกิตและคุณแม่วรรณีเล่าให้ฟัง

 

“เมื่อเวลาผ่านไปคุณปู่ก็ไม่ได้อยู่บนเรืออีกแล้ว ท่านขึ้นมาสร้างบ้านเป็นห้องแถวไม้ 2 ชั้นที่ตลาดท่าเรือ ติดแม่น้ำแม่กลอง นั่นคือเหตุการณ์เมื่อ 80 ปีที่ผ่านมา จากการเริ่มค้าขายโอ่ง ขายเกลือและเครื่องมือจับปลาทุกชนิด เพราะย่านนั้นมีปลาชุกชุม จึงมีเบ็ดตกปลา มีแห มีอวน มีเชือก มีข่ายดักปลาทุกชนิด พอผมเริ่มรู้เรื่อง ก็รู้ว่าพ่อกับแม่ทำมาค้าขาย จึงทำให้ผมได้รับเชื้อเรื่องการค้าขาย เพราะเกิดมาก็เห็นท่านทั้งสองขายของ แม่เป็นแม่ค้าขายผัก ขายกับข้าวอยู่ในตลาดท่าเรือ ผมมีพี่น้อง 4 คน ผมเป็นลูกชายคนโต การเลี้ยงดูครอบครัวสมัยนั้นถือว่าพอกินพอใช้ เพราะเราเป็นครอบครัวใหญ่ ทำงานให้กงสี มีปู่ ย่า มีป้า มีอา มีพ่อและแม่ ทุกคนตื่นมาต้องทำงานเลี้ยงกงสีครอบครัว พ่อต้องออกไปซื้อปลามาขาย ทุกคนต้องทำงานกันตลอด

 

“ตอนเด็กๆ ผมค่อนข้างเกเร ชั้นประถมเรียนที่เมืองกาญจน์ ประถมปลายเรียนที่บ้านโป่ง ราชบุรี ต้องออกจากโรงเรียนหลายแห่งเพราะความเกเร จะมานิ่งหายเกเรก็สมัยมาเรียนอยู่ที่โรงเรียนสวนกุหลาบ จากนั้นผมก็ไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยคณะเศรษฐศาสตร์ จนกระทั่งจบ อยากจะไปเรียนต่ออเมริกา แต่ไม่ได้ไปเพราะวีซ่าไม่ผ่าน มันเหมือนกับดวงผมจะต้องกลับมาทำงานที่บ้าน ก็เลยไปช่วยคุณอา วสันต์ โพธิพิมพานนท์ เจ้าของเบนซ์ทองหล่อ อยู่อีก 1 ปี”

 

ฝึกวิทยายุทธ์ 

“ผมไปรับวิทยายุทธ์ทางการตลาดกับคุณอาวสันต์ได้อะไรมาเยอะมาก ท่านจะสอนการเป็นสายเลือดพ่อค้า สอนการขายของสอนในเรื่องกลยุทธทางการตลาด การเจรจาต่อรอง ท่านมักจะเน้นการทำอะไรที่แตกต่างจากคนอื่น อย่าทำเหมือนชาวบ้าน ถ้าทำเหมือนกับเขา เราจะไม่ได้กิน ถ้าทำอะไรที่เขาทำกันอยู่แล้ว ไม่ได้เงิน ไม่ได้กิน ต้องหาวิธีที่แตกต่างซึ่งแปลได้ในทุกๆ อย่างสิ่งเหล่านี้จึงได้นำติดตัวมาใช้ในชีวิตทางการตลาด ในเรื่องการค้า เหมือนกับคำพูดโฆษณาที่คุณอาพูดจนกลายเป็นโลโก้ที่ว่า“ใครมีเรือกสวนไร่นา ไม่ได้ใช้ทิ้งไว้เปล่าๆ เอาอะไรมาแลกก็ยอม” นั่นคือจุดขายของเบนซ์ทองหล่อ แต่ผมไม่เหมือนคุณอา ผมจ้างคนมาทำงานให้เขาคิด แล้วให้เขาทำ เพียงแต่ความคิดของเขาและสิ่งที่เขาทำ เราต้องเห็นด้วย วิธีการทำงานคือเขาต้องคิดตั้งแต่ต้นปีแล้วว่า ปีนี้จะทำอะไร ทุกแผนกจะต้องมีแผนงาน พอผมอนุมัติ มันก็จะรันไปทั้งปี

 

