พิชัย นิรันต์

พิชัย นิรันต์

ครั้นความเจริญมาเยือน สะพานคอนกรีตพาดผ่าน แม่น้ำจึงนิ่งสงบ ผักตบชวาลอยเอื่อย แลดูอิ่มเอิบเอมใจกับเรือนไทยที่ซุกตัวเคียงคู่ท่ามกลางหมู่แมกไม้ภายในตำบลลานตากฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ตักศิลาสำนักถักทอสายใยรักของครอบครัวอันอบอุ่นของ อาจารย์พิชัย นิรันต์ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปี พ.ศ.2546 ศิลปินผู้ถั่งโถมงานหนักต่อเนื่องไม่เคยหยุดนิ่ง และได้รับการยอมรับมายาวนาน ระยะแรกเริ่มสร้างสรรค์จากธรรมชาติไปถึงแนวพุทธปรัชญาอย่างลุ่มลึกงานจิตรกรรมของเขาจึงเข้ารับใช้ศาสนาและที่เผยแพร่เผื่อแผ่มาสู่มนุษย์ด้วยนั้น ก็เพราะเขาเชื่อในความคิดของช่างบรรพบุรุษที่สร้างสรรค์ศิลป์แบบประเพณีอย่างยั่งยืนยาวนาน

อาจารย์พิชัย นิรันต์ เป็นศิลปินรุ่นใหญ่ลายครามที่มีความคิดละเอียดลออ แม้จะเคยรับราชการเป็นครูสอนศิลปะโรงเรียนช่างศิลป์และข้าราชการกรมศิลปากรมาก่อน แต่ท่านก็ไม่เคยหยุดสร้างสรรค์งานศิลปะที่ตัวเองรัก ถึงแม้การดำรงชีวิตจะเป็นไปในแนวทางศิลปินมากกว่าข้าราชการ หลังเกษียณแล้ว ท่านยังมุ่งมั่นตั้งใจเขียนรูปอยู่เคียงภูสูง ป่าเมืองเหนือ ท่ามกลางขุนเขาสายธารธรรมชาติ ใช้ชีวิตสันโดษ สมถะเรียบง่าย โดยมักจะเดินทางไปหาสถานที่ที่สวยงามปักหลักเขียนรูป แม้เมื่อสมัยหนุ่มเคยทำงานเยี่ยงไร ปัจจุบันก็ยังคงดำเนินไปเช่นนั้น

ท่านมีผลงานศิลปะด้านจิตรกรรม ประติมากรรม ได้รับรางวัลมากมายและเคยรับใช้เบื้องยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯจนเป็นที่ประจักษ์มากว่าสี่สิบปี ท่านคือผู้นำในการเขียนภาพแบบประเพณีสมัยใหม่ คิดค้นหาเทคนิคมาสร้างผลงานด้วยการค้นพบเอง ไม่เคยซ้ำซากอยู่กับที่ แม้จะดูเหมือนเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ทว่าต่างมุมมอง เมื่อเสพย์ศิลป์จึงอิ่มเอมและลึกซึ้งกินใจ โดยเฉพาะภาพดอกบัวเป็นที่คุ้นเคย จะมองปราดเดียวไม่ได้ ต้องมองอย่างเจาะจงแล้วจะเข้าไปในเกสร เพื่อค้นหาสัจธรรมปรัชญาจากมัน นั่นคือความสงบนิ่งคลี่คลายเป็นมนต์ตราสะกดใจให้เห็นแก่นพุทธปัญญาที่ส่องกระจ่างอยู่บนเฟรมผ้าใบ บ่งบอกถึงความงาม ความนุ่มนวล อ่อนหวานสงบเย็น อันเป็นคุณค่ามหาศาล มหัศจรรย์ใจจากงานจิตรกรรมของเขา

นายร้อย...ห้อยพู่กัน

อาจารย์พิชัย เป็นบุตรของ รอ.รื่น นิรันต์ (รน.) ท่านมีแววตาแหลมคม มีสติปัญญาลึกซึ้ง เรียนอยู่เพาะช่างเพียง 1 ปีก็ถูกคุณปู่ซึ่งเป็นทหารเรืออยู่กรมสรรพาวุธ บางนา เรียกให้มาสอบที่กรมสรรพาวุธ รับราชการเป็นช่างพัฒนาในด้านอาวุธ พวกตอร์ปิโดอาวุธสงคราม ปืนกล แต่ในความแข็งกระด้างก็ยังแฝงไว้ด้วยความอ่อนไหว

“สมัยผมเรียนชั้นประถมศึกษา พ่อจะชอบเขียนรูปเหมือน ผมเห็นเกือบทุกวัน ท่านเขียนด้วยปากกาคอแร้ง ด้วยใจรัก มีทั้งรูปหนุมาน ทศกัฐ เรื่องราวรามเกียรติ์ ตอนหลังผมจบมัธยม 6 อาจจะเป็นเพราะสิ่งแวดล้อมพาไป พ่อเป็นทหารลูกจึงต้องเป็นทหารด้วย เพื่อนๆ หลายคนเตรียมตัวไปสอบนายร้อย นายเรือหรือพวกจ่า ผมจึงไปสอบที่โรงเรียนเตรียมทหารด้วย

