อังเคิล อดิเรก วัฏลีลา

อังเคิล อดิเรก วัฏลีลา

ถ้าคุณเคยดูหนังเรื่อง บุปผาราตรีภาคสอง หรือ ครอบครัวตัวดำ และยังจำได้ในบางฉาก คุณจะเห็นจ่าตำรวจคนหนึ่งเข้ามาร่วมแสดงบทสมทบเรียกเสียงหัวเราะได้เป็นระยะ บทตำรวจนี้เองที่ทำให้เขาเป็นที่จดจำแก่คนทั่วไป ไม่แพ้การเป็นผู้กำกับหรือ
ผู้อำนวยการสร้างหนังที่เขาเป็นอยู่

 

“คือวันแรกเขาบอกว่ามาถ่ายวันเดียว เราก็อายนะ ก็ไปเล่นนิดเดียวแบบขำๆ แต่มันไม่ใช่อย่างนั้นไง มันมีงานมาต่อเนื่อง เลยกลายเป็นว่าถ้าเราปฏิเสธคนก็น้อยใจอีก เขาจะบอกว่าทีคนนั้นยังไปเลย” เขาเล่าถึงบทบาทที่ตัวเองแสดงอย่างดูมีความสุข

 

ที่ผ่านมาถ้าใครติดตามข่าวคราวในวงการหนังจะรู้ดีว่า คุณอังเคิลคือผู้อยู่เบื้องหลังหนังหลายเรื่อง อาทิ โลกทั้งใบให้นายคนเดียวฟ้าทะลายโจร บางกอกแดนเจอรัส บางระจัน ขุนกระบี่ และอีกมากมาย โดยเขาเคยร่วมผลิตหนังให้ค่ายดังๆ อย่าง บริษัท 
ไท เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ อาร์เอส ฟิล์มและฟิล์มบางกอก

 

ปัจจุบันคุณอังเคิลได้กลับมารวมตัวอีกครั้งกับเพื่อนสนิทที่ชื่อ สง่า ฉัตรชัยรุ่งเรือง เปิดบริษัทใหม่ที่ชื่อว่า บางกอกฟิล์ม สตูดิโอซึ่งเขาเองรับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์ ควบคุมการผลิต กลับมาครั้งนี้เขาอยากจะสร้างความเป็นระบบเทียบเท่ากับการทำหนังแบบสากล ซึ่งการทำหนังในบ้านเราจะมีการนำโปรเจ็กต์ไปเสนอนายทุนเพื่อนำเงินมาทำหนัง เมื่อหนังได้ฉายออกมาอาจทำรายได้หรือขาดทุนก็ได้ก็จะอยู่ในวงนั้น แต่สิ่งที่บางกอกฟิล์ม สตูดิโอ พยายามทำก็คือการนำโปรเจกต์ชิ้นที่มีคุณภาพไปหาแหล่งเงินจากส่วนต่างๆ ให้มาลงทุนร่วมกัน ในส่วนของผลกำไรที่ได้จากหนังก็นำมาแบ่งกัน เป็นการร่วมทุนระหว่างผู้ลงทุนกับคนทำหนังระบบนี้จะทำให้คุณภาพของหนังมีความหลากหลายมากกว่า

 

ส่วนหนังเรื่องแรกที่บางกอกฟิล์ม สตูดิโอ สร้างขึ้นและกำลังออกฉายอยู่ในขณะนี้ก็คือเรื่อง ท้าชน ที่มีนักร้องขวัญใจวัยรุ่นแบงค์ วงแคลช รับบทแสดงนำเป็นพระเอก

 

“มันมีหลายโปรเจ็กต์ที่น่าสนใจ แต่เรื่องนี้ถูกดันขึ้นมาก่อน เราเดินสายเอา ท้าชน ไปรีเสิร์ชดูจากช่องทางแล้ว หนังแอ๊คชั่นนี่เมืองนอกรอเลย หลังจากองค์บากฉายไปก่อนหน้า คือหนังแอ๊คชั่นมันช้า แล้วออกน้อย แล้วเราจะทำยังไง หนังแอ๊คชั่นแบบจาพนมเขาไปไกลแล้ว เราจึงทำให้แตกต่าง โดยนักแสดงที่เราเลือกเป็นนักมวยชื่อดังฉายา เก้าล้านเล็ก เราเอาคนนี้มาเพื่อความจริงความดิบขึ้น แล้วตัวของแบงค์ก็เป็นคนที่ดิบๆ อยู่แล้วมันก็เลยเข้ากัน”