“หลังจากที่ผมฝึกวิทยายุทธ์จากคุณอาเสร็จ ผมก็กลับมาเมืองกาญจน์มาขายโตโยต้า เพราะเราเป็นดีลเลอร์โตโยต้า ตั้งแต่ปีพ.ศ.2521 ก่อนหน้านั้นคุณอาวสันต์ทำอยู่กับคุณพ่อ ต่อมาคุณอาก็ไปขายเบนซ์ที่กรุงเทพฯ พ่อก็รันงานโตโยต้ากับฮีโน่ พวกรถบรรทุก ทำอยู่ 2 ยี่ห้อ เมื่อผมกลับเข้ามาผมก็สานต่องานของพ่อ จนกระทั่งพี่สาวที่ร่วมงานด้วยกันแยกออกไปแต่งงานแล้วไปดูแลฮีโน่ ส่วนผมก็ดูแลโตโยต้า เมื่อพ่อเกษียณ ผมจึงรับงานเต็มตัว ผมเริ่มทำตั้งแต่ปี พ.ศ.2529 อายุเพิ่งจะ 20 ต้นๆ คนงาน10 กว่าคน จากนั้นก็ขยายยอดต่อไปยังกรุงเทพฯ”

 

ฝ่ามรสุม

“การทำธุรกิจใช่ว่าจะราบรื่นเสมอไป ผมเจอวิกฤตเศรษฐกิจลดค่าเงินบาทในปี พ.ศ.2527-2528 ช่วงที่เบนซ์ทองหล่อมาทำช่วงนั้นขายรถยากมากๆ ขายไม่ได้เลย พอปี พ.ศ.2529 ผมกลับมาเมืองกาญจน์ ตอนนั้นต้องทำไฟแนนซ์รถ ขายเช่าซื้อให้กับลูกค้าเอง กู้เงินแบงก์มาปล่อยไฟแนนซ์เอง ผมกลับมา 3 ปีผมเก็บตังค์อย่างเดียว ไม่ได้ขายรถ ตามเก็บเงินลูกค้าที่เช่าซื้ออยู่ตามประนอมหนี้ ตามฟ้องร้อง ตามยึดรถ หน้าที่ผม 3 ปีแรกคืองานตามทวงหนี้ ช่วงนั้นลำบากมาก เก็บเงินเก็บทองก็ยาก ขายรถก็ขายไม่ได้ ขายได้ก็ขาดทุน ถึงขาดทุนก็ต้องขายเศรษฐกิจมันแย่ทั้งประเทศ ไม่ใช่เฉพาะที่เมืองกาญจน์ ทุกอย่างมันไม่ดีหมด 
จนกระทั่งมาเจอวิกฤตเศรษฐกิจปี พ.ศ.2540 ฟองสบู่แตก ก็หนักเหมือนกัน รู้สึกว่าหนัก แต่ไม่กลัว ไม่เครียด รถใหม่ๆ ขายไม่ได้เลย ผมก็ไปหาซื้อรถเก่ามาขาย จอดอยู่หน้าโชว์รูมนี่แหละ ก็พอช่วยประคองค่าใช้จ่ายที่สูงพอไปได้ ผมใช้นโยบายประหยัดในสิ่งที่จำเป็น ไม่ให้ลำบาก บริษัทผมไม่มีการปลดคนงานสักคนเดียว ตอนนั้นมีร้อยกว่าคน ปัจจุบันเฉพาะที่กาญจนบุรี 
มีเกือบ 200 คน

 

“สิ่งที่น่ากลัวที่สุดของผมคือความกลัว ถ้าทุกคนในองค์กรไม่กลัว ทุกคนมีความมุ่งมั่น มองเป้าหมาย มองปัญหาเหมือนๆ กันแล้วเดินไปข้างหน้า ไปด้วยกัน ไม่เกิดความกลัว ก็จะไม่กลัว แต่ถ้าทุกคนกลัวหมด เราก็กลัว ลูกน้องก็กลัว ทุกคนจะเหี่ยวหมดโดยเฉพาะคู่แข่ง ถ้าเราไม่มีคู่แข่ง เราก็จะไม่แข็งแรง ไม่กระตือรือร้นไม่มีจุดแข็ง ถ้ามีคู่แข่งจะทำให้เราปรับปรุงพัฒนาอยู่ตลอดเวลา นิ่งและหยุดไม่ได้

 