“ในช่วงที่ผมกำลังสอบในเรื่องความสามารถพิเศษ ด้านยิมนาสติก พวกบาร์เดี่ยว บาร์คู่และห่วงคู่ บังเอิญขณะขึ้นห่วงสูงเกิดอุบัติเหตุตกลงมาแขนหัก หากแขนไม่หัก ก็คงเป็นทหารไปแล้ว (หัวเราะ) ชีวิตผมจึงหักเห ไม่ได้ไปเป็นทหาร ซึ่งคุณพ่อท่านก็แอบมองดูอยู่ ท่านก็ชอบใจ เพราะท่านอยากให้ผมมาเรียนทางด้านศิลปะ พอดีโรงเรียนช่างศิลป์ เปิดมาได้ 2 ปี ผมจึงสอบเข้าได้ก็ได้เรียนทางด้านศิลปะ ก็รู้สึกว่าเราค้นพบตัวเองว่าเราชอบด้านนี้จริงๆ ผมเรียนจบช่างศิลป์ ก็ไปเรียนต่อที่ศิลปากร เพราะตอนนั้นอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ท่านจะให้เกณฑ์ไว้ว่าวิชาสามัญและศิลปะรวมกันได้ 75% ก็เดินเข้าไปเรียนศิลปากรได้เลย ผมจึงเข้าไปเรียนคณะจิตรกรรม ประติมากรรม สมัยนั้นอาจารย์ศิลป์สอนหนัก ผ่านยากมาก บางปีท่านเล่นซะร่วงเกือบทั้งชั้น ตอนนั้นยังไม่มีสอบซ่อม ต้องเรียนซ้ำชั้น รุ่นพี่ผมที่เก่งๆ ที่มีชื่อเสียงก็มีอาจารย์อวบ สันเสน กำจร สุนคงศรี อาจารย์สุเชาว์ อีกหลายท่าน ที่เก่งๆ ไม่รู้สอบตกได้อย่างไร

“พอจบปี 3 เพื่อนๆ ก็พากันไปเป็นนายร้อยห้อยกระบี่เกือบครึ่งห้อง เพราะเขาให้สิทธิ์ ช่วงที่ผมจบปี 3 ทางบ้านไม่มีเงินส่งเสียให้เรียน ผมก็ต้องออกมาเขียนรูปแสดงบ้าง ประกวดบ้าง ได้รับรางวัลมาบ้างไม่ได้คิดว่าจะต้องไปหางานทำ เพราะผูกพันกับงานศิลปะอยู่ เริ่มหาแนวทางของตัวเองได้ เริ่มสนุก ผมออกจากศิลปากรเลย ไม่ได้เรียนต่อ”

ผจญภัย...บนสัจธรรม

“ในระหว่างเรียนผมได้ออกตระเวนเขียนรูปมุ่งเข้าไปในป่าเมืองกาญจนบุรี ตอนนั้นป่าที่นั่นน่ากลัวมาก เป็นป่าดงดิบ เลยท่าเสาไปผมเดินตามทางรถไฟที่ผุพังไปเรื่อยๆ กับเพื่อน 2-3 คน ไปอยู่ที่น้ำตกเขาพัง เพื่อไปสเกตซ์รูป เขียนรูปไปเรื่อย นอนกลางดินกินกลางป่า มีกุ้ง มีปลาจับกินได้เลย เพราะมันไม่เคยเห็นคนมาก่อน เมื่อกระแสน้ำเปลี่ยน กุ้งมันจะเดินตามโขดหินเป็นแถวๆเพราะแถวนั้นไม่มีคนอยู่ บางครั้งไปเจอพวกหลบหนีคดีทางการเข้ามาอยู่ในป่าก็มีให้เห็น แต่ไม่ได้กลัวอะไร พวกเราจะเดินไปตามลำธารเพื่อไปหาต้นน้ำไปเจอตาน้ำ รูเบ้อเริ่ม น้ำพุ่งออกมาก่อนจะมาเป็นน้ำตกไทรโยคน้อย ตอนนั้นเขาเรียกเขาพัง บังเอิญผมไปเจอหินผุๆ พังๆ จึงนำขึ้นมาจากน้ำ ปรากฏว่าหินเป็นตัวใบไม้ บางก้อนเป็นตัวปลา จึงหยิบนำมาวางตากแดดเอาไว้ เมื่อมันแห้ง สีสวยดีเมื่อโดนแดด จึงได้ไอเดียขึ้นมา ผมจึงเริ่มทำงานศิลปะเรื่องฟอสซิล ตั้งแต่นั้นมา เมื่อทำไปทำมาจึงไปเข้ากับเรื่องศาสนาที่ผมทำอยู่ก่อนแล้ว คล้ายๆ ว่าเมื่อก่อนนั้นมันเป็นปลา เป็นใบไม้อยู่บนต้นไม้ แต่เดี๋ยวนี้มันเป็นแค่ดิน แค่หินอยู่เพียงแค่นี้เอง เหมือนสัจธรรมจึงนำมาทำเรื่องนี้”

