หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล

หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล

สืบสานปณิธาณบรรพบุรุษ

คนไทยเรารู้จัก “พระสุริโยทัย” เป็นอย่างดีในฐานะวีรสตรีผู้เสียสละพระชนม์ชีพเพื่อปกป้องกษัตริย์ผู้เป็นพระสวามีและเกียรติภูมิของชาติ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ามหาราชผู้ประกาศอิสรภาพให้ชนชาติสยาม จากตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชภาคแรก ตอนองค์ประกันหงสา ภาค 2 ตอน ประกาศอิสรภาพ และภาค 3 ตอน ยุทธหัตถี ซึ่งกำลังถ่ายทำอยู่ในขณะนี้ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในฐานะผู้เขียนบทภาพยนตร์ ผู้กำกับภาพยนตร์และลำดับภาพก็คือ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล

 

“ผมอยากสร้างภาพยนตร์ประวัติศาสตร์สักชุดหนึ่ง ที่ทำให้คนไทยได้รู้จักเรื่องราวในประวัติศาสตร์ เพราะประวัติศาสตร์กลายเป็นเรื่องที่เราลืมๆ กันไปแล้ว ผมไม่ได้ว่าคนไทยให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์น้อยลง เพราะที่จริงแล้วไม่ได้ให้ความสำคัญเลยต่างหาก”

 

หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล หรือ “ท่านมุ้ย” ทรงเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงฝีมือเอกของประเทศไทยและทรงเป็นตัวแทนผู้กำกับภาพยนตร์ชั้นแนวหน้าของเอเชีย วันนี้ท่านทรงประทานสัมภาษณ์อย่างออกรสและเป็นกันเองด้วยชุดลำลอง กางเกงยีนส์เสื้อยืดคอกลมสบายๆ บทสนทนาสื่อสารกันท่ามกลางสนามรบภายในฮอลลีวู้ดเมืองไทย โรงถ่ายทำภาพยนตร์ที่เนรมิตการสร้างฉากเพื่อใช้ในการถ่ายทำกว่า 2,000 ไร่ในตำบลลาดหญ้า เยื้องค่ายสุรสีห์ กรมทหารราบที่ 9 จังหวัดกาญจนบุรี ด้วยความสมจริงสู่ที่สุดแห่งปรากฏการณ์ของท้องเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อกว่า 400 ปีก่อน เราต้องแข่งกับเสียงอึกกระทึก เสียงควบม้าศึกของเหล่านักรบทหารเอก ที่นี่ขวักไขว่ไปด้วยพสกนิกรก้มกราบสมเด็จพระนเรศวรมหาราชขณะทรงม้าหลังเสร็จศึกสงครามและเสด็จกลับเข้าเมืองอโยธยา แลดูขลังจนขนลุก ยิ่งใหญ่อลังการงานสร้าง มีเสียงของผู้ช่วยผู้กำกับระดับเซียนเป็นเครื่องเคียง ท่านมุ้ยทรงหยุดสนทนาเป็นระยะๆ เพื่อขอเวลากำกับหนังถึง 3 ช่วงตอน จนครบถ้วนกระบวนความ

 

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรใช้ทุนสร้างกว่า 700 ล้านบาท สูงสุดในประวัติการณ์ของเมืองไทย เตรียมงานและใช้เวลาถ่ายทำ 2ภาคแรกนานถึง 6 ปี เพื่อให้เป็นที่สุดของมหากาพย์ภาพยนตร์ของแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวร กษัตริย์นักรบผู้แกร่งกล้าของไทยกว่าจะผ่านแต่ละคัท ท่านมุ้ยทรงประณีตบรรจง พิถีพิถัน กรำงานหนัก ถ่ายทำนานติดต่อกันหลายปี 

 

เลือดวชิราวุธเข้มข้น

“ตั้งแต่เยาว์วัย ผมไม่ได้ถูกเลี้ยงดูในฐานะราชนิกุล ตอนเด็กๆ ผมเรียนที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย เป็นโรงเรียนประจำ ชีวิตผมก็คล้ายๆ กับเด็กคนอื่นๆ ทั่วไป สมัยนี้ถ้าเผื่อใครมาเรียก “เฮ้ยไอ้เจ้า” ผมจะบอกว่าให้ยกมือไหว้คนนั้นได้เลย ไม่ต้องไปโกรธเพราะว่าไอ้คนที่เรียกมันต้องเป็นเพื่อนกัน รุ่นเดียวกับผม ผมก็เหมือนกับสามัญชนทั่วไป เมื่อผมจบจากชั้นมัธยมฯ ออกมาจากวชิราวุธวิทยาลัย ผมก็ไปเรียนต่อที่จีลอง แกรมมา เมืองเมลเบิร์น ออสเตรเลีย และสำเร็จการศึกษา จากมหาวิทยาลัย ยูซีแอลเอ วิชาเอกสาขาธรณีวิทยา วิชาโทสาขาภาพยนตร์ที่สหรัฐอเมริกา ช่วงที่เรียนที่นั่นไม่มีใครรู้หรอกว่าเราเป็นเชื้อพระวงศ์มาจากเมืองไทย เพราะว่ามันเป็นประเทศออสเตรเลีย ถึงแม้ประเทศของเขาจะมีควีนก็ตาม

