Massimo Zucchi

Massimo Zucchi

Massimo Zucchi คือผู้ที่คร่ำหวอดในวงการดีไซน์ของโลกมามากกว่า 20 ปี ออกแบบผลิตภันฑ์ให้กับแบรนด์เนมชั้นนำมาแล้วนับไม่ถ้วน อาทิ Bulgari, Corum, Rolex, de Grisogono, Escada, Harry Winston ฯลฯ มีตั้งแต่เครื่องประดับกระเป๋า ปากกา นาฬิกาหรือแม้กระทั่งเรือยอร์ช เขาก็ทำมาแล้ว หลายคนอาจไม่รู้ว่างานออกแบบบางชิ้นจากแบรนด์ชั้นนำนั้นเป็นฝีมือของเขา

 

จากเด็กน้อยอายุ 7 ขวบ ที่ชอบนำเอากระป๋องมะเขือเทศมาตัดมาต่อให้เป็นรถยนต์เด็กเล่น และพยายามปรับเปลี่ยนให้กระป๋องนั้นทำอะไรได้มากกว่าที่ควรจะเป็น นี่คือสัญญาณแรกที่บอกว่าเด็กชายคนนี้มีความคิดสร้างสรรค์ตั้งแต่วัยเยาว์ จนกระทั่งตัวเขากลายเป็นผู้ใหญ่ และได้ทำงานในแบบที่เขาชอบ วงจรชีวิตก็ทำให้เขาได้มาออกแบบให้กับแบรนด์ดังมากมาย ในขณะเดียวกันแบรนด์เหล่านั้นก็นำเขาเข้ามาทำงานกับรถยนต์อย่าง Bugatti หรือ Ferrari

 

“การทำงานกับแบรนด์ใหญ่มันยากมากครับ เพราะมันไม่ได้นำสไตล์ของตัวเองออกมาใช้อย่างเต็มที่ เพราะมันจะผิดวัตถุประสงค์ของการทำงานกับพวกแบรนด์แนม การทำงานจึงเป็นการตีความคุณลักษณะเด่นของแบรนด์เหล่านั้นออกมาว่าจะเป็นอย่างไร อันนี้นี่แหละยาก หรือในกรณีที่ทำงานกับแบรนด์ที่ยังไม่ได้มีชื่อเสียงมากนัก บริษัทเหล่านั้นจะให้โอกาสเราคิดมากขึ้น และตอนนี้เองที่จะเป็นการเปิดโอกาสให้นำสไตล์การทำงานของตัวเองมาใช้กับแบรนด์นั้นๆ ได้มากที่สุด”

 

กระบวนการออกแบบผลงานแต่ละชิ้นนั้นมีความซับซ้อนมากมาย บางครั้งต้องมีการวิจัยตัวผลิตภัณฑ์นั้นอยู่หลายปีกว่าจะมาเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นหนึ่ง นอกจากนี้ยังต้องใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แต่ถือเป็นเรื่องที่สำคัญไม่น้อย

 

“มันต้องสัมพันธ์กัน ต้องรักษาสมดุลระหว่างสองสิ่งนี้ให้ได้ โดยสิ่งหนึ่งที่สำคัญของการออกแบบก็คือการสัมผัส มิติและน้ำหนักแค่เรื่องของน้ำหนักของตัวผลิตภัณฑ์นั้นก็สำคัญแล้ว หากผู้ใช้เห็นรูปทรงแล้วผู้ใช้ลองจับแล้วเกิดความประหลาดใจก็จะการสื่อสารไปถึงเรื่องของน้ำหนักอีกส่วนหนึ่งได้

 

“บางผลิตภัณฑ์ออกแบบได้สวยงามแต่เมื่อหยิบออกมาแล้วเบาไปหรือหนักไปคนก็ไม่ชอบ การสื่อสารกับน้ำหนักกับการสัมผัสนั้น ยกตัวอย่างเช่น ก่อนจะมีการใช้คอมพิวเตอร์ ประเทศอิตาลีจะเป็นประเทศแรกๆ ที่มีการใช้พิมพ์ดีดแบบกระเป๋าหิ้ว เวลาไปไหนก็จะพกกันอยู่ตลอด เหมือนกันที่ว่าการรับรู้ของเราเป็นอย่างไร การออกแบบก็ควรตอบสนองอย่างนั้น หรือกล่องที่ใหญ่มากแต่เปิดออกมาไม่มีอะไรเลย หรือของบางชิ้นน้ำหนักเยอะไม่มีอะไรเหมือนกัน หรือเหมือนกับรถยนต์ที่ดูแล้วแรงสุดๆ เปิดเครื่องออกมาดูความแรงมีอยู่นิดเดียว การออกแบบมันจึงต้องออกแบบมาให้สมดุลกับการรับรู้ สมน้ำสมเนื้อ เช่นเดียวกับน้ำหนักการสัมผัสและมิติอื่นๆ”

 