“แม้ว่าแบรนด์โตโยต้าจะแข็งแรงด้วยคุณภาพโด่งดังไปทั่วโลกก็ตาม แต่เราก็ต้องทำทุกๆ อย่างอยู่ตลอดเวลา ต้องปรับปรุงพัฒนาอยู่ตลอด ไม่ใช่แข็งแรงแล้วอยู่เฉยๆ ความแข็งแกร่งของเราอยู่ที่การปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา เพราะเรื่องคุณภาพของโตโยต้านั้นถึงกันหมด เพราะฉะนั้นนโยบายของโตโยต้าของญี่ปุ่น ของไทยหรือของอเมริกา มันก็เป็นแนวเดียวกันว่าคุณต้องปรับปรุงพัฒนาในทุกๆ เรื่องอย่างต่อเนื่องทุกขั้นตอน เขาจะสอนให้คิด สอนให้ปรับปรุงวิธีพัฒนาในทุกเรื่องที่เราสัมผัส

 

“ปัจจุบันงานทุกอย่างผมวางเกือบหมดแล้ว แต่สิ่งที่ทำตั้งแต่เริ่มต้น จนถึงปัจจุบันที่ทำอยู่แล้วไม่วางมือ คืองานเรื่องการดูแลลูกค้า เรียกว่างานลูกค้าสัมพันธ์ ปัจจุบันผมยังถืองานนี้อยู่ ไม่ปล่อยให้ใครเลย เพราะหลักของการทำธุรกิจก็เหมือนกับที่ทุกคนรู้ว่า ลูกค้าคือพระเจ้า ลูกค้าต้องมาก่อน ผมตระหนักแล้วว่าลูกค้าสำคัญจริงๆ งานนี้จึงไม่ปล่อยให้ใครทำ ทั้งที่เมืองกาญจน์และที่กรุงเทพฯ ใครจะยุ่งนโยบายอันนี้ไม่ได้ ผมถือว่าลูกค้าต้องมาก่อน ถ้าไม่มีลูกค้า ก็ไม่มีเรา แต่เมื่อรู้แล้วต้องปฏิบัติด้วย ลูกค้าร้องเรียนในทุกๆ เรื่องต้องถึงผม ลูกค้าต่อว่า ตำหนิฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ต้องรายงานถึงผม ปัญหาพวกนี้เป็นปัญหาระยะยาว ต้องมองไกลๆ แล้วจะรู้ว่าลูกค้าที่มาซื้อรถยนต์มากกว่า 30% มักจะเป็นลูกค้าซื้อซ้ำ ลูกค้าแนะนำมา ลูกค้าพึงพอใจ ในปีหนึ่งขายรถได้ประมาณ 2,000 คัน ใน 30-35% เป็นลูกค้าที่จงรักภักดีกับโตโยต้ากาญจน์ ทั้งรถกระบะและรถเก๋งทั้งหมดรวมกัน 35%อยู่ๆ ไม่ต้องทำอะไรเขาก็มาซื้อ ผมจึงมีความเชื่ออยู่อย่างหนึ่งที่ว่าการทำดีกับลูกค้า ตอบสนองในสิ่งที่ลูกค้าต้องการอย่างดีที่สุดมันจะเป็นผลกลับมาโดยที่เราไม่ต้องทำอะไรเลย

 

“อีกอันหนึ่งที่ผมระลึกถึงเสมอคือเรื่องพนักงาน ทุกอย่างมันทำกันได้หมดตั้งแต่สินค้า ความสะดวกสบาย เงินซื้อได้ แต่คนซื้อไม่ได้ ความสำคัญของธุรกิจคือคน จุดแข็งของโตโยต้ากาญจน์คือทีมงานซึ่งเป็นเรื่องนโยบายการบริหารคน เราต้องแฟร์ๆ กับคนทำงาน ได้มากำไรแบ่ง ผมให้เงินเดือน ให้โบนัส จนกระทั่งดีลเลอร์โตโยต้าด้วยกันยังพูดกับผมว่าให้โบนัสทำไมเยอะแยะ ซึ่งผมไม่ได้ให้เยอะ แต่แบ่งเป็นสัดส่วนเป็นเรื่องตายตัว ถ้ากำไร 100 จะแบ่งให้พนักงานเท่าไร อันนี้เรื่องเงิน ส่วนเรื่องความก้าวหน้าในอาชีพ ต้องทำให้เขาเห็นชัดว่าเส้นทางถ้าเขาจะเติบโตในโตโยต้ากาญจน์ มีโอกาสเติบโตในหน้าที่อย่างใด ด้วยวิธีไหน รู้ว่าก้าวต่อไปที่เขาเดินไปเรื่อยๆ เป็นอย่างไร มันมั่นคงแค่ไหน”

