ทวี รัชนีกร
อาจารย์ทวี รัชนีกร ในฐานะศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปี พ.ศ.2548 ผู้คร่ำหวอดในงานจิตรกรรมประติมากรรม สื่อผสม ปั้น เซรามิก สลักไม้เก่า กวาดรางวัลสำคัญในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ประเภทจิตรกรรมติดต่อกันถึง4 ครั้งตั้งแต่ปี พ.ศ.2501-2504 ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติที่ชื่อรางวัล มนัส เศียรสิงห์ “แดง” ได้รับรางวัลสาขาสันติภาพประชาธิปไตยและความเป็นธรรม ซึ่งจัดโดยสถาบันปรีดี พนมยงค์ เนื่องจากทำงานรับใช้สังคมในเชิงสร้างสรรค์มีอุดมการณ์ยึดมั่นอยู่ในความยุติธรรม และยังมีผลงานอื่นๆ อีกมากมายจากสีน้ำมันบนผ้าใบแนวการวาดแบบกึ่งดูออก กึ่งดูไม่ออกว่าเป็นรูปร่างอะไร เป็นภาพที่ต้องเห็นด้วยตาผนวกจินตนาการควบคู่กันไปที่เรียกว่ากึ่งนามธรรม หรือ Semi Abstract ผสมการเขียนภาพด้วยอารมณ์รุนแรงฉับพลันแบบ Expression มีการใช้สีสันที่สดมีน้ำหนักราวกับ Realistic เน้นภาพสีเข้มจัด ช่วยสร้างอารมณ์เร้าให้กับผู้ดู มีเทคนิคเฉพาะตัวหาใครเสมอเหมือน ศิษย์เอกศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี อีกท่านหนึ่งที่ท่านได้ถ่ายทอดอรรถรสปรัชญาผสานศิลป์ด้วยการกระทำและคำพูด ที่อาจารย์ทวี น้อมรับพร้อมกับเดินตามรอยพ่อเพื่อบ่มเพาะสานุศิษย์ให้ดีและมีคุณภาพทั่วแคว้นแดนอีสาน สร้างชื่อเสียงขจรไปไกลในด้านทักษะฝีมือและความคิดสร้างสรรค์
เคี่ยวกรำในดงเพาะช่าง
นัยน์ตาอาจารย์ทวี เปล่งเป็นประกายในความเมตตา ผมสีดอกเลารับกับหนวดเคราขาวยาวย้อย ใบหน้าเปื้อนรอยยิ้ม น้ำเสียงกลั้วหัวเราะ ท่านถือไม้ตะพดอายุร่วม 100 ปี พาเดินชมหอศิลป์พลางอธิบายถึงแรงบันดาลใจในการเขียนภาพ ไร้สไตล์ฉีกจากภาพเขียนแนวเหมือนจริงเดิมๆ ด้วยสีสันฉูดฉาดเสียดสีสังคมที่ท่านประสบพบเห็น โดยเฉพาะภาพ “ขุมนรกที่ 15 หน้าตาพิลึก”
“เรื่องราวของภาพปรากฏอยู่ในไตรภูมิพระร่วงเพราะคนโบราณมีหน้าตาแปลกๆ โดยมีรากฐานวัฒนธรรมความเชื่อเก่าๆ จึงถูกนำมาสร้างสรรค์ตามสบาย เขียนพวกนี้แล้วไม่น่าเบื่อ คล้ายๆกับภาพ ขุมนรกที่15 หน้าตาอยู่บนหัว พ่อผมเป็นคนธรรมะธรรมโมบวชเรียนหลายพรรษา ผมถามพ่อว่าทำไมปากตาอยู่บนหัวพ่อบอกว่าไอ้คนที่พูดเก่ง ชอบเจรจาเหมือนนักการเมือง รักประชาชนเหลือเกิน เสร็จแล้วเข้ามาหลอกสุดท้ายตายไปก็เกิดเป็นเปรต เพราะมันพูดเพื่อตัวมันเอง ไม่จริงใจ หลอกลวง มีตาอยู่บนหัวหมายถึงวิสัยทัศน์กว้างไกล ส่วนภาพ ‘สี่เท้า’ ในสมัยโบราณหากใครกระทำผิดต้องตัดมือตัดตีน ผมจึงสะท้อนมุมมองออกมาสมมุตินักการเมืองบางคนขึ้นมาเป็นใหญ่ก็เอาพวกคนอื่นออก ปลดทหาร ปลดตำรวจ มันเป็นการทำลายด้วยการตัดมือตัดตีน