 

“หากจะย้อนไปในช่วงวัยเด็ก ผมต้องยอมรับว่าวชิราวุธฯ สอนลูกศิษย์ลูกหาให้เป็นสุภาพบุรุษ วชิราวุธฯ ทำให้เรายืนอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ ผมอยู่โรงเรียนประจำ จะกลับบ้านได้เดือนละครั้ง ฉะนั้นครอบครัวของเราก็คือครอบครัวเพื่อนฝูงที่อยู่ในนั้น มันเติบโตมาด้วยกัน จึงรู้สึกว่าแนบแน่นกว่าครอบครัวที่บ้าน อันนี้คือสิ่งหนึ่งที่วชิราวุธฯ บอก พอเรามีอายุมากขึ้นจบออกมา เรา
ก็สามารถที่จะขอร้องให้เพื่อนฝูงช่วยเหลือได้ เพราะมันคล้ายๆ กับญาติกัน ได้เรียนรู้คุณสมบัติผู้ดี ได้เล่นรักบี้ ญาติพี่น้องหลายคนก็จบจากที่นี่ เพื่อนร่วมรุ่น 33 ที่มีชื่อเสียงก็เยอะแยะ รุ่นเดียวกันก็มีอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์

 

“จากนั้นผมก็ไปเรียนต่อที่ออสเตรเลีย เพราะพ่อทำหนังแล้ว เราก็อยากทำหนังต่อ ผมจบธรณีวิทยา ซึ่งมันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับหนังหรือทำภาพยนตร์หรอก แต่มันเป็นวิชาที่ผมสนใจ พูดตรงๆ ธรณีวิทยากับภาพยนตร์มันจะคล้ายๆ กัน สมมุติว่าเราพูดถึงหินต่างประเทศที่เรียกว่าหินตะกอน ในฟอร์มเมชั่นของมันเป็นเลเยอร์ที่เก่าแก่ที่สุดอยู่ข้างล่าง ใหม่ที่สุดอยู่ข้างบน มันเป็นลักษณะคล้ายๆ หนัง หนังมันเป็นเลเยอร์ที่เขาเรียกว่า คัท2 คัท3 คัท4 อีกเหตุผลที่ผมเรียนธรณีวิทยา ก็ทำให้ผมรู้จักการสังเกตเรื่องดินเรื่องหิน เรื่องภูเขาสูง มันสอนให้เรารู้จักเอาหินมาแล้วรู้จักแยกแยะออกไปว่ามันมีแร่ธาตุอะไรอยู่ในหิน”

 

ดูเหมือนที่ผ่านมาภาพยนตร์ของท่าน จะมุ่งเน้นสะท้อนปัญหาสังคมเป็นส่วนใหญ่ เราจึงถามไปว่าทำไมจึงเปลี่ยนแนวมาทำภาพยนตร์เกี่ยวกับกษัตริย์ไทยในอดีตที่เรียกว่าอิงประวัติศาสตร์

 

“เราไปอนาคตมาแล้ว ก็ย้อนกลับไปยังอดีตบ้าง ตอนนี้หนังคาวบอยหมดไป กลายเป็นหนังในอดีต พอหมดก็มีอย่างอื่นตามมาแต่ทุกวันนี้ผมยังทำหนังเกี่ยวกับสังคมนะ เป็นสังคมในอดีตของกษัตริย์ กษัตริย์ก็เป็นคนหนึ่งที่ต่อสู้ แต่ว่าคนละรูปแบบกัน ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นหนังเรื่องใดของผม แม้จะเป็นเรื่องของคนเล็กๆ ก็จริง แต่มันอยู่ในแบ็คกราวด์ที่ค่อนข้างจะใหญ่ ที่เลือกทำเพราะว่าเวลานี้เรื่องประวัติศาสตร์ของเรา คนค่อนข้างจะห่างเหิน ซึ่งเรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวรทำยากมาก หากเทียบกับหนังที่ผมทำมาในอดีต แต่ละคัทมันยากเย็นแสนเข็ญอย่างที่เห็น ผมเชื่อว่าหากไม่ใช่ผมทำ ใครก็สามารถทำได้ การค้นคว้าด้านประวัติศาสตร์ใครก็ทำได้ แม้จะยาก แต่ผมยืนยันว่าถ้าใครหานายทุนมันก็ทำได้หมด แต่สำหรับผม ผมคิดว่าไม่ยาก แต่เราต้องคิดให้มันกว้างให้มันไกลกว่า อย่างหนังตำนานสมเด็จพระนเรศวรฯ เราสามารถทำจบได้ในตอนเดียว เรื่องเดียว แต่ว่ามันจะไม่เสร็จสมบูรณ์ เพราะว่าแต่ละเรื่องราวมันมีความซับซ้อนเกินกว่าที่จะให้จบในตอนเดียว จึงต้องทำหลายๆ ตอน”