“ท่านอาจารย์ศิลป์ อยากให้ผมเรียนต่อปี 4 ปี 5 ท่านพยายามหาทุนให้ผมเรียนต่อ เพราะท่านเห็นแวว ท่านให้ทุนการศึกษาผมมาจำนวนหนึ่ง ซึ่งในสมัยนั้นถือว่ามาก ผมจึงนำเงินเหล่านั้นมาซื้อสี ซื้อผ้าใบ และเดินทางไปจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในช่วงนั้นได้มีความคิดรูปแบบในการเขียนรูปพระบาท โบสถ์ วิหาร ที่พังรวมถึงเศียรพระพุทธเจ้าหักตั้งเกลื่อน กองเต็มไปหมด มีอยู่เศียรหนึ่ง วางอยู่ที่พื้นแต่ถูกรากไม้ต้นไทรรัดไปหมดที่พระพักตร์ ผมนั่งเขียนอยู่หลายรูป มีองค์บ้างไม่มีบ้าง ผมเขียนแบบเหมือนจริงตามที่ตาเห็น เป็นส่วนใหญ่ พอรู้ตัวว่ามัวเพลิดเพลินอยู่กับการเขียนรูปที่อยุธยาเสียนาน ลืมไปว่าจะต้องไปเรียนต่อให้จบพอไปถึงศิลปากร เขาเรียนหมดไป 1 เทอมแล้ว ผมจึงได้แต่หลบอาจารย์ศิลป์ตลอด ไม่ค่อยได้กลับบ้าน ไปนอนที่ศิลปากรบ้าง นอนตามบ้านเพื่อนบ้าง

“หลังจากที่ไม่ได้พบท่านอาจารย์ศิลป์นานวัน ภายในจิตใจมันเหมือนกับกระทำผิดอย่างมหันต์ มีแต่ความกังวล มันเศร้าใจอยู่ตลอดเวลา เวลาไปตามวัดก็จะไปเขียนภาพพระท่านนั่งสวดมนต์ สวดศพ ส่วนดอกไม้ก็ดันไปชอบเขียนดอกไม้ตามงานศพ พวกพวงหรีด ซึ่งเมื่อก่อนชอบธรรมชาติ ต่อมาชอบเรื่องราวในวัดหมด ผมชอบเขียนหีบศพ มีสายสิญจน์ห้อยลงมา เป็นเพราะจิตใจที่หลบซ่อนอาจารย์ศิลป์ แม้แต่เวลานอน ผมจะฝันว่าตัวเองนี้มันลอยลงไปกับแม่น้ำก้นทะเล และมองเห็นตัวเองถูกผ้ามาพันร่างมันฝันร้ายตลอดเวลา ผมจึงเขียนรูปนั้นขึ้นมาตามความฝัน พอดีเพื่อนผมที่อาศัยอยู่บ้านเดียวกัน เขาก็ชอบเพราะยุคนั้นการเขียนแบบนี้ยังไม่มีใครเขียนกัน เขาจะมุ่งไปเขียนแต่วิวทิวทัศน์ วัดวาอาราม แต่ของผมออกไปคนละแนวทำให้เพื่อนๆเขางง จึงหิ้วงานของผมไปให้อาจารย์ศิลป์ดู เมื่อท่านเห็นจึงชอบใจใหญ่ บอกให้เพื่อนไปตามผมมาพบ ผมก็กลัว เมื่อท่านเห็นผม ท่านก็ยิ้มแย้มไม่พูดถึงเรื่องเก่าๆ ตอนนั้นผมจบปี 3 แล้วไม่ได้เรียนต่อ แม้ผมจะออกไปแล้ว แต่ต้องนำเงินเหล่านั้นมารีเกรด คือมาเรียนซ้ำชั้นในปี 3 อีกครั้ง ถึงจะได้ต่อปี 4 ปี 5 แต่ผมได้อนุปริญญาอยู่แล้ว ใครที่จะขึ้นไปเรียนต่อต้องได้คะแนน 75-80% ท่านจึงขอรูปที่ผมเขียนไปร่วมประกวดงานศิลปกรรมแห่งชาติ บังเอิญได้รับรางวัลเหรียญทองแดงอันดับ 3

“ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาผมรู้สึกสบายใจขึ้น จึงไม่กลัวว่าท่านอาจารย์ศิลป์จะโกรธ มันเหมือนเป็นการหลุดพ้น งานเขียนของผมเริ่มสดใสขึ้นมาทันที เริ่มมุ่งมั่นทำงานศิลปะทันที เพราะยุคก่อนอาจารย์ศิลป์ จะสอนลูกศิษย์ด้วยงานศิลปะทุกชนิดรวมกันหมด ไม่แบ่งแบบปัจจุบัน ตอนนั้นมีจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ อินทีเรีย สถาปัตยกรรมไทย เขียนพวกโบสถ์ วิหาร ศาลาไทยบ้านทรงไทย ท่านก็จะหาอาจารย์ที่เก่งจริงๆ ในด้านนั้นมาช่วยสอน เช่น อาจารย์หลวงวิศาล ศิลปกรรม สถาปนิกคนสำคัญของประเทศไทย พอมีวิชาลายไทย ท่านก็ให้อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ สอน พวกเราจะไปรีเสิร์ช ตามวัดต่างๆ ที่ยอดเยี่ยมของไทยเช่น วัดสุทัศน์หรือวังหน้า อาจารย์ศิลป์จะพาไปดูตามวัดต่างๆ ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อให้พวกเรารักงานศิลปกรรมของไทยในสมัยโบราณแบบประเพณีว่าในอดีตเขาทำกันอย่างไร