“บางครั้งมันออกมาตรงๆ อย่างภาพ “หน้าแบนแบนไว้ใจได้กา” ส่วนงานประติมากรรมที่ไปพบพฤติกรรมมนุษย์ที่พัทยาและที่บ่อนอก เช่น ‘การประท้วงปลาวาฬที่บ่อนอก’ ผมสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อนำไปขายหาเงินเข้ามูลนิธิคุณสืบ หรืออย่าง “จุดจบของนักล่า” ผมไปเจอไม้บนดอย ชาวเขา เขาขายให้บอกว่าเจ้าของถูกหมูป่าขวิดตาย ผมจึงลงมือแกะไม้แล้วเผาไฟ ให้เป็นท้องหมู จากนั้นนำหอย หินและเขี้ยวหมูป่า ฝังลงไป บางครั้งใช้สอนเด็กเกี่ยวกับการล่าสัตว์ ล่าเขาแล้วเขาก็ล่าเรา สุดท้ายก็ตาย เหมือนคนโบราณ เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์ เขาจะนำภาพเหล่านั้นมาสอนเด็กเพราะเด็กกำลังจำ ตอนขึ้นดอยไปกับอินสนธ์ วงศ์สาม ไปเห็นอีก้อชายหญิงยืนเมคเลิฟกันอยู่หน้าบ้านในตอนรุ่งอรุณ จึงเกิดแรงบันดาลใจขึ้นมาโดยพลัน ไปซื้อไม้ที่ใต้ถุนเขามาอีก จากนั้นนำมาทำประติมากรรมชื่อ ‘อีก้อ/ แกะไม้/ หอย หิน’ แทนสัญลักษณ์เพศหญิงเป็นหอยเบี้ย มีสะดือ มีอก มีตา มีเพศแต่ถ้าใครดูแล้วมีอารมณ์ทางเพศ ผมว่าน่าจะไปบำบัดรักษาโรคจิตซะ (หัวเราะ) ดูอย่างไรก็ไม่มีอารมณ์ เพราะเรื่องอย่างนี้มันทำให้ลามกก็ได้ สร้างสรรค์ก็ได้
“ส่วนงานประติมากรรมกับสิ่งแวดล้อมนานาชาติ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พ.ศ.2549 ในงานมหกรรมพืชสวนโลก สวนเกษตรหลวง จังหวัดเชียงใหม่ ผมสร้างสรรค์งานชื่อ ‘ความอุดมสมบูรณ์’ได้แรงบันดาลใจจากนกเงือก อันเป็นสัญลักษณ์ความอุดมสมบูรณ์ของป่า จากการคาบผลของพันธุ์ไม้ให้แพร่พันธุ์ไปได้ไกลทำให้ขยายขอบเขตไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพื่อให้ความบันดาลใจในเชิงอนุรักษ์ป่าแก่เยาวชน ยังมีผลงานของศิลปินนานาชาติและของไทยอีกหลายท่านทั้ง กมล ทัศนาญชลี ร่วมกับ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เขียนบทกวีประกอบ วิโชค มุกดามณี นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน ศราวุธ ดวงจำปา ชำเรือง วิเชียรเขตต์ นอกจากนั้นผมยังทำมิกซ์มีเดีย เทคนิคผสม สีหมึก ปะติด นำกระดาษโบราณ กระดาษข่อย กระดาษสา มาทำร่วมกับใบลาน เขานำมาขายเห็นว่าผุๆ พังๆ ผมเสียดายจึงนำมาสร้างสรรค์ออกมาให้ร่วมสมัย”
“อาจเป็นเพราะผมสนใจเรื่องของความเป็นธรรมมากกว่า ผมเป็นคนเซนซิทีฟสูง ทำอะไรออกมาได้มากมาย ตอนเด็กๆ ผมเห็นใบไม้มันร่วงหล่นทิ้งบนลำห้วยเล็กๆ ลอยน้ำไป ผมวิ่งตามไปเก็บ เพราะกลัวว่าใบไม้มันจะห่างแม่ไป ผมคิดอะไรก็ไม่รู้ในตอนนั้น คนเขาเห็น เขาก็คิดว่าไอ้เด็กคนนี้ท่าจะบ้า