 

“แบงค์เขาก็เคยเล่นหนังมาก่อนแต่อาจไม่ประสบความสำเร็จนัก ถ้าเรามัวแต่ไปกังวลเรื่องความความสำเร็จทำแต่เรื่องตลาดอย่างเดียวก็คงไม่ใช่ เราเอาหนังด้วยนี่คือความตั้งใจความมุ่งมั่นเรายังนึกถึงตัวตน และงานของเราเป็นหลัก”

 

งานส่วนใหญ่ที่คุณอังเคิลได้ร่วมผลิตมาล้วนแต่มีความเป็นตัวตนที่ชัดเจน มีความเป็นมืออาชีพมากพอที่จะไม่ทำให้ผู้ชมเสียเงินและเวลาไปกับการดูหนังของเขาโดยเปล่าประโยชน์ แม้บางเรื่องอาจไม่ประความสำเร็จทางรายได้ อย่างเรื่อง ทวิภพ หรือ ฟ้าทะลายโจร แต่กลับประสบความสำเร็จด้านรางวัลหรือได้รับคำชมจากต่างประเทศแทน

 

“ถ้าเราเอาตัวตนศิลปะการทำหนังด้วยเงินร้อยล้านเราอยู่ไม่ได้หรอก บางครั้งเราเป็นตัวเราเองมากๆ ก็ไม่ได้ ผมไม่ใช่ว่าเป็นคนอ่อนตามนะ ผมดูหนังฮอลลีวูด ดูหนังแบบเฮาส์ ลิโด ก็ดูได้นะ สไปเดอร์แมนหรือแม้แต่ทรานสฟอร์มเมอร์ก็ชอบ เราเป็นคนสายกลาง หนังบางเรื่องเราเกลียดมันเลยนะ บางเรื่องก็รับไม่ได้ แต่บางเรื่องหนังที่คนดูไม่ได้ คนทั้งโลกเกลียด แต่ผมชอบที่หนังพูดบางเรื่องผมไม่ชอบเรื่องที่หนังพูด แต่ชอบภาพที่เขาสร้างมากกว่า”

 

เมื่อวันเวลาผ่านไป แนวทางของหนังไทยก็เปลี่ยนแปลงตามไปเป็นยุคสมัย จะเห็นว่าปัจจุบัน หนังไทยแทบจะทุกเรื่องต้องมีตลกผี หรือกระเทยมาร่วมด้วยแทบทุกครั้ง หนังไทยในตอนนี้ไม่มีหนังแนวใหม่เข้ามาเสริมหรือถ้ามีในแง่ของรายได้ก็อาจจะเสี่ยงเกินไปกับการลงทุน ผู้กำกับที่คิดโปรเจกต์ใหม่ๆ ขึ้นมา จึงต้องเก็บใส่ลิ้นชักไว้ก่อน

 

“ตลกทำหนังเป็นความสามารถนะ บางคนนี่เก่งเลยอย่างหนังของจตุรงค์ผมชอบเรื่องของโปรดักชั่นผมว่าเจ๋งนะ ดีกว่าผู้กำกับบางคนด้วยซ้ำ เดี๋ยวนี้หนังมันต้องมาจากนักแสดงตลก แล้วผู้กำกับคนนั้นก็ไม่ได้แสดงความสามารถที่แท้จริงออกมา ไม่มีการพัฒนาผมก็คือหนึ่งในจำนวนนั้น มันจะค่อยๆ หายไปตามกาลเวลา ในต่างประเทศบางคนอายุ 70 -80 ปียังกำกับอยู่เลย”

 

อย่างที่รู้ว่าการทำหนังนั้นต้องดูทิศทางของตลาดว่ามีการรองรับหนังเรื่องนั้นๆ หรือไม่ และตัวตนของคนทำหนังก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ต้องนำมาผสมผสานกัน แต่มีหนังอยู่เรื่องหนึ่งเป็นหนังที่เขาอยากทำมากที่สุด หนังที่มาจากตัวเขาเองล้วนๆ ชื่อเรื่องว่ามอมแมม

 