“ผมเป็นศิลปินอิสระอยู่ 2 ปี ท่านอาจารย์ สวัสดิ์ ตันติสุข กลับมาจากต่างประเทศ มาเป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยช่างศิลป์ แต่ยังขาดครูสอนศิลปะ จึงเรียกผมไปทำงานด้วย สอนคอมโพส สอนจิตรกรรม ให้กับปี 1 ถึงปี 3 เป็นหลัก สอนอยู่เกือบ 20 ปีช่วงนั้นโรงเรียนย้ายไปอยู่ลาดกระบัง ผมต้องตื่นตี 5 ขึ้นรถไฟที่หัวลำโพง กลับบ้านเที่ยงคืนทุกวัน ผมเดินทางไปไม่ไหว เมื่อเขาย้ายไปลาดกระบัง ผมก็ย้ายเข้ากรมศิลปากรเลย เพราะข้าราชการครูของช่างศิลป์ก็คือคนของกรมศิลปากร ผมย้ายไปอยู่กองหัตถศิลป์ เมื่อย้ายมาผมก็ได้ออกแบบสังเวชนียสถาน 4 ตำบล ณ พุทธมณฑลศาลายา อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม คือโพธิบัลลังก์ ตำบลตรัสรู้, พระแท่นไสยาสน์ ตำบลปรินิพาน,พระธรรมจักร ตำบลนครปฐมเทศนา โดยผมเป็นผู้ออกแบบรูปสัญลักษณ์ ขยายแบบและร่วมควบคุมการแกะสลักหินแกรนิต ไปรับงานใหญ่ออกแบบธรรมจักรยักษ์ขนาดใหญ่ที่พุทธมณฑลข้าราชการกองหัตถศิลป์ของกรมศิลปากร เขาจะมีงานเรื่องศิลปะเขาก็จะส่งมาที่ผม ผมจะเป็นคนออกแบบหาข้อมูลว่าช้างต้องแต่งตัวอย่างไร คนปั้นก็คือ อาจารย์นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน ตอนนี้เป็นศิลปินแห่งชาติ เป็นลูกศิษย์ผม

“ผมได้ออกแบบฉากบังเพลิงพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7ออกแบบหุ่นจำลองช้างเผือก,ลิงเผือก,กาเผือก ณ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติช้างต้น เพื่อร่วมฉลองวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีพระชนมายุครบ 60 พรรษา เป็น 1 ใน 8 ศิลปินที่ร่วมเขียนภาพประกอบหนังสือ “พระมหาชนก”ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลย-เดชฯ เขียนภาพจิตรกรรมพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีและอีกมากมาย ก่อนที่จะลาออกจากราชการมาเป็นศิลปินอิสระ ซึ่งขณะที่ผมรับราชการอยู่ ผมยังสร้างสรรค์งานอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา คล้ายกับว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ผมต้องไม่ให้อาจารย์ศิลป์ ผิดหวัง ยิ่งทำงานมาก ผมยิ่งเห็นเส้นทาง รู้สึกสนุกเพลิดเพลินกับงานศิลปะ เหมือนเราพักผ่อนไปในตัว”

ศิลปิน...บรรพบุรุษ

“ผมมักจะพูดเสมอว่า ศิลปะของไทยสมัยโบราณ เขาทำเพื่อศาสนา ทำเพื่อความดีงามของมนุษย์เพื่อประโยชน์สุขของสังคมประติมากรรมเช่นการปั้นพระพุทธรูป ไม่ใช่ให้สวยงามอย่างเดียว แต่ยังมุ่งสำหรับศาสนาด้วย จิตรกรรมแสดงเรื่องราวของมนุษย์และพุทธประวัตินั้นก็เพื่อเป้าหมายสองอย่าง คือทั้งเพื่อเกื้อกูลศาสนาและเพื่อสังคมมนุษย์ด้วย งานของผมก็มีเป้าหมายอย่างศิลปินบรรพบุรุษ คนที่เรียนจบออกมาบางคนก็จะศรัทธาทำงานแบบบรรพบุรุษคือเขียนภาพไทย เขียนภาพรามเกียรติ์ เขียนลายไทยด้วยความหลงใหล จะต้องทำให้มีฝีมือให้ดีที่สุด ทำเป็นประเพณีไทย บางคนอาจจะไปเป็นช่างสร้างโบสถ์ สร้างวิหาร เพราะฉะนั้นยุคนั้นจบออกมาสามารถทำได้ บางคนก็ออกไปจัดสวนญี่ปุ่นก็มี เพราะว่า การทำงานศิลปะมันเป็นเรื่องของความพอใจของแต่ละคน ซึ่งงานศิลปะก็คือการแสดงออกจากจิตใจของแต่ละคน ออกมาด้วยการกระทำด้วยมือ ด้วยสมองที่มนุษย์สามารถแสดงอารมณ์ความรู้สึกออกมาได้ด้วยวิธีต่างๆ กัน 5 สาขาคือ นักดนตรี นักประพันธ์ จิตรกร ประติมากรและสถาปนิก ซึ่งผมเองก็ชอบภาพไทยๆ พอผมจับจุดเรื่องของศิลปะได้ว่าการทำงานศิลปะ มันเป็นความคิดของเราแท้ๆ และต้องเติบโตด้วยสไตล์กรรมวิธีต่างๆ ต้องออกมาตามรูปแบบของความคิดของเรา