“ผมเกิดใกล้ตลาดน้ำดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี อายุเกือบขวบก็ย้ายไปอยู่อำเภอแม่กลอง สมุทรสงคราม เรียนที่โรงเรียนวัดอัมพวัน อาคารเรียนเป็นตำหนักเดิมของพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ผมวิ่งเล่นซนไปทั่ววัด ทำให้ได้รู้ได้เห็นอาคารแบบโบราณ รวมทั้งข้าวของเครื่องใช้ของเจ้านายที่มีความสวยงาม กลายเป็นความประทับใจที่เก็บไว้ทุกวันนี้ ผมสนใจงานศิลปะตั้งแต่เด็กๆ อายุ 6-7 ขวบรู้ความก็ชอบวาดรูปแล้วนำถ่านที่ใต้ถุนมาเขียนภาพสัตว์ เขียนม้าพอโตขึ้นหน่อยก็เขียนหนุมาน ทศกัณฐ์ตัวพระ ตัวนาง ฉากต่างๆ ในรามเกียรติ์ บางครั้งก็ขุดดินริมแม่น้ำมาปั้นเต่า ปั้นกบ เขียด วัว ควาย เล่นจนกระทั่งจบ ม.6 ผมชอบงานวรรณกรรมเรื่องพระอภัยมณี ชอบดนตรีสมัยก่อนเวลาพระฉันข้าวเสร็จ ก็จะตีระนาดตีกลอง ปี่พาทย์มอญ
“ในสมัยนั้นรู้จักที่เรียนด้านศิลปะแห่งเดียวที่เพาะช่าง เมื่อสอบเข้าได้มีอาจารย์จิตต์ บัวบุศย์ เป็นผู้อำนวยการ ผมเข้าเรียนวิจิตรศิลป์ ต้องเรียนอย่างเคี่ยวกรำตัวเองอย่างหนัก เพราะมีความรู้และบทเรียนทางศิลปะมากมายให้ศึกษา อาจารย์แต่ละท่านล้วนมีฝีมือเยี่ยมและต้องแข่งขันระหว่างเพื่อน ช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาแห่งการแสวงหาทักษะฝีมือ เป็นจริงเป็นจัง ทั้งการเรียน การวาดภาพเหมือนตามแบบสากลและการวาดภาพตามแบบไทยประเพณี
“ผมมีชื่อเสียงในการวาดภาพเส้นทำคะแนน drawing ได้ 100 คะแนนเต็ม จนกระทั่งรุ่นพี่ชื่อ เปรื่อง เปลี่ยนสายสืบ มาขอดูตัวแล้วพาไปพบกับอาจารย์ทวี นันทขว้าง ซึ่งขณะนั้นเป็นครูสอนอยู่ที่เพาะช่าง อาจารย์ทวีจึงสอนให้เป็นกรณีพิเศษ แล้วนำงานศิลปินนานาชาติมาแนะนำให้ดู ส่วนใหญ่เป็นภาพสีน้ำมัน มีผลงานของแวนโก๊ะ เซซาน แอนดรูว์ ไวเอ็ด นอร์แมน ร็อคเวล และศิลปินอิมเพรสชั่นนิสต์ ผมรู้สึกตื่นเต้นชื่นชอบ สนใจมาก เนื่องจากช่วงนั้นกำลังนิยมผลงานที่แสดงทักษะ ผมได้ไปเจออาจารย์ญี่ปุ่นชื่อ นิโร โยโกตะ ซึ่งถูกเชิญมาสอนที่เพาะช่าง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2472 ในวิชาไม้ไผ่และวิชาพื้นฐานอื่นๆ ทำให้มีความรู้เพิ่มขึ้นในงานวาดเส้น สีน้ำมัน ผมชอบเขียนภาพตลาดน้ำและวิถีชีวิตไทยๆ ผมได้เรียนรู้จากอาจารย์นิโร ท่านนี้ที่มีฝีมือขยันขันแข็งสอนจนลูกศิษย์ต้องขยันตามไปด้วย”
ตามฝัน...ที่ศิลปากร