 

ถกพระราชพงศาวดาร

เราเชื่อว่าคนไทยไม่เคยดูหนังเรื่องไหนแล้วทำให้ขนลุกและน้ำตาซึมเหมือนกับภาพยนตร์เรื่องสุริโยไท จึงยิงคำถามถามท่านไปว่าระหว่างเรื่อง สุริโยไท กับ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรฯ เรื่องไหนยากกว่ากัน

 

“การทำภาพยนตร์ เราพยายามไม่ให้หลอกตัวเอง เราพยายามทำให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ เราไม่ได้บอกว่า เฮ้ย หนังเราดีนะเราไม่เคยพูดคำนี้ แต่พยายามทำให้ดีที่สุดเท่าที่เราสามารถจะทำได้ ไม่ว่าจะออกมาแล้วก็ตาม เราต้องบอกว่าเราพยายามทำถึงที่สุดในการสร้าง ผมคิดว่าถ้าใครบอกว่าพยายามให้ถึงที่สุดแล้ว ผมว่าสร้างได้ทุกคน มันต้องคิดตลอดเวลาในทุกช็อตที่ถ่ายทำไป อย่างฉากที่เรากำลังถ่ายทำในขณะนี้ ซึ่งไม่มีอะไรเลย เพียงแต่พระนเรศวรฯ กลับเข้าเมืองอโยธยา แต่เขาจะทำอย่างไรในเมื่อพระนเรศวรฯ ผ่าน คนก็ต้องหมอบกราบกันเป็นแถว ก็ต้องมานั่งคิดกันไป

 

“หากเปรียบเทียบระหว่าง สุริโยไท กับ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรฯ การสร้างสุริโยไทนั้นยากมากกว่าเพราะไม่เคยทำหนังขนาดนี้มาก่อน แล้วตอนนั้นมันไม่มีอะไรเลย เราสร้างฉากเองทั้งหมด แต่ตำนานสมเด็จพระนเรศวรฯ ตั้งแต่เราสร้างขึ้นมา มีการศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์ มันทำให้ง่ายขึ้น เพราะประสบการณ์มากขึ้นจากการถ่ายทำสุริโยไท ทีมงานรู้จักวิธีทำงานต่างๆ เรื่องสุริโยไท ตอนนั้นยังไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าขี่ม้าขี่ช้างอย่างไร ขี่วัวเทียมเกวียนเป็นอย่างไร ควายกับวัว มันยังไม่รู้เลยว่าลากเกวียนอย่างไรแต่ตอนนี้มันสะดวกแล้ว มาถึงวันนี้เรากำลังถ่ายทำสมเด็จพระนเรศวรฯ ภาค 3 ผมทำอย่างเต็มที่แล้ว เราวาดอย่างนี้ แต่มันไม่สามารถถูกต้องได้ทั้งหมด เพราะมันจะทำให้เราอาจจะมีปัญหากับต่างประเทศ อีกอย่างเราเองก็ไม่มีทางรู้ด้วยว่าเกิดอะไรขึ้น เมื่อเสด็จกลับ ท่านไปตัดหัวพระยาละแวก เอาเลือดมาล้างเท้าหรือเปล่า บางครั้งก็ไม่ได้เต็มที่ 100% คือเราไม่รู้ว่าเหตุการณ์มันเกิดขึ้นอย่างไร

 

“พูดถึงหนังฮอลลีวู้ด ถ้าเรามีทุนสูงอย่างเขา ผมว่าเราสร้างได้เหนือกว่าเขา แต่ปัญหาพื้นฐานของเรา เราไม่ใช่ม้าแข่งที่ต้องวิ่งเร็วกว่า ผมเชื่อว่าถ้าเป็นหนังไทย เราสามารถทำหนังไทยได้ดีกว่าฝรั่ง เราค่อนข้างมีเอกลักษณ์ขึ้นเพราะเราพูดภาษาไทย มีไม่กี่ประเทศทั่วโลกที่พูดภาษาไทย มีประเทศลาวและมีเราเท่านั้นเอง แต่ถ้าเผื่อฝรั่งมาทำหนังที่พูดภาษาไทยเป็นหนังไทย ผมว่าเขาทำสู้เราไม่ได้ อย่างแอนนาแอนด์เดอะคิง อย่างน้อยที่สุดผมว่าดาราผมทุกคนพูดได้ชัดเจนกว่า ไป่หลิง ดาราจีน ที่รับบทบาทเจ้าจอมทับทิม

 