 

พ่อค้าในสายเลือด

จากการสังเกตรอบๆ บริเวณสำนักงานโตโยต้า กาญจน์ เราเห็นคำคมการบริการต่างๆ ติดโดยรอบ อาทิ เรามุ่งมั่นส่งมอบสินค้าที่มีคุณภาพและบริการที่ประทับใจ เพื่อความพึงพอใจสูงสุดของลูกค้า หรือ ขับรถอุ่นใจ ปลอดภัยในทุกเส้นทาง โดยเฉพาะพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

 

“เรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งเตือนใจด้านการให้บริการ ในบางเรื่องนำมาปรับใช้ได้มันหลากหลาย สำหรับแผ่นป้ายไม้ที่เขียนว่า “ยงวัฒนาบริการ” พร้อมติดแผ่นทองคำเปลว ที่ติดหลังโต๊ะทำงานของผมด้านข้างเขียนภาษาจีน 2 แถว แปลว่า เคารพบรรพบุรุษซื่อสัตย์ มีคุณธรรม อันนั้นเป็นป้ายร้านเดิม เรื่องธุรกิจเริ่มต้น แผ่นนั้นใช้ตั้งแต่แรกเปิดตั้งปี พ.ศ.2515 เป็นเวลา 37 ปีแล้วที่คุณพ่อทำธุรกิจรถยนต์ ซึ่งผมนำมาติดเพื่อให้นึกถึงอดีตว่าเราเติบโตมาอย่างไร เราเริ่มมาจากศูนย์นะพ่อแม่ขายโชห่วยในตลาดนะ ผมได้สตางค์ไปโรงเรียนวันละ 50 สตางค์ ตอนเรียนป.4 ซื้อน้ำขวดไม่ได้ เพื่อนกินน้ำอัดลม ผมน้ำลายไหลเลย จนกระทั่งได้เงินไปเรียน 6 สลึง ค่ารถไป 50 สตางค์ กลับอีก 50 สตางค์ รวมหนึ่งบาท เหลืออีก 50 สตางค์ น้ำอาร์ซีขวดหนึ่ง ราคา 75สตางค์ อยากกินแต่กินไม่ได้

 

“มันทำให้ผมระลึกถึงวิชาเศรษฐศาสตร์ที่ผมเรียนมาในอดีต ตอนนั้นจบออกมาได้บัณฑิตใหม่ๆ ใจผมอยากเป็นพ่อค้า ผมจะไม่ไปเป็นลูกจ้างเด็ดขาด ผมอยากเป็นพ่อค้าก่อนที่จะเข้าเรียนเศรษฐศาสตร์อีก คือเลือกที่จะค้าขาย แต่เมื่อมาทำจริงๆ ให้ผมมาขายรถ ผมก็เป็นคนขายที่ห่วยมากในความรู้สึก แล้วผมมารู้ตัวเองว่าผมไม่ชอบขายรถ แต่ความรู้สึก ความเป็นพ่อค้าในสายเลือดเรารู้ว่าเราขายเองไม่ได้ เพราะบุคลิกหน้าตา ความยิ้มแย้มเราน้อย เรามีไม่มาก แต่รู้ว่าถามอะไรมา เราตอบได้ ผมจึงเป็นคนสอนลูกน้องตลอด ปัจจุบันลูกน้องที่ออกจากผมไป 80-90% ก็ยังไปมาหาสู่กัน เสมือนเป็นเพื่อนทางธุรกิจ บ้างก็ออกไปค้ารถเก่าไปเปิดเต็นท์รถมือสอง ออกไปทำอู่ ถ้าเขาไปได้ดีก็ไป จะมาซื้ออะไหล่ จะมาเอาอะไรที่เราสนับสนุนได้ก็จะให้ สุดท้ายเขาก็กลับมาซื้อรถเก่าผม เพราะเราสนับสนุนเกื้อกูลกัน ไปมาหาสู่กัน

 