“ในเมื่อผมได้ดื่มด่ำกับภาพไทย มาพอสมควรแล้วผมก็ย้อนกลับไปหาศิลปะสมัยปู่ ย่า ตา ยาย ซึ่งแรกๆเขาต้องแสดงอารมณ์ของเขาออกมา ในยุคนั้นยังไม่กว้างขวางพอ การหลั่งไหลยังคับแคบไม่สามารถที่จะเห็นศิลปะของต่างชาติเหมือนในยุคสมัยใหม่นี้ แต่ในยุคนี้เรามีทางที่จะคิดอย่างอิสระ หากเป็นสมัยก่อน ช่างในสมัยนั้นไม่ทำตามบรรพบุรุษ ก็อาจจะมีอะไรเป็นไปทั้งปวดหัวตัวร้อน เขาก็จะขู่อย่างนั้น งานก็จึงวนเวียนอยู่ในรูปแบบของสมัยปู่ ย่า ตา ยาย ผมถือว่ามันเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะงานศิลปะของคนไทยมีคุณค่าสูง ทัดเทียมกับประเทศชาติที่เขามีวัฒนธรรมโบราณมา ทั้งของโรมัน กรีก อียิปต์ ของเราสู้เขาได้ อย่างพระพุทธรูปปางต่างๆ เราสู้ชนชาติเก่าแก่ทั้งหมดได้ ภาพเขียนของเรามันล้ำหน้ากว่าโรมันด้วยซ้ำ เพราะเราหลุดจากฟอร์มที่จะเป็นภาพที่คนมองเห็นด้วยตาแล้ว ของเราเป็นฟอร์มแอ็บสแตร็คท์เลยเป็นมนุษย์ซึ่งเหาะเหินเดินอากาศได้ แสดงว่างานฝันของศิลปินบรรพบุรุษไปไกลมาก

“แต่พอมาถึงยุคผม สิ่งแวดล้อมอย่างนี้มันไม่มีไปทางไหน คนก็ไม่ได้แต่งตัวแบบโบราณ รถมันก็ไม่ได้เป็นราชรถ เกวียนก็ไม่มีแล้ว โดยเฉพาะงานของผมที่อยากจะทำงานที่อิสระเสรี มันจะต้องนำเอาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ที่เรามองไปทางไหนที่เราเห็น เราเห็นเครื่องบิน รถถัง เห็นจรวด

“ถ้าเราจะทำงานให้มันได้มีคุณค่าในยุคนี้ ก็จะต้องหล่อหลอมจากสิ่งแวดล้อม พวกนี้เรียกรวมกันว่างานร่วมสมัย ที่เราได้กลิ่นมันได้สัมผัสมาถึงขั้นนี้ ผมไม่ต้องดูจากของจริง พวกวิวทิวทัศน์ ทะเล ภูเขาหรืออะไรต่างๆ ผมก็สามารถเขียนได้เลย เพราะมันมาอีกขั้นหนึ่ง กว่าจะมาถึงตรงนี้ ผมได้เขียนของจริงมามากมาย ต้องหาวัตถุดิบใส่ตัวเราตลอดเวลา เช่นเราจะเขียนน้ำทะเลอย่างไรถึงจะดูลึก ดูสดใส เราจะเขียนภูเขาอย่างไรให้เป็นภูเขาหินแข็ง หินนิ่ม หินลูกรัง จะเขียนท้องฟ้าอย่างไรให้มันดูเป็นท้องฟ้าพระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตกหรือมีฝนตก ผมคิด ผมเขียนมาเยอะมาก เขียนคนก็เขียนกันมาอย่างหนัก ตอนเรียน ตั้งแต่อนาโตมี่ เรื่องของกระดูก ว่ามีกี่ชิ้น ข้อมือ หัวกะโหลก กล้ามเนื้อ ติดกับกระดูกชื่อไหน ทำหน้าที่อะไร แม้กระทั่งพวกโครงสร้างกระดูกวัว กระดูกม้า เพราะอาจารย์ศิลป์ท่านสอนแนวของอิตาลี เวลาเราเขียนภาพคนขึ้นมา เราก็จะไม่ผิดเพราะเรารู้ว่าตรงนี้มีกล้ามเนื้ออะไร เวลาเราเขียนเราก็จะไม่เดา เพราะเรารู้เรื่องเส้นที่เราจะต้องใส่มันเข้าไป ทำให้เรามีพื้นฐานการเขียน การทำงานศิลปะจึงง่ายขึ้น”