“การถ่ายทำภาพยนตร์แต่ละเรื่อง บางครั้งมันก็ฉุกละหุก การกำกับภาพยนตร์ต้องค่อยเป็นค่อยไป การเขียนบทแต่ละภาคของตำนานสมเด็จพระนเรศวรฯ ก็ใช้เวลานานมาก แต่ผมไม่ได้เขียนบทเองทั้งหมด ผมเขียนร่วมกับอาจารย์สุเนตร ชุตินธรานนท์เขียนมา 4-5 ปีไปนั่งทะเลาะกันกับนักวิชาการทางด้านประวัติศาสตร์อย่าง สุจิตต์ วงศ์เทศ กระทั่ง คุณเทพมนตรี ลิมปพะยอมหรือใครต่อใคร คนที่สนใจประวัติศาสตร์มันมีอยู่ 2 ประเภทคือพวกที่ไม่เชื่อ จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็แล้วแต่ คุณไปดูเอาเองก็แล้วกันผมต้องค้นพระราชพงศาวดารมามากมายมหาศาล นอกจากค้นคว้าแล้ว ยังต้องเดินทางไปดูสถานที่จริงตรงไหน ของจริงมันเป็นอย่างไร อันนี้สรรเพชรปราสาท อันที่จริงคือรัชมังคลาภิเษก เราต้องรู้ที่เรานั่งสนทนากันอยู่ที่นี่คือสนามหลวง เราก็จะมองเห็นวัดอยู่ เรานำพงศาวดารมาทุกฉบับ เราจะเอาฉบับไหนก็ต้องดูอันนั้น ซึ่งที่พอยึดถือได้ ผมเอาแกนมาจากพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ อักษรนิติ์ เป็นส่วนใหญ่

 

“ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เราอยู่ฝ่ายไหน เราเชื่อหรือไม่ เชื่อฝ่ายผม เชื่อว่าพงศาวดารเขียนจากเรื่องจริง แต่ก็มีบางฝ่ายไม่เชื่อเอาไว้ก่อน คิดว่าเป็นเรื่องแต่งที่เขียนขึ้นเพื่อรับใช้ปัจเจกชน พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ ผมเดาว่าคงเป็นปูมโหร เพราะไม่ว่าจะเป็นโหรของชาติไหนเขาต้องบันทึกไว้ว่าเกิดเหตุการณ์ปีนี้ปีนั้นมีอะไร แต่ของหลวงประเสริฐฯ จะสั้น เราจึงต้องขยายความออกมา ไม่เหมือนคำให้การของชาวกรุงเก่า ซึ่งเป็นอันที่ผมเชื่อถือน้อยที่สุด เพราะหนึ่ง จะเห็นว่ามาจากความทรงจำของคน คนนั้นก็ได้รับการเล่าเรียนมาจากพงศาวดารต่างๆ สอง อยู่ใต้แรงกดดันของพม่า พม่าให้เล่าก็เล่า ถูกบ้าง ผิดบ้างแต่พงศาวดารฉบับอื่นๆ อย่างฉบับพระราชหัตถเลขา หรือ British Museum ผมให้ความสำคัญพอสมควร เพราะคิดว่าน่าจะเป็นปูมของสงคราม ถ้าเป็นสมัยนี้เขาเรียกว่าราชกิจจานุเบกษา ท่านแต่งองค์ยังไง ขี่ช้างอะไร รบอย่างไร กองห้าแถวแตกพ่ายยังไงแต่ผมให้ความสำคัญน้อยกว่าพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ เพราะว่าเป็นการเขียนต่อๆ กันมาโดยอาลักษณ์ แล้วอาลักษณ์ก็จะใส่อารมณ์เข้าไปเพื่อเทิดทูน จะเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลง แต่เนื้อหาอันเดียวกัน ส่วนของ ปินโต (เฟอร์ดินันด์ เมนเดซ  ปินโตนักแสวงโชคชาวโปรตุเกส ที่เดินทางเข้ามาในสมัยพระไชยราชาธิราช และเขียนบันทึกเดินทางไว้) เขาเป็นนักเล่าเรื่อง แต่ไปอยู่ในเหตุการณ์ แล้วหลายเรื่องอย่างที่พูดตรงเป๊ะเลยอย่างเครื่องราชกกุธภัณฑ์ แต่หลายคนโจมตีว่าปินโตโกหกส่วนนักวิชาการบางคนไม่ค่อยเชื่อเท่าไร เพราะอาจจะเป็นการยอยศเกินไป แต่เมื่อผ่านไปแล้ว เอาหลายๆ อันมาเรียงร้อยกัน เราก็พบว่ามันสอดคล้องกัน

 

“นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ เมื่อมาดูหนังของผม อยากจะวิจารณ์ก็วิจารณ์กันไป แต่อย่าลืมนะว่านี่คือหนัง มันไม่ใช่วิชาประวัติศาสตร์ มันทำให้คนได้ตื่นตัว อยากรู้เพิ่มขึ้นว่าจริงๆ แล้วเป็นอย่างไร ในที่สุดบอกว่าไม่จริง คุณก็ต้องไปเปิดประวัติศาสตร์ดู เปิดตำหรับตำราดูแล้วถามว่าไม่จริงเพราะอะไร มันโอเวอร์ลุค คือเขาไม่เชื่อในคำที่เขาพูดถึงในพงศาวดาร ซึ่งในเรื่องนี้ผมเดินทางไปพม่าด้วย ผมมีอาจารย์นักประวัติศาสตร์ชาวพม่า ของเขาก็มีประวัติตามรอยสมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงม้าไปรัชมังคลาภิเษก(พูดพลางอธิบายแผนที่กรุงศรีอยุธยา พร้อมภาพ) นันทบุเรง ยกกองทัพเพื่อเข้ามาตีไทย ผ่านพระธาตุกรุงเก่า นันทบุเรงเจ็บใจที่ลูกชายตายแล้ว จึงเผาพวกทหารมอญ

 

“ตำนานสมเด็จพระนเรศวรภาค 3 มีการเผาเมืองละแวกด้วย เราก็ต้องวางแผนไว้ล่วงหน้า เฉพาะตำนานสมเด็จพระนเรศวรฯ ผมเตรียมงานมา 10 กว่าปี รวมทั้งสุริโยไทด้วย ไม่ได้แยกกันออกไป ต้องมีภาพถ่ายมุมสูงแต่ละอัน ตรงไหนที่เป็นวังของพระนเรศวรฯ เขมรผมก็เดินทางไปเพื่อรวบรวมประวัติศาสตร์เอามาชนกัน เราต้องดูหลักฐานจากธรณีวิทยาด้วย ทำไมเมืองหงสาวดี
จึงถูกแบ่งเพราะเกิดแผ่นดินไหว มีฉากศาลของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ไปจับตัวประกัน มีวังพม่ารูปแบบต่างๆ อาทิ วังพระสุพรรณกัลยา แล้วเราก็เอามาสร้างขึ้นภายในบริเวณนี้ จากหลักฐานต่างๆ เราต้องนำมารีเสิร์ซ หลักฐานว่าพระนเรศวรฯ ตีไก่ชนจริงหรือเปล่า มันมาจากไหนในประวัติของพม่า มีรูปวาด มีเครื่องแต่งกาย มีเกราะ คุณต้องอ่านลิลิตยวนพ่ายก่อนนะ คุณต้องอ่านกฎหมายตราสามดวงให้แม่นด้วยนะ เราได้หลายอย่างจากลิลิตยวนพ่าย ไม่น่าเชื่อว่า เมืองไทยจะมีสะพานชัก ไม่น่าเชื่อว่าสมัยพระบรมไตรโลกนาถมีปืน มียาเบื่อม้า มีเกราะช้าง มีเกราะคน มีทุกอย่าง ผมเล่าให้คุณฟังเป็นหน้าๆ ได้เลย หรืออย่างภาพวาดหนังสือจากพม่าตอนพระนเรศวรฯ ตีไก่ จะเห็นว่าพวกตีไก่เป็นขี้ข้าคนไทยทั้งนั้น สังเกตจากรอยสักที่เท้า นั่นคือพวก
เชลยศึก หนังสือนั่นเป็นเส้นทางของสมเด็จพระนเรศวรฯ พระเจ้าลองเมงราย ยกทัพมาในหนังสือเขาก็ระบุว่าออกมาจากหงสาวดี”

 

ตามรอยสมเด็จพระนเรศวรฯ

“ในประวัติศาสตร์เราจะเห็นเทวรูปขนาดใหญ่ สมัยพระบรมรามาธิบดีที่ 2 ที่ยึดมาจากเขมร แล้วบุเรงนองมายกไปอีกต่อหนึ่งพวกเจ๊กไข่ก็ขโมยมาจากพม่าอีกทีเป็นทอดๆ สุดท้าย พม่ามาเอาคืนนำไปไว้ที่เมืองอังวะ เขาถือว่าเป็นเทวรูปนี้ศักดิ์สิทธิ์ เจ็บปวดตรงไหนไปแตะเทวรูปตรงนั้นเขาจะหาย ปวดท้อง ปวดแขน เขามีความเชื่ออย่างนั้น อันนั้นคือรูปปั้นที่มาจากเขมร แต่เราก็ทำจำลองขึ้นมา ตอนนี้นำมาไว้ตรงที่อาคารต้อนรับ ในประวัติศาสตร์ยังมีแผนที่พบแม่น้ำสะโตง จะเห็นว่าเขาข้ามตรงไหน จะมีกำแพงเมืองสะโตง ที่ตะเบ็งชะเวตี้โดนฆ่าตาย ผมก็ไปถ่ายภาพทำประวัติสถานที่จริงที่แม่น้ำสะโตง เป็นสถานที่ที่พระนเรศวรฯฆ่า เพราะตรงนั้นเป็นที่แคบที่สุด ต่อมาอังกฤษก็มาสร้างทางรถไฟไปเมืองสะโตง นั่นคือเส้นทางที่พระนเรศวรฯ ข้ามมา