“อาจารย์ทวี นันทขว้าง ท่านจะสอนให้เรียนรู้เองจากธรรมชาติของศิลปินแต่ละคนมันดีอย่างไร ตอนนั้นผมต้องนั่งรถไฟจากแม่กลองมาเรียนที่เพาะช่าง ถึง 4 ชั่วโมงเมื่อเห็นอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 ก็ตื่นเต้นมาก ถามอาจารย์ว่าใครทำ อาจารย์ก็บอกว่าศิลปากรทำ ผมจึงมีความมุ่งมั่นที่จะเข้าเรียนศิลปากรให้ได้ เพราะเกิดความประทับใจ แล้วก็สอบเข้าได้สำเร็จสมใจโดยสอบสัมภาษณ์จากศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ผมเรียนคณะจิตรกรรม ประติมากรรมเมื่อปี พ.ศ.2499 เพื่อนร่วมรุ่นมี 27 คน ที่จำได้ก็มี ลาวัณย์ ดาวราย เศวต เทศน์ทัณฑ์ ที่ปั้นอนุสาวรีย์สืบ นาคะเสถียร มานิตย์ ภู่อารีย์ สันต์ สารากรบริรักษ์ ศิลปินแห่งชาติทั้งคู่ รุ่นผมได้ศิลปินแห่งชาติ 3 คน มานิตย์ เพิ่งเสียชีวิตไป ส่วนอาจารย์อินสนธ์ วงศ์สาม อาจารย์พิชัย นิรันต์ รุ่นน้อง แต่เป็นเพื่อนกัน งานของเขาจะไปแฝงทางพุทธปรัชญามากกว่า
“ผมมาเรียนสุนทรียภาพ เรียนประวัติศาสตร์ศิลป์กับอาจารย์ศิลป์ รู้สึกสนุก มันมีเหตุผลว่าทำไมมันเกิดยุคเรอเนสซองซ์ เกิดยุคทองของยุโรป เพราะมันเกิดสงครามครูเสด เมืองอิตาลีทำไมเกิดยุคทอง เกิดวิทยาศาสตร์ได้ เพราะเป็นเมืองหน้าด่านที่กองทัพมาอยู่ที่นี่เพื่อไปรบกับพวกสงครามครูเสด จึงเกิดเศรษฐีใหม่ขึ้นมา เมื่อเกิดตระกูลร่ำรวยของชนชั้นกลาง จึงมีอำนาจต่อรองกับชนชั้นสูง เหมือนกับเมืองไทย มันมีวัฒนธรรมมายาวนานมาก ตั้งแต่สุวรรณภูมิ มีทวารวดี ศรีวิชัย จนถึงลพบุรี ต่อมาเรื่อยจนถึงเชียงแสน สุโขทัย อยุธยาตอนต้น ตอนกลาง ตอนปลาย รัตนโกสินทร์ตอนต้น ตอนกลาง ตอนปลาย ถ้าไม่มีอาจารย์ศิลป์ มามันจะขาดไปหมด เหมือนเขมร อีสานเมื่อ 700 ปีที่แล้ว มันมีปราสาทเขาพนมรุ้ง มีปราสาทหินพิมาย มีแหล่งวัฒนธรรมเก่าโบราณสถาน ปรางค์ปราสาทอื่นๆ กระจายอยู่ทั่วจังหวัด พอผมไปถึงโคราชใหม่ๆรอบๆ ปราสาท มันกลายเป็นเถียงนา มันขาดไปเลย แต่ภาคกลางของเราดีมันมีต่อเนื่องเรื่องราวในแต่ละยุค แล้วท่านอาจารย์ศิลป์สอนเหมือนกับย่อประวัติศาสตร์โลก ท่านย่อประวัติศาสตร์ตั้งแต่กรีก โรมัน เรื่อยมาจนถึงสมัยใหม่ แล้วเราก็นำมาต่อจนถึงเดี๋ยวนี้โดยไม่ต้องไปเรียนต่อต่างประเทศ นี่คือสิ่งที่ศิลปากรทำ มันจึงมีรากเหง้า เพราะอาจารย์ศิลป์ท่านหลงใหลศิลปะไทยมาก เพราะมีวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่เหลือเกิน ได้เห็นวัดพระแก้ว วัดอรุณ วัดสุทัศนฯ จิตรกรรมก็มีคุณค่าเทียบเท่ายันตระ ท่านพาพวกเราไป พระนครศรีอยุธยา สุโขทัย โคราช ไปปราสาทหินพิมาย ไปเขาพระวิหาร ท่านพาไปหมด เพื่อให้เราหลงใหลและรักในศิลปะ ท่านยอมเสียสละ ท่านเคยอวดรูปของศิลปินฝรั่งว่าของเขามีคุณค่าขนาดนั้น ผมก็ถามว่าแล้วทำไมอาจารย์ไม่เป็นศิลปินล่ะ ท่านบอกว่า ‘ถ้าฉันเป็นศิลปินฉันจะได้เป็นคนเดียว แต่ถ้าฉันอยู่นี่อีก 10 ปี จะมีศิลปินเกิดขึ้น 2 คน และอีก 20-30 ปีจะมีศิลปินเพิ่ม 10 คนหรืออีก 100 ปีอาจจะมี100 คน ก็ได้’ ท่านทุ่มเทจริงๆ ทำงานหนักตลอด แกบอกว่าคนไทยเก่งมีหัวทางศิลปะ แต่คนไทยขี้เกียจ อย่างผมมาขยันเอาตอนแก่ (หัวเราะ) เพื่อนๆ มาถามผมว่า ทำไมสร้างสรรค์งานเยอะขนาดนี้ ผมบอกว่าไม่มากมายหรอก ผมมีพักบ้าง ตอนกินข้าวตอนนอนและตอนไม่มีแรง”