เติมเต็ม...ตัวตน

“ความจริงผมไม่ได้คาดหวังว่า จะต้องมีเทคนิคเฉพาะตัวตนหรืออัตลักษณ์มาก่อน มันเป็นธรรมชาติไปเองในสไตล์ของเรา เวลาเราตั้งใจทำงานจริงๆ ด้วยธรรมชาติของความเป็นจริง มันจะสอนเราเอง สมมุติว่าเราเขียนภูเขาที่มีหิน เราต้องนึกแล้ว ถ้าเขียนหินออกมาแล้วมันกลายเป็นนุ่น เราจะทำอย่างไรดี เราต้องนิ่งศึกษาใหม่ว่าหินทำอย่างไร มันจึงดูแข็งแกร่ง เราจึงเกิดวิธีการขึ้นมาเฉพาะตัว เราเขียนน้ำอย่างไรให้ดูแล้วใสลงไป

“ตอนเรียนมันเป็นเหมือนแม่บท เป็นทฤษฎี บทเรียนแต่ละบท แต่เมื่อจบออกมา เราเขียนให้ดี เราต้องไปทบทวนใหม่ บางครั้งทฤษฎีต่างๆ ที่เรียนมากับอาจารย์ศิลป์ มันก็ยังงงๆ ไม่ค่อยเข้าใจเท่าไร แต่เมื่อเราจบออกมา นำมาเป็นอาชีพเราถึงรู้สึกว่าอ๋อ..ใช่เลย แต่ตอนเรียนมันยังมึนอยู่ พอมาเขียนรูปจริงๆ จังๆ เมื่อย้อนกลับไปดูทฤษฎี เราถึงเข้าใจ นั่นคือสไตล์การทำงานของแต่ละคน ถ้าเราทำงานด้วยความบริสุทธิ์ใจ ด้วยความตั้งใจ มีความศรัทธากับงานที่เราทำจริงๆ การค้นหาทางที่จะนำเอาเทคนิคอะไรต่างๆ มาช่วยสนับสนุนงานให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น มันจะเกิดขึ้นจากตัวเราเอง โดยที่เราไม่รู้ตัว แต่ละคนจะหาเทคนิคหาสไตล์ไม่เหมือนกัน งานชิ้นที่เราทำด้วยความตั้งใจทุ่มเท มันจะเป็นสไตล์ของเราโดยเฉพาะ ของใครก็ของมัน จะไม่มีทางเหมือนกัน สังเกตได้จากศิลปินในยุคก่อน รุ่นพี่ผมหรือรุ่นผมไม่ต้องเซ็นชื่อก็ได้ เขาจะรู้เลยว่ารูปนี้ใครเขียน เช่นงานของท่านอังคาร อันนี้ของอาจารย์ประยูร อันนี้ของท่านกูฎ คือให้ภาพมันอธิบายตัวของมันเอง

“เมื่อก่อนผมไม่ได้สนใจเรื่องดอกบัวเท่าไร ผมทำแต่ละเรื่องขึ้นมาเรื่อยๆ บังเอิญมีไอเดียมาจากฟอสซิล ร่วมกับที่ผมไปเขียนรูปที่โบราณสถานผุๆ พังๆ เขียนพระเศียรหักที่พระนครศรีอยุธยา จึงมาผนวกกันเข้ามาเรื่อยๆ จึงกลายเป็นเรื่องที่เข้ากันได้โดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเขียนซากปลา ซากนกหรืออะไรก็แล้วแต่ผมไม่ได้เขียนให้เป็นเพียงซากเท่านั้น แต่เขียนให้เห็นถึงอดีต ปัจจุบันและอนาคตของสิ่งนั้นๆ งานของผมไม่ได้เขียนเหมือนจริงเสียทีเดียว แต่จะเน้นหนักไปในเรื่องของ Impressionism ที่มีการใช้สีมาก มีเรื่องของวันและเวลาอยู่ในงานด้วย ซากปลาในงานนั้นแทนถึงชีวิตที่ต่ำต้อยเป็นระดับชีวิตที่อยู่ชั้นล่างลงไป นกเปรียบได้กับคนที่อยู่เบื้องบน เราต้องเน้นให้เห็นในเรื่องของศาสนา เรื่องธรรมะของพระพุทธเจ้า มันก็เข้ากันได้พอดี