 

“เมืองสะโตงเป็นเมืองใหญ่เป็นเส้นทางที่จะกลับกรุงอโยธยา ผมต้องขึ้นเครื่องบินไปถ่ายภาพทางอากาศ จะเห็นเส้นทางเส้นที่ 2เห็นจากภาพถ่ายเป็นช่องที่แคบที่สุด แผนที่ผ่านแม่น้ำสาละวิน แม่น้ำจอญะ แม่น้ำอันตระ มารวมกัน เขาระบุว่าเป็นการเดินทางสมัยเก่า มาจากไหนออกไปอย่างไร แม่น้ำไหลรวมกันเป็นแม่น้ำสายใหญ่กว้างมากถึง 8 กิโลเมตร อยู่ที่เมืองมะละแหม่ง 
เมืองเมาะตะมะ คนพม่าเองยังไม่รู้จักว่าอยู่ตรงไหน ที่นี้เราไปเจอแผนที่ของรัชกาลที่ 1 ระบุว่านี่คือเมืองเมาะตะมะ ที่รัชกาลที่ 1บอก ผมจึงเดินตามรอยขึ้นไป ไม่เคยมีใครเดินเข้าไปถึง เพราะปัจจุบันเป็นที่อยู่ของผู้ก่อการร้าย พวกมอญ ผมจึงทำภาพถ่ายทางอากาศ จึงเห็นเส้นทางของเมืองเมาะตะมะ ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าอยู่ตรงไหน ก็จะมีวัด มีเจดีย์ต่างๆ ซึ่งระบุว่ามีเจดีย์ 3 องค์ พบกำแพงเมืองเมาะตะมะ อันนั้นคือแผนที่ประวัติศาสตร์ในสมัยรัชกาลที่ 1 ที่ผมต้องเดินทางไปค้นหา เพราะผมต้องการจะรู้ว่าในพงศาวดารนั้นมันมีอยู่จริงหรือเปล่า เมื่อเราไปสถานที่นี้แล้ว มันตรงตามพงศาวดารว่าใช่ พงศาวดารไม่ได้โกหกเรา มันมีจริง เราจึงไล่เส้นทางตั้งภาพถ่ายทางอากาศ เราจะเห็นว่าเมืองมันยังอยู่ มันอยู่ตรงกับฉบับที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเขียนไว้มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่คนส่วนใหญ่คิดว่าเมืองเมาะตะมะอยู่อีกด้านหนึ่งของภูเขา จึงไปทำการแบ่งดินแดนจากแผนที่ที่ค้นพบ หลักฐานทางประวัติศาสตร์ จากการค้นพบในครั้งนี้จึงเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์

 

“แต่ก็อย่างที่ผมบอก คือเราไม่แน่ใจ ว่าคนส่วนหนึ่งที่เชื่อ 100% กับพวกที่ไม่เชื่ออะไรเลย จากพงศาวดารตามประวัติศาสตร์
อันนี้ ผมก็ค้นคว้าศึกษาอย่างยาวนาน ร่องรอยค่ายต่างๆ ก็ยังอยู่ตามหลักฐานพงศาวดาร จะมีเขียนไว้เกี่ยวกับทักษะของการรบมาจากบ้านแห เข้ามารบที่บ้านแก้ว ฉะนั้นจะมีคนที่เชื่อกับไม่เชื่อ คนที่ไม่เชื่อเพราะคนที่เขียนมาเพื่อยอยศพระเกียรติ ผู้ชนะคือผู้เขียนชุดนี้ แล้วหลายอย่างไม่น่าเขียนขึ้นมาว่าเราใช้เรือสำเภามายิงค่ายของพระยาประสิทธิ์ จากปราณบุรี ที่นี่เราต้องเดินสายกลาง เชื่อไม่เชื่อเราต้องหาตรงนั้นว่ามีจริงหรือเปล่า มันมีหลักฐานอะไรหลงเหลือเอาไว้บ้าง หลักฐานสำคัญๆ ในฐานะคนสมัยอยุธยา เขาพูดถึงแผ่นดินไหว เราก็สามารถจะปรู๊ฟได้ว่า มีแผ่นดินไหวจริง เพราะการมีแผ่นดินไหว มันจะมีร่องรอยทิ้งไว้ คือ
รอยเลื่อนหลายอย่าง เป็นต้นว่าเราพูดถึงตอนที่พระรามาธิบดีที่ 2 สิ้นพระชนม์ มีนิมิตเกิดขึ้น บอกว่าเห็นอินธนูผ่านท้องฟ้า ทิศพายัพ เราก็มาคิดดูว่านิมิตนี้น่าจะหมายถึงอะไร อะไรที่เป็นรูปธนูพาดผ่านท้องฟ้า แล้วก็มีพันหางอยู่ข้างหลังที่เขาเขียนถึง 
ก็คิดว่าหากไม่ใช่ดาวตกก็ดาวหาง ไอ้ดาวหางมันก็เหมือนกับนาฬิกา ถ้าเป็นดาวตกมันตกทุกวันไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ต้องบันทึกไว้ผมคิดว่าน่าจะเป็นดาวหาง เราก็กลับไปค้นคว้าดูว่าเดือนนี้ ปีนั้นได้ว่ามีดาวหางตกจริงหรือเปล่า มันมีจริงเมื่อค้นพบเราก็รู้ว่ามันไม่ได้โกหกเรานี่ เพราะมันเป็นจริง เมื่อดูปีแล้วจึงคำนวณกลับไป มันคือดาวหางฮัลเลย์นั่นเอง เราก็ตีความออกมาได้ว่าพระรามาธิบดีสิ้นพระชนม์ตอนดาวหางฮัลเลย์มา เราก็มีความเชื่อขึ้นมาอีกนิดหนึ่งในสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังมาจากพงศาวดารต่างๆ”

 

ส่งออกเอกลักษณ์ชาติไทย

“การสร้างหนังไทยมันมีมานานมาก นานเกือบพอๆ กับฮอลลีวู้ด เขาสร้างกล้องมาเพียงไม่กี่ปี เราก็เริ่มสร้างหนังแล้ว อาจจะไม่ใช่ฉายตามโรง แต่หนังที่ว่าทั่วโลกเขาก็ถ่ายทำขึ้นมาเอง เพราะมันมีระยะเวลาที่ยาวนานมาก ในเส้นทางเดินของภาพยนตร์แต่การสร้างภาพยนตร์ไทยมันเป็นของไทยเราเอง เราต้องมานั่งถามตัวเองก่อนว่า ภาพยนตร์ไทยคืออะไร คุณภาพมันอยู่ตรงไหน ภาพยนตร์คือการรวมนำเอาทุกสิ่งทุกอย่างเข้ามาเพื่อนำเสนอไม่ว่าจะเป็นมุมกล้อง แสง เสียง ภาพ การแสดง การกำกับลำดับภาพ ตัดต่อ การรวมทั้งหมดมันก็เป็นเอ็นเตอร์เทนเมนต์อย่างหนึ่ง ซึ่งมันเป็นเส้นทางเดินของป็อปปูลาร์ คือเราชอบดูโขน ดูละคร มันค่อนข้างจะเครียด สมมุติว่าเราดูโขน เราจะรู้ทันทีว่าเป็นผู้ร้ายเห็นลายเขียวๆ มี 20 หน้า เราเห็นตัวขาวๆ เป็นผู้ช่วยพระเอกคือลิง มันมีคาแรคเตอร์ไว้เลย ส่วนเรื่องราวไม่ว่าจะเป็นโขน มโนราห์ หรือละครเรารู้เรื่องมาหมดแล้ว รู้มาตั้งแต่ต้น แต่เราดูอะไร เราดูการแสดงของแต่ละตัวว่าอันนี้คือการพัฒนาขึ้นมาจนกระทั่งเป็นของคนไทย มันแตกต่างกับทางด้านของเมืองนอก มันพัฒนามาจากการแสดงของกรีก โรมัน จนกระทั่งมาถึงคาบาเร่ต์ มันมากันคนละเส้น ทำไมคนไทยถึงชอบดูละครกันเกือบทุกคน ทั้งๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงไป เราก็สามารถทำได้ ทำไมถึงทำกันมาจนถึงทุกวันนี้ มันเป็นสิ่งที่ฝังรากลึกมากในสังคม จนกลายเป็นวัฒนธรรมไทย จาก โขน ละคร หรือละครทีวี เรามาดูว่านี่คือนางเอก นี่คือตัวร้าย นี่คือนางร้าย ตัวอิจฉา ศัพท์ก็ยังมีอยู่ยังพูดถึงนางร้ายคือตัวอิจฉา มีพระเอก พระรอง ตัวตลกต่างๆ เป็นเอกลักษณ์ ฉะนั้นหนังคุณภาพในความหมายของผมก็คือหนังที่มีศิลปะคือเรื่องเนื้อหา ต้องทำออกมาดี สวยงามไม่เลอะเทอะ การจัดองค์ประกอบที่เรียกว่า Composition ได้แก่การวางน้ำหนัก ความสมดุลหนังที่มีแต่คนดีหรือคนร้ายอย่างเดียวก็เรียกว่าไม่มี Composition อันสุดท้ายคือรูปแบบในเรื่องหนึ่งจะเอารูปแบบหลายรูปแบบมารวมกันไม่ได้ ถ้าเรากำลังทำเรื่องสมเด็จพระนเรศวรฯ อยู่ แต่เห็นว่าสไตล์ของเรื่อง “เสียดาย” มันทำแล้วได้เงินก็เอามาใส่ในเรื่องนี้ มันไม่ได้เรื่องเพราะเป็นหนังคนประเภทกัน คนละสไตล์กัน ถ้าหนังเรื่องหนึ่งมีอย่างที่บอกครบก็น่าจะเรียกหนังคุณภาพได้”