สัญจรสอนศิลป์
หลังจากอาจารย์ทวี ประกวดงานศิลปกรรมแห่งชาติจนได้รับรางวัลมามากมาย เริ่มมีชื่อเสียง สร้างสรรค์ศิลปะอย่างเมามัน จนกระทั่งจบจากศิลปากร ดร.วทัญญู ณ ถลาง ผอ.วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดนครราชสีมา (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยราชมงคลอีสาน) ศิษย์ประติมากรรมอาจารย์ศิลป์ได้ติดต่อผ่านอาจารย์ศิลป์ ให้ช่วยหาลูกศิษย์ที่สนใจไปสอนศิลปะที่โคราช ผลปรากฏว่า อาจารย์ทวี ยกมือขึ้นอาสาเพียงหนึ่งเดียว
“ตอนนั้นเพื่อนๆ หันมามอง รู้สึกเท่ และที่ศิลปากรเองก็ผลิตบัณฑิตระดับปริญญาตรีน้อยมาก เรียน 4-5 ปีได้ 1 คน รุ่นผมได้ปริญญาตรีมา 6 คน มากที่สุดคือคณะจิตรกรรม ประติมากรรม อาจารย์บอกว่าดีแล้ว อยากให้ไปสอนที่โคราช เพราะที่นั่นขาดครู เมื่อรู้ว่าจะมาสอนที่โคราช ผมจึงแอบมาดูก่อนชื่อวิทยาลัยเทคนิค มีตึกอยู่หลังเดียว นั่งรถไฟมาก็ยาก มันเหมือนกับบ้านนอกผมจึงหนีกลับกรุงเทพฯ อีกใจหนึ่งไม่อยากเป็นราชการ อยากเป็นศิลปินอิสระ จึงร่วมกับดำรง วงศ์อุปราช อินสนธ์ วงศ์สาม เปิดแกลลอรี่ขึ้นมาแสดงงานที่มักกะสันราวปี พ.ศ.2502 ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าไร ผมต้องหลบๆ ซ่อนๆ อาจารย์ศิลป์ตลอด
“แต่ผมติดศิลปากรเพราะเป็นเหมือนบ้าน จึงโผล่ไปที่นั่นอีก เห็นท่านเข้าพอดี จึงถูกต่อว่า ‘นายต้องไป’ ผมบอกว่าผมอยากเป็นศิลปิน อาจารย์ศิลป์บอกว่า ‘นายต้องดูนะว่านี่เมืองไทย นายไปสอนเด็กแล้วนายใช้เวลาทำงานบ้าง มันก็เป็นศิลปินได้นะ นายจะมีชีวิตอยู่ได้หรือเปล่าก็ไม่รู้นะ ในเมืองไทยเรื่องศิลปะหาคนเข้าใจยาก’ ผมรับปากกับท่านว่าจะไป ผมก็หนีไปอีกไปนั่งเขียนรูปแสดงไปเปิดแกลลอรี่อีก ทีนี้รองผู้อำนวยการที่โคราช ท่านเดินทางมาตามและถามอาจารย์ศิลป์อีก อาจารย์ศิลป์บอกกับผมจนน้ำตาซึมว่า ‘นายทำให้ฉันเสียชื่อ ฉันอายเขามาก’ ท่านเปรียบเสมือนกับพ่อผม เราทำให้พ่อเสียชื่อและอับอาย ทำไมเราไม่โตสักทีนะ มันชักไม่ดี ก็หิ้วเป้ใบเดียวไปลาท่าน ว่าผมไปแน่ อย่างน้อยคิดว่าจะอยู่โคราชสัก 2-3 ปี ไม่คิดอยู่นาน อาจารย์ศิลป์บอกว่า ‘นายต้องเปลี่ยนนิสัย ต้องขยัน การเป็นครูต้องมีความเสียสละ เป็นคนดี เป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ลูกศิษย์ การสอนศิลปะอย่าไปคิดว่าเขาจะชอบกินมังคุดหรือทุเรียน จะให้เด็กเขากินมังคุดทุกคนไม่ได้ เราต้องดูถ้าเด็กเป็นมังคุด เราต้องเลือกใส่ปุ๋ยให้กับเขา’ ผมจึงเริ่มเข้าใจว่า ศิลปะมันแล้วแต่คนจะเป็นอย่างไร เราจะไปบังคับเขาไม่ได้ เราเป็นครูเราไม่ใช่เป็นศิลปิน พยายามอ่านเขาด้วย พอไปอยู่ที่โคราช เมื่อครูคึกคะนอง การสอนก็เริ่มสนุก ตรงจุด เรียนอะไรก็แล้วแต่ ต้องมีรสนิยมที่ดีด้วย สถาบันนี้นอกจากลูกศิษย์จะมีความรู้ความสามารถในเชิงช่างแล้ว ต้องมีรสนิยมที่ดี เราให้คนอื่นเข้าใจศิลปะมันก็ไม่เลวนี่หว่า
“พอสอนได้สักพัก จึงชักชวนเพื่อนและรุ่นน้องที่ศิลปากรมาเป็นครูที่นี่ มีอาจารย์จรูญ บุญสวน อาจารย์สมเกียรติ สิริกุล อาจารย์สนั่น ดัชนี ศราวุธ ดวงจำปา เทพศักดิ์ ทองนพคุณ สมชาย เถาทอง ผมจึงทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างด้วยความรักเนื่องจากผูกพันกับลูกศิษย์ มีความรักความศรัทธาในจิตวิญญาณความเป็นครูของอาจารย์ศิลป์ ผู้เป็นแบบอย่างของความมุ่งมั่นในการสอน เพื่อให้ลูกศิษย์เป็นศิลปิน อาจารย์วทัญญูท่านบอกให้ผมเปิดแผนกศิลปกรรมขึ้น ก็ชักสนุก ผมอยู่กับเด็กตลอด ทิ้งเขาไม่ได้ พอเรียนจบแผนกเรา เขาเรียกว่าวิชาศิลปะหรือ ศป.ปวส. ไม่เรียกแบบเพาะช่างหรือช่างศิลป์ ผมจึงร่วมกันจัดหลักสูตรขึ้นมาใหม่ให้ทันสมัยให้หางานทำหรือเรียนต่อได้
“บังเอิญราวปี พ.ศ.2504 ได้ออกตระเวนท่องเที่ยวไปตามโบราณสถานต่างๆ แล้วไปเจอชาวบ้านปั้นหม้อ ปั้นไหปลาร้า ราคา 3-5 บาท พวกครก โอ่ง อ่าง ใบละ 7 บาท ผมจึงคิดดีไซน์ นกฮูก นกยูง ไก่ ปลา แจกันเล็กๆ แล้วให้เขาขายใบละ 35 บาท จากนั้นก็พัฒนามาเป็นเก้าอี้สนาม ประติมากรรมฝาผนัง โคมไฟ และอื่นๆ อีกมากมาย เพราะเตาเผามันเผาได้เป็นร้อยๆ ใบ ชาวบ้านก็เริมมีฐานะ ทุกวันนี้ก็ยังขายอยู่ ผมก็เริ่มให้ลูกศิษย์เข้าไปพัฒนาในการออกแบบดีไซน์รูปทรงแบบต่างๆ เพื่อประยุกต์ศิลป์ให้กับพวกชาวบ้านด่านเกวียน เพื่อให้เขาเปลี่ยนแปลงฟังก์ชั่นเดิมๆ จากประโยชน์ใช้สอยเดิมมาเป็นประโยชน์แบบใหม่เพราะเนื้อดินริมแม่น้ำมูลของที่นี่มีแร่เหล็กปนอยู่สูงเมื่อเผาไฟเข้าเตาอบ เนื้อจะแกร่งมันวาวเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นกว่าที่อื่นหมู่บ้านนี้แต่ก่อนไปยากมาก มีรถอยู่ 2 เที่ยว กลางวันกับตอนเย็น ถนนหนทางเป็นทางเกวียนดินทราย เด็กๆ ก็ไปออกแบบพัฒนาอะไรต่ออะไรขายดีจนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ทำเป็นอาชีพได้ ที่เรียกว่าปั้นดินให้เป็นดาว ลูกศิษย์ผมเป็นช่างปั้นอยู่ที่นี่หลายคน
“ผมเป็นคนรุ่นแรกที่เข้าไปประยุกต์ศิลปะให้กับชาวบ้าน มีการต่อต้านนายทุนที่จะเข้ามายึดพื้นที่บ้านด่านเกวียนทำเป็นเมืองอุตสาหกรรม จะมีโรงงานมันสำปะหลัง จึงมีการประท้วง เพราะจะทำให้วิถีชีวิตคนเปลี่ยนไป ในที่สุดเราก็ชนะ