“ผมมีหนังในฝัน ชื่อเรื่อง มอมแมม จะสร้างมานานแล้ว คนในวงการน่าจะรู้หมด มันเป็นหนังเด็กๆ ชื่อ มอมแมม คือถ้าผมมีเงินผมสร้างเองเลย เพราะถ้าทำ มันก็เจ๊งอยู่แล้ว (หัวเราะ) คือเป็นหนังเอาตัวผมตอนเด็กๆ ผมจากบ้านมาจบ ป.7 เราก็มาอยู่กรุงเทพฯ ความรู้สึกของคนที่จากบ้าน บังเอิญตอนที่มาก็มาอยู่บ้านญาติ แล้วผมจะสื่อว่ามันอยู่โรงงานตุ๊กตาที่เด็กๆ เล่น พอใกล้ถึงวันเด็กก็จะมีการเร่งงานถึงเช้าก็มี คนละ 2 บาท 5 บาท ก็ไม่ได้อยากได้เงินหรอก เด็กในโรงงานนั้นมีอยู่ 6-7 คนเท่านั้นเองมันทุเรศ ขำไปยิ้มไป เศร้า สะเทือนใจไป แล้วเราเคยอยู่ตรงนั้น จากบ้านมานั่งร้องไห้น้ำตาไหล เรานั่งร้องไห้ ดูรถวิ่งก็คิดถึงบ้าน”

 

จากงานทั้งหมดที่คุณอังเคิลได้ทำมา เขาบอกว่าหลายชิ้นล้วนแล้วแต่มีความสำคัญทางจิตใจแทบทั้งสิ้น จึงเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับเขาที่จะบอกว่างานชิ้นไหนเป็นชิ้นโปรด เขาได้เปรียบเทียบงานของตัวเองให้เราฟังได้อย่างน่าสนใจทีเดียว

 

“มันไม่ได้มีงานที่ชอบมากที่สุดนะ คืองานชิ้นหนึ่งผลักดันให้เรามีงานอีกชิ้นหนึ่งขึ้นมา ถ้าเราบอกว่าเป้าหมายเราอยู่ชั้นสอง มีบันไดมี 15 ขั้น เราชอบขั้นไหนมากที่สุด มันต้องมีทุกขั้นนะมันถึงจะไปชั้นที่ 2 ได้ แน่นอนมันอาจมีขั้นเว้นขั้นก็ได้ แต่ไม่ใช่มีขั้นที่ 8 เลย จะขึ้นไปได้ยังไง มันต้องมีขั้นที่ 1 ส่งไป ขั้นที่ 2 ชั้นที่ 3 บางขั้นเหยียบแล้วเจ็บ บางขั้นมีฝุ่น บางขั้นก็ผุ หรืออาจพลาดแล้วหักเลยก็มี แต่มันทำให้เราเรียนรู้ที่จะเหยียบขึ้นต่อไป

 

“งานทุกเรื่องมีส่วนที่ทำให้ผมเป็นวันนี้นะ ถ้าตัดตัวที่ไม่ชอบออกมันจะไม่ถึงตรงนี้ อย่างหนังเรื่อง ฟ้าทลายโจร ถ้าเราไม่ทำมันสังคมก็มองเราเป็นอีกแบบหนึ่ง มองไม่เห็นตัวตนที่แท้จริง ตัวตนที่แท้จริงเราอยากทำอะไรก็ทำเลย ผิดพลาดบ้าง แต่คนจะบอกว่ากล้าทำอย่างนี้ได้ยังไง ถ้าตัวตนเราไม่กล้า เราก็จะมีงานอยู่ประเภทเดียว มันจะไม่ใช่สิ่งที่ผลักดันให้เรามาเป็นวันนี้

 

“การทำงานก็เหมือนกับว่า เมื่อ 7 ปีที่แล้วเราทะเลาะกับคนรัก เราจะเป็นจะตาย แต่วันนี้มาดูก็ลืมแล้ว อีก 7 เดือนจะมีอะไรหนักเขามาอีกก็ผ่านไปได้ อย่างงานที่เราเคยทำมันเหนื่อยมาก แต่เมื่อเรารับงานเขามาแล้วห้ามคืน และต้องทำให้สำเร็จและดีที่สุดเมื่อคนกลับมาดูงานของเราเขาจะบอกว่าเจ๋ง แต่ไม่มีใครรู้หรอกว่าเกือบตาย นั่นคือต้องผ่านไปให้ได้ ทำงานเนี่ยบางครั้งทะเลาะกับที่บ้านก็มี (หัวเราะ) เพราะเขาบอกว่าเราบ้างาน”

ถ้าหนังทุกเรื่องใช่หมด ได้เงินร้อยล้านหมด