“วิชาเศรษฐศาสตร์ที่ผมเรียนมาจึงมีมนต์เสน่ห์อย่างหนึ่ง มันทำให้รู้ทุกเรื่อง จะคุยอะไรก็ได้ คุยเรื่องบัญชี การบริหาร คุยเรื่องเศรษฐกิจโลก คุยเรื่องการเงิน การธนาคารเศรษฐศาสตร์มันสอนทุกเรื่องให้เรารู้กว้าง ไม่ได้สอนให้เรารู้ลึก พอรู้ทุกเรื่องก่อนจะเกิดเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น เราจะได้รับความรู้สึกจากที่เราเรียนมา มันทำให้เรารู้สึกตลอดได้ว่า อนาคตมันจะเป็นอย่างไร พอไม่ดีเราก็เริ่มระวัง เริ่มเตรียมตัว ก่อนเกิดเหตุการณ์ทุกครั้ง 6 เดือนถึง 1 ปีพอผมรู้สึกอะไร ผมจะเขียนจดหมายไปถึงทุกแผนก ทุกฝ่าย อย่างปี พ.ศ.2540 ผมก็เขียนถึงพนักงานทุกคนว่าเขาควรจะทำตัวอย่างไร จะตั้งตัว จะวางตัวอย่างไรแล้วเหตุการณ์อะไรมันเกิดขึ้น แล้วอะไรมันจะเกิดขึ้นตามมา ก็จะเล่าให้เขาฟัง มันไม่ใช่เรื่องลางบอกเหตุ แต่มันคือเรื่องจริงที่ผมรับรู้ว่ามันเป็นอย่างนี้ ต่อไปมันจะเป็นอย่างนี้ เป็นหลักตรรกะทางเศรษฐศาสตร์ ทั้งเรื่องการค้าระหว่างประเทศ เรื่องการเงิน ทางเศรษฐกิจ ทุกๆเรื่อง มันเหมือนกับเศรษฐศาสตร์สอนให้รู้ในเรื่องธุรกิจ ในเรื่องเศรษฐกิจว่าเมื่อไรมันจะมากระทบถึงรถยนต์ ทำให้เรารู้ล่วงหน้าถ้าพูดถึงเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการจัดตั้งรัฐบาลของประธานาธิบดีสหรัฐโอบามา ในความคิดเห็นของผม ผมมีความเชื่อว่ามันต้องดีขึ้น เพราะถึงโอบามาจะไม่ใช่ซูเปอร์แมน แต่เขาก็มีทีมเศรษฐกิจที่ดีและเป็นที่ยอมรับ

 

ปิดทองหลังองค์พระปฏิมา

“ถึงผมจะประสบผลสำเร็จในด้านหน้าที่การงานแล้ว แต่ถ้าจะให้ผมไปเล่นการเมือง ผมไม่เอา แต่ในเรื่องการช่วยเหลือสังคมช่วยประเทศชาติหรืออะไรก็แล้วแต่ มีโอกาสช่วย ผมพร้อมที่จะช่วยตลอด ผมไปโรงพยาบาลรัฐบาลแห่งหนึ่งภายในจังหวัด ผมก็บอกหมอว่ามีอะไรให้ผมช่วย หมอช่วยคิดหน่อย ผมมีเงินอยู่ก้อนหนึ่ง หมอช่วยคิดหน่อยว่ามีอะไรที่เกี่ยวกับคนยากคนจน
ที่ค่อนข้างลำบากแล้วมาหาหมอ แล้วมีปัญหาหลายเรื่อง ทั้งค่าเดินทางไกลๆ จากชนบทเข้ามาในเมือง หรือมีปัญหาเรื่องค่ารักษาพยาบาล มีปัญหาเรื่องอะไรให้หมอช่วยกันคิด แล้วผมจะสนับสนุน ปีก่อนผมก็บริจาคช่วยเครื่องดูดเสมหะให้กับโรงพยาบาลโรงเรียนขาดเหลือเรื่องโรงอาหารหลายแสนบาท ผมก็เข้าไปช่วย ช่วยแล้วไม่ต้องบอกใคร ไม่มีใครรู้หรอก ผมไม่ได้เขียนชื่อติดไว้ มันเป็นความสุขที่เราได้ให้ เราพอแล้ว เรารู้อยู่แก่ใจ

 