“ในปี พ.ศ.2524 ผมได้นำศิลปะเข้ามารับใช้วิถีชุมชนเปิดที่ เอสซีแกลลอรี่ โคราชเพราะศิลปะมันจะเจริญได้ต้องมีหอศิลป์เหมือนสอนเขาเล่นโขนแล้วไม่มีโรงโขนให้เขาเล่น ซ้อมกีฬาแทบตายไม่มีสนามกีฬาให้แข่ง ผมจึงร่วมกับ ดำรง วงศ์อุปราช ซึ่งมาสอนที่นี่ เราเปิดเป็นศิลปะร่วมสมัย นำเอาศิลปะจากกรุงเทพมาแสดงที่นี่ ผมก็เขียนรูปฝรั่งขึ้นสามล้อกอดผู้หญิงไทย หรือภาพที่น่าเกลียดที่พวกทหารจีไอ มันทำกับคนไทย ฝรั่งมันเห็นภาพ มันก็ด่าเรา ถึงแม้ไม่มีคนซื้องานของเรา แต่มุมมองของศิลปินคือได้สะท้อนออกมาทางงานศิลปะ เรียกได้ว่าตอนนั้นเอามันไว้ก่อน”
“ผมวางรากฐานทุกอย่างในวิชาศิลปะไว้หมด สอนประติมากรรม สอนปั้น พอมาปั้นใหญ่กว่าคนจริง 4-5 เท่าอย่างปั้นที่พุทธมณฑล ก็ปั้นไม่ไหว เหนื่อย ต้องออกแรงมาก แต่ก็อดไม่ได้ที่จะต้องทำประติมากรรม ลูกศิษย์ที่จบไปมักจะชอบด้านสังคมส่วนมาก มีกลุ่มนักคิด นักเขียนนักดนตรี อย่างวงคาราวาน พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ หนึ่งในลูกศิษย์คนสนิท สมาน ด่านเกวียนศิลปินปั้นดินแห่งด่านเกวียน ติ๊ก ชีโร่ นักร้องยอดนิยม สนาม จันทร์เกาะ ผู้สร้างสรรค์งานนามธรรมในยุคแรก และลูกศิษย์สายที่เรียนต่อศิลปากรที่กลายเป็นผู้ที่มีบทบาทสร้างชื่อเสียงในวงการศิลปะอีกหลายคน ทำให้มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้แกล้วกล้าตลอดกาลยังต้องเหลียวมามอง “กลุ่มศิลปินโคราช”กลุ่มนี้ อาจจะเป็นเพราะที่นี่บรรยากาศมันให้ ตอนแรกๆ ที่ผมมาอยู่ใหม่ๆ ก็เหมือนกับวัฒนธรรมไทยทั่วไป สังคมสงบเรียบง่าย ศิลปินอีสานจึงมีเยอะมาก เพราะมีเลือดของนครวัด นครธม มันเป็นสายเลือดที่ได้ดีเอ็นเอมาจากพนมรุ้ง จากพิมาย จบแล้วไปเป็นศิลปินใหญ่เยอะแยะ”
อัตลักษณ์ตัวตน
“ศิลปะมันเป็นภาษาทางทัศนศิลป์ มันจะต่างกับภาษาพูด ภาษาทัศนศิลป์ มันจะมีความงามสุนทรียภาพ ศิลปินหลายคนทำเพื่อความงามจนเกิดเป็นเส้น เป็นเหลี่ยมเป็นน้ำหนัก เน้นความงามในสมัยใหม่ บางคนเน้นเอ็กซ์เพรส เน้นอารมณ์ความรู้สึกเริ่มตั้งแต่แวนโก๊ะ แจ็คสัน พอลล็อก มันมีเรื่องราว ความคิดต้องพัฒนาไปจนถึงเป็นอิมฟอร์มเมชั่นอาร์ตเหมือนกับแสดงการเต้น เป็นบทบาท บางทีแสดงแอ็คชั่น บางทีก็เป็นบอดี้อาร์ต เอาสีทาตัวนอนกลิ้งกับเฟรม อะไรก็แล้วแต่ เขาจะเน้นเรื่องแนวความคิดเป็นการแยกแยะ สำหรับอธิบายรูปสีสวยมันเป็นเรื่องของอารมณ์ทีแปรง มันมีอารมณ์ของคนเขียนแฝงอยู่ 3 อย่าง มีอารมณ์ความรู้สึกและความคิด งานของผมจึงมีอิสระในการเขียนผมจะไม่อยู่ในกรอบว่าต้องมีสไตล์ว่าแบบนี้ต้องเป็นตัวผม