“เมื่อก่อนผมเขียนดอกบัวแบบโบราณของสุโขทัย ของอยุธยาหรือดอกบัวหน้าบัน ดอกบัวที่เขาสลักหินในธรรมจักรซึ่งมันสวยทั้งนั้น ผมจำเป็นที่จะนำเอาส่วนเหล่านั้นมาเป็นโครงเรื่องของผมขึ้นมาใหม่ ทีนี้เมื่อเขียนไปจึงรู้สึกว่า ทำไมคนโบราณเขาคิดได้ทำไมเราไม่คิดเองบ้าง แทนที่เราจะเขียนดอกบัวที่อยู่บนแท่นหินหรือในพระพุทธบาท เพราะคนโบราณเขาเก่งมาก เขาหลุดจากดอกบัวที่เราเห็นตามบึง ตามหนองน้ำไปหมดแล้ว มันเป็นดอกบัวดีไซน์ มันสวยมาก เวลาเราดูดอกบัวที่เป็นหินแกะเป็นฟอร์มแบบโบราณ มองดูให้ดี มันดึงให้เราเข้าไปในความเป็นจริงได้ เราเห็นดอกบัวนั้นพลิ้วขึ้นมา มันเป็นจริงโบกปัดสะบัดได้กลายเป็นดอกบัวมหัศจรรย์ขึ้นมาได้ หากเราดูแบบเจาะให้ลึกถึงมิติของเขา เราก็จะเห็นมิติ ที่เป็นจริง

“บางทีเราดูรูปสงครามของศิลปินที่เขียนเก่งๆ กำลังสู้กันอยู่ เรามองมันแล้วรู้สึกลุ่มหลงเพลิดเพลิน เราเห็นมันเคลื่อนไหวเหมือนสู้รบกันจริงๆ จากรูปที่นิ่งๆ อยู่ๆ คล้ายๆ เราเคลิ้มเข้าไปในงานศิลปะของศิลปินคนนั้นไม่ทำให้เราสะดุดโน้นสะดุดนี่ เพื่อให้เราเข้าไปในอาณาจักรความคิดของเขาได้”

หลงใหลรอยพระพุทธบาท

“สำหรับผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักก็คือเรื่องราวภาพพระพุทธบาท อาจจะเพราะความบังเอิญเพราะยุคนั้น ผมไปประทับใจในเรื่องพระพุทธบาท ผมเลยทำเรื่องพระพุทธบาท สมัยนั้นยังไม่มีใครสนใจ ทำให้ผมหลงใหล เวลาผมไปหาข้อมูลที่เราจะเขียน เราต้องไปในสถานที่นั้นๆ ไปดูรายละเอียด คนก็ไปเห็นรอยพระพุทธบาทเป็นรอยเท้า แต่เวลาเราเข้าไปดูจริงๆ โอ้โห ต้องยอมรับว่าคนโบราณเขาย่อเรื่องได้อย่างไร ในแต่ละช่องเป็นภูเขาพระสุเมรุ ช่องนี้เป็นกินรี ยิ่งเมื่อผมค้นคว้าแต่ละช่อง อย่างบึงของพระอิศวรก็จะมีดอกบัวขึ้นมา 7 ดอก แต่ละดอกจะมีนางฟ้าประจำ 7 กลีบ แล้วซอยลงมาอีก มันทำให้เรามองเห็นบึงมหัศจรรย์ทั้งๆ ที่เป็นช่องเพียงแค่นี้ เขาก็ทำเป็นรูปต้นไม้ มันกลายเป็นจักรวาลทั้งหลายอยู่ในรอยพระพุทธบาทและแม่น้ำมหานทีสีทันดร มหาสมุทร พอเราไปอ่านที่เขาบรรยายแล้วมันยิ่งใหญ่มหาศาล ตั้งแต่นรก สวรรค์ เราเห็นภาพอะไรมากมาย ทำให้ผมหลงใหลเรื่อยมา

“ตอนนั้นผมทำงานศิลปะออกมามันไม่ค่อยลงตัว มันดูเคอะเขิน ออกมาไม่สวย มันจึงต้องมีวิวัฒนาการ ผมทำอะไรอีกหลายเรื่องในรูปแบบของพระบาท ถวัลย์ ดัชนี รุ่นน้องผมที่สนิทกัน เขาอยู่ปี1 ผมอยู่ปี 3 ชอบกระแนะกระแหนผมอยู่เรื่อยว่า ‘เขียนอะไรวะ...เขียนส้นตีนอยู่เรื่อย’(หัวเราะ) ตอนหลังผมทำรอยพระพุทธบาทไปเรื่อยๆ จนกระทั่งได้รางวัลเหรียญทอง งานศิลปกรรมแห่งชาติ ผมทำมานานมากก็ไม่มีใครเห็นว่า พระบาททำงานศิลปะได้ ต่อมาเมื่อไม่นานมานี้ พวกศิลปินเพิ่งจะนำเอางานพระบาทมาทำกัน ซึ่งเรื่องนี้ผมทำผ่านมา 30-40 ปีแล้ว

“งานปั้นผมก็ยังทำอยู่ แต่ทำงานจิตรกรรมมันมีเรื่องที่จะต้องค้นคว้าและสร้างสรรค์อีกมากมาย แม้กระทั่งตอนหลังก็มาเน้นเรื่องดอกบัวซึ่งเป็นลักษณะที่ผมชอบ คนทั่วไปเขาจะเรียกว่าเป็นสไตล์ แต่ผมไม่ได้คิดเรื่องสไตล์ เป็นอย่างไรที่ผมพอใจแล้วมันไม่ใช่ไปลอกดื้อๆ จากธรรมชาติ แต่เราจะลอกขึ้นมาเป็นดอกบัวขึ้นมาใหม่ในโลกนี้ ซึ่งไม่เหมือนดอกบัวที่อื่น ตอนนี้ผมก็ยังคิดไปเรื่อยๆ เพราะเรื่องดอกบัว มันมีมากมาย พอเราจับเรื่องดอกบัว มันเกี่ยวข้องกับเรื่องอะไร ยิ่งทำมาก มันก็ยิ่งคิดออกว่าจะทำเรื่องอะไรอีกมากมายก่ายกอง จึงวางไม่ลง ยังทำต่อไปโดยไม่มีที่สิ้นสุด.แต่ผมก็ทำเรื่องอื่นมาเรื่อยๆ บางอย่างผมคิดได้ ผมก็ทิ้งไว้ก่อน พอหลายๆ ปีผ่านไปก็นำขึ้นมาเคลียร์ใหม่