“ในชีวิต ผมไม่ค่อยสะสมอะไร (หัวเราะ) ส่วนมากจะสะสมของเก่าของปู่ย่าตายาย สมัยเกือบๆ 100 ปี ทำเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวขนาดย่อม ก็มีจักรยานมอเตอร์ไซค์ นาฬิกาโบราณ ไม้ตะพดนับสิบอัน มีประวัติทั้งนั้น พัดลม เครื่องเสียงปากแตร กำปั่นหรือตู้เซฟของปู่ที่ขนมาจากเมืองจีน เครื่องพิมพ์ดีด เครื่องคิดเลข เตารีด ตาช่างลูกดิ่ง สมอเรือ หางเสือเรือพาย โอ่ง ตู้ไม้แกะสลักหมวกเจ๊ก จดหมายจากแม่เขียนถึงผมขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ที่นำมาใส่กรอบติดไว้ รูปภาพสมัยเรียนหนังสือ และอีกมากมายทั้งหมดเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึง อย่างตะเกียงเจ้าพายุ กระติกน้ำของแม่ ทีวีเก่า เมื่อมองครั้งใดก้ทำให้เรารู้ว่าเรามาจากไหน เราเริ่มต้นมาอย่างไร เห็นแล้วมีความสุข เมื่อก่อนมันเป็นอย่างนี้นะ บ้านตา ยาย ไม่มีไฟฟ้าใช้ ต้องใช้ตะเกียงจ้าวพายุ

 

“ทุกวันนี้ผมยังเป็นผู้ให้เสมอ ก็ไม่รู้จะเอาไปทำไม เพราะเรารู้และพิสูจน์ได้ว่าไม่ใช่ว่าเรามีแล้ว เรามีความสุข เราต้องมีก่อน ซึ่งตอนที่เราไม่มี เราก็คิดว่าถ้าเรามี แล้วเราคงคิดว่ามีความสุข ไม่ได้คิดว่ามีแล้วจะให้ ถ้าเราไม่มี เราก็จะไม่รู้ เราก็บอกว่าขอให้เรามีก่อน เพื่อว่าพอมีแล้ว มันจะมีความสุข แต่พอถึงวันหนึ่งที่เรามีแล้ว มันพิสูจน์ว่ามันไม่ใช่แล้ว การมีนั้นไม่ใช่มีความสุข การให้นั้นมีความสุขกว่า

 

“ชีวิตผมยังไม่เรียกว่าประสบผลสำเร็จในชีวิต แต่มาถึงวันนี้ ผมรู้สึกว่ามันน่าจะพอเพียงกับชีวิตเราแล้ว จะให้ไปลงทุนทำอะไรผมว่าไม่ใช่แล้ว การขยายในธุรกิจเดิมอาจจะมีบ้างก็เพื่อขยายให้มันครบ สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่จะให้ไปลงทุนธุรกิจขยายใหญ่โต ผมคงไม่ทำ ช่วงนี้อยู่ในช่วงประคองให้เดินไปด้วยตัวของมันเองด้วยทีมงานโดยไม่ต้องมาขึ้นอยู่กับผม”

 

เศรษฐกิจ...เผาจริง?

“ชีวิตสบายๆ ของผมในวันนี้ ผมทำให้มันว่างที่สุดในจิตใจ อยากให้จิตมันสงบนิ่งสบายเบา แล้วก็ออกกำลัง ดูแลลูกน้อง เลี้ยงสุนัข เมื่อว่างก็จะมานั่งสมาธิ อดีตไม่คิด อนาคตไม่คิด คิดถึงแต่ปัจจุบัน ให้สมองมันเบาๆ เชื่อว่าความทุกข์มันเกิดจากความคิดถ้าไม่คิดก็ไม่ทุกข์ ส่วนสไตล์การแต่งบ้านของผมนั้นมาจากสถาปนึก คือนึกไปเรื่อยๆ (หัวเราะ) ว่างๆก็นึกต่อ

 

“ถ้าถามว่าสินค้าของโตโยต้าแตกต่างจากคู่แข่งอย่างไรนั้น เอาแค่เรื่องสินค้าทุกเซตทุกระดับ ตั้งแต่ล่างสุด สี่แสนกว่าบาท ไปจนถึงสามล้านกว่า เรามีหมด ค่ายอื่นไม่มีอย่างนี้ ค่ายอื่นมีรถเก๋ง ไม่มีกระบะ มีกระบะ ไม่มีรถเก๋ง เรื่องทีม เรื่องบริหาร เรื่องการถ่ายทอดความรู้ เรื่องการเทรนนิ่ง เยอะมาก ถ้าใครมีความรู้เหมือนคนโตโยต้ารู้ ถือว่าทำอะไรก็ไปรอด เขาสอนให้คุณคิดอยู่ตลอดเวลา พัฒนาอยู่ตลอด ไม่มีที่สิ้นสุดว่าพอแล้ว การสอนนี้มันสะสมมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ประธานคนแรก เขามีคำสอนข้อคิดอะไรเขาก็ลงบันทึก สะสมมาเรื่อย จนมันเป็นวัฒนธรรมขึ้นมา ความภาคภูมิใจในโตโยต้า คือการไม่หยุดนิ่งและพัฒนาอย่างต่อเนื่องปัญหามีไว้ให้แก้ตลอด ปัญหาไม่ได้มีไว้ให้ท้อถอย พอแก้ได้ก็จบ เราต้องมองปัญหาคืองาน ปัญหามีไว้ให้ช่วยกันคิด