ผมจะเน้นเรื่องแสงเงาหรือแนวอนุรักษ์ตลอดไม่ได้ ผมจะไม่ติดกับสไตล์ไม่ติดกับรูปแบบ ผมทำไปตามความรู้สึกนึกคิดของผมมากกว่านั่นคือตัวตนผม คนดูเห็นมาแต่ไกลก็ยังรู้เลย มันเป็นการสะท้อนวิถีชีวิต ความรู้สึกตอนนั้น หากผมอารมณ์ดีๆ ผมจะนั่งเขียนอะไรสวยๆ เล่น ในบางครั้งเมื่อมีอะไรมาสะกิดใจผมก็จะคิดทำสิ่งนั้นเลย ผมทำเพราะอดทำไม่ได้มากกว่า ผมเห็นวิวสวยๆ ผมก็อดใจไม่ให้เขียนไม่ได้ เห็นนักการเมืองน่าเกลียด ผมก็อดไม่ได้ที่จะสะท้อนออกมา เมื่อไม่ทำมันหงุดหงิด (หัวเราะ)
“ผมเขียนด่าประเทศที่บุกรุกเริ่มก่อสงคราม ตั้งแต่ปี พ.ศ.2510 ผมอาจจะผิดหรือถูกไม่รู้ มาถึงยุคปัจจุบัน ศิลปินเขาเห็นบ้านเมืองขนาดนี้ เขาอาจจะทนได้นะ โยนลูกระเบิดใส่กัน เอาลูกระเบิดยิงใส่จนคนตาย แล้วเขายังมานั่งเขียนรูปดอกไม้สวยๆ ได้ ก็เป็นเรื่องของเขา แต่ผมมันอดไม่ได้ บางทีผมหยุดเขียนเลย ผมทำไม่ไหว ตอนที่มันโยนระเบิดใส่กัน มันรู้สึกสะเทือนใจมาก จนไม่อยากเขียนอะไรเลย หยุดเขียนไปเป็นเดือนๆ เมื่อมันเริ่มประท้วง เริ่มฆ่ากัน เมื่อเหตุการณ์สงบเข้า หยุดประท้วงกัน ถึงเริ่มเขียนใหม่อีก ตอนเขียนใหม่ๆ มันเริ่มหิวมาก ขึงเฟรมทุกเฟรม 3 รูปเลย เขียน 2x3 เมตร 3 รูปใหญ่ๆ
“งานศิลปะของผม ทั้งงานปั้น งานประติมากรรม สื่อผสม และภาพเขียน จึงมีนักสะสมมากพอสมควร มีสุภาพสตรีท่านหนึ่งมาขอซื้อทุกวัน ซื้อครั้งละมากๆ มีการต่อรองราคาด้วย เขาจะนำไปขายที่ต่างประเทศเพราะที่นั่นนิยมแนวภาพแบบนี้มาก แต่ช่วงนี้ผมยังขายไม่ได้ เพราะผมจะนำผลงานเหล่านั้นไปจัดแสดงที่หอศิลป์เจ้าฟ้า เป็นศิลปินรับเชิญ เขาให้ 10 ห้องขนาดใหญ่ในเดือนตุลาคมปีนี้ ผมกลัวผลงานจัดแสดงไม่พอ พวกที่มีฐานะและมีรสนิยม เขามักสะสม ความสวยความงามของศิลปินผู้สร้างงานศิลปะเหมือนเมืองนอก แต่ศิลปินหลายคนจะไม่ได้วาดรูปตามใจคนจ้างเสมอไป มันไม่ได้ออกมาจากใจ จากจินตนาการความคิดสร้างสรรค์ อาจารย์ศิลป์ เคยกล่าวว่า ท่านไม่ได้สอนให้เราเป็นศิลปินนะ แต่สอนให้ทำงานศิลปะได้ แต่ให้เป็นศิลปินได้นั้นท่านไม่มั่นใจ เพราะไม่ได้เป็นกันทุกคน”
ละลายเวลา...บ้วนทิ้ง
“โคราชเป็นเมืองใหญ่รองจากกรุงเทพฯ ยังหาหอศิลป์ของรัฐสักแห่งยังไม่มีเลย ผมต้องสร้างขึ้นมาเองและอาจจะมีเด็กสัก 1 คนเดินมาดูรูปของผม แล้วเกิดประทับใจกลายเป็นศิลปินใหญ่ในอนาคต เราต้องมีอะไรมากระตุ้นเขาเพราะความต้องการของมนุษย์มีอยู่ 2 อย่าง คือ ฟอร์มและฟังก์ชั่น เราต้องนึกถึงความงามเหมือนทีวี เรามองข้างหลังมีแต่สายไฟยุ่งไปหมด แต่สำคัญที่บอดี้มันต่างหาก ที่มันขายได้ รถยนต์บางทีวิ่งได้แต่มันตกรุ่นเขาเข้าใจจุดอ่อนของมนุษย์จุดนี้ เพราะเราหลงฟอร์ม