“สำหรับศิลปินที่ผมชื่นชอบในยุคนั้น เป็นยุค lmpressionism ศิลปินของประเทศไทยที่เก่งๆ ก็มีหลายท่าน ที่ประสบผลสำเร็จอย่าง อาจารย์ เฟื้อ หริพิทักษ์ อาจารย์ประยูร อุลุชาฏะ ท่านกูฏ ท่านอังคาร เยอะมากที่ผมชอบ ส่วนศิลปินของต่างประเทศที่ชื่นชอบมี Monet, Manet, Vincent Van Gogh, Renoir Paul Gauguin ก็ไม่พ้นพวกนี้ ซึ่งเป็นเหมือนปรมาจารย์ ถ้าเราจะเขียนภาพก็ต้องนึกถึงพวกเขา ถ้าเราเขียนไม่มีแบบอย่างที่เป็นครูที่ดี เราก็จะต้องค้นหาไปอีกนาน แต่ยุคนี้เป็นยุคที่ศิลปินมีโอกาสดีกว่ายุคก่อนๆ หรือยุคผม ที่ไม่ต้องใช้เวลาคิดค้นไปจังหวัดโน้นจังหวัดนี้ จะไปทำเรื่องธรรมชาติก็ต้องไปศึกษาอย่างจริงๆ จังๆ ถึงถิ่น แต่ยุคนี้มีตำหรับตำรามากมาย บางคนเดินทางบินไปดูถึงที่พิพิธภัณฑ์ที่ต่างประเทศ เขาก็จะได้เห็นของจริง การเขียนวิวทิวทัศน์ของศิลปินที่ดีเขาใช้สีอย่างไร เขาวางโครงรูป เขาสามารถสัมผัสกับของดีๆ ได้เลย ยุคผมแค่ดูในหนังสือ

“บุคคลที่จะเดินเข้ามาทำงานศิลปะในยุคนี้มีโอกาสที่ดี การศึกษาอะไรต่างๆ ก็พร้อมที่จะไขว่คว้าหาความรู้ทั้งหลายได้มาก ยุคนี้ศิลปินรุ่นใหม่ๆ ก็อยากให้พวกเขาอย่าหยุดเพียงแค่นั้น บางคนทุ่มเท พอมีชื่อเสียงได้รับรางวัล ก็มักจะหลงเรื่องพรรค์อย่างนั้นไปแทนที่เขาจะมีวิวัฒนาการสร้างสรรค์งานให้มันพุ่งต่อไปอีก ก็หยุด ใครก็ตามที่จะเป็นศิลปิน ขอให้ทำงานให้มีคุณค่า ก็เท่ากับเป็นตัวแทนของประชาชนคนไทย ที่เราจะมีผลงานที่อยู่ในระดับมาตรฐานของโลก จึงเท่ากับว่าศิลปินคนนั้นได้ทำหน้าที่ให้กับประเทศชาติ ซึ่งศิลปะมันเป็นเรื่องของการวัดความเจริญของชนในชาติ เมื่อคนต่างชาติเมื่อมาเห็นงานศิลปะของเรา เขาก็เกิดทึ่งขึ้นมาเขาไม่กล้าที่จะดูถูกคนไทยว่าเราไม่มีวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญา เพราะว่าศิลปินมันเป็นตัววัดความยิ่งใหญ่ ความฉลาดของคนในชาติ เมื่อเขาเข้ามาเห็นโบสถ์ ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดสุโขทัย และอีกหลายแห่งในบ้านเรา เขาไม่กล้ามาว่าชาวบ้านเลย เพราะงานของชนในชาตินั้นยิ่งใหญ่ ดูถูกไม่ได้ เมื่อมาเห็นรูปเขียนฝาผนังในโบสถ์ต่างๆ มาเห็นวัฒนธรรมของเรา มีประเพณีที่ยิ่งใหญ่ เขาก็ทราบว่านี่คือตัวแทนสติปัญญาของคนในชาติ เพราะฉะนั้นผมอยากให้ศิลปินเป็นตัวแทนที่จะสร้างสรรค์งานศิลปะเป็นศักดิ์ศรีของประเทศชาติ เพื่อคนต่างชาติจะได้ไม่ดูถูกดูแคลนพวกเราได้ว่าเป็นประเทศที่ไม่พัฒนา”

หวายเส้นเดียวเกลียวเป็นเชือกไม่ได้