 

“เศรษฐกิจในปัจจุบันนี้ เรามีเป้าหมายการรองรับกับสภาวะที่เรียกว่าเผาจริงในปีนี้หรือไม่นั้น ผมมองว่า ทำให้ดีที่สุดมากกว่าเพราะเราไม่รู้ว่ามันจะมาหนักหนาสาหัสสากรรจ์ขนาดไหน ก็ตั้งหลักและรอพร้อมที่จะเผชิญกับมัน ตั้งหลักในที่นี้หมายความว่า
วางคนเป็นอย่างไร ฉะนั้นคนที่อยู่ด้วยต้องสื่อสารกันให้เข้าใจว่าเราจะเจอสิ่งที่จะเข้ามา คุณพร้อมมากน้อยแค่ไหน คนของผมเกือบทั้งบริษัทจะมีตัวชี้วัดประสิทธิภาพของงาน พนักงานขายทุกคนช่างทุกคน ระดับปฏิบัติการและระดับหัวหน้า จะถูกประเมินทุกเดือน เขาจะมีทุกเดือนว่าเขาทำรายได้เท่าไร เขาปฏิบัติตามกฎระเบียบไหม หน้าที่เขาเป็นอย่างไร มนุษย์สัมพันธ์ของเขาเป็นอย่างไร อันนี้ทำมานานหลายปี เมื่อเขามีตัวชี้วัดแล้ว เวลาเราบอกเขาไปว่าเศรษฐกิจมันเป็นอย่างนี้นะใครที่ตัวชี้วัดต่ำลงเขาจะรู้ว่าเขาจะทำอย่างไร อันนี้คือความพร้อมในระบบที่ต้องเตรียมคนให้พร้อม เช่นเงินในปีหน้าจะมีปัญหา เราก็จะเตรียมเรื่องเงิน ถ้าเรานึกแบบหยาบๆ ว่าถ้ายอดขายมันลดลง 50% เราจะทำอย่างไร แล้วลดลง 60% เงินเราจะเป็นอย่างไร เราก็ต้องเตรียมพร้อม

 

“ในปี พ.ศ.2540 เราลดค่าเงินบาท ข้าวของเราถูกมาก ทั่วโลกเขาไม่เป็นอย่างของเรา นั่นคือปัญหาภายในประเทศเราเอง อยู่ๆของเมืองไทยดีด้วย ถูกด้วย ส่งไปเท่าไร เขาก็มาสั่งซื้อ ผลิตอะไรเท่าไรก็ขายไป ไม่นานเศรษฐกิจก็ฟื้น แต่ผมคิดว่า ปีพ.ศ.2552 เศรษฐกิจมันจะแย่กันเกือบทั้งโลก ของเราก็แย่ด้วย เราจะทำอะไรไปขาย ขายให้ใคร คนซื้อมันก็แย่ ผมยังนึกไม่ออก แล้วปัญหามันลึกแค่ไหน เราก็ยังไม่รู้ แต่ผมก็หวังว่ามันจะดีสักวัน หวังว่ามันคงไม่ลึกอย่างที่เรารับรู้ แต่ถ้ามันแย่กว่าที่เรารับรู้มา อันนั้นมันน่ากลัว ผลกระทบมันเป็นลูกโซ่ ซึ่งสถาบันการเงินมันก็ล้มเป็นลูกโซ่ จากอเมริกา ไปยุโรป มาญี่ปุ่น หลากหลายธุรกิจ รถยนต์เองก็เป็นลูกโซ่

 