อย่างที่ทราบกันดีว่าผลงานการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้กับแบรนด์เนมชื่อดังของเขา มีผลงานออกมามากมายหลายชิ้น ซึ่งแต่ละชิ้นล้วนแล้วแต่มาจากความคิดที่ออกแบบมาอย่างพิถีพิถัน และลงตัว เราแค่อยากทราบว่าชิ้นไหนที่เขาออกแบบแล้ว คืองานมาสเตอร์พีชที่เขาภูมิใจมากที่สุด แต่คำตอบที่รับกลับมานั้น มันเหนือความคาดหมายจากที่คิดไว้มากจริงๆ

 

“ลูกชายเป็นโปรเจ็คท์การออกแบบที่งดงามที่สุดของผม บางครั้งลูกก็มีส่วนในงานที่ทำ เพราะเขาเติบโตขึ้นมาด้วยสิ่งรายล้อมรอบกาย ผมเห็นพฤติกรรมการใช้ของของเขา ก็จะสะท้อนกลับมาในการทำงานของผมในการคิดออกแบบให้ดีขึ้น

 

“สิ่งที่จะลืมไม่ได้ในงานออกแบบไม่ว่าจะโปรเจ็คท์ใดๆ ก็ตาม สิ่งเหล่านั้นจะต้องมีการปรับได้ใช้กับมนุษย์ทางกายภาพ ผมมองผลิตภัณฑ์ว่า ถ้าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นออกแบบมาสวยมาก แต่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ ไม่มีใครใช้ได้เลย ก็ผิดวัตถุประสงค์ กลายเป็นผลงานทางศิลปะไป แต่ถ้าสิ่งเหล่านั้นพบเห็นโดยทั่วไปประชาชนสวมใส่หยิบใช้ และสามารถพบเห็นในพิพิธภัณฑ์ได้ด้วย ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ ผมมีมุมมองอีกแบบหนึ่งว่าการเรียนการสอนให้มหาวิทยาลัยมักสอนออกแบบแล้วให้ไปอยู่พิพิธภัณฑ์ทางศิลปะ แต่งานออกแบบสำหรับผมคือต้องมาใช้ได้ในชีวิตประจำวันระหว่างงานศิลปะกับงานออกแบบจึงมีนิยามที่แตกต่างกันออกไป”

 

ในงานของนักออกแบบย่อมมีงานที่ตนเองอยากทำมากจริงๆ ตัวของ Massimo Zucchi ก็เช่นกัน เขามีงานที่ใฝ่ฝันว่าอยากจะทำมากมาย ทั้งหมดล้วนแต่ท้าทายความสามารถของเขาเสมอ

 

“ล่าสุดเป็นสิ่งที่อยากทำ ซึ่งก็ได้ทำไปแล้ว นั่นคือเรือยอร์ชของ Carloforte ซึ่งมันยากตรงที่ต้องประสานเอาหลายๆ ส่วน ให้เข้ามารวมกัน แต่สิ่งที่อยากทำและกำลังทำออกมาก็คือโปรเจ็คท์การออกแบบตู้เย็นสำหรับซัมซุง ฟังดูเหมือนจะธรรมดา แต่จะต้องเป็นตู้เย็นที่ทุกคนชอบ ดูดี และหรูหราที่สุด แล้วที่สำคัญซัมซุงให้ผมลงลายเซ็นในตู้เย็น ผมจึงรู้สึกว่าประทับใจมาก”

 

ถือเป็นโอกาสดีที่วันนี้เขาได้มาเยือนเมืองไทย แต่ไม่ได้มาท่องเที่ยวแล้วเก็บกระเป๋ากลับบ้านเหมือนชาวต่างชาติทั่วไป แต่เขาเล็งเห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยในหลายๆ ด้าน รวมถึงเรื่องฝีมือการผลิตสินค้า เขาจึงตัดสินใจเข้ามาเปิดบริษัทในเมืองไทยที่ชื่อว่า Massimo Zucchi Design หรือ MZD ซึ่งตั้งอยู่บนชั้น 27 ของอาคาร Q House บนถนนสาทรใต้ โดยวางเป้าหมายไว้กับผู้ประกอบการที่จะสร้างแบรนด์ให้โด่งดัง และพัฒนานักออกแบบรุ่นใหม่ให้เกิดขึ้นมาในอนาคตให้ก้าวสู่นักออกแบบระดับโลกได้

 

“ผมคิดว่าประเทศไทยเหมาะกับการเป็นศูนย์กลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้งานออกแบบเชิงการตลาดสามารถเข้าถึงความรู้สึกได้ง่าย อีกทั้งวัฒนธรรมการออกแบบของไทยกับคนอิตาเลี่ยนนั้น สามารถผสมผสานกันได้ รู้สึกว่าคนไทยเห็นคุณค่าของงานออกแบบ มีความพิถีพิถัน ละเอียดละออในจุดเล็กๆ น้อยๆ ครับ”

ชาวอิตาเลี่ยนผู้มีสายเลือดศิลปะออกแบบอย่างแท้จริง