 

ผ่าอาณาจักรโรงถ่ายอินเตอร์ฯ

“โรงถ่ายพร้อมมิตร ฟิล์ม สตูดิโอ ที่จังหวัดกาญจนบุรี เราสร้างมันขึ้นมาด้วยระยะเวลา 4 ปี ซึ่งความจริง รัฐบาลน่าจะช่วยหรือให้การสนับสนุน แต่ก็ไม่มีเลย เรามีพื้นที่กว่า 2,000 ไร่ เราสามารถให้เช่าถ่ายทำภาพยนตร์ได้ อย่างหนังเรื่อง ศิลามณี ก็มาถ่ายทำที่นี่ ที่กุฏิมหาเถรคันฉ่อง ถ่ายทำเสร็จ 4 วัน ปิดกล้องไปแล้ว ที่นี่เรามีโรงถ่ายภาพยนตร์ 4 โรง สถานที่ผลิตอุปกรณ์ในการถ่ายทำ ศูนย์ฝึกอบรมสัมมนา บ้านพักเรือนไทยโบราณ เรามีซอฟแวร์พวกฉากพวกอะไรต่างๆซึ่งมันสามารถจะสร้างภาพยนตร์ไปฉายต่างประเทศได้เป็นจำนวนมาก ถ้าเขาต้องการ เพียงเขาคิดจะมาสนับสนุนเราบ้าง แต่เผื่อเขาทอดทิ้งเรา เราก็ต้องต่อสู้ของเราไป เรื่องนี้มันขึ้นอยู่กับกระทรวงวัฒนธรรม

 

“ที่นี่ก็เปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวด้วย เวลานี้คนมาเที่ยวเมืองกาญจนบุรีก็ต้องมาเที่ยวที่นี่ อีก 3-4 ปี คนจะมาเที่ยวที่นี่มากที่สุดถือว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เพราะว่ามันมีหลายอย่างที่เราสามารถจะดูได้ อย่างไปเที่ยวน้ำตกเสร็จเรียบร้อยก็จะแวะมาเที่ยวที่นี่ต่อ วันหนึ่งจะมีนักท่องเที่ยวเข้าชมวันละ 1,000-2,000 คน

 

เราถามต่อว่าในวัย 67 ปี ท่านรู้สึกอิ่มตัวหรือมีความรู้สึกเบื่อหน่ายเมื่อมาถึงจุดสูงสุดในอาชีพและยังอยากทำหนังต่อไปหรือไม่

 

“อาชีพนี้มันเป็นอาชีพที่ไม่มีทางไปเกษียณ ผมอยู่เฉยๆ ไม่ได้ อกแตกตาย (หัวเราะ) หากอยู่เฉยๆ ก็คงเป็นวันที่เรารอวันตายการทำหนังแต่ละเรื่องจึงต้องเริ่มต้นจากศูนย์ทุกครั้ง อาชีพทำหนังจึงเป็นอาชีพที่มีความมั่นคงต่ำที่สุด แต่ผมก็รักอาชีพนี้ที่สุด แต่สิ่งที่ผมเจ็บปวดที่สุดก็คือการที่ทำหนังแล้วไม่ได้เงิน เพราะหากหนังได้เงินเรื่องต่อไปเราจะมีโอกาสทำหนังประเภทไหนก็ได้ที่อยากทำ แต่ถ้าหนังไม่ได้เงินเราก็ต้องเริ่มจากศูนย์อีก เคยมีคนกล่าวไว้ว่า ในการทำหนังคุณภาพจะดีที่สุดเท่ากับเรื่องสุดท้ายที่คุณทำ

 

“สำหรับตัวผม หนังของผมทุกเรื่องประสบผลสำเร็จเพราะมันเสร็จตามที่ผมต้องการ ผมไม่ค่อยท้อใจ เพราะเมื่อจบเรื่องหนึ่ง ผมก็เริ่มทำเรื่องต่อไป พอเริ่มเรื่องใหม่ก็จะไม่สนใจอะไรแล้ว โลกของผมมีแต่หนังที่ทำอยู่ แต่ตอนถ่าย จะเบื่ออย่างที่คุณเห็นอยู่เดี๋ยวฝนตก เดี๋ยวแดดหมด แดดหมดแป๊บเดียว ผมหมดเป็นแสน อย่างที่เขาว่ากัน วันแรกของการถ่ายทำหนัง คือวันที่ตื่นเต้นที่สุด วันต่อๆ มาคือวันที่น่าเบื่อหน่ายที่สุดในชีวิต แต่ผมก็ไม่เคยท้อถอย เพราะหนังมันคือชีวิตของผม ที่ผมต้องทำมันอยู่ทุกวัน”

นักส่งออกทางวัฒนธรรมของชาติไทยนาม ม.จ.ชาตรีเฉลิม