“มีคนพูดว่ารถยนต์ที่ผลิตในอเมริกาและยุโรปบางรุ่นขายไม่ได้ เจ๊งหมด โตโยต้าน่าจะดีใจเพราะหมดคู่แข่ง แต่ตรงนี้ไม่ใช่ พวกนี้มันเป็นลูกโซ่ซัพพลายเออร์ ผู้ผลิตอะไหล่ชิ้นส่วน มันส่งให้ทั้งญี่ปุ่น ยุโรปและอเมริกา ผลมันกระทบมาที่โตโยต้าอยู่ดี มันกระทบกันไปหมด ผมจึงภาวนาขอให้มันเกิดขึ้นในสิ่งที่เรารู้แล้ว ว่าอันนี้มันเป็นผลกระทบว่าแย่ๆ แค่นี้นะ อย่ามีอะไรที่ไม่ได้รับรู้แล้วถูกเปิดเผยออกมาอีกนะ ให้มันจบตรงนั้น”

 

กตัญญูรู้คุณ...อยู่ที่ใดก็เจริญ

“บางคนไม่รู้จักพอ ทำเท่าไรก็ไม่พอ เงินเป็นใหญ่ มีแต่เงิน เงิน เงิน แต่เมื่อไปถามลึกๆ จริงๆ แล้วเขารู้ตัวเองว่าเขาอยากหาความมั่นคงและความสุข แต่มันแปลเป็นเงิน ทำให้เขาคิดว่าถ้ามีเงินแล้วเขามีความสุข มันไม่ใช่ ไอ้สิ่งที่ผมทำมาทุกวันนี้สุดท้ายความสุขที่ต้องการ มันคืออะไร ต้องไปหาจริงๆ ให้เจอ ถ้าไปตามกระแส เขามีอะไร เราก็อยากมีบ้าง ตรงนี้มันไม่ใช่ ทุกคนต้องการแต่ความสุข แต่ความสุขที่แปลว่าตังค์มันก็จบแล้ว ทิ้งครอบครัว ทิ้งพ่อ แม่ ไปหาเงิน โดยที่คนอื่นทุกข์ หรือคุณทำแล้ว คุณรวย ลูกน้องคุณลำบาก มันก็ไม่ใช่

 

“ความสุขของผมคือการได้กินข้าวกับแม่ ผมทำอย่างนี้มาเป็นสิบๆ ปี เพราะเตี่ยต้องมาทำงาน ผมต้องกลับไปกินข้าวที่บ้านเพราะแม่อยู่คนเดียว เมื่อท่านไม่สบาย เรามีสตางค์เยอะแค่ไหนก็ไม่สามารถซื้อชีวิตแม่ผมกลับคืนมาได้ ครั้งหนึ่งมีนักศึกษาจีนมาเรียนที่มหาวิทยาลัยราชภัฎกาญจนบุรี แล้วเผอิญมาฝึกงานที่โตโยต้า สำหรับนักศึกษาจะมีคอร์สฝึกงานประกอบการเรียน ผมจึงบอกว่าเรื่องงานอยากรู้อะไรเดี๋ยวผมบอกให้ แต่ผมก็ฝึกเขาอีกอย่างหนึ่ง ด้านจิตวิทยา ผมบอกว่าคุณช่วยไปเป็นเพื่อนไปกินข้าวร่วมกันกับพ่อผมหน่อย พ่อผมรู้สึกดีใจเพราะนักศึกษาคนนั้นพูดภาษาจีนโต้ตอบกันกับพ่อ ผมไปกินข้าวกับท่านทุกครั้งที่มีโอกาส ขับรถจากที่ทำงานในเมือง 20 กิโลเมตร ไปกลับ 40 กิโลเมตร เพื่อไปกินข้าวกลางวันกับพ่อ นักศึกษาจีนคนนั้นก็บอกกับผมว่ามีอย่างนี้ด้วยเหรอ เขาบอกว่าเขาไม่เคยเห็นอย่างนี้ที่ไหนมาก่อน เพราะในเมืองจีนไม่มี ทุกคนจะตั้งหน้าตั้งตาหาเงินอย่างเดียว ทำแต่งานเก็บเงิน อย่างเดียว มันสะท้อนอะไรได้หลายอย่างให้เราได้คิดนะ”

 

ชีวิตมนุษย์ทุกสาขาอาชีพ ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ความสำเร็จบางครั้งมาเร็ว บางคราเกินเอื้อม สำคัญที่การเรียนรู้ เพิ่มเติมเสริมกำลังใจ หากสะกดคำว่าท้อแท้สิ้นหวังไม่เป็น เมื่อนั้นกำลังใจก็จะเกิด

ถิ่นกำเนิดของเด็กชายศิระประธานกรรมการบริษัทโตโยต้า